สอนภาษาไทยอย่างไร..ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์


 

สอนภาษาไทยอย่างไร..ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์

          ในระยะหลังๆมานี้ สถาบันการศึกษามักจะตื่นตัวเรื่องการสอนให้นักเรียนคิดกันมากขึ้น เพราะจากการประเมินภายนอก รอบแรกที่ผ่านมา ผู้เรียนมักบกพร่องในเรื่องนี้

          ผมในฐานะครูภาษาไทยคนหนึ่ง ก็มีปัญหาในการที่จะสอนให้ผู้เรียนคิด แต่เด็กนักเรียนที่ผมสอนก็มีอยู่บ้างที่คิดได้ แต่จะคิดเป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างเช่น น้องจิ น.ส.จิราภรณ์ กาญจนสุพรรณ ที่ท่านผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักกันในแวดวงชาวบล็อก

        และเราก็ต้องยอมรับกันว่ามีผู้เรียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ชอบคิด ไม่ว่าจะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า แต่บางคนไม่ได้สอนให้คิดกลับคิดก็มี เช่นพวกคิดมาก คิดสั้น

        พูดมาตั้งนานวันนี้ผมจะนำเสนอการสอนให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์กันดูสักหน่อย ผมไม่ได้คิดเองหรอกครับก็นำตำรามาประยุกต์นั่นแหละ

       สอนแบบไหนให้คิดสร้างสรรค์ ว่ากันเป็นข้อๆเลยนะครับ

      ข้อ ๑. ต้องสอนให้เขาใฝ่หาความรู้ก่อน เช่นให้ไปค้นหาคำตอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้เขาใช้วิธีค้นคว้ารูปแบบต่างๆเช่น ไปอ่าน ไปฟัง ไปสัมภาษณ์ ไปดู ไปทำ

       ข้อ ๒. ต่อจากข้อ ๑ ก็คือต้องสอนให้เขาช่างสังเกต สอนเขาเรื่อง เซอร์ไอแซคนิวตัน เห็นลูกแอปเปิ้ล หล่นลงมาเขาสังเกตจนเกิดความคิด ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ถ้าเป็นคนธรรมดาไม่รู้จักคิด ต่อให้ลูกมะพร้าวหล่นก็ไม่สังเกต นอกจากสังเกตแล้วผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เขาจะมีอารมณ์อ่อนไหว เห็นคนแก่ก็สงสารนึกถึงพ่อ ถึงแม่ เก็บมาเขียนแสดงความรู้สึก สอนให้เขาแสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่เขาพบเห็นก็จะดี

       ข้อ ๓. สอนให้เขาเป็นตัวของตัวเอง ข้อนี้สอนยากเพราะเรายังเห็นเด็กชอบลอกการบ้านเพื่อน ชอบเลียนแบบดารา แต่ก็พยายามให้เขาคิดเอง เช่นเรื่อง การรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ นี้เธอคิดอย่างไร ลองคิดเองเลยซิว่าควรรับหรือไม่รับ ไม่ต้องฟังใคร คิดจากเหตุผลของตัวเอง คำตอบไม่มีผิด แต่ระวังนะครับเป็นตัวของตัวเองต้องดูด้วยว่า อยู่ในศีลธรรมหรือกฎหมายหรือเปล่า

        ข้อ ๔. สอนให้คิดแปลกๆใหม่ๆ เช่นถ้าเราไม่หุงข้าวด้วยหม้อ ด้วยหม้อไฟฟ้า เราจะใช้อย่างอื่นมาหุงได้ไหม ผ้าขาวม้าใช้ทำอะไรได้บ้างคิดให้แปลกจากที่เขาใช้กันอยู่

       ข้อ ๕. สอนให้พยายามแก้ปัญหา เช่นให้หาปัญหาก่อนว่าในโรงเรียนหรือในบ้านเรามีปัญหาอะไร เช่นปัญหาโรงเรียนสกปรก หาสาเหตุของปัญหา เช่นเพราะมีนกพิราบมาอาศัยและถ่ายมูลไว้สกปรกมาก แล้วให้ช่วยกันคิดวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย แล้วเลือกทางแก้ แล้วช่วยกันแก้

        ข้อ ๖. สอนให้คิดพลิกแพลงแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี การคิดธรรมดาบางทีก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดี ก็ให้คิดพลิกแพลงบ้าง(แต่คงสอนยากน่าดู) อย่างเช่นตอนแรกผมสอนร้องเพลงอีแซว จากเนื้อเพลงอีแซว ตอนหลังผมลองให้นักเรียน นำเนื้อเพลงอีแซว ไปร้องทำนองเพลงอื่นบ้างซิ เด็กๆก็ไปร้องเป็นแหล่บ้าง เป็นเพลงพวงมาลัยบ้าง เป็นเพลงฉ่อยบ้าง(จริงๆแล้วกลอนเพลงพื้นบ้านมันร้องได้หลายชนิดอยู่แล้ว ผมรู้แต่เด็กไม่รู้ )

        ข้อ ๗. สอนให้คิดพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เมื่อสิ่งที่ตนเองทำ ตนเองชอบมันไม่เหมาะ ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนถ้าสิ่งนั้นมันไม่เหมาะกับกาลเวลาหรือสถานการณ์ เช่นบางคนเคยใช้เลขอารบิค ครูแนะนำให้ใช้เลขไทย ทั้งๆที่ไม่อยากใช้เพราะเขียนยากกว่า ไม่ชิน แต่อาจจะต้องใช้เพราะ ต้องช่วยกันดำรงเอกลักษณ์ของชาติไว้ คิดให้ไกลให้กว้าง

       ข้อ ๘. สอนให้คิดในสิ่งดีๆ มีสำนึกต่อสังคม การคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่คิดแปลกคิดใหม่ คิดแหวกแนว โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่คิดขึ้นนั้นจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร สิ่งที่คิดควรเป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญของบ้านเมือง ของสังคม ไม่ใช่คิดวิธีก่อกวนแบบใหม่ วิธีฆ่าคนแบบใหม่ วิธีงัดตู้เอทีเอ็มแบบใหม่

        ข้อ ๙.สอนให้มีศิลปะในการใช้ภาษา ภาษากับความคิดมีความสัมพันธ์กับอย่างแยกไม่ออก เราใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการคิดด้วยซ้ำไป การมีศิลปะในการใช้ภาษาเป็นตัวบ่งบอกความเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างสำคัญทีเดียว คนที่ใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ มีความสละสลวย นั่นแหละคือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์

          ๙ ข้อคงพอสมควรแล้วนะครับอาจจะมีมากกว่านี้แต่แค่นี้ก็สอนกันแย่แล้วใช่ไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 119420เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2007 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สำหรับผมคิดว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะต่อยอดให้เด็กคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น เราต้องมีตัวอย่างที่ดีให้เค้าเป็นต้นแบบความคิด เช่น

- บทร้อยกรองที่ดี ไพเราะ มีศิลปะในการแต่ง

- สื่อ หรือผลงาน ที่สวยงาม สร้างสรรค์

- ผลงาน หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จ

  ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เค้าได้เริ่มต้นที่มากกว่าจุดเริ่มต้นที่ 0 ครับผม

สวัสดีค่ะอาจารย์

สุดยอดค่ะ

นี่ละ เขาว่า คำแนะนำของผู้รู้จริงและรู้ลึก ไม่แค่ทฤษฏี ขอนำไปสอนต่อค่ะ

  • ขอบคุณ อ.นิมิตร ครับที่มาช่วยต่อยอด
  • ผมเห็นด้วยกับ อ.นิมิตรมากๆเลยครับ
  • สิ่งที่ อ.นิมิตร ต่อยอด มันเป็นแรงบันดาลใจที่ดียิ่งครับ
  • ขอบคุณ คุณแม่ศศินันท์ แม่ดีเด่นในใจลูกของท่านครับ ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นและชื่นชม
  • ผมนำทฤษฎีกับสิ่งที่ปฏิบัติมาบูรณาการ เผยแพร่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท