ตลาดนัดกรมอนามัย 2550 - Press Tour (15) ความเข้มแข็งที่หนองบัวโคก จัตุรัส


เราให้ความสำคัญกับวัยรุ่น และพี่น้องทุกคน ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญเขา เขาก็จะไม่เห็นความสำคัญของเราเลย ... ให้เขาได้เห็นว่า เราไปเข้าร่วมแล้วดีนะ โครงการของอนามัย หรือส่งเสริมสุขภาพเขาดี เรามาร่วมกัน และผลกระทบมาถึงชุมชนของเราด้วย ชุมชนของเราจะได้ดีตาม

 

บันทึกนี้ จะพาไปฟังเรื่องเล่า อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยท่านรองนายกเทศมนตรีตำบลหนองบัวโคก ... คุณสมชาย ร่มโพธิ์ ละค่ะ ... ท่านเล่าว่า

  • แต่เดิมผมสวมหมวกหลายใบ ผมเป็นนักพัฒนาในชุมชนต่างๆ ... หลายใบของหมวก มีชื่อทางการ 1 ใบ อื่นๆ เป็นรูปของงานอาสาทั้งหมด เพราะรักชุมชนครับ รักที่ที่เราอยู่ รักถิ่น ... ที่เรานั้นเรียกว่าจะถือว่าเป็นเรือนตายก็ว่าได้
  • การที่เข้ามาทำตรงนี้ ตอนแรกๆ คือ ... ที่ผ่านมาชุมชนของหนองบัวโคกจะมีอุบัติเหตุ มียาเสพติด มีวัยรุ่นตีกันแทบทุกงาน ต่อยกัน มีเรื่องมีราว ปัญหาถึงผู้ปกครองกันมากมาย ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล บางคนถ้าหากว่า ไม่พิการก็ต้องติดคุกติดตะรางกันไป
  • มองเห็นตรงนี้แล้ว จึงอยากเชิญชุมชนหนองบัวโคกรู้จักรัก หวงแหนชุมชน
  • โชคดีที่ทางสุขภาวะชุมชนเข้ามาทำวิจัยขณะนั้น ทำเวทีชาวบ้าน ท่านจะเชิญผู้อาวุโสทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ผู้นำต่างๆ เข้ามารวมกัน ก็จัดเป็นเวทีชาวบ้าน
  • ก็หาปัญหาตรงนี้ขึ้นมาว่า “เอ ทำไมเราจะลดการทะเลาะเบาะแว้ง ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ในชุมชน”
  • เสร็จแล้วก็มีแนวคิดร่วมกันว่า
  • ... กลุ่มเยาวชน อายุอาจจะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ความคิดต่างๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ยังไม่มีมาก เราก็จะตั้งกลุ่มให้เขา เป็นกลุ่มเยาวชน
  • ... และนำเขาเข้ารับการอบรมที่ปากช่อง 3 วัน 3 คืน ให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ปัจจุบันเพื่ออะไร และที่เขาเกิดมาเพื่ออะไร และมีความคิด/แนวคิด ว่า หลังจากเขากลับมาแล้ว เขาจะทำอะไร
  • ... ให้เขาคิดตรงนี้ ให้เขามองเห็นชุมชน รักชุมชน และว่าเขาต้องการอะไร
  • พอดีช่วงนั้น ผมได้เป็นเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองบัวโคก (ก็ถือว่า เป็นทั้งคุณประสาน และคุณเอื้อไปพร้อมกันเลยละครับ)
  • กลุ่มลูกหลานของเรา ก็คือ กลุ่มเยาวชน เขาก็คิดขึ้นมาว่า จะลดอุบัติเหตุในชุมชนได้ เราก็ต้องทำเครื่องชลอความเร็ว ... ที่ชุมชนหนองบัวโคกมีหลายซอย หลายตรอก ในตรอก ซอยต่างๆ มีวัยรุ่นชอบขับรถเร็ว พอเมาก็ขับรถเร็ว ตอนทางแยก ทางร่วมจะประสานงากันเลย มีการบาดเจ็บหลายคนด้วยกัน และไม่ใช่มีนานๆ ครั้ง บ่อยครั้งเหลือเกิน
  • ก็เอาข้อนี้มาให้เขาคิด ก็คิดว่าทำอย่างไร จะชลอตรงนี้ได้ ก็เกิดเครื่องชลอความเร็วขึ้นมา
  • แล้วอีกเรื่องหนึ่ง คือ อยากจะให้มีการไม่ให้มั่วสุมกัน ถ้ามั่วสุมก็ทำให้เกิดประโยชน์
  • ... จึงขอเครื่องดนตรีกับเทศบาล เพื่อให้ฝึกซ้อม จะได้ไม่ให้มั่วสุม ดื่มสุรา ให้ทำตน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับชุมชน
  • อีกเรื่อง คือ การเล่นกีฬา เป็นการออกกำลังกายด้วย และมั่วสุมในทางที่ดี
  • ... วันสุดท้ายมาประชุมกัน และก็ทำโครงการของกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีอนามัยเฉลิมพระเกียรติหนองบัวโคกอยู่ ช่วยทำโครงการให้ตรงนั้น เขาก็ทำมาถึงเทศบาล ก็คุยกับท่านนายก ท่านก็ OK
  • ... ถ้าจะให้ชุมชนของเราปลอดจากอุบัติเหตุ ปลอดจากยาเสพติด ปลอดจากสิ่งที่ไม่ดีที่เข้ามาอยู่ในชุมชน ให้เยาวชนรุ่นหลังของเราได้ปลอดภัยในตรงนี้ ท่านก็อนุมัติทำเครื่องชลอความเร็วในชุมชนขึ้นมา
  • ในชุมชนหนองบัวโคก ทุกซอยจะมีเครื่องชลอความเร็วหมดเลย ... วัยรุ่นเขาคิดกันเอง
  • ในการประชุม จะคัดวัยรุ่นที่เป็นหัวแกร่งๆ เก และหัวโจก ประมาณ 60 คน โดยเชื่อมจากอนามัย เพราะว่าผมเป็น อสม. ด้วย ได้ไปช่วยเหลืออนามัยตรงนี้ เพราะว่าอนามัยติดต่อประสานกับทางสุขสารวัตรได้ ก็เป็นลูกโซ่กันมา ได้เข้าไปทำตรงนี้ และได้งบประมาณสนับสนุน
  • เราให้ความสำคัญกับวัยรุ่น และพี่น้องทุกคน ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญเขา เขาก็จะไม่เห็นความสำคัญของเราเลย ... ให้เขาได้เห็นว่า เราไปเข้าร่วมแล้วดีนะ โครงการของอนามัย หรือส่งเสริมสุขภาพเขาดี เรามาร่วมกัน และผลกระทบมาถึงชุมชนของเราด้วย ชุมชนของเราจะได้ดีตาม
  • ผมเป็นประชาสัมพันธ์ของเทศบาล ผมจัดสื่อทุกๆ เช้า ตรงนี้จึงเป็นข้อได้เปรียบ และเราขยันไปนั่งเล่า นั่งคุยให้เขาฟัง
  • และบางครั้งเราก็ไปจับเข่าคุยกัน ชวนเขามา เขาก็ดีใจ เราให้ความสำคัญกับเขา เขาก็เข้ามาร่วมในกลุ่ม และคิดตรงนี้เข้ามา โดยเราไม่ต้องไปออกความเห็น
  • อนามัยก็เป็นตัวแม่ที่ทำโครงการต่างๆ เขาก็มีการประชุมกันทุกเดือน
  • กลุ่มเยาวชนหนองบัวโคกได้ข้อสรุปมา ทำโครงการขอเครื่องชลอความเร็ว ขอเครื่องดนตรี ขอชุดกีฬา และสุดท้ายเขาอยากได้อะไรรู้ไหมครับ ... เขาอยากได้ตลาดสดน่าซื้อ
  • เพราะเยาวชนเขามองเห็นว่า เวลาที่ขายผักในตอนเช้าๆ เขาจะใช้เสื่อปูกับดิน ทำให้ฝุ่น ผง เชื้อโรคลงไปอยู่ตรงนั้น ทำให้ไม่สะอาด เขาอยากได้ตลาดสดน่าซื้อขึ้นมา
  • เขาก็เขียนโครงการเข้าไปหาเทศบาล นายก (ทั้งๆ ที่ที่ก็ไม่มี ไม่รู้จะทำยังไง) ... แล้วโครงการต่างๆ ที่ขอมา นายกฯ จัดให้หมด
  • ที่หนองบัวโคกมีแค่ตลาดเล็ก และชนบทมากๆ เรียกว่า ปูเสื่อขายกันเลย และตอนหลังๆ นายกฯ ก็เห็นว่า ลูกหลานเราคิดได้ เรื่องผักที่มาบริโภคอาจจะเกิดเชื้อโรคเข้ามาได้
  • ... ท่านจึงทำโต๊ะสูงขึ้นมา ประมาณ 80 ซม.
    ... และประชุมแม่ค้าในตลาดว่า ให้มาขายรวมกัน
    ... และจัดสถานที่ให้ที่หนึ่ง เป็นที่ของพี่น้องของท่านนายกฯ เอง เป็นการเช่า และให้เขาบริหารกันเอง
    ... พอทำไปก็เกิดการที่ทำให้เขาเห็นผลขึ้นมา ชาวบ้าน ประชาชน คราวนี้ก็ไม่ซื้อแบกะดิน จะซื้อบนโต๊ะแล้ว คือ มีความสะอาด ฝุ่น โคลน ก็ไม่เปื้อน ก็เกิดการที่เขาคิดเองทำเองขึ้นมา
  • ... และตลาดหนองบัวโคกก็เป็นตลาดเช้าอย่างเดียว ไม่ได้ขายทั้งวัน หลังคาเราก็ยังไม่มี ต่อไปเขาก็ขอนายกแล้ว ว่า อยากมีตลาดที่ถาวร มีหลังคา มีสุขอนามัยที่ดี มีการทำความสะอาดตลาดที่ดี ก็คงจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ
  • ผม และคณะ ได้ไปเรียนรู้ที่ศูนย์อนามัยที่ 4 เรื่อง"ทำเมืองน่าอยู่" ในชุมชนเมืองน่าอยู่นั้น ทุกท่านคงได้ยินชื่อ บางที่อาจทำไปแล้ว บางที่อายยังไม่ได้ทำ ว่า เมืองน่าอยู่เขาทำกันอย่างไร ไม่รู้จักก็มี
  • และถ้าหากว่าเป็นไปได้แล้ว และถ้าทำเมืองน่าอยู่ได้ เป็นเครือข่าย จังหวัด และทั่วทุกภาคก็จะดีมาก เพราะว่า 1) ทำให้การบริหารงานในท้องถิ่นง่ายขึ้น 2) ทำให้ชุมชนแต่ละชุมชนรู้จักรัก รู้จักเป็นเจ้าของชุมชนอย่างแท้จริงว่า ชุมชนตรงนี้เป็นของเขาทุกคน ที่จะต้องช่วยกันพัฒนา ที่จะต้องช่วยกันทำให้ความเจริญเกิดขึ้น ทำให้ความเป็นตัวของตัวเองเกิดขึ้น ก็จะทำให้เข้มแข็งขึ้น
  • แต่สิ่งต่างๆ ที่อาจจะมาเป็นอุปสรรค เช่น ยาเสพติด เหล้า ... ที่ซึ่งเยาวชนเข้มแข็งแล้ว เขาก็จะคุยกันได้ คุยกันง่ายขึ้น กลุ่มต่างๆ ที่เป็นเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้ประกอบการค้า ผู้ประกอบการร้านอาหารจะได้เป็นอันเดียวกัน สำหรับหนองบัวโคก ก็ได้ทำเมืองน่าอยู่ไปแล้ว

คำถามค่ะ ... ท่านคิดว่าชมรมฯ เยาวชน หรือกลุ่มเยาวชนที่เข้มแข็ง นี้ อะไรทำให้เขาเข้มแข็ง

  • บอกตรงๆ เลยว่า ที่ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นมา เพราะว่า เขารู้สึกด้วยตัวของเขาเองว่า ชุมชนของเขา ไม่ใช่ของใคร ที่จะมาทำให้ เขาต้องคิด ช่วยกันทำเอง
  • และตอนที่ไปฝึกอบรมที่ปากช่อง เขาให้โจทย์มาว่า ชุมชนของเรามีทุนอะไรบ้าง ... ตอนนั้นผมงงหมดเลย ว่าเขาให้หาทุนอะไร
  • ก็มาทราบตอนที่เขาจะบรรยายสรุป เขาบอกว่า ... ทุนที่จะหาคือ ทุนทางสังคม ที่ของชุมชน คือ ทุนที่ปู่ย่าตายาย ของเราได้ทำมา ... ปู่ย่าตายาย เป็นต้นแบบ แม่แบบให้ลูกหลานได้ดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขทุกวันนี้ ก็เพราะว่าท่านได้ทำมาเป็นตัวอย่างที่ดี เราควรจะดำเนินรอยตาม ควรจะรัก ควรจะหวงแหน ควรจะสร้างสิ่งที่ดี ให้กับชุมชน
  • ตรงนี้สำคัญ เยาวชนก็คิดว่าจะสร้างอะไร เขาก็คิดขึ้นมาเอง เขาก็มีโจทย์ให้ว่า เราจะสร้างอะไรดีให้กับชุมชนของเรา เราจะทำอะไรบ้าง
  • ระหว่างความดีกับความไม่ดี เขาจะเปรียบเทียบกัน ... เอาง่ายๆ เขาจะตั้งหลังมือ ถ้าหน้ามือจะสวย แต่หลังมือไม่ขาว ระหว่างขาวกับดำ จะเลือกอะไร ... เยาวชนก็เกิดแนวคิดขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง โดยที่ไม่มีใครไปชี้นำ
  • ผมก็คงทำหน้าที่คอยไปชี้ สนับสนุน ชี้ประเด็น จุดประกาย และเสริมเรื่องงบประมาณ ขวัญ กำลังใจต่อ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เข้มแข็งละครับ

ใช่เลยนะคะ ... ให้เขารู้สำนึกว่า ตัวเขาสำคัญ ถ้าไม่เห็นเขาสำคัญ เขาก็จะไม่ร่วมมือเด็ดขาด เพราะว่าเขาก็จะไปตามอารมณ์ ความคิด อยู่ไปวันๆ ... ถ้าเขามีความสำคัญ เขาก็จะรับผิดชอบชุมชนมากขึ้น ... นี่ละค่ะ ที่หนองบัวโคก

รวมเรื่อง ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย 2550 

 

หมายเลขบันทึก: 120072เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2007 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท