คำขวัญ วันเด็ก ความคาดหวัง อนาคตเด็กวันนี้


คำขวัญวันเด็ก ๒๕๔๙

 

คำขวัญ วันเด็ก ความคาดหวัง อนาคตเด็กวันนี้

.          ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกภาคส่วนของสังคมโลก  ทำให้แต่ละประเทศต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพทันกับความก้าวหน้าเหล่านี้  อย่างไรก็ดี การพัฒนาดังกล่าวหากจะให้มีผลอย่างจริงจัง    ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก อันเป็นวัยพื้นฐานก่อน   ดังนั้น    เด็กจึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทุกชาติถือว่าเป็นกำลังสำคัญ ที่จะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต....

ด้วยเหตุนี้ หลายๆประเทศจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น  เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตน  ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นความสำคัญของเด็กด้วย
         
          สำหรับในประเทศไทย  หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้บอกถึงความเป็นมาของงานวันเด็กว่า เริ่มจาก นายวีเอ็ม  กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศได้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์  ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็ก   วันเด็กแห่งชาติของประเทศไทยจึงมีขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๘ และปฏิบัติกันเรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ. ๒๕๐๖  ต่อมาเห็นว่าวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคมเหมาะสำหรับการจัดงานวันเด็กมากกว่า เพราะเป็นช่วงหมดฤดูฝนแล้ว และเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย  แต่ในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่สามารถจัดงานได้ทัน  จึงได้เลื่อนมาจัดในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ แทน ตั้งแต่นั้นมางานวันเด็กแห่งชาติจึงจัดให้มีขึ้นทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมและได้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

           ณ วันนี้ หากจะถามว่า ”เด็กไทยเป็นเช่นไรและไปไกลถึงไหนแล้ว ” เราคงต้องยอมรับว่าเด็กในสมัยนี้ฉลาด  เรียนรู้ได้เร็ว  มีจินตนาสร้างสรรค์   และมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ ยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมามากทีเดียว   ยิ่งสถาบันหลักอย่าง สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา เปิดโอกาสและให้การสนับสนุนด้วยแล้ว   โอกาสที่เด็กจะพัฒนาไปสู่การเป็น “คนดี คนเก่ง”  ของสังคมก็ยิ่งมีมากขึ้น
“อยากฉลาดต้อง ขยันอ่าน ขยันคิด”  คือคำขวัญวันเด็กปีพ.ศ. ๒๕๔๙    ที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กับเด็กไทยในปีนี้   หากจะมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา   เราจะเห็นว่าในแต่ละปีผู้นำของประเทศจะมีคำขวัญซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานการณ์   แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนความคิดและบ่งบอกความคาดหวังต่อเด็กอันเป็น ”อนาคต” ของประเทศชาติว่า ผู้ใหญ่มุ่งมั่นอยากให้เด็กๆเป็นเช่นไรด้วย  ซึ่งจากคำขวัญของท่านนายกรัฐมนตรีปีนี้  นอกจากจะบอกถึงคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว  ยังเป็นการแนะแนวทางปฏิบัติด้วยว่า  เด็กที่อยากฉลาดควรจะปฏิบัติตนอย่างไร
 
           คำว่า ”ฉลาด”  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายว่า “เฉียบแหลม ไหวพริบดี ปัญญาดี” โดยทั่วไป คนฉลาดมักจะเป็นผู้มีความสามารถเหนือบุคคลอื่น แต่ผู้ที่จะฉลาดกว่าคนอื่นได้นั้น แนวทางหนึ่งซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกไว้แล้วในคำขวัญนั่นก็คือ  เด็กๆต้องเป็นคนที่ขยันอ่านและขยันคิด   หรือพูดง่ายๆว่า ต้องเป็นผู้ที่มี   “หัวใจนักปราชญ์”     อันได้แก่  สุ จิ ปุ ลิ   ซึ่งย่อมาจาก สุ  คือ สุตะ  หมายถึง  การฟังมาก ในที่นี้หมายรวมถึงการอ่านด้วย  จินตนะ คือ การคิด หมายถึงการรู้จักใคร่ครวญหาเหตุผลในเรื่องต่างๆ  ปุจฉา คือ การถาม หมายถึง การรู้จักถามไถ่ให้ถ่องแท้  และลิขิต  คือ การเขียน  หมายถึง ความสามารถในการเขียน อันเป็นการสื่อสารสิ่งที่เราศึกษาหรือเรียนรู้ออกมา   ซึ่งหัวใจนักปราชญ์นี้ นับเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆเป็นผู้ไม่ล้าหลัง  เพราะคนที่อ่านมาก ฟังมาก ย่อมจะทำให้เป็นผู้รอบรู้  ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบัน หากศึกษาหาความรู้ได้มากเท่าใด  ก็จะยิ่งเป็นพื้นฐานให้เราฉลาดเฉลียวยิ่งขึ้นมากเท่านั้น

           อย่างไรก็ดี  การจะส่งเสริมให้เด็กขยันอ่าน ขยันคิด เพื่อให้เด็กฉลาด และเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าได้นั้น   ครอบครัว  ชุมชนและสังคมควรจะมีส่วนร่วม  ด้วยการจัดสรรสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ให้เด็กได้ศึกษาหาความรู้  เช่น จัดมุมหนังสือในบ้าน  จัดโครงการห้องสมุดประจำหมู่บ้าน  จัดชมรมคนรักการอ่านขึ้นภายในโรงเรียน  หรือจัดกิจกรรมประกวดชิงรางวัลในด้านต่างๆ  อันเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากร่วมกิจกรรม   เพราะนิสัยของเด็กนั้นชอบที่จะคนเก่งในสายตาเพื่อน  และอยากได้รางวัลกลับไปให้ผู้ปกครองชื่นชม 

           หากทุกหน่วยของสังคมได้ร่วมมือให้เด็กได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายและทั่วถึงอย่างต่อเนื่องแล้ว  เชื่อว่า คำขวัญวันเด็กที่ว่า “อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด” คงจะเป็นความคาดหวังที่ไม่ไกลเกินฝัน และช่วยให้ประเทศของเรามี “เด็กฉลาด” เพิ่มขึ้นแน่นอน    เพราะคำขวัญวันเด็ก และงานวันเด็กจะเป็นอีกวันหนึ่งที่จะสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักว่า เด็กในวันนี้คือกำลังสำคัญของชาติบ้านเมือง  ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันเอาใจใส่ดูแล   และเด็กก็จะเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศก้าวต่อไปอย่างมั่นคง  

                                      จาก...ประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
http://www.m-culture.go.th/culture01

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 11956เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท