KM Research ตอน "ตีความหนังสือ" : ฐิติยา เนตรวงษ์ นิสิต ป.เอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การเรียนรู้โดยทีมเป็นฐานเพื่อสร้างชุมชนนักปฏิบัติ online

ต้องขอชื่นชมคุณฐิติยา  เนตรวงษ์  ในฐานะนิสิตคนแรกที่แสดงความตั้งใจเข้ามาร่วมเรียนในชุมชน KM Research  ครั้งหน้าในวันที่ 17 กันยายน 2550   ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต   โดยการตีความหนังสือส่งมาให้

คุณฐิติยา  เธอส่ง journal ที่อ่านมาให้ผมด้วยทาง email  รวมทั้งไฟล์ที่เธอเขียนรวม 6 หน้า  เวที KM Research ครั้งหน้า  แค่ท่านแรกก็น่าสนใจแล้วครับ 

การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐานเพื่อเสริมสร้างชุมชนนักปฏิบัติออนไลน์ 

ฐิติยา  เนตรวงษ์ 

นิติปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ความเข้าใจในการเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน            การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-Based Learning: TBL) เป็นกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันภายในทีมและระหว่างทีม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน เกิดการเรียนรู้ในเชิงลึก และเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ พร้อมๆ กับเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการทำงานเป็นทีม           

แนวปฏิบัติสำหรับการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน            สำหรับแนวปฏิบัติสำหรับผู้สอน ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนใหม่ทั้งรายวิชาหรือกลุ่มหัวข้อที่ต้องการ และออกแบบรายละเอียดการดำเนินการเรียนการสอน ตั้งแต่ก่อนเริ่มชั้นเรียน วันแรกของชั้นเรียน หัวข้อสำคัญของแต่ละตอน และชั่วโมงสุดท้ายของการเรียนการสอน ดังมีรายละเอียดดังนี้           

 1)  ผู้สอนแบ่งหัวข้อในรายวิชาให้เป็นหน่วยเนื้อหาหลักประมาณ 4-7 หน่วย แต่ละหน่วยมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ควรเตรียมคำถามในลักษณะที่ให้แสดงความคิดเชิงวิพากษ์ประมาณ 1 ถึง 2 ข้อ ในแต่ละหน่วย           

 2)  ในชั่วโมงแรกของชั้นเรียน ผู้สอนต้องสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจว่าเหตุใดผู้สอนจึงเลือกใช้กระบวนการเรียนการสอนดังกล่าว และการจัดการเรียนในชั้นเรียนจะเป็นอย่างไร ผู้สอนต้องจัดแบ่งกลุ่มให้เสร็จโดยทั่วไปใช้กลุ่มขนาด 5-7 คน และอธิบายระบบการให้คะแนนจนผู้เรียนเข้าใจและปราศจากความกังวล และสุดท้าย ผู้สอนต้องคิดหามาตรการที่จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมกลุ่มที่พึงประสงค์และเป็นประโยชน์           

3)  มอบหมายงานอ่าน แล้วทำการทดสอบความพร้อมของผู้เรียนโดยใช้แบบทดสอบ RAT โดยทำเป็นรายบุคคลก่อน แล้ว ใช้ข้อคำถามประมาณ 5 คำถาม หลังจากนั้นจึงทำการทดสอบภายในทีมโดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปรายภายในกลุ่ม           

4)  ทีมสามารถอุทธรณ์สำหรับคำถามที่ตอบผิดโดยแสดงเหตุผลที่ชัดเจน การมีขั้นตอนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมทบทวนหลักการและแนวคิดของบทเรียนร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งผู้สอนสามารถให้ความเห็น อธิบายหรือชี้แนะได้           

5)  ช่วงสุดท้ายของการเรียนการสอน ผู้สอนควรย้ำให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ การประยุกต์ใช้เนื้อหาจากการเรียนรู้ คุณค่าของการทำงานเป็นทีมในการผลิตงานหรือแก้ปัญหาที่ยากและท้าทาย ลักษณะการปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของผู้เรียน เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้เป็นทีมได้อย่างไร           ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การเรียนรู้เป็นทีมได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือแบบออนไลน์เพื่อการติดต่อสื่อสาร การขับเคลื่อนของทีมอย่างเป็นพลวัตร เพิ่มศักยภาพของทีมให้เกิด active learning และ deep learning เครื่องมือทางออนไลน์เช่น electronic brainstorming, Asynchronous Learning Network (ALN), WebBoard, WebCT และ synchronous chats เป็นต้น กรอบแนวคิด TBL ออนไลน์ สรุปได้ดังภาพที่ 1            

 

ภาพที่ 1  กรอบแนวคิด TBL ออนไลน์      (ดูจากเอกสารอ้างอิง  ของ A. G. & Michael, B.  2005   หน้า 733 )    

การใช้ระบบ e-learning เพิ่มสมรรถนะของทีม            ระบบ e-Learning สามารถนำมาใช้ในการทำงานเป็นทีม โดยสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดสิ่งแวดล้อมเสมือนในระบบ e-Learning เพื่อเพิ่มศักยภาพ สมรรถนะในทีมได้เช่น discussion board, virtual classroom, digital drop boxes, task list, calendars เป็นต้น นอกจากนี้ระบบ e-Learning ยังเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีมให้สูงขึ้น (Alstete, 2001)            ระบบ e-Learning ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางเช่น Blackboard, WebCT, และ eCollege เป็นระบบที่นิยมใช้ในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนบนเว็บหรือมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกล ระบบ e-Learning ที่ได้มาตรฐานจะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับความสะดวกในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานง่าย สามารถปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และมีเครื่องมือต่างๆ ที่จะอำนวยการเรียนผ่านระบบ เพื่อเพิ่มสมรรถนะของทีมได้ดังนี้ (Alstete, 2001)           

1)  ข่าวประกาศ (Announcements) สำหรับการทำงานและเรียนรู้ในทีม สามารถใช้ข่าวประกาศเพื่อนัดแนะการประชุมในกลุ่ม โพสท์หัวข้อที่น่าสนใจ ข่าว แบบฝึกหัด โครงการ ฯลฯ ซึ่งง่ายต่อทีมงานที่จะเข้าถึงข้อมูล และใช้งานในวิธีการดังกล่าว เพราะสมาชิกในทีมหรือหัวหน้าทีม สามารถโพสท์ได้ทุกวัน ทุกเวลา ในแต่ละสัปดาห์ที่เรียนได้           

2)  นำเสนอประวัติส่วนตัวของหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีม (Team leader and member background information) ในระบบ e-Learning สามารถโพสท์ประวัติสมาชิกในทีม เช่น รูปภาพสมาชิก ประสบการณ์การทำงาน การศึกษา ประวัติการฝึกอบรม และข้อมูลอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการทราบ ระบบนี้มีประโยชน์ให้สมาชิกในทีมได้รู้จักกันมากขึ้นและเร็วขึ้น           

3)  ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศในหลักสูตร (Course information) เพื่อให้สมาชิกในทีมสามารถโพสท์สารสนเทศต่างๆ ที่จำเป็นในคอร์ส เช่น ภาระหน้าที่ของสมาชิกในทีม เป้าหมายของทีม วัตถุประสงค์ แผนการประชุม ปฏิทินกิจกรรมต่างๆ ตลอดหลักสูตร เป็นต้น           

4)  เอกสารของหลักสูตร (Course documents) ระบบ e-Learning จะสามารถเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร อาทิ word sheets ไฟล์เอกสารสำหรับปฏิบัติงานของสมาชิกในทีม เอกสารการประชุม กำหนดการประชุม รายงานการประชุม เอกสารการนำเสนอต่างๆ งานวิจัยที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ ซึ่งสมาชิกในทีมสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว           

5)  งานที่มอบหมาย (Assignment) หัวหน้าทีมสามารถมอบหมายงานหรือหน้าที่ที่สมาชิกในทีมต้องรับผิดชอบ ในพื้นที่ที่ระบบจัดให้เช่นเดียวกับการมอบหมายงานในห้องเรียนปกติ           

6)  รูปแบบการติดต่อสื่อสาร (Communication feature) ในระบบ e-Learning สามารถเลือกรูปแบบการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีมได้ อาทิ  

e-mail, 

discussion board, 

virtual classroom เพื่อให้สมาชิกที่ได้ประชุมผ่านระบบได้โดย whiteboard ให้สมาชิกได้ร่างงาน, diagram ให้สมาชิกได้เห็นงานที่ทำ, slide presentation, chat ตัวต่อตัวหรือภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม               

แจ้งบัญชีรายชื่อ (roster) ระบบ e-Learning อนุญาตให้สมาชิกแจ้งชื่อ และ e-mail address ให้สมาชิกในทีมสามารถมองเห็นและติดต่อกันได้ง่ายขึ้น                  -  

Group pages เมื่อสมาชิกในทีมได้ทำการอภิปรายร่วมกันโดยใช้ discussion board, e-mail, link, digital drop box สามารถสร้างเอกสารที่เป็นข้อสรุปของทีมโดยใช้ Group pages           

7)  การใช้ประโยชน์จาก link ภายนอก ระบบ e-Learning สามารถจัดการให้สมาชิกในทีมเพิ่มแหล่งเรียนรู้อื่นๆ จาก link ภายนอกได้           

8)  การประเมินผล (Assessment) ระบบ e-Learning สามารถทำการประเมินผลทางออนไลน์ได้เช่น จำนวนสมาชิกที่เข้ามาใช้ระบบ เวลาที่ใช้เรียนตั้งแต่เวลาที่ใช้เรียนเนื้อหา ทำแบบฝึกหัด เวลาทั้งหมดที่ใช้หลักสูตรในแต่ละวัน และตลอดสัปดาห์ เป็นต้น           

9)  งาน ปฏิทิน แผนงานโครงการ และเครื่องมือเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพของทีม            ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ารูปแบบของระบบ e-Learning สามารถเพิ่มสมรรถนะของทีมทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร การบริหารจัดการภายในทีมได้มากยิ่งขึ้น           

การจัดการความรู้ในทีมกับ e-Learning            การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่เป็นระบบในการค้นหา สร้าง รวบรวม จัดเก็บ เผยแพร่ ถ่ายทอด แบ่งปัน และใช้ความรู้  การจัดการความรู้มีองค์ประกอบสำคัญคือ คน เทคโนโลยี และกระบวนการความรู้ (Knowledge Process) โดยที่ คนจัดเป็นแหล่งความรู้และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ส่วนเทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการค้นหา รวบรวม จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น สุดท้ายกระบวนการความรู้ เป็นการบริหารจัดการเพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนจะต้องเชื่อมโยงและบูรณาการอย่างสมดุล            e-Learning ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นแหล่งความรู้ที่ออกแบบและบันทึกในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และสำหรับทุกคนอย่างเหมาะสมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  การนำ e-Learning มาใช้นับเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการจัดการความรู้ในชั้นเรียน อันจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งในปัจจุบัน e-Learning มีลักษณะเป็น Web Collaborative Learning ที่เน้นการเรียนรู้เป็นทีมและยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีสื่อและเครื่องมือหลายตัวมาช่วยในกระบวนการความรู้ดังนี้   

ขั้นตอนในกระบวนการจัดการความรู้ 

สื่อและเครื่องมือการเรียนรู้ผ่าน e-Learning 
1. การค้นหาข้อมูล  Search Engine 
2. การสร้างและแสวงหาความรู้  Text Editor, Download 
3. การจัดความรู้ให้เป็นระบบ  LMS, Data/Knowledge Warehouse 
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้  Data/Knowledge Base, Directories 
5. การเข้าถึงความรู้  e-Library, Digital Library, e-book, e-mail, Intranet, Extranet 
6. การแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้  Chat, Blog, Web Board, VDO Conferrence 
7. การเรียนรู้  Virtual Classroom, Classroom on Demand, VDO on Demand 

 จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับสถาบันการศึกษาที่มีการพัฒนาระบบ e-Learning ที่มีการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยี e-Learning ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยทีมงานออกแบบ e-Learning ไม่ว่าจะเป็น ผู้ดูแลออกแบบระบบ ผู้ออกแบบกราฟิก ผู้ทำหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ตลอดจนผู้สอน 

การพัฒนาทีมเสมือนจริงไปสู่ชุมชนนักปฏิบัติ            จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาข้างต้น และการให้ความสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน จึงทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบที่เรียกว่า ทีมเสมือนจริง กระบวนการพัฒนาทีมเสมือนจริงสามารถที่จะพัฒนาไปสู่ชุมชนนักปฏิบัติได้ (Communities of Practice :CoP) ด้วยการสร้างความรู้ด้วยตนเองจากทีมเสมือนจริง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การร่วมกันแก้ปัญหา จนสามารถพัฒนาเป็นชุมชนนักปฏิบัติได้ จากการสกัดความรู้และก่อเกิดความรู้ใหม่ภายในทีม จากการศึกษาการพัฒนาทีมเสมือนจริงและการเรียนรู้ในชุมชนเสมือนของ Tomas Blomquist และคณะ (2005) ได้ศึกษาหลักสูตรการจัดการโดยมีการจัดการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา 20 สัปดาห์ และจัดรูปแบบการเรียนเป็นทีมกลุ่มละ 4-6 คน ซึ่งเป็นนักเรียนชาวสวีเดน และนักเรียนชาวต่างชาติ มีการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจัดการในรูปแบบทีมเสมือนจริง อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านการจัดสภาพแวดล้อมให้มีการปฏิสัมพันธ์กันแบบเผชิญหน้ากัน วิธีการวิจัยใช้การสำรวจโดยอาศัย e-mail สำรวจจากนักเรียนในหลักสูตรจำนวน 287 คน ที่มีปฏิสัมพันธ์กันในหลักสูตร แล้วได้รับการตอบกลับจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 155 คน คิดเป็น 62 % ตลอดหลักสูตรได้มีการทดสอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการพัฒนาทีมงานจนกลายเป็นทีมเสมือนจริง รูปแบบการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับนักเรียนในการร่วมกันทำงานเป็นทีม สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีการอภิปรายและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เรียน นอกจากนี้ยังใช้การเรียนแบบ Storyline มาช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันภายในทีมและการอภิปรายร่วมกันระหว่างทีมมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้ผู้เรียนเปลี่ยนทัศนคติให้สามารถพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ในชุมชนออนไลน์ที่กว้างขวางขึ้น และพัฒนาเป็นชุมชนนักปฏิบัติออนไลน์ในที่สุด 

แหล่งอ้างอิง

วิจารณ์  พานิช.  (2548).  การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ.  กรุงเทพฯ: ตถาตา.

Alstete, J. W.  (2001).  “Alternative uses of electronic learning systems for enhancing team performance”, Team Performance Management: An International Journal.  Vol. 7 No.3/4, pp.48-52.Blomquist,

T., Hallgren, M. and Nilsson, A.  (2005).  Development of Virtual Teams and Learning Communities.  Available: http://www.formatex.org/micte2005/251.pdf.  [15 August 2007].Elizabeth,

A. G. & Michael, B.  (2005).  “Towards active team-based learning: an online instructional strategy”, Proceeding of the Eleventh Americas Conference on Information Systems.  Omaha NE, USA Agust 11th-14th.          

 

หมายเลขบันทึก: 119932เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2007 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นำข้อเขียนทั้งหมดมาลงไว้ ดีไหมครับ    เพื่อใช้ บล็อก เป็นเครื่องมือ ลปรร. แบบ B2B ก่อนถึงวัน F2F    ให้เกิดการ ลปรร. ลงลึกและช่วยให้คนที่ทำการบ้านได้ประโยชน์มากที่สุด

วิจารณ์

อาจารย์ครับ   ผมเปลี่ยนเอาเนื้อหาที่ส่งมา  ลงแทนทั้งหมดครับ  และทำ link ไปยังเอกสาร journal ต้นฉบับไว้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท