จิตตปัญญาเวชศึกษา 14: หมอเพื่อมวลมนุษย์


หมอเพื่อมวลมนุษย์

ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ ที่ ม.อ.มีประชุมวิชาการคณะแพทยศาสตร์ประจำปี ในวันแรกมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาเปิดประเดิมชัยให้แก่งาน ได้แก่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และ นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มีข้อความโดนใจหลายประการ ขออนุญาตนำมาสืบทอดถอดความต่อ ความตกบกพร่องเป็นความผิดของผู้นำมาถอด (คือผม) ส่วนความดีเป็นของท่านวิทยากร

 ดร.สุเมธได้กรุณาบรรยายพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ยึดถือเป็นแรงบันดาลใจที่ไม่เคยเหือดหายไปเลย ตั้งแต่ตอนที่ท่านได้มีโอกาสไปเป็นข้าใต้เบื้องพระยุคลบาท ทำโครงการต่างๆในสมเด็จพระบรมราชูปถัมป์ คือ "ทำงานกับฉัน ไม่มีอะไรให้ตอบแทนหรอกน นอกจากความสุขที่จะได้จากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น" และความสำคัญที่ท่านบ่งบอกเสมอๆคือ อย่าลืมนำเอาเรื่อง "ภูมิ" หรือ แผ่นดิน หรือความสำคัญเรื่องบริบท ภูมิลำเนา ความเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ ทรัพยากร หรือพูดง่ายๆคือ "ความเป็นชาติ" มาคำนึงถึงให้ตลอดเวลา เพราะมันจะไม่มีวิธีใดๆที่ได้ผลในทุกๆพื้นที่ ทุกๆภูมิภาค มันต้องมีการแปรเปลี่ยนไป อย่างมีชีิวิตจิตใจ

พี่หมอประชา แพทย์ดีเด่นภาคใต้ จากยะลา อ.วิจารณ์ รวมทั้ง อ.สุเมธ ได้เน้นถึงคุณสมบัติประการหนึ่งเหมือนกันคือ "การทำอะไรให้สมดุล" ไม่ตึง ไม่หย่อน จนเกินไป ทำงานมากจนไม่ดูแลสุขภาพ ไม่ดูแลพลพรรคเพื่อนพ้อง งบประมาณ สุขภาพของทีม ก็จะไปไม่รอดเช่นกัน แม้กระทั่งการทำความดีก็ยังต้องมีจำกัด มีบริบท นำมาคำนึงถึงด้วยเสมอ

อ.โกมาตร ได้เน้นถึงผลของการตั้ง "objectives" ต่อพฤติกรรม และความสำเร็จของอาชีพแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางไว้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่่างยิ่งเมื่อนำตัวอย่างอันใกล้ชิดมาแสดง เปรียบเทียบให้ฟัง

จากบทความเรื่อง "บทบาทของแพทย์ในการเยียวยาสังคม" งานของแพทย์นั้นไม่ได้มีแต่เป็นเพียง "ช่างซ่อม" หรือ Mechanic เท่านั้น แต่เรายังต้องเป็นผู้ช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็น coach เป็น midwife เพื่อช่วยด้านพฤติกรรม กระบวนคิด และตัวตน ของประชาชนด้วย

เมื่อพิจารณาดูเริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย การดูแลทั้งหมด ปรากฏว่าหมอมักจะซักเพื่อค้นหา "อวัยวะ" ที่เป็นสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยนั้นๆ ทำให้ขาดมิติ ขาดความหมายของโรคที่มี "ต่อคนไข้" ไปอย่างน่าเสียดาย เวลาที่คนไข้จะพยายาม "เล่าความหมาย" ว่าโรคนี้ มีผลกระทบอย่างไรต่อเขา ต่อความคิด ต่อพฤติกรรม ต่อทุกสิ่วทุกอย่าง หมอมักจะไม่ค่อยได้ตั้งใจฟัง เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่ "อวัยวะ" ที่จะรักษา

หมอบางท่านจะรู้สึก และ/หรือ แสดงอาการหงุดหงิด ที่คนไข้กำลังทำท่าจะ "ออกนอกเรื่อง" ไปจาก track ที่หมอวางแผนการซักประวัติไว้ก่อน เนื่องจากเราให้ความสำคัญในการวินิจฉัยให้ได้ว่า "อวัยวะอะไรหนอ ที่ก่อให้เกิดปัญหา" วิชาความรู้ต่างๆ ที่เราจะนำไปรักษา ขึ้นอยู่กับเราจับได้หรือไม่ว่าอวัยวะอะไรกำลังเกิดโรค ซึ่งจะมีผลต่อความสำเร็จ "ของหมอ" อย่างมากว่าจะรักษาได้หรือไม่

สิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกนั้น เป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์รวม ที่จริงเวลาหมอเองเจ็บป่วย องค์รวมของหมอก็จะถูกกระทบคล้ายๆกับคนไข้เหมือนกัน เราก็จะหงุดหงิด อ่อนแรง ทำงานไม่ค่อยได้ ไม่อยากจะเอาใจใคร อยากจะถูกเอาใจ เหมือนๆกัน แต่ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับการ "ค้นหาสาเหตุ หาอวัยวะต้นเหตุ แล้วก็รักษาไปให้หาย" เราก็ยังสามารถทำใจได้ว่า ประเดี๋ยวสภาวะองค์รวมที่ถูกรบกวนนั้นก็จะหายไปด้วย พร้อมๆกับโรค ซึ่งความคุ้นเคยเช่นนี้ไม่มีในตัวคนไข้ หรือคนทั่วๆไปเลย เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องหยุดงาน เสียรายได้ กลัวการพยากรณ์โรค ไม่แน่ใจในทุกสิ่งทุกอย่าง

คำถามที่ผุดบังเกิดขึ้นมาก็คือ ถ้าหากหมอจะรวบรวมและรับรู้ "ความหมายของโรคต่อมิติต่างๆของคนไข้ไปด้วย ประโยชน์จะเกิดขึ้นไหม? และจะตกไปอยู่ที่ใครเป็นสำคัญ?"

และถ้าหากเราเอาโจทย์เดิมที่อาจารย์โกมาตรได้ให้ไว้ในการบรรยาย "องค์กรมิใช่เครื่องจักร ต้องการความรักและความเข้าใจ" มาพิจารณาอีกครั้ง เราควรจะได้ "ประวัติคนไข้" ในลักษณะใด ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย?

การเกิด: เราได้ทำอะไรที่แสดงออกถึง

    • การเริ่มต้นความเป็นแม่
    • จุดเริ่มของครอบครัว
    • การสืบสกุล คุณงามความดีของตระกูล
    • การธำรงไว้ซึ่ง species ซึ่งความเป็นมนุษย์
    • ความรักที่บริสุทธิ์ที่สุดตามธรรมชาติ

 การแก่: เราได้ทำอะไรที่แสดงออกถึง

    • คุณค่าของประสบการณ์ชีวิต
    • รางวัลที่ได้อยู่ในสังคมเป็นเวลานาน
    • ร่องรอยของการคงอยู่ ในครอบครัว ในสังคม ต่อคนรอบข้าง
    • สัจจธรรมของการไม่ธำรงอยู่ถาวร
    • สถาบันครอบครัว
    • ความกตัญญูกตเวที

การเจ็บป่วย: เราได้ทำอะไรที่แสดงออกถึง

    • บทเรียนแห่งวัฎสังสาร
    • ความเปราะบางของสังขาร
    • พลังความหวัง (ที่ไม่ใช่ความคาดหวัง)
    • อารมณ์ความรู้สึก ความห่วงใย ความเอื้ออาทร
    • ความเมตตา กรุณา ปราถนาดี
    • psychosocial elements

 การตาย: เราได้ทำอะไรที่แสดงถึง

    • ความสำคัญของจิตวิญญาณ
    • การสะท้อนถึงคุณงามความดีที่ผ่านมาในชีวิต
    • การสะท้อนถึงความสำนึกผิด เสียใจ ต่อสิ่งที่ผิดพลาด
    • สัจจธรรมแห่งวัฎสังสาร
    • ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต
    • ความทุกข์ในการที่มีชีวิตอยู่
    • โอกาสที่จะพิจารณาถึงสัจจธรรม
    • วงจรที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 119945เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2007 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

รู้สึกเสียดายอย่างยิ่งเลยครับ ที่ไม่สามารถมาร่วมงานประชุมวิชาการบ้านเราได้

จำได้ว่า ผมไม่เคยพลาดเลย ตั้งแต่เป็นอาจารย์แพทย์ทีนี่

ตามอ่านเรื่อยๆนะคะ  เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ ก่อนดิฉันจะเป็นคนไข้ซะเองนี่ ดิฉันก็เหมือนแบบที่อาจารย์บอกไว้เลยค่ะ มุ่งแต่จะหาอวัยวะที่เป็นโรค คนไข้ให้ข้อมุลอะไรนอกประเด็นก็ไม่ฟัง  แต่พอเจ็บป่วยเอง  เดี๋ยวนี้ตั้งใจฟังแล้วค่ะ ด้วยความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนร่วมทุกข์เช่นกัน

อ.แป๊ะครับ

อาจารย์อยู่ที่ไหน ความผูกพันกับ ม.อ.นั้นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทุกคนและตัวอาจารย์เองรู้สึกได้อยู่แล้วครับ ที่อาจารย์ติดตามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็น่าจะนับว่า "ไม่ได้พลาด" อะไร

ยกเว้นราตรีนี้หัวใจสีเขียว งานรดน้ำมอบดอกไม้ อ.มยุรี อิ อิ (ไม่ต้องห่วง ยังมีจัดของคณะฯอีกครับ)

หมออนิศราครับ

เสียใจที่ได้ยินว่าคุณหมอไม่สบายครับ หวังว่าคงไม่เป็นอะไรมาก ผมเองก็เปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อตอนเป็น resident เคยมี food poisoning และ acute diarrhoea ปวดท้องมากเลย ต้องขับรถไป ER นอนบน stretcher ขอยาแก้ปวด ฉีด baralgan ไปหน่อยก็ไม่หาย ขอ morphine เพิ่ม ตอนนั้นจึงทราบด้วยตนเองว่าปวดมากๆนั้นเป็นอย่างไร ตั้งแต่นั้นการให้ยาแก้ปวดของผมก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมากเลย

การเรียนรู้ระดับ intellectual นั้น ต่างจาก learn by heart และต้องอาศัยประสบการณ์ตรง ประสบกาณ์จริง จะได้มากที่สุดจริงๆครับ

ขอให้คุณหมออาการดีขึ้น และสุขภาพแข็งแรงนะครับ 

      ขอบคุณอาจารย์หมอมากค่ะ ตอนนี้แข็งแรงอ้วนท้วนดีแล้วค่ะ

แหมท่านอาจารย์ที่เคารพ

หนีไม่พ้น evidence-based เลยนะครับ

น่าเสียดายที่สมาชิกหายไป 2 คน เสียดายจริง ๆอาจารย์เลยขาดขาไปเลย

อ่านแล้วนึกถึงตัวเองว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับอาชีพของตัวเอง/วิชาชีพของตัวเอง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ผมคิดว่าการมองชีวิตในแบบมนุษย์มากกว่ามองชีวิตในแบบวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สอนกันได้ แต่สำคัญจะให้สอนได้ลึกซึ้งต้องเกิดจากการปฏิบัติจริงใน รร.แพทย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท