ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (17): ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ Perth


เรื่องราวที่เล่าไว้ใน เรื่องเล่า"ย้อนรอย PhDฯ" ในวารสารสายใยพยา-ธิของภาควิชาเรา ตอนนี้มาถึงเรื่องเกี่ยวกับลูกๆ ก็เลยถือโอกาสไปเก็บรูปสมัยไปออสเตรเลียใหม่ๆมาดู เลยได้รูปประจำบล็อกใหม่ (แต่เป็นรูปเก่ามากเกือบ 8 ปีแล้วค่ะ) เปลี่ยนรูปแล้วเลยต้องเอามาแปะไว้ในบันทึก สามหนุ่มน้อยในรูปตอนนี้ไม่เหลือเค้าเดิมเลย คราวนี้ต่อเรื่องโรงเรียนจากคราวที่แล้วค่ะ


ระบบการเรียนการสอนที่แตกต่าง

โรงเรียนที่ออสเตรเลียจะมีเวลาปิดเปิดเทอมไม่เหมือนกันทั้งประเทศ แต่ละรัฐจะต่างกันไปเล็กน้อย ทาง WA ที่พวกเราอยู่ จะมี 4 เทอมตามฤดูกาล หน้า Autumn จะปิดเทอมแถวๆปลายเมษาประมาณ 2 อาทิตย์ แล้วก็หน้าหนาว (Winter) จะปิดเทอมอีกทีประมาณกลางเดือนกรกฎา 2 อาทิตย์เหมือนกัน พอหน้าใบไม้ผลิ (Spring) ก็มีปิดเทอมอีกรอบราวๆต้นตุลา 2 อาทิตย์ ส่วนปิดที่ยาวที่สุดคือหน้าร้อน ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของธันวา ปิดยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมกราโน่นเลยล่ะค่ะ แต่ละปิดเทอมเด็กๆก็จะมีกิจกรรมไปเที่ยว ดูหนัง ดูละคร แค้มพ์ปิ้ง มีกิจกรรมในห้องสมุดประชาชนให้เด็กๆมาทำ ฯลฯ ไม่ค่อยได้เห็นใครเรียนพิเศษอะไรแบบเด็กบ้านเรา ดังนั้นเด็กประถมของเมืองเพิร์ธจะถือว่าเรียนสบาย รู้เรื่องวิชาการอะไรๆน้อยกว่าเด็กไทยเยอะเลย จำได้ว่าลูกทั้ง 2 คนดีใจที่ตัวเองเก่งกว่าเพื่อนๆในเรื่องการคิดเลข และการสะกดคำ พี่วั้นและน้องเหน่นมาเล่าว่า “แม่รู้ไหม เด็กที่นี่เค้าคิดเลขไม่เก่งเลย” เวลาคุณครูเขียนโจทย์ให้บนกระดาน เป็นพวกเลขบวกลบกัน เขาจะใช้ plastic counter เป็นพลาสติกที่ทำเป็นเหรียญวงกลมเล็กๆ เอามากองรวมกันหรือแยกออกจากกัน แล้วนับเพื่อหาคำตอบกันอยู่เลย พี่วั้นน้องเหน่นบอกว่า คิดได้ในใจเสร็จตั้งแต่ครูเขียนบนกระดานจบแล้ว เพราะเด็กๆของเราเรียนเลขกันมาตั้งแต่อนุบาลแล้ว พี่วั้นและน้องเหน่นเป็นนักเรียนโรงเรียนสุวรรณวงศ์ค่ะ สอบได้ที่ต้นๆกันทั้งคู่จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเก่งเลขกว่าเด็กที่นี่ นอกจากนั้นที่เห็นคือเด็กที่นี่มีเครื่องคิดเลขเป็นอุปกรณ์การเรียนตั้งแต่ป.5 ค่ะ น่าแปลกนะคะที่เขาไม่ยักกะฝึกให้เด็กคิดเลขด้วยสมองตัวเองกันสักเท่าไหร่ ส่วนมากเด็กที่เก่งก็จะเป็นเพราะชอบเอง ไม่ใช่เพราะการสอนที่เข้มข้นอันใด ใครที่คิดเก่งๆคุณครูก็จะมีแบบฝึกหัดเพิ่มเติมให้เองต่างหาก ส่วนคนอื่นๆก็เรียนเท่าที่อยากเรียน เห็นได้ชัดว่า คุณครูเขาจะไม่มุ่งให้เด็กเก่งเหมือนกันหมด เขาจะสอนให้รู้จักเรื่องนั้นๆมากกว่า แล้วถ้าชอบหรือสนใจคุณครูก็จะส่งเสริมเพิ่มเติมให้ ส่วนการสะกดคำ ที่เรียกว่า spelling นั้นรู้สึกว่าจะเป็นที่เน้นสำหรับคุณครูมากกว่า เขาจะมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายเล่ม ให้เด็กๆได้ฝึกเขียน ฝึกสะกดกันค่อนข้างบ่อย คำที่สะกดผิด ก็จะให้เด็กเขียนบ่อยกว่าคำที่เขียนถูก ต้องขอบคุณต้นทุนจากโรงเรียนสุวรรณวงศ์อีกตามเคยค่ะ เพราะทั้งพี่วั้นพี่เหน่นจะเก่งสะกดคำมากกว่าเพื่อนๆในห้อง พี่เหน่นถึงกับมาเล่าให้เราฟังว่า “แม่ เด็กที่นี่น่ะ เค้าพูดได้ แต่เค้าสะกดไม่ถูกหรอก” วิชาต่างๆในชั้นประถมต้น (Year 1-4) จะค่อนข้างเป็นแบบบูรณาการ คือคุณครูประจำชั้นเป็นคนกำหนด จะมีจดหมายมาถึงผู้ปกครองว่า เทอมนี้เป็นเรื่องอะไร เช่น animals in the farm เขาก็จะใช้ผสมการเรียนเลข เรียนวิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นวิชาอะไรแยกกัน เด็กๆก็ไม่รู้ตัวว่าตอนนี้เรียนวิชาอะไร รู้แต่เรียนเรื่องเกี่ยวกับอะไรมากกว่า จึงสนใจอยากรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ คุณครูจัดการเรียนให้โดยมีทั้งแบบนำของจริงมาที่โรงเรียน หรือแบบพานักเรียนไปที่นั้นๆจริงๆ โดยจะขออาสาสมัครคุณพ่อคุณแม่ไปช่วยดูแลเด็กๆด้วย ผู้ปกครองที่นี่ตอนที่ลูกเล็กๆส่วนมากคุณแม่จะไม่ทำงาน ดังนั้นจึงมีเวลามาร่วมช่วยคุณครูได้มาก เขามีชั่วโมงอ่านหนังสือตอนก่อนเข้าห้อง ให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีเวลาว่าง มานั่งฟังเด็กๆอ่านหนังสือ และสอนอ่านไปด้วยทุกเช้า สลับสับเปลี่ยนเวรกันมา ตัวเองไม่เคยไปช่วยเลยในกิจกรรมนี้ เพราะคิดว่าช่วยไม่ได้แน่ แต่ก็มีกิจกรรมอื่นๆอย่าง วิชาเลข กับ วิชาภาษาอังกฤษ ที่เขามีชั่วโมงให้คุณพ่อคุณแม่ไปช่วยเด็กทำกิจกรรม เขาจะแบ่งเด็กเป็นกลุ่มๆ 4-5 กลุ่ม แล้วมีชุดกิจกรรมเป็นถุงๆเตรียมไว้ให้เราไปช่วยนำเด็กเล่น  เด็กๆก็สนุกที่ได้คุยกับพ่อแม่เพื่อนๆหรือดีใจเวลาพ่อแม่ตัวเองมาเป็นคนช่วย ก็เป็นชั่วโมงสนุกสนานเสียมากกว่า ให้คุณครูได้มีเวลาทำงานอื่นๆบ้าง </p> <p style="margin: 0cm 0cm 0pt" class="MsoNormal"></p> ที่แปลกแตกต่างจากระบบบ้านเราอีกอย่างก็คือ เขาไม่มีการสอบค่ะ เด็กๆจะเลื่อนชั้นไปเรื่อยๆจนถึง year 7 โดยไม่มีการสอบ แถมบางครั้งยังมีการตามพ่อแม่ไปเที่ยวกลับมาก็ได้เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆเหมือนเพื่อน เขาเพียงให้เด็กได้เรียนรู้เท่าที่เด็กรับได้ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเน้นคือการอ่านและเขียนรวมทั้งการสะกดคำ โดยไม่ได้จำกัดมากว่าอ่านอะไร ขอให้อ่าน แต่ที่นั่นมีหนังสือสำหรับเด็กระดับชั้นเล็กๆ เยอะมาก เป็นคล้ายๆนิทานของบ้านเรา ในแต่ละชั้นจะมีเป็นกล่องๆให้เด็กเลือกยืมกลับบ้านไปอ่านได้ การบ้านที่มีก็คือการอ่านหนังสืออ่านเล่นพวกนี้ ตั้งแต่ชั้น year 1 ยัน year 7 เลยค่ะ แต่หนังสือก็จะยากขึ้น ยากขึ้นตามวัย แล้วเขาจะให้เด็กเริ่มอ่านในใจกันตอนประมาณ year 5 ขึ้นไป ต่ำกว่านั้นจะพยายามให้เด็กได้อ่านออกเสียงกัน พี่วั้นน้องเหน่นก็เลยเป็นนักอ่านตัวยง ตามอ่านหนังสือของนักเขียนหนังสือเยาวชนเป็นชุดๆมากมาย ทั้งจากโรงเรียนและจากห้องสมุด อ่านเองอีกทีแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ระบบของบ้านเรากับบ้านเขานี่ น่าจะเอามาหารครึ่งกันนะคะ กลับมาบ้านเราก็สงสารเด็กไปอีกแบบ อยู่โน่นก็เสียดายโอกาสบางอย่างในการใช้สมองของเด็ก ที่เขาปล่อยจนเกินไป

หมายเลขบันทึก: 119121เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2014 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดียามดึกครับ
     ตามอ่านอยู่ที่สันกำแพง เชียงใหม่  ได้ความรู้และเข้าใจในสิ่งที่สื่อดีมากครับ  ข้อสรุปที่จะต้องหาทางช่วยกันทำให้เป็นไปได้มากๆก็คือ  วางระบบหรือแนวทางที่ดี  เพื่อให้ผูเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างพอเหมาะ  พอดี  และมีความหมายต่อชีวิตให้มากยิ่งขึ้น

สวัสดีึ้่่ค่ะพี่โอ๋

นอยจากม.ข.นะคะพี่ ที่เคยติดต่อพี่เกียวกับ protocol D-Lactic acid ไงคะ

ถึงการเรียนที่ australia จะเป็นอย่างที่พี่โอ๋เล่า แต่เด็กเขาที่เก่งก็เก่งจริงๆนะคะ เพื่อนที่เรียนป.ตรีด้่วยกันนี่คือยอมรับเลยว่าเก่ง แล้วไม่ได้่เก่งเรื่องเรียนอย่างเดียวด้วย ทางด้านความคิด ความรับผิดชอบเขาก็ดีด้วยค่ะ เคยคิดเลยว่าที่นั่นเขาไม่ได้สอนเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว แต่คงปูพื้นการเรียนรู้อย่างอื่นให้เด็กเยอะเลยทีเดียว

ขอบคุณพี่ Handy ค่ะ น่าดีใจที่เราจะได้มีคนในระดับวางนโยบายแบบพี่บ้างนะคะ เพราะพื้นฐานของระบบนี่คือสิ่งสำคัญที่สุด คุณครูดีๆทั้งหลายก็ทำอะไรไม่ได้มาก หากระบบยังบีบให้คุณครูก็ต้องอยู่ในกรอบเหมือนกัน เป็นกำลังใจให้นะคะ เชื่อว่าพี่จะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญทีเดียวค่ะ

น้องนอยคะ ดีใจจังที่ได้เจอกันในบล็อก แปลกนะคะว่า แม้จะมีคนติดต่อมาถึงโดยตรงผ่านทาง GotoKnow จำนวนไม่ใช่น้อย แต่ทุกรายที่ได้ติดต่อกลับไปกลับมาจะมีอะไรพิเศษให้พี่โอ๋จำได้เสมอค่ะ ประสบการณ์ต่างๆของน้องนอยก็น่าเอามาเล่าสู่แลกเปลี่ยนกันในนี้นะคะ น้องนอยเขียนความคิดเห็นได้น่าอ่าน ทั้งในเมลและตรงนี้ น่าจะสร้างพื้นที่ของตัวเองเขียนความคิดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นนะคะ

ผมว่าเขาเน้นกระบวนการคิดมากครับ อ่านช้าก็คงไม่เป็นไร เดี๋ยวก็อ่านเป็น นี่คือความคิดแรกที่ส่งลูกไปเรียนที่นกฮูก แต๋เธอกลับอ่านได้เร็วมาก เพราะเขาสอนด้วยการเล่น

ผมย้ำถึงกระบวนการมากกว่านะครับ

เห็นด้วยกับอ.หมอแป๊ะค่ะ กระบวนการคิดนี่แหละสำคัญจริงๆ น้องฟุงของพี่ไม่ได้เรียนภาษาไทยมาเลย เพราะสภาพแวดล้อมไม่อำนวยให้สอนและดูเหมือนจะยุ่งยากวุ่นวายมากสำหรับลูกตอนที่อยู่ที่เพิร์ธ แต่เขาจะเป็นคนช่างคิด ช่างถาม เมื่อกลับมาเรียนเมืองไทยที่ร.ร.แสงทอง โดนทดสอบแล้วก็ต้องไปเริ่มที่ป.1 (จริงๆควรจะเป็นป.4) เพราะอ่านเขียนไม่ได้เลย แต่เวลาผ่านไป 1 เทอม เขาอ่านเขียนเรียนรู้ได้ทัน สอบรวดเดียวผ่านมาถึง ป.3 เลยค่ะ ตอนนี้อยู่ป.4 ได้คะแนนภาษาไทยดีมาก รู้อะไรหลายๆอย่างที่เรานึกไม่ถึง เช่น สามานยนาม วิสามานยนาม (จำได้ไหมคะ) เสียด้วย เรียกว่าหายห่วงเลย ขอให้คิดเก่งอย่างเดียว วิชาการแบบไหนเขาก็เรียนรู้ได้ทั้งนั้น (ถ้าเขาอยากจะเรียน) เชื่อว่าเด็กทุกคนที่สมองปกติธรรมดาก็จะเป็นแบบนี้แหละค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท