เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (6)


สถาบันการศึกษา ที่ชาวลำพูนควรมีเป็นของตนเอง น่าจะเน้นการเรียนการสอนแบบ virtual ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเวลาเรียน และไม่ยึดติดกับปริญญา

ฟ้าครับ หลังจากทำภาพฉายอนาคต สิ่งที่ค้นพบคือ อนาคตที่ไม่ธรรมดาของเมืองลำพูน

ภาพอนาคตเมืองลำพูนปี 2570 ทั้ง 4 ภาพที่จัดทำขึ้นอย่างมีสีสัน รวมทั้งประเด็นอภิปรายจำนวนมากมหาศาล ล้วนแล้วแต่น่าสนใจน่านำไปค้นคว้าต่อทั้งสิ้น จะหยิบยกบางส่วนที่น่าสนใจ ขึ้นมาเล่าให้ฟังนะครับ

ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังเชื่อมั่นว่า ในอนาคตทั้งสองฝั่งเมือง (ประวัติศาสตร์และอุตสาหกรรม) จะยังอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว และอาจถึงขั้นที่ลำพูนเมืองประวัติศาสตร์ น่าจะได้เลื่อนขึ้นเป็นมรดกโลก แต่เงื่อนไขคือคงต้องใช้งบประมาณที่ไม่น้อย ในการพัฒนาพระธาตุหริภุญชัย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญถึงระดับนานาชาติ รวมทั้งการใช้งบประมาณ สร้างรถไฟฟ้ารอบคูเมือง สำหรับนักท่องเที่ยวและคนในเมือง ทั้งยังมีไอเดีย ให้ทำเส้นทางรถในลำพูนให้สวยงาม ถนนแต่ละเส้นมีไม้ดอก ในอนาคต คนภายนอกจะเข้ามาเหยียบเมืองลำพูน อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อคน

ความผันผวนดูจะอยู่ที่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเป็นหลัก เห็นได้ชัดว่า ชาวเมืองลำพูน มีความตระหนักและกังวล เกี่ยวกับพิษภัยจากอุตสาหกรรม (industrial hazard) สูงมาก ลำพังชาวเมืองแต่ละคน หรือกลุ่มคงรณรงค์เรื่องนี้ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น กุญแจสำคัญน่าจะอยู่ที่เทศบาลเมืองและ อบต. ที่จะมีบทบาทช่วยแก้ไขและ  “Say no” ต่อมลพิษอุตสาหกรรมให้ได้

ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ การดำรงอยู่ของนิคมฯ จะทำให้กระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น จีน พม่า จะเริ่มเข้ามาผสมผสานในวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองลำพูนมากขึ้น จากการเข้ามาลงทุน และจากแรงงานต่างด้าว ที่หลั่งไหลเข้ามาจนกลายเป็นประชากรแฝง โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน ที่หลั่งไหลเข้ามา อาจทดแทนบริษัทญี่ปุ่น ในนิคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน จะทำให้ชาวลำพูน ต้องปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมใหม่อย่างมาก เช่นในเรื่องภาษา ถึงขั้นที่ อาจมีการส่งเด็กรุ่นใหม่ ไปรับการศึกษาในเมืองจีน เพราะทรัพยากรมนุษย์ ที่รู้เรื่องทั้งภาษาและเทคโนโลยี จะเป็นตัวขับเคลื่อนเมือง

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวล ต่อความเสื่อมสลายของภาษาท้องถิ่น แต่ลำพูนก็ยังถือว่า มีข้อได้เปรียบ ในความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ หากมองสิ่งนี้ว่าเป็นต้นทุนที่มีค่า ก็ควรจะเข้ามามีบทบาทแก้ไขผ่อนเพลาได้ ตัวอย่างที่ดีคือวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่มีศักยภาพสูง ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับคนไทยพลัดถิ่น เช่น ไทยลื้อจากสิบสองปันนา ไทยยอง ไทยเขิน หรือแม้แต่พม่า

กรณีอนาคตของ “ลำพูนเมืองลำไย” ดูจะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ต่อความรู้สึกของชาวลำพูนอย่างมาก ในด้านหนึ่ง ก็มีการตั้งความหวังไว้กับการใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ การหลีกเลี่ยงการใช้สารเร่งลำไย เพื่อหลีกเลี่ยงสารตกค้างในผลลำไย และการจัดการระบบปลูก รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยเพิ่มผลผลิตและขนาดของลูกลำไย แต่ก็มีชาวลำพูนอย่างน้อยบางกลุ่ม เริ่มตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากประสบความล้มเหลว ในการวางแผนการตลาด หรือประเทศคู่แข่ง นำพันธุ์ลำไยของลำพูนไปปลูก จนเกิดการแย่งตลาด ชาวลำพูนกลุ่มนี้มองว่า ในอนาคตที่ไม่ใกล้นัก ยางพาราจะ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่เพิ่มจากลำไย ซึ่งพื้นที่ปลูกลำไยบางส่วน จะถูกแทนที่ด้วยยางพารา แต่การทำสวนยางพารานั้น ต้องการแรงงานที่มีความอดทนสูง เพราะต้องกรีดยางในเวลากลางคืน อีกทั้งยังต้องการทักษะในการกรีดยาง ทำให้คนลำพูนที่เป็นเจ้าของสวนยางพารา ต้องรับลูกจ้างจากภาคใต้มาทำงาน ทำให้มีคนภาคใต้อพยพมาอยู่ในเมืองลำพูนมากขึ้น มีประชากรแฝงมากขึ้น ทั้งหมดนี้คงประมาณอีกนับสิบปีข้างหน้า จึงจะเริ่มชัดเจนขึ้น

ชาวลำพูนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อ 60 ปีก่อนมีการทดลองปลูกยางพาราที่แคว้น 12 ปันนา มาถึงวันนี้ยางพารา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกถึง 4 ล้านไร่ในมณฑลยูนนาน และอีก 2 ล้านไร่ที่ไหหลำรวมเป็น 6 ล้านไร่แล้ว จังหวัดลำพูนมีป่าเสื่อมโทรมอยู่มาก มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ จากพืชจำพวกยางพารา ชาผูเอ้อ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนอกจากเป็นพืชพลังงานแล้ว ยังช่วยชะลอไม่ให้ดินถูกกัดเซาะได้ด้วย

อีกกรณีหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงมาก คือการตั้งมหาวิทยาลัยของลำพูนเอง เนื่องจากลึก ๆ แล้ว ชาวลำพูนต้องการมีความเป็นตัวของตัวเอง แม้ลูกหลานจะเดินทาง ไปศึกษาที่เชียงใหม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่อยากอยู่ใต้ร่มเงา ของเชียงใหม่ไปตลอด สถาบันการศึกษา ที่ชาวลำพูนควรมีเป็นของตนเอง น่าจะเน้นการเรียนการสอนแบบ virtual ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเวลาเรียน และไม่ยึดติดกับปริญญา แต่ผูกโยงหัวข้อการสอน และการวิจัยเข้ากับประเด็นปัญหาท้องถิ่น เช่น เทคโนโลยีวัสดุย่อยสลายจากธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาขยะ, สถาบันภาษา (เช่น ภาษาท้องถิ่นและภาษาจีน), การวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น โรคอ้วน ที่จะเป็นปัญหาใหม่ในอนาคต

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ สกัดจากภาพอนาคต ที่กลั่นจากมันสมอง และจินตนาการ ของชาวลำพูน

หมายเลขบันทึก: 119123เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใช่ครับ ชาวลำพูนต้องมีมหาลัยเป็นของตนเอง มีทั้งพระสงฆ์ สามเณร และ คนธรรมดา เรียนอยู่ร่วมกัน 

ผมขอเสนอชื่อว่า มหาวิทยาลัยนครหริภุญชัย 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท