‘บาทเดียว’ เขยื้อนสังคม


      วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลายคนบอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องถอยหลังไปอีกหลายปี แต่ภายใต้สภาพเช่นนั้นมันได้สร้างกระแสพึ่งพาตนเอง และถึงขั้นกลายเป็นธงชัยของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศที่ยังไม่ได้มีชีวิตติดอยู่ในกับดักเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากนัก โดยเฉพาะเมื่อมีพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’

      แต่กระแสพึ่งพาตนเองนั้นก็เงียบหายไปภายในเวลาไม่กี่ปี เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โครงสร้างทางสังคมแทบจะไม่ได้ถูกปรับแก้โดยรัฐเพื่อรองรับกับแนวทางพึ่งพาตนเองแม้สักนิด

      ขณะที่รัฐบาลไทยรักไทยประกาศแนวนโยบาย ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้’ แต่สัดส่วนของการลดรายจ่ายก็ดูจะเทียบไม่ได้หรือไม่สมดุลกับนโยบายสารพัดที่มีผลในทางกระตุ้นการบริโภค และการบริโภคนั่นเองที่ได้ย้อนกลับมาเป็น ‘หนี้’ ในที่สุด

      จนกระทั่งรัฐบาลเองต้องกลับลำหันมารณรงค์ให้ประชาชนทำ ‘บัญชีครัวเรือน’ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และโครงการ ‘ออมไม่มีอด’ ผ่านธนาคารออมสิน

      อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเองจะเกิดขึ้นจากข้างบนหรือไม่ และไม่ว่านโยบายของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ จะก่อให้เกิดการบริโภคและหนี้ จนอยู่ในระดับรุนแรงขนาดไหน ภาคส่วนสังคมในชุมชนต่างๆ หลายชุมชน ยังคงเดินหน้าทักถอร่างแหไว้เป็นที่รองรับยามที่วันหนึ่งต้องตกจากที่สูงกันต่อไป

      และใครจะไปรู้ว่า วันหนึ่งพลังเหล่านี้อาจจะไปเคลื่อนและขยับ ‘ภูเขา’ อันหมายถึงโครงสร้างใหญ่ๆ ตามภาษาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี (ในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา) ก็เป็นได้

      การผุดขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์โดยประชาชน เพื่อประชาชน ทั้งก่อนและหลังวิกฤติเศรษฐกิจในหลายชุมชนทั่วประเทศ คือรูปแบบหนึ่งของการสร้างเบาะรองรับทางสังคมนั้น และในท่ามกลางกลุ่มออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมากมายนั้น ดูเหมือนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในจังหวัดสงขลาที่ริเริ่มโดยครู ชบ ยอดแก้ว จากตำบลบ้านน้ำขาว จังหวัดสงขลา จะโดดเด่นและมีการหยิบยกมาพูดถึงในเกือบจะทุกเวทีในฐานะแบบเรียน

      จนกระทั่งวันนี้ได้แตกหน่อออกกอกลายเป็นโครงการระดับชาติ ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สององค์กรที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี หยิบยกมาเป็นต้นแบบ ในโครงการ ‘ปฏิบัติการนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ : กรณีศึกษากองทุนสัจจะวันละ 1 บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดสงขลา’

      พูดง่ายๆ ก็คือ การถอดเอาปรัชญาและองค์ความรู้จากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ ครูชบ ยอด-แก้ว   ได้สร้างไว้ ผ่านอุปสรรค ผ่านประสบการณ์ มีทักษะในการจัดการ จนกลายเป็นองค์ความรู้ในการสร้างองค์กรทางการเงินของชุมชนมาเป็นตัวแบบ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันใน 3 ภาคส่วนคือ ประชาชน ภาควิชาการ และภาคราชการ ตั้งแต่การสร้าง ร่วมกันปฏิบัติ และร่วมกันประเมินผล โดยมีมูลนิธิดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว เป็นแกนของกลไกประสานและส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้งในระดับตำบล จังหวัด และประเทศ มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภาคใต้ (ศรช.) เป็นกลไกติดตามประเมิน และมี สสส.กับ มสช. เป็นกลไกสนับสนุนและขยายผล

      และเพื่อจะได้เห็นว่า ทำไมโครงการสัจจะวันละ 1 บาทนี้จึงได้รับความสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากทุกฝ่ายจนถึงกับมีกระบวนการจัดตั้งเป็นแผนระดับชาติ ก็คงต้องย้อนกลับไปเล่าถึงโครงการที่เรียกว่าสัจจะวันละ 1 บาทนี้กันเสียหน่อย

 ที่จริงสัจจะออมทรัพย์วันละ 1 บาท เป็นรูปแบบการร่วมกันออมทรัพย์ของชุมชนที่ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน หากแต่มีผลกระทบลึกซึ้งกว้างและไกลกว่าที่ใครจะคาดคิด

      ตัวเลข 1 บาทคือจำนวนเงินที่สมาชิกในตำบลหนึ่งๆ ตกลงร่วมกันว่าจะออมใน 1 วัน โดยเอามาจากการ ‘ลดรายจ่าย’ เมื่อฝากครบ 180 วัน เงินออมจะจัดแบ่งเป็น 3 ส่วน 20% จัดสรรเป็นกองทุนกลางของกลุ่ม 30% เป็นเงินยืมให้สมาชิกยืมเพื่อลงทุนวิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน และการศึกษา และอีก 50% จะนำมาจัดสรรสวัสดิการอย่างน้อย 9 เรื่องครอบคลุมช่วงชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย

      บนหลักการที่ว่า ‘เงิน’ เป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยอาศัยหลักธรรมของศาสนาคือ ‘สัจจะ’ เป็นเครื่องมือนำทาง สร้างสัมพันธภาพให้เกิดขึ้นในครอบครัว และชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงระดับจังหวัด และระดับชาติ

      ตามเป้าหมายโครงการจัดตั้งกองทุนสัจจะวันละ 1 บาท จะส่งเสริมให้เกิดกองทุนให้ได้ในตำบลต่างๆ ไม่น้อยกว่า 40 ตำบลใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาภายในปี 2548 และจะจัดตั้งให้เต็มพื้นที่ในจังหวัดสงขลาทุกตำบลๆ ละ 1 กองทุน ภายในเวลา 3 ปี

      แต่เพียงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 หรือเพียงไม่ถึงครึ่งปีที่โครงการนี้เริ่มต้น ก็จัดตั้งกองทุนได้แล้ว 39 กองทุน ใน 27 ตำบล 2 เทศบาล ใน 15 อำเภอ มีสมาชิกกองทุนแล้ว 21,829 คน มีเงินกองทุนแล้ว 4,566,347 บาท (เดินตามสัจจะวันละ 1 บาท : สุภาคย์ อินทองคง)      ตัวเลขการเติบโตรวดเร็วขนาดนี้ต้องนับว่าเกินความคาดหมาย เพราะอย่าลืมว่า กระบวนการสัจจะวันละ 1 บาท ที่เกิดขึ้นจะต้องมาจากความเข้าใจ การเห็นความสำคัญ ความตั้งใจของชาวบ้าน และเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านเอง ใครจะไปบังคับให้เกิดหรือปั้นแต่งตัวเลขไม่ได้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินมูลค่าไม่ได้)

      และถามว่า เงินจำนวนนี้นำไปสู่อะไร ที่สุดก็กลับไปสู่ชุมชนในรูปของสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการสร้างเบาะรองรับให้กับคนในชุมชน และพึ่งตนเองล้วนๆ อย่างที่รัฐไม่ต้องเสียสตางค์สักบาท ทั้งๆ ที่ตามจริงแล้ว รัฐควรจะมีส่วนในการดูแลเรื่องนี้โดยตรง หรืออย่างน้อยก็ควรจะสมทบเช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคมด้วยซ้ำ

      แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ขับเคลื่อนกลไกสัจจะวันละ 1 บาทจะมาเรียกร้อง เพราะแม้ผลปลายทางคือสวัสดิการจะเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ แต่การปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ด้วยการตั้งสัจจะเก็บออมและสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นในกิจกรรมร่วมกันนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญและต้องการยิ่งกว่า

      มาถึงตรงนี้ คุณเชื่อหรือยังว่า บาทเดียวเขยื้อนสังคมได้...แน่นอน เรามีบทเรียนให้คุณตามดูอีกมาก.- 

 

ที่มา:  ภคภาส ศิริสุข 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11971เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ดีใจที่ได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวของการเริ่มต้นจากชุมชนค่ะ เคยประทับใจเรื่องกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวง ที่สามารถเป็นรากฐานของหมู่บ้านหลังจากถูกโคลนถล่ม แต่ก็สามารถรักษาเยียวยากันได้ การยืนบนขาของตนเอง ดีอย่างนี้เองค่ะ

อยากสัมภาษณ์ ครู ชบจังเลย เพราะทำเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่อยากได้แนวความคิดต่าง ๆและผลงานของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

ไปแล้ว ไป ต.บ้านน้ำขาวมา กว่าจะหาทางไปบ้านคูร ชบ ได้ เล่นเอาซะเหนื่อยเลย

ขอบคูณค่ะที่ให้ขอมูลดีๆๆๆๆๆๆในการทำ รายงาน

ขอแสดงความยินดีกับครูบชบด้วย ที่สามารถทำตามความตั้งใจได้จนสำเร็จสมกับที่มีความคิดดี ๆ เพื่อสังคม อยากให้สังคมไทยมีคนแบบนี้มาก ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท