ไบโอดีเซล (2)


เป็นกระบวนการทำน้ำมันไบโอดีเซลแบบชาวบ้าน ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย

                        ก็มาติดตามกันต่อนะครับ สำหรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลแบบพื้นบ้าน ที่ทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีดังนี้ครับ                

  ส่วนผสม

1. น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ใช้แล้ว

2. เมทิลแอลกอฮอล์ 15-20 % ของปริมาณน้ำมันพืช ที่จะใช้ในการผลิต

3. โซเดียมไฮดรอกไซด์ 6-6.25 % ของปริมาณน้ำมันพืช ที่จะใช้ในการผลิต (ใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา)

( นี่จะเป็นสูตรกลางในการผลิตนะครับ ต้องมีการปรับปริมาณส่วนผสมเพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมต่อไปครับ)

                น้ำมันที่ใช้แล้ว

ชั่งปริมาณโซดาไฟที่จะใช้

 อุปกรณ์

1. หม้อสแตนเลส

2. เตาแก๊ส หรือเตาถ่าน (แล้วแต่ความสะดวก แต่เตาแก๊สจะควบคุมความแรงของไฟง่ายกว่า)

3. เครื่องชั่ง / ถ้วยตวง

4. ไม้พาย

5. เทอร์โมมิเตอร์

ขั้นตอนการทำน้ำมันไบโอดีเซล

1. นำน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว กรองเอาเศษอาหารที่ปนมาออก ใส่ในหม้อสแตนเลสตั้งไฟ (เพื่อไล่น้ำที่อาจปนอยู่กับน้ำมันออกไป และเป็นการอุ่นให้น้ำมันมีความร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส)

2. นำเมทิลแอลกอฮอล์ เทลงในแกลลอนหรือภาชนะที่มีฝาปิด เติมโซดาไฟลงไป ปิดฝาแล้วเขย่าจนละลายหมด ( ระหว่างเขย่า ควรเปิดฝาเป็นระยะ เพราะว่าโซดาไฟทำปฏิกิริยากับโซดาไฟ จะเกิดความร้อนขึ้น ต้องมีการระบายความร้อน) ในขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าสัมผัสกับส่วนผสมหรือสูดดมไอระเหย และอย่าทำให้เกิดประกายไฟ ควรทำในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี (หากมีการสัมผัสให้รีบล้างน้ำสะอาดทันที)

ผสมเอทิลแอลกอฮอล์กับโซดาไฟ

3. เมื่ออุณหภูมิของน้ำมัน อยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส ให้ยกลงจากเตา แล้วนำส่วนผสมในข้อ 2 เทผสมกับน้ำมัน กวนให้เข้ากัน ( ขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญ เพราะถ้าน้ำมันกับเมทิลแอลกอฮอล์ผสมกันไม่ดี ก็จะทำให้ปฏิกิริยา Transesterification เกิดขึ้นไม่สมบูณ์ ) เสร็จแล้วพักทิ้งไว้ค้างคืน

ผสมน้ำมันใช้แล้วกับสารละลายเอทิลแอลกอฮอล์+โซดาไฟ

 

สมาชิกให้ความสนใจกระบวนการทุกขั้นตอน

4. พอรุ่งเช้าเปิดดูจะเห็นว่า สารละลายแยกออกเป็นชั้น โดยชั้นบนที่เป็นน้ำใสๆ ให้ตักออกมาใส่ภาชนะ ที่มีฝาปิด ทิ้งไว้ ประมาณ ๑ สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแล้ว สามารถนำไปใช้กับ เครื่องยนต์ดีเซลได้ ซึ่งส่วนที่ได้นี้คือ น้ำมันไบโอดีเซล ๑๐๐ % จากธรรมชาติ ส่วนชั้นที่ ๒ ที่เป็นไข คือ กลีเซอรีน โดยส่วนนี้สามารถนำไปคลุกกับขี้เถ้าและดิน ใช้เป็นถ่านสำหรับหุงต้มได้ โดยของเหลวชั้นที่ ๒ นี้ หากทิ้งไว้นานๆ มันจะจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งก็คือ สบู่นั่นเอง แต่สีอาจจะดู สกปรกหน่อย เพราะเป็นสบู่ ที่ทำมาจาก น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว

น้ำมันที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้ว (แต่ยังใช้งานไม่ได้)

           ซึ่งคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลนั้น ขึ้นอยู่กับน้ำมันใช้แล้วที่นำมาผลิต เพราะถ้าใช้หลายครั้ง ก็จะมีการปนเปื้อนที่สูง ทำให้คุณภาพไม่ดี อาจารย์ที่มาให้ความรู้ ท่านแนะนำว่า ถ้าจะให้คุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลมีคุณภาพดี น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ไม่ควรใช้เกิน 2 ครั้ง

ร่วมกันสรุปผลการทดลองผลิต และสอบถามข้อสงสัย

ข้อควรระวังในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล

1.ช่วงที่ผสมโซดาไฟและเมทิลแอลกอฮอล์เข้าด้วยกัน สารทั้งสองจะทำปฏิกิริยา ทำให้เกิดพลังงานความร้อน และมีฤทธิ์ เป็นด่าง อย่างรุนแรง ดังนั้น ไม่ควรให้สารละลายนี้ โดนผิวหนัง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นอันขาด เพราะจะเกิดอันตรายได้

2.ระหว่างผลิตไม่ควรให้เด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

3.ช่วงผสมโซดาไฟและเมทิลอัลกอฮอล์ควรเลือกสถานที่ให้เหมาะสม ไม่ใช้สถานที่ ที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดอันตราย เช่น บริเวณ ที่มีประกายไฟ ประจุไฟฟ้า หรือการจุดไฟ เป็นต้น

4.ถ้าต้องการผลิตไบโอดีเซลครั้งละมากๆ ไม่ควรทำคนเดียว ควรมีเพื่อนช่วยทำด้วย และถ้าหลัง การต้มน้ำมันแล้ว ไม่ควรจะนำ หม้อสแตนเลส ไปแช่น้ำ เพื่อให้อุณหภูมิลดเร็ว เพราะมันหนักมาก อาจทำให้หก และ เกิดอันตรายได้ ภาชนะที่ใช้ผลิต ไบโอดีเซล ควรเป็นหม้อสแตนเลสเท่านั้น ไม่ใช่หม้ออลูมิเนียม เพราะจะทะลุได้

5.ระหว่างคนสารละลายต่างๆ ระมัดระวังไม่สูดดมหรืออยู่ใต้ลม ที่สำคัญ พยายามผัดเปลี่ยน ผู้ที่คนบ่อยๆ กรณีที่ทำ ไบโอดีเซลบ่อยๆ หรือทุกสัปดาห์ ให้ใช้เครื่องทุ่นแรง ในส่วนนี้

6.น้ำมันไบโอดีเซลนี้ ใช้แทนได้กับเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น ห้ามนำไปใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน

7.ไม่ควรผลิตน้ำมันในแต่ละครั้งมากเกินไป ควรผลิตในปริมาณ ที่พอใช้เพียง 1 สัปดาห์ เพราะน้ำมันนี้ สามารถเก็บได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้น น้ำมันจะขึ้นรา เพราะทำมาจากพืช               

                 หลังจากที่ได้ทดลองทำกันแล้ว ผมก็ได้ร่วมกับทางวิสาหกิจชุมชนวางแผนกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยทางวิสาหกิจชุมชนวางแผนว่าจะทดลองทำกันจนกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว และต้องคำนวณต้นทุนด้วยว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะวิสาหกิจชุมชนคิดกันว่า จะนำน้ำยาล้างจานไปแลกน้ำมันใช้แล้วกับครัวเรือน และร้านค้าในชุมชน จะได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้เหมาะสม ( ผมชอบวิธีคิดนี้ครับ เพราะนอกจากจะได้น้ำมันที่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเองอีกด้วย )

บันทึกภาพร่วมกัน

                 สำหรับการเรียนรู้ครั้งก็ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบางพลี และอาจารย์นริศ ร่องจิก จากศูนย์ประสานงานโครงการเกษตรผสมผสาน (Support Unit) กองพัฒนาลูกค้าบุคคล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดมุกดาหาร ที่ได้มาให้ความรู้กับวิสาหกิจชุมชนสุเหร่าบางโฉลงและตัวผมเองด้วย  

                 บันทึกมา ลปรร.ครับ

หมายเลขบันทึก: 119409เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2007 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีค่ะ..น้องวิศรุต..แวะมาเยี่ยมตามจังหวะและโอกาสจะอำนวย
  • เปลี่ยนรูปใหม่แล้ว...เห็นความหล่อชัดขึ้นเนอะ (อิ อิ)

สวัสดีครับคุณ วิศรุต

     ในฐานะที่เคยทำมาบ้าง ขอแนะนำดังนี้ครับ

     ไบโอดีเซลที่ได้แล้ว ควรเอามาล้างน้ำก่อนนำไปใช้ ครับ

    

เรียนพี่นันทา

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม
  • ภาพนี้ พี่สิงห์ป่าสัก ถ่ายให้ตอนไปสรุป KM ครึ่งปีที่อยุธยา ( พี่เค้าบอกว่า ภาพเก่ามันไม่ชัด )

เรียน คุณเฒ่าหน้าเหมน

  • ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ
  • กระบวนการล้างน้ำก่อนนำไปใช้ จะทำได้อย่างไรครับ
  • หวัดดีครับคุณวิศรุต
  • แลกกับเงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด บ้างได้ป่าว
  • สวัสดีครับน้องวิศรุต
  • บันทึกได้ละเอียดมากเลย..เยี่ยมจริงๆ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน

สวัสดีครับ พี่หนุ่ม ร้อยเกาะ พี่สิงห์ป่าสัก

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม 
  • วันที่ 22 สิงหาคม นี้ ผมจะเข้าไปเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนสุเหร่าบางโฉลง เพื่อวางแผนการทดลองทำน้ำมันไบโอดีเซล ( กำหนดที่แน่นอน)  แล้วจะถามให้นะครับ ว่าจะแลกกับเงาะ ทุเรียน ลองกอง ได้รึเปล่า

 

 

รักคนชื่อวิศรุตจังฮิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท