เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 1 กระแสเงินสดสำคัญกับตัวคุณอย่างไร (1)


เราควรจะมีการทำงบกระแสเงินสดของเราเองที่ได้มาหรือจ่ายไปในแต่ละเดือน หรือพูดง่ายๆ ก็คือจดบันทึกเงินได้เงินจ่าย (เหมือนที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทำบัญชีครัวเรือน จดรายรับรายจ่ายแล้วจะไม่จนนั่นไงครับ)

เรื่องนี้ ฟังดูชื่ออาจจะเหมือนเป็นเรื่องราวของนักบัญชีนักการเงิน แต่รับรองได้ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของคุณแน่นอนครับ

เมื่อหลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าไปอ่าน Web Board ของ Intranet ของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ แล้วก็ได้อ่านกระทู้ของเพื่อนพนักงานคนหนึ่ง ถามหาวิธีปลดหนี้ เพราะว่าหมุนเงินอย่างไร ก็รู้สึกว่าหนี้ยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ก็ปรากฏว่า มีเพื่อนเข้าไปตอบกระทู้นี้หลายคนทีเดียว ให้คำแนะนำต่างๆ กันไป บางคนก็เสนอให้ลองหมุนเงินโดยการเล่นแชร์ก็มี ฯลฯ ซึ่งผมก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาของเขาได้   ผมเองโชคดี ไม่เคยมีประสบการณ์ต้องแก้ปัญหาหนี้สินส่วนตัวอย่างนี้ แต่ก็ได้ยินได้ฟังมาว่ามีเพื่อนๆ หลายคนต้องประสบปัญหาไม่ต่างจากเจ้าของกระทู้เท่าไหร่นัก

ถึงแม้ผมจะไม่เคยต้องแก้ปัญหาการหมุนเงินหรือหนี้สินส่วนตัว แต่ก็พอจะมีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารการเงินของบริษัทอยู่บ้าง   เมื่อมาลองคิดเปรียบเทียบดูแล้ว เวลาบริษัทมีปัญหาหนี้สินมาก หมุนเงินไม่ทัน ก็มีวิธีการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ   ผมก็เลยได้ความคิดว่า ถ้าเราสามารถประยุกต์หลักการวิธีการในการบริหารการเงินของบริษัทมาใช้กับการบริหารการเงินส่วนตัว ก็น่าจะเป็นประโยชน์

แนวคิดแรกที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือเรื่องกระแสเงินสดครับ สำหรับบริษัท จะมีการจัดทำงบกระแสเงินสด โดยจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activities)
  2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (Cash Flow from Investing Activities)
  3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities)

(ในทางบัญชีจะมีการคิดกระแสเงินสดโดยวิธีทางตรงและโดยวิธีทางอ้อม ซึ่งจะไม่ขอพูดถึงในที่นี้

ใครต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระแสเงินสด หาอ่านได้ที่นี่ครับ http://th.wikipedia.org/wiki/งบกระแสเงินสด และ http://en.wikipedia.org/wiki/Cash_flow แล้วก็ http://en.wikipedia.org/wiki/Cash_flow_statement ด้วย

สำหรับกระแสเงินสดประเภทแรก คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ เงินที่ทำมาหาได้ หักเงินที่จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ และหักเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแล้วด้วย   ในการบริหารการเงินของบริษัทจะให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานนี้มากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทเงินสะดุดหมุนเงินไม่คล่องตัวจะยิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นตัวที่บอกว่าบริษัทสามารถ Generate เงินได้หรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสามารถพิมพ์ธนบัตรได้เองนะครับ แต่หมายความถึงการที่กิจการของบริษัทสร้างรายได้เป็นเงินสดจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น บริษัทก็ยังมีความหวังที่จะดำเนินการไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

แต่ถ้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทติดลบ นั่นคือ บริษัทไม่สามารถทำมาหาได้เพียงพอกับเงินค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไป หรือว่าทำมาหาได้พอสำหรับเงินค่าใช้จ่าย แต่ไม่พอเหลือเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ย นั่นแปลว่าบริษัทตกอยู่ในภาวะลำบากมากๆ แล้วครับ   ถ้าไม่แก้ไขอย่างถูกวิธีให้ทันการณ์ ก็มีโอกาสจะล้มละลายได้ครับ

ลองนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารเงินของตัวเองก็น่าจะดีนะครับ   เราควรจะมีการทำงบกระแสเงินสดของเราเองที่ได้มาหรือจ่ายไปในแต่ละเดือน หรือพูดง่ายๆ ก็คือจดบันทึกเงินได้เงินจ่าย (เหมือนที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทำบัญชีครัวเรือน จดรายรับรายจ่ายแล้วจะไม่จนนั่นไงครับ)   แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรจะแยกประเภทด้วย เป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน   แล้วก็ควรจะตรวจสอบว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเรายังเป็นบวกอยู่หรือไม่อยู่เสมอ

สนใจเรื่องบัญชีครัวเรือน หารายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cb.ktb.co.th/prod/commbank.nsf/Tell90/A3676E4AFADA5E21472571390082828D?OpenDocument&Start=1 และ http://www.bkkonline.com/accounting/30-sep-48.shtml เป็นต้น

กลับมาเรื่องกระทู้ใน Web Board วันนั้น ผมเลยเสนอวิธีการแก้ปัญหาไป 2 ข้อครับ   ข้อแรก หรือเป็นอันดับแรกก็ว่าได้ คือ เขาควรจะตรวจสอบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไร   ถ้าติดลบ ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายเสียก่อน   การเพิ่มรายได้ก็เป็นไปได้หลายวิธี แต่ปกติก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก (เช่น หารายได้เสริมจากอาชีพเสริมต่างๆ ก็ต้องหาลูกค้าให้ได้ เป็นต้น) แต่การลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องที่เราทำได้ด้วยตัวเองโดยการตัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และควบคุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้ลดลง

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาอีกข้อ และเรื่องกระแสเงินสดอีก 2 ประเภท จะขอเล่าถึงในตอนหน้าครับ
หมายเลขบันทึก: 120409เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดิฉันความรู้แค่หางอึ่ง  กำลังเรียนปริญญาตรี  ปี 2 แล้ว โครงการณ์มหาวิทยาลัยชีวิต หลักศูตร์ศิลปศาสตร์บัณฑิต  ศูนย์เรียนรู้อำเภอกระนวน  จังหวัดขอนแก่น  ดิฉันกำลังสอบ ไม่มีเวลาอ่านมาก  แต่เปิดมาเห็นเรื่องเงิน  คุณพูดถูกแล้วหละ มันเป็นเรื่องของทุกคน ที่จะต้องแก้ไข ดฺฉันไม่ได้เรียนวิชาเศรษฐศาตร์  วิชาเอกการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเรียนไ ปเป็นผู้นำหมู่บ้าน  แต่ดิฉันเรียนประดับความรู้เพราะอายุมากแล้ว อยากเพิ่มเติม ว่าเขาเรียนอะไรกันมีแต่นักศึกษาผู้ใหญ่ คนมีอายุแล้วไปเรียน เป็นผู้ใหญ่บ้าน อบต.สจ. สส.กำนันและคนที่สนใจก็เรียนได้

เข้ามาอ่านในบล็อคของคุณ  คุณพูดเรื่องเงินน่าสนใจไม่รู้ว่าคุณกำลังเรียนหรือวิจัยอะไร  ถ้าจะเข้าไปอ่านในบล็อคของดิฉันไปไกลคนละเรื่องเดียวกันเลย ถ้าว่างสอบเสร็จจะมาอ่านนะ

สวัสดีครับ คุณเล็ก และขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นครับ

ตอนนี้ผมไม่ได้เรียนหรือวิจัยอะไรหรอกครับ เพราะเรียนจบมาแล้ว แต่ผมชอบแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอๆ แล้วก็อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างน่ะครับ  พอดีมีเพื่อนแนะนำให้รู้จักกับ Gotoknow ผมก็เลยสมัครมาเป็น Blogger ในที่นี้ด้วยคนครับ

แล้วจะแวะเข้าไปอ่าน Blog คุณเล็กครับ

สวัสดีคะ  คุณรู้ไหมคะ  บล็อคของดิฉันที่เปิดอยู่นี้เป็นการบังคับให้ทำรายงาน ผ่านอินเตอร์เน็ท ตอนนี้อาจารย์สั่งให้พิมพ์เรื่องขึ้น  10  เรื่อง แต่ดิฉันพิมพ์ 20 เรื่อง ไปหลายแนว  และการที่มีคนเข้ามาเยี่ยมดิฉันในบล็อคของดิฉัน  เหมือนดิฉันมาเยี่ยมคุณมัรจะมีคนมาแสดงความคิดเห็น  1 ความคิดเห็น  หนึ่งคะแนนคะ  วันนั้นที่ดิฉันกดเข้ามาเรื่องเงิน เพราะดิฉันกำลังจะเขียนเรื่องกองทุนการเงินสวัสดิการ ก็เลยเจอเรื่องเงินของคุณ  แต่ไม่ตรงกับที่ดิฉันต้องการ  แต่ดิฉันก็ได้รับความรู้จากคุณ เรื่องการบริหารเงินคะ ถ้าหากว่าคุณอยากเชียดิฉัน  คุณเข้าไปอ่าน  แสดงความคิดเห็นหรือสวัสดีเฉยๆ  ก็ได้แล้ว 1คะแนนตอนนี้ก็เขียนเรื่องไปเรื่อยๆ  ไม่เกินสิ้นเดือนนี้  จะต้องปริ้นงานส่งครู ทำเป็นรูปเล่มคะ  และจะคัดเลือกตรงที่มีคนแสดงความคิดเห็นมากที่สุดส่งงานคะ  และเป็นเรื่องที่สร้างสรรคะ  กำลังพิมพ์แนวใหม่คะ

น่าเห็นใจนะครับ คุณเล็ก ผมได้เข้าไปให้ความเห็นในหัวข้อเกี่ยวกับการจัดการความรู้ของคุณเล็กที่  http://gotoknow.org/blog/leke/118294 แล้วนะครับ ขอให้โชคดีนะครับ

ต้องขออภัยอย่างยิ่ง ผมตรวจสอบ Blog แล้วพบว่า link ที่ผมอ้างถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบกระแสเงินสดใน wikipedia นั้น ผมสะเพร่าให้ข้อมูลผิดพลาดครับ ได้แก้ไขแล้วข้างต้นครับ
ขอเพิ่มเติม Link เกี่ยวกับกระแสเงินสดอีกครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท