การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


ปัญหาการจัดตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ
        คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญํติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งร่าง พรบฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ

       1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

       2. กำหนดให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์เกินกว่าสองพันล้านบาทให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการที่มิให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ กิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้ไม่มีการแข่งขันในตลาด และกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ จะดำเนินการแปรรูปทั้งหมด หรือบางส่วนก็ๆได้ และจะแปรรูปเป็นบริษัทเดียว หรือหลายบริษัท ก็ได้

       3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีผลเป็นการโอนอำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรืออำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน รับแจ้ง รับรอง หรืออำนาจมหาชนอื่นใด รวมทั้งสิทธิพิเศษที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่ในกิจการที่แปรรูปไปให้แก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการแปลงสภาพโดยสิทธิพิเศษหมายความรวมถึงการได้รับยกเว้นมิให้ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร

       4. ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจจัดตั้งบริษัท หรือนิติบุคคลอื่นใดเพื่อประกอบกิจการใดๆ การจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นต้องไม่เป็นการประกอบกิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการ หรือการลงทุน ทำให้ไม่มีการแข่งขันในตลาด หรือกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและต้องไม่มีการโอนอำนาจมหาชนหรือสิทธิพิเศษอื่นใดไปยังบริษัทลูกที่จะจัดตั้ง และการกระจายหุ้นของบริษัทที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้

       5. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยกระบวนการแปลงสภาพและกระบวนการกระจายหุ้น ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษํท และคณะกรรมการกระจายหุ้น

       6. กำหนดลักษณะของกิจการของรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพที่ต้องจัดตั้งให้มีองค์กรกำกับดูแล คือ กิจการที่มีอำนาจมหาชน กิจการที่ประกอบกิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้มีผู้ประกอบการน้อยรายหรือมีการแข่งขันน้อยราย หรือกิจการที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยการจัดตั้งองค์กรกำกับต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ

       7. กำหนดให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจโอนไปยังบริษัทที่จะตั้งขึ้น บริทดังกล่าวยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้กระทรวงการคลังยังคงค้ำประกันหนี้ต่อไปโดยเสียค่าธรรมเนียม กำหนดความคุ้มครองแก่พนักงานในเรื่องเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้ง กำหนดให้สัญญาต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ยังคงมีผลบังคับต่อไป

       จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีข้อจำกัดซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาและกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ให้ชัดเจนเพื่อไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตแบบยั่งยืนและมั่นคงต่อไป   

เว็บไซด์อ้างอิง : www.thaigov.go.th

หมายเลขบันทึก: 119931เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท