Project Base: ทดลองประลองยุทธ์ที่คลองอัมพวา - ตอนที่2


ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน

วันที่2 ของการทำ Project Base

          หลังจากการบอกรายชื่อสมาชิกในกลุ่มในช่วงดึกก่อนแยกย้ายเข้านอนในวันที่1 แล้ว ในเช้าวันที่2 นี้ตื่นเช้าก็มาตักบาตร ได้พบวิถีชีวิตของชาวอัมพวาที่ยังมีตลาดเช้าอยู่ ผู้คนมาจับจ่ายชื้อของ บางคนก็รอใส่บาตร อากาศช่างสดชื่น หลังจากที่ทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มการทำ Project Base ในวันที่2 โดยแต่ละกลุ่มรับเงินจากพี่เลี้ยงกลุ่มละ 2,500 บาท โดยเอาไว้เป็นค่าเดินทางในการหาข้อมูล และอาหารกลางวันของสมาชิกในกลุ่ม ของวันที่ 2 และ 3

    

จุดเริ่มต้นของการหาข้อมูล (สิ่งที่เตรียมไว้อาจไม่เป็นอย่างที่คิด,,,)

          หลังจากที่กลุ่มไว้รับเงินแล้ว ได้มานั่งประชุมกลุ่มที่หน้าบ้านเพื่อ แลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ และบอกแผนที่จะไปหาข้อมูลอีกครั้งหนี่ง โดยเริ่มต้นในวันที่ 2 นี้ จะพยายามหาข้อมูลรอบคลองอัมพวาก่อน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 สาย เดินวนจนมาพบกัน จุดหมายเริ่มแรกคือร้านกาแฟ ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในเบื้องต้นครับ

          ขณะที่เดินไปยังไม่ถึงร้านกาแฟ พบแม่ค้าพายเรือขายพืช ผัก ช่วงตลาดเช้าก็เริ่มมีการแยกสายออกไปหาข้อมูลกับแม่ค้า ส่วนอีกกลุ่มมานั่งหาข้อมูลที่ร้านกาแฟ พบกับเจ้าของร้านกาแฟที่มีอายุของร้านประมาณ 60 ปี เจ้าของร้านเป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ เริ่มต้นการสนทนาพวกเราเริ่มเกร็งๆ นิดหน่อยครับ ก็ลองเปิดประเด็นด้วยการสั่งกาแฟ ถามเวลาร้านเปิดปิด อายุร้าน ชื่อเจ้าของร้าน สักพักเริ่มไหลหลื่นครับ ขณะที่ถามในร้านไม่มีใครนอกจากเรา ดังนั้นจึงเป็นการรุม 4 ต่อ 1 ครับ

  

           สำหรับร้านนี้เราพบกาแฟชื่อแปลกๆ ชื่อหนึ่งคือ กาแฟต้มยำ สมาชิกในกลุ่มถามว่ามันเป็นอย่างไร กาแฟใส่เครื่องเทศหรือเปล่า ด้วยความสงสัยจึงถามเจ้าของร้าน และสั่งมาลองกัน 2 ถ้วย สรุปมันคือ โอยั่วใส่นมสดนิดหน่อย และใส่น้ำตาลทราย กินแล้วหวานเป็นพิเศษ จนออกรสเผ็ดเล็กน้อย ถามที่มาของชื่อทางเจ้าของร้านบอกว่าชาวบ้านเรียกมาตั้งนานแล้วสมัยพ่อทำร้านมา ใครสนใจอยากไปลองได้ครับ เจ้าของร้านใจดี แต่อาจจะเงียบนิดหน่อยนะครับ

         สักพักเริ่มมีแขกเข้าดังนั้นทางกลุ่มเริ่มแยกตัวพูดคุยหาข้อมูลกับคนอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่พบปัญหาของชาวอัมพวาในช่วงที่ผ่านมาคือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ชาวอัมพวา และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ก็จะเป็นเฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีการกระจายตัวที่ดีมากนัก

         จากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะเดินรอบคลองฯ ทางกลุ่มมีการเปลี่ยนแผนหลังจากที่ได้พูดคุยกันทางร้านกาแฟ พบว่ามีหลายกลุ่มหาข้อมูลเหมือนเราคือรอบคลองอัมพวา เราจึงเปลี่ยนแผนโดยเราพบว่ามีรถเมล์ประจำทางมี 2 สาย คือไปแม่กลอง และบางนกแขวก จึงตัดสินใจขึ้นรถเพื่อเป็นการหาข้อมูลของชุมชนรอบนอกอัมพวา ทางกลุ่มได้ทำการแยกสายออกเป็น 2 สายครับ

สายบางนกแขวก 

นั่งรถไป มองทัศนียภาพ 2 ข้างทาง พบว่าถึงความสงบ เรียบง่าย ของชุมชน และเมื่อนั่งจนสุดปลายทางจนถึงวัดเจริญฯ ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต จึงได้เข้าไปไหว้พระเอาฤกษ์ก่อนครับ และแวะไปที่จุดชมปลาต่อ ที่มีปลาตะเพียนแดงเยอะมาก ลังเลอยู่สักพัก ก็ตัดสินใจซื้ออาหารปลา (ขนมปัง) และถือโอกาสคุยหาข้อมูลต่อครับ พบคุณยายนั่งขายขนมปังจึงเข้าไปถามเรื่องการขายว่าดีหรือไม่ ขายมานานหรือยัง ทางคุณยายแกก็เป็นนักขายที่เก่งครับ โดยเมื่อแกขายขนมปังได้แล้ว แกชวนซื้อข้าวโพดคั่วอบเนย แกบอกว่าปลาชอบ และคนก็สามารถกินไปพร้อมกับปลาได้ครับ เมื่อเกิความสงสัยจึงต้องทดลองครับ ซื้อมาสัก 1 ถุง แต่รู้สึกว่าปลาชอบครับ แต่คนไม่ได้ลองกินดู

          ที่นี่มีลูกระเบิดที่พบตอนขุดลอกคลองเป็นลูกระเบิดช่วงสงครามโลกครั้งที่2 พบ 3 ลูก ตอนเอาดินระเบิดออกเกิดระเบิด 1 ลูก มีคนเสียชีวิต หลังจากนั้น 1 ลูกมีคนขอไป อีก 1 ลูกจัดแสดงอยู่ที่นี่

          วิถีชีวิตของคนบางนกแขวก สงบ เรียบง่ายครับ ผิดกับสังคมเมืองอย่างมาก บรรยากาศร่มรื่น เป็นจุดที่น่าแวะพักผ่น

          ออกจากวัดเจริญ โบกรถเพื่อจะมาหาข้อมูลที่โบสถ์คริสต์ต่อ ก็พบกับพี่ยามนั่งอยู่ศาลาทางเข้า ที่นี่เป็นโรงเรียนด้วยครับ ตอนแรกนึกว่าจะเข้าไปไม่ได้ พอคุยกับพี่ยาม (พี่สมชาย) แกบอกว่าที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย จึงทำให้เข้าไปชมในโบสถ์ได้ จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจากนั่งคุยหาข้อมูล อีกกลุ่มก็เข้าไปดูที่โบสถ์ นั่งคุยกับพี่สมชายถามเรื่องส่วนตัว ความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของอัมพวา สุดท้ายก็ได้ข้อมูลเด็ด เรื่องร้านก๋วยเตี๋ยวปู ซึ่งแกแนะนำให้ลองไปชิมดู เรื่องแบบนี้ไม่ขัดอยู่แล้ว จะเลยโบสถ์ไปทางวัดเจริญฯนิดเดียว ข้ามสะพาน ซอยทางเข้าอยู่ริมสะพานทางซ้ายมือครับ ชื่อร้านแปะ ขอบอก อร่อย และถูกครับหากินในเมืองไม่ได้เด็ดขาด ถ้ามีโอกาสลองแวะไปดูครับ

           กินเสร็จก็ถึงเวลากลับมาสมทบอีกกลุ่มที่ไปแม่กลองมา ก็อาศัยวิธีการโบกรถครับ ทางกลุ่มยังมั่นใจถึงน้ำใจของชาวอัมพวา ในที่สุดก็ได้อาศัยรถพี่ที่กำลังรับซื้อแผ่นสังกะสีเก่า ได้ให้เรานั่งรถ (ยืน) มาด้วย ทั้งที่พี่ทั้ง 2 ไม่ผ่านทางที่เราจะไป แต่แวะมาส่งให้ ซึ้งใจจริงๆ ครับ

 

 

 

 

สายแม่กลอง

          ได้แวะไปตลาดร่มหุบ คือเมื่อรถไฟมาแม่ค้า พ่อค้า จะรีบเก็บของ พับร่มทันที ทางกลุ่มพบนวัตกรรมจากที่นี่อีกอย่างคือ จากเดิมต้องเก็บของที่อยู่บนทางรถไฟ เปลี่ยนมาใช้รถเข็นเข้ามาแทนครับ ลดเวลา สาเหตุที่มาขายที่ริมทางรถไฟ เพราะเดิมไม่มีเก็บค่าเช่า ทำให้ขายของได้ราคาถูก และส่วนใหญ่เป็นชาวสวนเองมาขาย ปัจจุบันก็มีจ่ายให้หน้าบ้านที่ขายครึ่งหนึ่ง สถานีครึ่งหนึ่งครับ

           ภายในเมืองพบความต่างของวิถีชีวิตค่อนข้างมากครับ เจอบ้านเศรษฐีท่ามกลางบ้านของชาวบ้าน และวิถีการเดินทางทีอาศัยเรือข้ามฝากในการแลกเปลี่ยน พบปะ ค้าขายกันอยู่ครับ

 

โรงเจ 

            หลังจากกลับมาที่พัก นัดเจออีกกลุ่มที่โรงเจครับ ช่วงนั่งรถเห็นป้ายบอกทาง จึงเดินไปตามถนน เดินไปสักพัก รู้สึกถึงจิตที่เกิดขึ้น ทางทำไมมันคุ้นๆ เหมือนเริ่มวนกลับมาทางที่พัก แต่เป็นด้านหลัง เดินไปในที่สุดผ่านด้านหลังที่พักจนได้ครับ บางคนจิตเกิดทันที หมดแรงอย่างกระทันหัน สุดท้ายก้มาถึงโรงเจ แต่ก็ไม่เจออีกกลุ่มเพราะเดินกลับที่พักไปแล้ว ที่นี่กำลังมีโครงการทำรูปเจ้าแม่กวนอิมปางต่างๆ จากไม้ครับ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่พบครับ ขากลับเดินมาอีกทางพบว่าห่างจากที่พักไม่ถึง 200 เมตร

 

ชมหิ่งห้อย

            ช่วงกลางคืนมีโปรแกรมชมหิ่งห้อย ได้นั่งไปประมาณเกือบชั่วโมง เป็นภาพที่สวยงามครับ เหมือนต้นคริสต์มาส นั่งไป คิดไปว่าต้นคริสต์มาสน่าจะเกิดมาจากเมืองไทย ฝรั่งเห็นเข้าถึงความสวยงาม เลยเอาไปทำบ้าง (เข้าข้างตัวเองหรือเปล่าเนี๊ย)

              เมื่อกลับมาถึงที่พักพบคุณตาในเรือแจว มีน้องอ๊อฟยืนคุยอยู่ เมื่อขึ้นมาบนฝั่งถามน้องอ๊อฟ ได้ความว่าแกพายมาจายแถวคลองดำเนินสะดวก พายมาถึงคลองอัมพวาใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ในกรณีพายตามน้ำ ถ้าทวนก็จะใช้เวลา 4 ชั่วโมง แกขายตะโก้ ซึ่งแกจะทำเองทุกอย่างตั้งแต่พับกระทงจนถึงขาย แกจะพายขายจนหมดถึงกลับ ซึ่งกลับถึงบ้านก็ประมาณตี3 - ตี4 แกดำเนินชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งแต่เดิมคลองอัมพวาจะเป็นเมืองท่า มีผู้คนทำงานช่วงกลางคืน แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน       

หมายเลขบันทึก: 119132เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่อัมพวาช่างเหมือนเมืองในฝัน สำหรับคนนอกอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดจะพบแต่คนที่โอภาปราศัย น้ำใจดี วันก่อนนายบอม มาเล่าให้ฟังว่าเขาจัดไปเที่ยวอัมพวา โดยพาหน่วยงานของเขาไป และให้ทำ project เล็กๆ คล้ายกับที่พวกเราไปทำ เห็นบอกว่าคนที่ไปร่วมกิจกรรมเขาก็ชอบวิธีการท่องเที่ยวแล้วได้เรียนรู้ไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท