เด็กรุ่นนี้ไม่เอาไหน? แล้วเราจะสอนอะไร? ตอนสอง


เพราะคนรุ่นนี้รู้สึกว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว

ผมใช้คำว่ารุ่นในบริบทของ Generation เหมือนอย่างที่ฝรั่งเขามี Baby Boomer, Gen-X และ Gen-Y นะครับ นั่นหมายถึงว่าผมกำลังพูดถึง Gen-Y ผมขอเล่าความแตกต่างของสามรุ่นนี้นะครับ “Baby Boom” นั้นคือช่วงอัตราการเกิดของประชากรพุ่งสูงแบบไม่ถาวร ซึ่งเขานับเอาคนที่เกิดในช่วงปี 1946–1964 อันเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พอจะนับได้คร่าวๆ ว่าคนที่เกิดในยุคนี้ นับอายุก็ประมาณเฉียดๆ ห้าสิบไปจนถึงวัยเกษียณนั้นละครับ เรียกได้ว่าเป็นรุ่นพ่อแม่ผม รุ่นถัดมาคือ Gen-X คือลูกหลานของคนในยุค Boomer นั่นเอง นับกันก็ตั้งแต่หลังยุค Boomer ไปถึงปลายปี 1980 ครับ ด้วยส่วนผสมที่ยากจะคาดเดาในยุคสมัย ประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจผันผวน สภาพสังคม การเมือง และเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักวิชาการสายต่างๆ จึงพร้อมใจกันติดค่าตัวแปร X ให้กับสมการของยุคสมัยนี้ไว้ก่อนนั้นเอง คนรุ่น X นี่ได้รับผลกระทบจากรุ่นก่อนพอควรครับ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจจากน้ำมือรุ่น Boomer ทำให้คนรุ่น X พึ่งพาตัวเองไม่ค่อยจะได้ ต้องอาศัยกับพ่อแม่นานขึ้น แต่งงานช้าลง (แต่นิยมลองอยู่ก่อนแต่ง) สิ่งที่นักสังคมวิทยาฟันธงลงไปคือคนรุ่น X มองชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ยึดติดกับความจริงตรงหน้า ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี รุ่นหลังจากนี้คือ Gen-Y คนรุ่นนี้ตัดเอาตั้งแต่ช่วงที่สงครามเย็นยุติลงครับ และเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้รับรู้ว่าสังคมยุคสารสนเทศนั้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรายังไง (รุ่นหลังจากนี้จะไม่รู้สึกครับ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่จำความได้) ประเด็นนี้สำคัญมากครับ เพราะคนรุ่นนี้รู้สึกว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ถ้าถามเด็กห้าหกขวบของอเมริกาในวันนี้ ว่า google เว็บค้นหาชื่อดัง มีอายุกี่ปีแล้ว พวกเขาอาจจะบอกว่าสักสิบ ยี่สิบปีก็เป็นได้ (ที่จริงแล้วแค่ 8 ปีครับ) และเทคโนโลยี CD, DVD ก็เป็นเหมือนเรื่องธรรมดาที่มีมาช้านาน

พอจะเห็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างของรุ่นทั้งสามนี้แล้วนะครับ มีนักวิชาการหลายท่านออกมาให้ความเห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กรุ่น Y ต่างกับการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยกันในโรงเรียน แนวคิดหนึ่งที่ผมเห็นด้วยมากๆ คือแนวคิดของ Gee (2003) เจมส์ พอล จี เป็นนักภาษาศาสตร์ จึงสนใจการเรียนรู้ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมเป็นทุน เมื่อหันมาจับการศึกษาเกมคอมพิวเตอร์ เขาจึงนำความรู้ด้านภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษา มาประยุกต์กับความรู้ใหม่ จี เริ่มสนใจการเรียนรู้ของเด็กรุ่นนี้เพราะเขาเล่นเกมกับหลานชายครับ ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงสามเรื่อง โดยผมขอนำเสนอโดยเชื่อมโยงกับรุ่น Y ดังนี้นะครับ

ประการแรก เด็กรุ่นนี้ไม่รู้สึกแปลกแยกกับเทคโนโลยีเลย การเข้าอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องปกติ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ รวมถึงเกมออนไลน์ เป็นเรื่องธรรมดามาก สิ่งที่(คนยุคก่อนไม่ยอมรับว่า)เป็นความรู้นั้นสามารถหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิ้ก การสอนให้ท่องจำในห้องเรียนจึงเป็นเรื่องที่เชยและน่าเบื่อชนิดทนไม่ได้ เด็กรุ่น Y หรือแม้แต่รุ่น X (อย่างผม) รู้สึกรำคาญกับการเรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตครับ เคยเป็นไหมครับที่ไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะได้ใช้ไหม ถามจริงๆ เถอะครับ ถ้าเรียนแล้วไม่ได้ใช้ (นอกจากเอาไปสอบ) จะเรียนไปทำไม จะตอบว่าเรียนเพื่อเอาไปสอบ เพื่อจะได้ปริญญา จะได้เอาไปหางาน ดีไหมครับ? ฟังดูแล้วสลดพิลึก แต่ก็เป็นความจริงที่เห็นกันอยู่ ประเด็นการเรียนเพื่อใช้นี้ จีเชื่อมโยงกับการเล่นเกมได้น่าสนใจมากครับ จีบอกว่าเกมที่ออกแบบดีส่วนใหญ่มักจะมีการส่งข้อมูลให้ผู้เล่นในเวลาที่เหมาะสม ใครที่เคยเล่นเกมประเภท RPG (Role-Playing Game) หรือแม้แต่ Action RPG ที่มีการพัฒนาทักษะของตัวละครในเกมไปเรื่อยๆ นั้นคงพอจะเข้าใจแนวคิดนี้นะครับ ซึ่งจะเรียกได้ว่า Just In Time ก็ได้ การเล่นเกมในแต่ละฉาก ผู้เล่นมักจะได้รับอาวุธใหม่ ได้รับทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับฉากต่อไป ผู้เล่นก็ค่อยๆ เรียนรู้ของใหม่ๆ นั้นไปเป็นลำดับ กว่าจะถึงฉากหลังๆ ซึ่งยากขึ้น หัวหน้าเก่งขึ้น เขาก็สามารถใช้อาวุธและทักษะใหม่ๆ นั้นได้ดีแล้ว เกมประเภท RPG ยังมีการให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นช่วงๆ ซึ่งทำให้ผู้เล่นสามารถซึมซับข้อมูลในปริมาณไม่มากนัก

อีกประการซึ่งเชื่อมโยงกันกับเรื่องข้อมูล ผมคิดถึงประเด็นที่เพื่อนผมพูดถึงในห้องเมื่อไม่นานมานี้ด้วย เขาบอกว่าเวลาเขาดูข่าวทางทีวีนี้ เขารู้สึกได้ว่าปริมาณข้อมูลน้อยกว่าการอ่าน (ฟังดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันใช่ไหมครับ) แต่มันน่าสนใจเมื่อนำเรื่องนี้ไปโยงกับช่วงความสนใจ (Attention Span) ของคนเรา คนสมัยนี้ทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน ผมอาจจะทำกับข้าวและฟัง (ไม่ใช่ดู) ข่าวทีวีไปพร้อมๆ กัน นี่ก็เป็นอีกวิธีการที่คนรุ่น X – Y ชอบทำกัน คือทำงานหลายไปพร้อมกัน สำหรับตัวผมเองนั้น ถ้าเป็นงานสองหรือสามอย่างที่ไม่ต้องใช้สมาธิมาก (ทำกับข้าว ดูฟุตบอล ล้างจาน โทรคุยกับเพื่อน) ผมก็สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ แต่ถ้าอ่านหนังสือ หรือเขียนงาน ผมก็มักจะทำอย่างเดียวครับ

ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องของความสนุก เด็กรุ่นนี้อาจจะเรียกได้ว่าความสนใจสั้นกว่า อยากทำอะไรเร็วๆ ทันใจ อะไรที่ช้า คือไม่ทันสมัย เขาก็ไม่ทำกันละครับ คำว่า “สนุก” นี่เป็นคำสัมพัทธ์ คือบริบทเปลี่ยนไปตามคุณค่าสังคมและกาลเวลานะครับ จะบอกว่าสนุกนั้น ต้องดูเป็นเรื่องๆ เป็นช่วงๆ แต่เรื่องที่ดูจะเป็นสากลคือการอ่านเขียนเรียนในโรงเรียนนั้นดูจะไม่สนุกเอาเสียเลย

จากที่พูดมาสามประเด็นคือ ความรู้สึกไม่แปลกแยกกับโลกอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี วิธีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป และความสนุก ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่เรา ควร* จะสอนมีอยู่สองเรื่องครับ หนึ่งคือสอนให้เด็กรู้ว่าจะเรียนอย่างไร หาข้อมูลอย่างไร เพราะมันมีข้อมูลอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด แทนที่จะสอนข้อมูลก็ควรสอนวิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล อีกประการที่ควรสอนคือสอนให้รู้ว่าเขาชอบอะไร สิ่งนี้มีนัยถึงการสนับสนุนให้เด็กรู้ว่าเขาเป็นใคร ทั้งในระดับชุมชนและในระดับที่กว้างกว่า เพราะนั้นหมายถึงการหาคำตอบให้กับตัวเองนะครับ เมื่อเด็กรู้ว่าตัวชอบอะไรก็จะรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่ทำ สองประการนี้น่าจะพอลดช่องว่างของวิธีการสอนแบบเดิมกับเด็กรุ่นใหม่ได้บ้างนะครับ

* ผมไม่ค่อยอยากจะสนับสนุนให้กลายเป็นกฎหมายหรือบังคับกันเพราะถ้าทำแบบนั้นมันก็แห้งแข็งกับไปเหมือน Child-centered ที่เราเห็นๆ กัน คือควรจะทำก็ต่อเมื่อว่ามันดี หรืออยากรู้ว่ามันดีกว่าวิธีเก่าๆ หรือเปล่า 

อ้างอิง: Gee, J. P. (2003). What video games have to teach us about learning and literacy. New York: Palgrave Macmillan.

หมายเลขบันทึก: 119139เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • น่าสนใจมากครับ
  • รออ่านตอนต่อไปครับ..

สวัสดีค่ะ

        แล้วChild-centered  นี่ดีจริงไหมคะ เพราะมีคนให้นิยามที่ดิฉัน ไม่ค่อยอยากรับ บางแง่มุมก็ไม่รับ

         อย่างที่เล่ามาแล้วว่า ดิฉันเลี้ยงลูกมาแบบเป็นChild-centeredพอควร แต่ยังมีวินัยกำกับ และดิฉันพาเข้าวัดตั้งแต่ 8 ขวบ คือมีศีลธรรมกำกับ ให้เป็นคนดีด้วย

        ตอนนี้กังวลว่า จะเอาหลานเข้าร.ร.แบบไหนดี ที่มีการสอนทันสมัย แต่ไม่เวอร์ ยังพอมีเวลา เหลืออีก 2 ปีเศษ แต่อยากให้เข้าร.ร.ที่เก่งภาษาอังกฤษค่ะ

       บันทึกคุณแว้บมีสาระและประโยชน์มากค่ะ จะติดตามค่ะ

สวัสดีครับ

อ่าน วน สัก สองรอบ เห็นจะได้ครับ
เป็น สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างตลอดเวลา ของ โลกเราจริงๆ ครับ .. สิ่งที่ดี ก็ ควรสนับสนุนและเอาจุดดีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และส่วนที่ขาดเหลือ ก็ควรเติมเต็มในคุณธรรมกับจริยธรรม กับความเป็นสุขในจิตใจ ครับ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับคุณ Sasinanda

เรื่อง Child-centered ที่ผมอ้างถึง ผมแค่รู้สึกน้อยใจกับแนวทางการพัฒนาของบ้านเราครับ ผมเบื่อการรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อบต. กระจายอำนาจ เรื่อง Child-centered นี่ ก็อีก เป็นเพราะบ้านเราชอบเหมารวมครับ พอมีแนวคิดอะไรก็โยนโครมลงไป บังคับใช้กันทั้งประเทศ ไม่มองความหลากหลายของชุมชน บางที่อาจจะขัดกับวัฒนธรรมความเชื่อ บางที่ไม่ขัด แต่ยังไม่พร้อมด้วยปัจจัยหลายอย่าง

ผมเชื่อว่า Child-centered นั้น ผู้สอนสำคัญมากครับ เพราะผู้สอนไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดข้อมูล แต่เป็นผู้แนะนำ ต้องมีความรู้จิตวิทยา ทักษะการสื่อสาร ต้องรู้รอบ ทั้งด้านเทคโนโลยี (เพราะข้อมูลมันอยู่ในอินเตอร์เนต) และรู้ลึกในบางเรื่อง เช่นทฤษฏีการสอนต่างๆ ในความรู้สึกของผมนั้น คิดว่า Child-centered คล้ายกับ adult learning มากครับ คือเชื่อว่าเรียนตามความสนใจ แต่ผมไม่เชื่อว่าทฤษฏีไหนจะแก้ได้ทุกปัญหาหรอกครับ ต่างที่ก็ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ ค่านิยม Child-centered อาจจะเหมาะกับครอบครัวที่พร้อม โรงเรียนที่พร้อม แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

ความถนัดและสไตล์การเรียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญควบคู่กับการเลือกวิีธีการสอนนะครับ เด็กบางคนชอบอ่าน บางคนชอบเขียน บางคนเรียนเองได้ บางคนต้องให้บังคับ ผมว่าผู้ปกครองเป็นครูที่ดีกว่าครูในโรงเรียนเสียอีก เพราะอยู่กับเด็กตลอด ย่อมรู้ว่าชอบสไตล์ไหน

ผมประทับใจมากเลยครับที่คุณพี่ Sasinandaให้ลูกเข้าวัดแต่เด็ก เพราะนั้นเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในสังคมไทย

เรื่องโรงเรียนนั้น ส่วนตัวผมไม่ชอบโรงเรียนนานาชาติ ด้วยเหตุผลว่าเด็กจะเข้าไปอยู่ในสังคมที่ต่างจากสังคมข้างนอกมากเกินไป  คืออาจจะติดความคิดด้านวัตถุนิยม ใช้ของฟุ่มเฟือย ประเด็นนี้ผมคุยกับเพื่อนหลายคน มีความเห็นแตกต่างกันครับ บางคนบอกว่าถึงแม้เราจะส่งลูกไปอยู่ในสังคมแบบนั้น แต่ตัวตนของเด็กโดยรวมแล้ว หล่อหลอมจากที่บ้าน ซึ่งข้อนี้ผมเห็นด้วยนะครับ แม้จะมีเพื่อนใช้ของฟุ่มเฟือย แต่ถ้าเราสอน เราปฏิบัติไม่ฟุ่มเฟือย ก็เป็นตัวอย่างให้เขาได้ 

มีโรงเรียนอีกประเภทที่ผมให้ความสนใจมาก คือโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนแนวพุทธ ซึ่งมีหลายแห่งเปิดทำการ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด หลักการแต่ละแห่งต่างกันไปครับ เท่าที่ผมพอทราบมีดังนี้นะครับ

โรงเรียนสัตยาไส (อันนี้เป็นลิงค์ของผู้เคยไปเชี่ยมชมนะครับ), โรงเรียนรุ่นอรุณ ,โรงเรียนปัญโญทัย Waldorf
 และ โรงเรียนเพลินพัฒนา 

 

สวัสดีครับคุณวิบุล  wwibul

ยิ่งเขียนยิ่งต้องหาข้อมูลน่ะครับ ต้องขอเวลาอีกสักหน่อยนะครับ

สวัสดีครับคุณนิรันดร์

ผมมองว่าความสุข คุณธรรมกับจริยธรรมเป็นประเด็นหลักที่ต้องใช้นำทางสำหรับการสอนเลยนะครับ หลายๆ ครั้งเราสนับสนุนเด็กให้เรียนเก่ง ให้ตักตวง ให้ไขว่คว้า แต่ไม่ได้สอนให้แบ่งปัน ไม่ได้สอนให้รู้จักหาความสุข หาความรื่นรมณ์ในชีวิต ทำให้เด็กเครียด และเห็นแ่ก่ตัวครับ 

ยิ่งเด็กเก่งเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ๆ แล้วเด็กไม่เก่งก็ไม่ต้องสนใจ เพราะไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ช่องว่างก็ยิ่งห่างขึ้นๆ นะครับ

มหาวิทยาลัยรัฐบาลหรือเอกชนดีๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีลูกตาสียายสาแล้วครับ ผมเคยอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรือของคุณไมเคิล ไรท์ นี่ล่ะครับ เขาบอกว่า เขาไปเดินที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกับเพื่อนต่างชาติ แล้วเพื่อนก็ทักว่า เด็กนักศึกษาในเมืองไทยนี่ มีแต่ผิวขาว แต่งตัวดีทั้งนั้นเลย เป็นผมก็คงตอบไม่ถูกเหมือนกันนะครับ ว่าเราจะดีใจหรืออายเขาดี

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่แนะนำ และเห็นด้วยกับคุณแว้บมาก ในประเด็นที่สังคมเราชอบเห่อตามๆกัน

เป็นเพราะบ้านเราชอบเหมารวมครับ พอมีแนวคิดอะไรก็โยนโครมลงไป บังคับใช้กันทั้งประเทศ ไม่มองความหลากหลายของชุมชน บางที่อาจจะขัดกับวัฒนธรรมความเชื่อ บางที่ไม่ขัด แต่ยังไม่พร้อมด้วยปัจจัยหลายอย่าง

ขอนำบล็อกคุณแว้บเข้าแพลนเน็ทนะคะ เพราะ ให้สาระมากๆ และตัวเองเป็นคนชอบ อยากรู้อะไรๆเพิ่มอยู่แล้ว เลยชอบค่ะ

ประเด็น โรงเรียนอินเตอร์ ก็สองจิตสองใจค่ะ

เหตุผล::1.ต้องการด้านภาษา เพราะจำเป็นมากๆค่ะ ลูกชายเขาเน้นมาก มันได้กับตัวเขาเอง ทุกวันนี้ เขาทำงาน ในส่วนงาน Corporate Investment Bankingของธนาคารต่างชาติ  มีแต่พูดภาษาอังกฤษทั้งวัน เดินทางก็บ่อย ถ้าภาษาไม่ดี ก็แย่เลย และถ้า ถาษาเราไม่ดี โอกาสเราจะเรียนต่อที่U ดีๆ ยากหน่อยไหมคะ

               2.ด้านคุณธรรม จริยธรรม บ้านเรา เป็นชาววัด 100%เราเอาเข้าวัดอยู่แล้ว เรื่องนี้ ผ่านได้

               3.บ้านดิฉันไม่ฟุ่มเฟือย ถ้าเราสอนเขาดีๆ ก็อาจพอได้ค่ะ  มันอยู่ที่การอบรมที่บ้านกับตัวตนของเด็กด้วย เรื่องนี้ ไม่กล้าฟันธงว่า จะเป็นอย่างไรค่ะ

แต่เรื่องตัวตนของเด็กนี่ เรื่องจริงๆๆๆค่ะ

ดิฉันเห็นตัวอย่างมามาก ลูกชายดิฉัน และเพื่อนๆเรียนที่เซ็นต์คาเบรียลมาก่อน  โดนเข้มงวด โดนตีขากันบ่อยๆ แต่เด็กหลายคน ไม่ใช่คนที่เรียบร้อยเชื่อฟังอย่างเดียวเลยค่ะ หลายๆคน มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ไม่อยู่ในกฏเกณฑ์สักแค่ไหนค่ะ จบออกมา แล้ว มาทำธุรกิจหวือหวา สร้างสรรค์กันเยอะเลย

ตัวตนของเด็กจริงๆ มีส่วนสำคัญมากๆค่ะ

   ขอบคุณๆแว้บ ที่แนะนำร.ร. และจะไปศึกษาดูค่ะ

สวัสดีอีกครั้งครับคุณ Sasinanda

เรื่องภาษานี่ทำให้ผมนึกถึงบันทึกหนึ่งของอาจารย์ ดร.แสวงที่ผมชอบมากเลยครับ  (ที่นี่)

เรื่องภาษาผมอยากจะเถียงว่าไม่สำคัญ แต่ก็เถียงไม่ได้ เพราะมันสำัคัญจริงๆ ทั้งเพื่อการสื่อสารและเพื่อการหาความรู้ ต้องยอมรับนะครับ ว่าเรื่องดีๆ หลายอย่าง ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ถ้าอ่านไม่คล่อง พูดไม่ได้ ก็เหมือนเสียโอกาส

แต่ผมเองก็เห็นหลายคนที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์ เพราะยังไม่มีให้เรียน ที่เก่งภาษามากมาย ผมเชื่อว่าภาษาเป็นเรื่องของความชอบนะครับ อ่านไ้ด้พูดได้ ใช้ทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะเก่ง ต้องใจรักจริงๆ เพราะภาษาเป็นเรื่องที่ใช้เวลา มันซึมซับช้าๆ น่ะครับ ว่าไหมครับ?

คุณพ่อผมเอง ท่านเก่งภาษาญี่ปุ่นมาก เป็นอาจารย์สอนภาษาด้วย ท่านเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อไปเรียนที่ญี่ปุ่นนั้น ท่านไม่ได้เก่งขนาดว่ากลับมาสอนได้เลย (ท่านไปเรียนอยู่ประมาณสามสี่ปีน่ะครับ)  แต่ท่านกลับมาแล้วไม่ทิ้ง ศึกษาต่อจนเก่ง สอนได้

ส่วนเรื่องโรงเรียนที่ผมมีข้อมูลนี่ พอดีหลานผมกำลังจะเข้าโรงเรียนเหมือนกันนะครับ ตอนนี้ขวบกว่า ผมก็เลยเห่อไปด้วย

คุณแว้บคะ ไปตามlinkแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ

โชคดีจัง  วิธีนี้เป็นวิธีเดียวกับที่ดิฉันสอนลูกชายมาแล้วค่ะ และได้ผลมาก เขาสอบโทเฟลได้630 จาก640ค่ะ และเป็นคนไม่เคยท่องศัพท์ จะเปิดเฉพาะเมื่อติดจริงๆเท่านั้น

ขอบคุณมากๆค่ะ คุยกับคุณแว้บ ชอบจัง เห่อหลานเหมือนกัน เจตนาคือแค่อยากจะหยิบยื่นโอกาสให้หลานให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้เท่านั้นเองค่ะ ตอนนี้ ขวบเศษ ยังมีเวลาค่ะ

ภาษาเป็นเรื่องที่ใช้เวลา มันซึมซับช้าๆ จริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท