ธรรมะ: ในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


๑. อริยสัจ ๔. โดยทั่วไปสังคมไทยจะคุ้นเคยกับหัวข้อธรรมชื่อว่า อริยสัจ ๔. ได้แก่ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค. รวมทั้งความหมายที่ถ่ายทอดเล่าเรียนสืบต่อๆกันมา โดยมากจะเข้าใจและรับรู้ข้อธรรมนี้กันแค่นี้ ซึ่งความจริง อริยสัจ ๔. เป็นหัวใจ, เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ครอบคลุมวิถีชีวิตต่างๆทุกด้านในทุกขณะจิต การงานทุกอย่างหากดำเนินตามหลักของ อริยสัจ ๔. จะมีความสมบูรณ์, รอบคอบ, มีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างที่สุด ตัวอย่าง เช่น การเขียนโครงการในการทำงานของทางราชการที่ว่า ๑. หลักการและเหตุผล เป็นส่วนที่กล่าวถึง ทุกข์ และ สมุทัย ๒. วัตถุประสงค์ เป็นส่วนของ นิโรธ ๓. วิธีดำเนินการโครงการและอื่นๆ เป็นส่วนของ มรรค เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการของทางราชการ แต่ละหัวข้อนั้นว่า จริงไหม? หรือ ถูกต้องจริงหรือ? มักจะได้คำตอบไม่ค่อยจะเป็นเหตุ - ผล กันนัก ผลก็คือ การงานทั้งหลายทุกคนลงมือลงแรงเหน็ดเหนื่อยกันอย่างมากมาย แต่ มักจะไม่มีผลตอบแทน ที่คุ้มกัน จึงควรจะพิจารณาใตร่ตรองให้รอบคอบ

๒. ทางสายกลาง คือ มรรค อันเป็นหัวข้อธรรมใน อริยสัจ ๔. ดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง และ มรรค นี้ก็เช่นเดียวกัน คนโดยมากจะรู้ว่า มรรคมีองค์แปด มีข้อย่อยแต่ละข้อว่าอย่างไร? ย่อว่า ศีล, สมาธิ, ปัญญา มีความหมายว่าอย่างไร? คือ รู้จำ, รู้ตามปัญญาของผู้อื่น มักจะไม่ค่อยพบว่ามีผู้ใด รู้จริง คือ รู้ด้วยปัญญาของตนเอง อันเกิดจากภาวนามยปัญญาตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน ยิ่งไปกว่านั้น “การควบคุมจิตใจ” อันเกิดจากการภาวนาตามองค์มรรคที่มีชื่อว่า สัมมาวายามะ, สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ หรือ โดยทั่วไปเรียกรวมๆว่า “สมาธิ” นั้น สังคมไทยอ่อนแอในเรื่องการควบคุมจิตใจตามมรรคนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เสียงกรี๊ด ๆ ๆ ในการชมคอนเสริต การแสดงออกต่างๆ การก่ออาชญากรรมนานาชนิด ไม่ว่าพ่อข่มขืนลูกสาวของตนเอง และแม้แต่คนไทยใช้เวลาหมดไปกับ รายการบันเทิงต่างๆ มากกว่า เวลาของการศึกษาเล่าเรียน และ เวลาของการทำงาน เป็น “มนุษย์บริโภคนิยมจัด” มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่สร้าง “ปัญหาให้แก่ตนเอง ประเทศชาติ และโลก” มากมาย ก็เพราะ เป็นมนุษย์ที่ “ตามใจกิเลส” ไม่สามารถ “ควบคุมจิตใจ” ของตัวเอง ให้ตั้งอยู่ในความดีได้ นั่นเอง จุดนี้เอง.........พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเตือนว่าให้ระมัดระวัง ไม่ยึดถือ ไม่คิด ไม่ทำอะไรตามตำรา ตามวิชาการ มากเกินไป เพราะเพียงมีความฉลาดรู้ตามตำราฝรั่ง แต่ ไม่รู้จักควบคุมจิตใจตัวเองให้ตั้งอยู่ในความดี และ มีปัญญาหยั่งรู้ดี - ชั่ว ก็จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดุร้าย อันตราย เข่นฆ่า แล่เนื้อเถือหนัง ขัดแย้ง ก่อวิวาทกัน มีความเป็นอยู่ “อยู่อย่างร้อนนอนเป็นทุกข์” ดังเช่นทุกวันนี้

อีกอย่างหนึ่ง สังคมไทยทุ่มเท ชีวิตจิตใจ เชื่อถือและยกย่อง “การเป็นอยู่ตามอย่างชาวตะวันตก” เพราะมี วัตถุ, นวัตกรรม, วิชาการ, ยานพาหนะ, เทคโนโลยี ฯลฯ ก้าวหน้าต่างๆ มีความเพลิดเพลินและภาคภูมิใจอยู่กับ “การเป็นผู้ตามบริโภค” ผลงานของผู้อื่น โดยมิได้เฉลียวใจว่า “ในความเจริญก้าวหน้า” นั้น มีความ “ผิดพลาด” ที่น่ากลัวอยู่ด้วยเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า “ต้องทำแบบคนจน เราไม่เป็นประเทศที่ร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่เป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มการบริหารที่เรียกว่า “แบบคนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างสามัคคีนี่แหละ คือ เมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป.” ทรงเตือนสติ และ ชี้แนวทาง ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะการเป็นประเทศที่ก้าวหน้าจะมีความเคยชินกับการทำงานที่ฟุ่มเฟือย มีการใช้เทคโนโลยีราคาแพงๆ ใช้แรงงานคนน้อย คนชนบทจะถูกทอดทิ้ง ตกอยู่ในวัฏจักรของความยากจน เจ็บไข้ และไร้การศึกษา ถ้าทำแบบคนจน ทำอย่างสามัคคี มีส่วนร่วม มีใจรักในความเป็นชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน ทุกคนก็จะอยู่ได้ตลอดไป และการงานก็เจริญขึ้นด้วย.

การที่สังคมไทยไม่เฉลียวใจว่า คนไทยเกิดการขาดภูมิปัญญา เป็นอย่างมาก ได้แต่ก้มหน้าก้มตา ติดตามบริโภคปัญญา ของชนชาติอื่นอยู่นี้ รวมทั้ง ควบคุมจิตใจตนเองไม่ได้ ด้วย เป็นต้นเหตุให้ มีความประพฤติ (ศีล) ที่ไว้วางใจไม่ได้ เกียรติยศ ของคนไทยจะมีได้อย่างไร?
พระบรมราโชวาทแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็น ทางสายกลาง ที่วิเศษที่สุด สังคมไทย ปฏิบัติตนให้สมกับเป็นพสกนิกรที่ดี คิดถึงคุณค่า เกียรติยศของตนเอง มุ่งมั่น ทำความดี เพราะมรดกธรรมอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนาอยู่กับเรามานานแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระเมตตาคิดค้น อธิบาย เป็นเหตุเป็นผล ทำให้ง่ายอย่างที่สุดแล้ว พวกเรายังจะชวนกันทำตัวแค่ร้องเพลง, กล่าวคำราชสดุดีอย่างไพเราะๆ เพียงแค่นี้ละหรือ?

สภาพการที่คนไทยขาดภูมิปัญญา น่าจะเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ฝึกให้รู้ว่า การคิดนั้นมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๒ อย่าง คือ ๑. ข้อมูล และ ๒. วิธีคิด
การเชื่อข้อมูล ทำตามข้อมูล ดังที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ นักปราชญ์บอกว่า “เป็นพวกคนตาบอด (Intuition without concept are blind) แต่ การคิด โดยไม่มีข้อมูล เรื่องราว ข้อเท็จจริง อย่างเพียงพอ นักปราชญ์ก็บอกว่า “พวกนี้เป็นพวกยกเมฆ”(Thought without content are empty) เชื่อถือไม่ได้ อีกเหมือนกัน

ภูมิปัญญา ก็เช่นเดียวกัน สังคมไทยนิยมใช้ปัญญาของคนคนเดียว สั่งการ เพราะง่ายและรวดเร็วดี แต่โดยธรรมชาติ จะเห็นได้อยู่ทั่วไปว่า ปัญญาของใคร คนนั้น ต้องเป็นผู้ทำ คือถ้าใช้ปัญญาของคนคนเดียว คนทำจริงๆก็จะมีคนเดียว นอกนั้นก็ทำอย่างเสียไม่ได้ ไม่เต็มที่ นักปราชญ์จึงแนะนำว่าให้ใช้ “ภูมิปัญญา” แทน เพราะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” คือปัญญาของหลายๆคนเอามารวมกัน และ ทุกๆคนเป็นผู้ทำตามปัญญา นั้นๆ ผลงานจะทวีมากขึ้นอย่างมหาศาล

๓. อปริหานิยธรรม ๗. ธรรมะข้อนี้อาจจะไม่คุ้นเคยกับคนทั่วไป แต่สำหรับ “ทิด” ทั้งหลาย คือ บุรุษที่เคยบวชเรียนมาแล้ว อย่างน้อยคงจะเคยได้ยิน ได้อ่าน ได้ฟังมาบ้าง แต่จะมีใครเคยคิดบ้างว่า “เมื่อ ๒๕๕๐ปี มาแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนนวัคกรรมที่ล้ำเลิศที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษย์” ซึ่งฝรั่งในองค์การสหประชาชาติเพิ่งรู้จัก “วิธีทำงานแบบมีส่วนร่วม” (Social Learning Process หรือ Participatory Action Research) เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง และนักการเมือง ตลอดจนข้าราชการไทย นำมาใช้โฆษณาหาเสียง พูดกันอย่างโก้ๆ ตามก้นฝรั่งอยู่ในทุกวันนี้
อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง คือ ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว มี ๗ อย่าง ดังนี้
๑.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒.เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓.ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔.ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน
๕.ไม่ลุแก่อำนาจความอยากที่เกิดขึ้น
๖.ยินดีในเสนาสนะป่า
๗.ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข.
ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นวโกวาท หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๕๑.
ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว จะมี เทคโนโลยี ที่มีความรอบคอบสมบูรณ์แบบเช่นนี้มาแล้ว นี่เองที่ชี้ให้เห็นว่า พระอรหันต์ ท่านล้ำเลิศกว่ามนุษย์ ธรรมดา อย่างสุดที่จะเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์ ทรงให้ความสำคัญแก่การประชุม คือให้ความสำคัญแก่ คุณค่าความคิด หรือ คุณค่าของภูมิปัญญา ของผู้เข้าร่วมประชุม เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มี ส่วนร่วม ตั้งแต่ ร่วมรับรู้, ว่าเรื่องที่มีผลกระทบนั้นคือเรื่องอะไร มีความสำคัญหรือมีความรุนแรงแค่ไหน ร่วมคิด ว่าจะมีทางแก้ไขเรื่องนั้นอย่างไร, แก้ไขได้กี่วิธี ร่วมตัดสินใจ เลือกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เอามาทำแผนเพื่อปฏิบัติ ร่วมทุนและร่วมทำ ตามแผนที่ตัดสินใจเลือกนั้นด้วยความเต็มใจ และ ร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ได้รับความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว แต่ละคนเป็นผู้ทำงานนั้นเอง จะต้องรับผลงาน ของตนเอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่มีใครแย่งผลงานใคร ทุกคนทำงานแบบมีส่วนร่วม ความดีก็เป็นของกลุ่ม ความล้มเหลวก็เป็นของกลุ่มด้วย ทุกคนต้องทำงานที่ตนรับผิดชอบให้ดีที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น อปริหานิยธรรม ยังได้ระบุ คุณธรรม ของสมาชิกในกลุ่มทั้งกลุ่มในเรื่อง รู้รักษ์สามัคคี, การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสมาทานสิกขาบท คือ บทเรียนต่างๆ รู้จักควบคุมจิตใจตนเอง ไม่ลุอำนาจของ ความอยาก และรู้จัก รวบรวมข้อมูล จาก กัลยาณมิตร คือคนที่มีความหวังดีต่อกัน อันจะเป็นการเพิ่มพลังปัญญา เป็น ภูมิปัญญา ที่เข้มแข็งยิ่งๆขึ้นด้วย

มี เทคนิคอย่างหนึ่ง ใน อปริหานิยธรรม ที่คนยังไม่คุ้นเคยและ ไม่ค่อยนำมาใช้กัน คือ การแบ่งงานกันทำ ข้อแรกมักแบ่งงานไม่เป็น ข้อที่สองสังคมไทยมักติดนิสัยว่า ใครคิด ก็ให้คนนั้นทำ คนอื่นไม่เกี่ยว ซึ่งจะเห็นได้ในการประชุมกลุ่มต่างๆในทางราชการ คนที่ทำงาน มักได้แก่ประธานและเลขานุการเสมอ การที่ถือว่าธุระไม่ใช่ อย่างนี้ เป็นเรื่อง ด้อยปัญญา ทำลายสังคมที่ น่าอาย เป็นการดูหมิ่นตนเองและกลุ่มที่น่ารังเกลียดที่สุด

การแบ่งงานกันทำ ทำได้ด้วยการตั้งคำถามว่า งานนี้จะสำเร็จได้ต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง? ทำรายการกิจกรรมออกมา และถามต่อไปว่า กิจกรรมนี้ต้องเสร็จเมื่อใด? กำหนด เป้าหมายเวลา จนครบอย่างต่อเนื่องกันตามสภาพของงาน / กิจกรรม และถามต่อไปว่า ผู้ใดจะรับผิดชอบในการทำกิจกรรมนั้นๆ ให้บุคลากรในกลุ่ม อาสา หรือให้กลุ่มมอบหมาย ซึ่งจะเป็นการ ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน/กิจกรรม ถ้าคนยังไม่มีความสามารถในการทำงานในเรื่องนั้น ก็ให้เรียนหรือฝึกอบรมให้ ตรงนี้เองที่ฝรั่งใช้คำว่า Training Need ความจำเป็นในการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งทางราชการไทยมักจะไม่ใส่ใจกันนัก การฝึกอบรมต่างๆของไทย จึงแฝงไปกับการใช้งบประมาณของส่วนรวมไปเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการทำลายชาติของตนเอง อย่างมีเกียรติ และ ปลอดภัย อย่างหนึ่ง

อปริหานิยธรรม นี้เอง เป็นกระบวนการในการสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ ฝรั่งใช้คำว่า Social Learning Process หรือ Participatory Action Research จะยืมเขามาใช้บ้าง ก็คงไม่มีใครขัดข้อง เพราะ UNDP. ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UNO. แนะนำให้ใช้ เป็น นวัตกรรม ที่ชักนำให้กลุ่มนำ ธรรมะ มาใช้ร่วมด้วยได้อย่างหลากหลาย

อปริหานิยธรรม ในลักษณะนี้ ครอบคลุม ถ้อยคำสมัยใหม่ที่ทางราชการและนักการเมืองต่างๆชอบพูดกันเช่น ความโปร่งใส, ชุมชนเข้มแข็ง, ความเป็นธรรม ฯลฯ
เพราะการงานส่วนใหญ่จะทำกันเป็นกลุ่ม เป็น ประชาสังคม ที่ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีดำริจะเสนอเป็นกฎหมายเพื่อรองรับการรวมกันของประชาชนเพื่อดำเนินการต่างๆตามแนวความคิดนี้

๔. ความรอบรู้, รอบคอบ และความะระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาท เตือนสติ ไว้ เป็นถ้อยคำสำคัญมาก ความรอบรู้ หมายถึงต้องมีข้อมูลรอบด้านและมากเพียงพอ, ความรอบคอบ หมายถึง ต้องมีวิธีคิดที่เหมาะสม มีพลังตรงตามความต้องการ เดี๋ยวนี้ผู้คนขาดแคลน วิธีคิดที่ดี ปัญญาจึงเกิดไม่ได้ คนจึงตกเป็นทาสของการโฆษณา ที่ยุให้รำ ตำให้รั่ว ไม่รู้ว่า อะไรเป็นคุณค่าแท้ อะไรเป็นคุณค่าเทียม เชื่อและนิยมสิ่งต่างๆอย่างผิดๆ

ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำเอาวิชาการมาใช้ในการวางแผนและการปฏิบัติในทุกๆขั้นตอน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีประสบการณ์ในการใช้ทฤษฎีของฝรั่ง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ศึกษาวิจัยมาจากสังคม บริโภคนิยม ที่เอา “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง แล้วแก้ตรงจุดที่เป็นปัญหานั้น เช่น นักเรียนหญิงในปัจจุบันมีสถิติ ตั้งท้อง ในระหว่างเรียนมากขึ้น สังคมก็เรียกร้องให้สอน เพศศึกษา ให้จัดบริการ ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเหนิด จากการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศที่ทำเรื่องนี้มานาน เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหาเด็กหญิงตั้งท้องในระหว่างเรียนกลับมีแต่เพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะมุ่งแต่จะขจัดปัญหา เพ่งแต่จะควบคุมที่เพศของเด็ก แต่.....ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้ ควบคุมที่ใจ ควบคุมตัณหา ความต้องการ ถ้าควบคุมจิตใจได้ก็สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ยิ่งสอนให้มีปัญญาและใช้วิธีควบคุมปัญหาของฝรั่งประกอบด้วย ก็น่าจะช่วยเด็กได้ดีขึ้น เป็นต้น

ข้อความ “ความระมัดระวังอย่างยิ่ง” นี้ น่าจะยึดเอาภูมิปัญญาดั้งดิมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักและเอาสรรพวิชาการในโลกเป็นส่วนประกอบ ก็จะเกิด “ความระมัดระวังอย่างยิ่ง” ขึ้นได้


๕.ปธาน ๔. คือความเพียร ๔ อย่าง
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม.
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบให้มีในตน.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นวโกวาท มหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๓๕.
ธรรมะข้อนี้เป็น เทคโนโลยี ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่ก่อนจะเริ่ม หรือเลิกกิจการอะไร ควรจะอนุโลมเอาความหมายทั้ง ๔ ข้อ เข้าไปตรวจสอบพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน หรือในระหว่างการทำงาน ก็ใช้ธรรมะนี้ตรวจสอบเป็นระยะๆได้ จะทำให้ได้เนื้องานที่ถูกต้องครงตามความมุ่งหมายอยู่เสมอ ในวิชาการทางโลก ฝรั่งใช้ เทคนิค (MIR”)
M = Maintenance รักษาไว้ ตรงกับ อนุรักขนาปธาน
I = Increase เพิ่มขึ้น ตรงกับ ภาวนาปธาน
R = Reduce เอาออก ตรงกับ ปหานปธาน
ธรรมะ ยังมี สังวรปธาน คือ เพียรระวัง ไม่ให้ความผิดพลาด หรือ บาป เกิดขึ้น (ในสันดาน) เป็นข้อกำกับไว้อีก นับว่าวิเศษยิ่งกว่าเทคนิคที่ฝรั่งคิดได้และนิยมใช้เสียอีก

ก่อนที่จะดำเนินการตาม พระบรมราโชวาท แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงควรมีการทบทวน เพื่อให้รู้สภาพที่แท้จริงว่า การดำรงอยู่ และ การประพฤติตน ของบุคคล และ กิจการ เข้าเกณฑ์ของ ทางสายกลาง และ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องใดบ้างหรือไม่? โดยใช้ ปธาน ๔. และ MIR. เป็น เทคนิค สำหรับตรวจสอบ ข้อใดไม่เข้าเกณฑ์ก็ถือว่า เป็น ปัญหา ที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ข้อใดเข้าเกณฑ์ดีแล้ว จะได้ รักษาไว้ ข้อใดที่ยังไม่มี ยังขาดอยู่ จะได้ เพิ่มเติม ให้มีขึ้น และ ข้อใดผิดพลาด หรือเกินมากไป จะได้ ตัดออก เป็นต้น แล้ว ระวัง ให้บริสุทธิบริบูรณ์ต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 119611เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2007 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ดีมากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท