บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๒ (๑)


บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๒ (๑)


ใน KM สัญจรครั้งแรก (๕ ๗ กค. ๔๘) เราได้รับคำแนะนำว่า KM สัญจรครั้งต่อไปน่าจะจัดแบบพุ่งเป้า     ลงไปดูที่ใดที่หนึ่งแบบลงลึกไปเลย      คราวนี้เราจึงจัดไปดูที่ จ. พิจิตรที่เดียว     มีเป้าหมายพานักวิจัย-วิชาการไปดูความสำเร็จของชาวบ้าน  ในการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง  สำหรับใช้ในกิจกรรมการทำมาหากินของตน     โดยทำเกษตรปลอดสารพิษ หรือเกษตรพอเพียง / เกษตรยั่งยืน    เพื่อหาทางให้นักวิจัยไปทำวิจัยต่อยอดความรู้ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น


รถออกเวลา ๘.๑๐ น. จากเวลานัด ๘.๐๐ น.    คุณอ้อม (อุรพิณ ชูเกาะทวด) กล่าวต้อนรับและฉายวิดีโอเรื่องการจัดการความรู้เกษตรปลอดสารพิษ จ. พิจิตร ความยาว ๑๒ นาที    ที่เราเคยใช้นำเสนอตอนเปิดงานมหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑ ธค. ๔๘    ตามด้วยการแนะนำตัวเองว่าเป็นใคร ทำอะไร มีเป้าหมายในการมาร่วม KM สัญจรอย่างไรบ้าง


ศ. ดร. อมเรศ ภูมิรัตน  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม. มหิดล   และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. บอกว่าเดิมไม่เคยคิดมาก่อนว่ามีความรู้ฝังลึกในตัวชาวบ้าน     จึงอยากมาดูให้ได้สัมผัสความรู้ในตัวปราชญ์ชาวบ้านจริง     อยากสืบหาความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น     อยากเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ไม่ใช่แก่ผู้ประกอบการ     แต่ถ่ายทอดไปถึงชุมชน หรือตัวชาวบ้านเลย     อยากเรียนรู้เทคนิควิธีการถ่ายทอดดังกล่าว      เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตนไม่เข้าใจลึก อยากมาทำความเข้าใจ     คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงคงจะไม่ใช่การดำเนินการโดยใช้ความรู้เพียงเท่าที่มี     น่าจะต้องใช้ความรู้สมัยใหม่ด้วย


ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด บอกว่าตนทำเรื่องจัดการความรู้ เน้นในองค์กร  ราชการ  และเอกชน    จึงอยากไปสัมผัส KM เกษตรกร ที่เป็นการสัมผัสตรง


ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ผอ. ฝ่ายวิชาการ  สกว.    บอกว่าตนทำงานที่ สกว. มาเกือบ ๑๐ ปี    เห็นว่า สกว. ใช้เงินคุ้มค่า     ต่อมามี สคส. ทำมาแค่ ๒ – ๓ ปี เห็นงานมหกรรมจัดการความรู้มีคนสนใจเป็นพันแล้วตื่นเต้น อยากทำความเข้าใจเรื่อง KM       อยากให้งานวิจัยเชื่อมโยงกับความรู้ของชาวบ้าน     เมื่อปลายปีที่แล้วได้จัดการประชุมนักวิจัยใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว.      ได้เชิญ ศ. ดร. อมเรศ, ศ. ดร. พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์   กับปราชญ์ชาวบ้าน อภิปรายร่วมกัน    ทำให้เห็นว่าจะเกิดพลังหากมีกิจกรรมเชื่อมโยง ระหว่างนักวิจัย กับชาวบ้าน     คาดหวังแนวเดียวกับ ศ. ดร. อมเรศ    หากตนเข้าใจเรื่องความรู้ของชาวบ้านมากขึ้นจะไปกระตุ้นนักวิจัยใหม่ ให้ ส่วนหนึ่งเข้ามาทำวิจัยต่อยอดความรู้ของชาวบ้าน     อยากมาทำความเข้าใจ เพื่อเอาไปบอกต่อ


ศ. ดร. เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม คณะเกษตรศาสตร์ มช.  และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว.      มีเป้าหมายแนวเดียวกับ ศ. ดร. อมเรศ     อยากมาหาทางเชื่อมโยงให้ความรู้ของนักวิชาการกับชาวบ้านเชื่อมต่อกันได้


ศ. ดร. อารันต์ พัฒโนทัย  คณะเกษตรศาสตร์  มข.  และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว.    เดิมทำวิจัยระบบเกษตร สัมผัสเกษตรกรและความรู้ของเกษตรกรพอควร แต่กระบวนการชาวบ้านยังไม่ก้าวหน้า     ตอนหลังทำวิจัยพื้นฐานจึงห่างจากชาวบ้านไป     ตนเองเรียนรู้จากเขา มากกว่าไปถ่ายทอดให้เขา     การเน้นถ่ายทอด ผิด น่าจะเป็นการ เรียนรู้ร่วมกันมากกว่า     ได้พยายามเปลี่ยนกรมส่งเสริมการเกษตร    จาก ศูนย์ถ่ายทอด เป็นศูนย์เรียนรู้ร่วมกัน     เอาความรู้ ใหม่ไปต่อยอด     ที่เป็นอยู่ขาดจุดเชื่อม    ต้องการคนอีกกลุ่มหรือเปล่า ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง (ความรู้ของ) ชาวบ้าน กับ (ความรู้ของ) นักวิชาการ


ศ. ดร. ประเสริฐ โศภณ    มี ๒ สถานภาพ   คือเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม. มหิดล   และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สถานภาพหนึ่ง     กับอีกสถานภาพหนึ่งเป็นที่ปรึกษา ศ. ดร. วิชัย    เพื่อพัฒนาการวิจัยพุ่งเป้า (Targeted Basic Research) หาทางให้การวิจัยมีกรอบและทิศทางมากขึ้น   ซึ่งเวลานี้มีเรื่องเคมีทางยา,    สัตว์น้ำ,   และ Stem Cells     มีความเห็นว่าวัฒนธรรมของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง จากเกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นเกษตรมักง่าย      ได้ไปเรียนรู้เรื่องของโรงเรียนชาวนา ที่สุพรรณบุรี เห็นว่าเกษตรกรมีความรู้มาก     คิดว่าต้องเชื่อมความรู้ ๒ ชุดนี้ คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กับความรู้ของชาวบ้าน เข้าด้วยกัน     โดยส่วนตัว ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ สนใจเรื่องเซลล์  ทำวิจัยพื้นฐาน ไม่คิดเอาไปใช้ประโยชน์     การมาสัมผัสความรู้ของชาวบ้าน ทำให้คิดเป็น    งาน สคส. ของ เป็น great social experiment มีตัวแปรมากมาย แบบจับปูใส่กระด้ง     อยากมาดูวิธีจับปู     หรือที่ตนขอเสนอให้ใช้คำว่า peer learning 


คุณ - -  สุกใส  นักข่าว นสพ. กรุงเทพธุรกิจ    อยากเอาไปเผยแพร่


คุณภาคภูมิ - -   นักข่าว นสพ. คมชัดลึก   สนใจเรื่องผักปลอดสารพิษ  สำหรับเอาไปเผยแพร่


ศ. ดร. อภิชัย พันธเสน   ส่วนตัว ตนอยากเป็น social activist  คือใช้กิจกรรมเปลี่ยนแปลงสังคม     แต่ชีวิตในชีวิตจริงต้องไปเป็นอาจารย์ สอน และเขียนหนังสือ     เชื่อเหมือน อ. หมอประเวศ ว่าปัญหาสังคมเกิดจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้สอนความรู้ของประเทศไทย     แต่สอนความรู้ที่เอามาจากต่างประเทศ    จึงอยากแก้ไข     ตอนนี้ไปเป็นคณบดีคณะบริหารศาสตร์ ม. อุบลราชธานี     ได้ริเริ่มความร่วมมือครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ในการนำนักศึกษาไปฝึกงานที่สวนป่าของครูบาฯ     สคส. ได้เข้าไปหนุนโดย จะให้ทุน ป โท – เอก ทำวิจัยเชิงทำ KM ร่วมกับชาวบ้าน    ตนบอก อ. ที่ปรึกษา ว่าต้องใช้หลักเหมาเจ๋อตง ว่าอาจารย์ต้องช่วยนักศึกษาซึ่งไม่เก่งนัก ให้เรียนจบให้ได้         ต้องการไปดูวิธีเชื่อมต่อความรู้ ๒ ขั้ว     และต้องการไปดูว่า มน. ทำอะไร    เพื่อเอาไปใช้ในหลักสูตร


คุณชลนภา อานแก้ว   เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ  ฝ่ายวิชาการ  สกว.     ต้องการไปเรียนรู้จากอาจารย์ที่มาด้วยกัน    และจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้าน


คุณแสงเพชร อิสสระพินิชกิจ   เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการฝ่ายวิชาการ  สกว.     ต้องการไปเรียนรู้ กระบวนการการทำ KM จริงๆ   


คุณสุประวัติ   นักข่าว นิตยสารชีวิตต้องสู้    ต้องการไปดูว่าภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยี จะไปด้วยกันได้หรือเปล่า


คุณพรพิมล กิตติมศักดิ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการฝ่ายวิชาการ  สกว.     ได้ฟังเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ อยากไปดูของจริง     เคยไปชมที่เชียงราย เชียงใหม่    อยากดูที่พิจิตรเป็นการเปรียบเทียบ


คุณศศิธร อบกลิ่น  ประชาสัมพันธ์ สคส.  ต้องการเผยแพร่กิจกรรม    มีความสนใจส่วนตัวต่อภาคเกษตรอินทรีย์     ติดใจว่าพิจิตรพัฒนาเร็ว  

 
คุณแอนน์ (ชุติมา อินทรประเสริฐ)   แนะนำตัวเองว่าทำงานที่ สคส.   รับผิดชอบงานมหกรรม    รายงานประจำปี    และการจับภาพการจัดการความรู้ในสังคมไทย     ต้องการมาเห็นภาพนักวิชาการอาวุโส แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับปราชญ์ชาวบ้าน


คุณแกบ (สุปราณี จริยะพร)  ผู้จัดการสำนักงาน สคส.    กล่าวว่าดีใจที่พบนักวิจัย     ได้เรียนรู้


คุณแขก (อาทิตย์ ลมูลปลั่ง)  ทีม ประชาสัมพันธ์   บอกว่าตนมาอำนวยความสะดวกให้อาจารย์และนักข่าวได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้าน     ต้องการมาเห็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง   

     
คุณน้ำ  ทีมประชาสัมพันธ์ ลุกขึ้นมาแนะนำตัวไม่ทัน


บนรถมีด้วยกัน ๒๔ คน     และจะมีทีมเกษตรจากกำแพงเพชรมาสมทบที่พิจิตรอีก ๑๐ คน     และทีม มน. อีก ๕ คน

จากนครสวรรค์ เวลาเที่ยง รถบัสแล่นเข้า จ. พิจิตร ทางกิ่ง อ บึงนาราง    อ้อมแจ้งว่ามีกิจกรรมข้าวสะอาดกลุ่มของคุณมนูญ มณีโชติ    แต่เราจะไม่มาดูที่นี่     เวลา ๑๒.๓๐ น. เราไปกราบหลวงพ่อเพชร  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่วัดท่าหลวง  จ. พิจิตร      พบปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมารออยู่ก่อนแล้ว     ได้แก่ คุณณรงค์ แฉล้มวงศ์   คุณสุนทร มัจฉิม    คุณบุญสืบ  คุณวิสันต์ ทองเต่ามก  เป็นต้น    เราไปถึงศาลากลางจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม เวลา ๑๓ น. เศษ    ก่อนเวลานัดเกือบ ๑ ชั่วโมง
วิจารณ์ พานิช
๑๐ มค. ๔๙
โรงแรมพิจิตรพลาซ่า

หมายเลขบันทึก: 11949เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท