กำลังใจแด่ชาวPCU


การทำงานก็เหมือนการเดินทาง หากจดจ่ออยู่แต่เป้าหมายสุดท้าย ใจจะไร้ความสุขได้ แต่เราควรหยิบจับชื่นชมทิวทัศน์ดอกไม้ริมทางไปด้วย ใจเราก็จะสุขตลอดเวลาที่ทำงาน

                  ผมคัดลอกมาจากความคิดเห็นที่เราคุยกันระหว่างผู้ที่ใช้นามว่าตันติราพันธ์กับผมในบันทึกชื่อความเข้มแข็งของPCU ปกติแล้วผมไม่ค่อยได้ตอบความคิดเห็นยาวๆ แต่กับบันทึกนี้ผมกลับอยากเขียน อยากแลกเปลี่ยนและที่สำคัญอยากให้กำลังใจคนทำงานในพีซียูหรือสถานีอนามัยครับ

คุณตันติราพันธ์

                 ได้แนวคิดที่ดีมากค่ะ เป็นหัวหน้า PCU แห่งหนึ่ง แต่กำลังรู้สึกอึดอัด กับการบริหารงานของตน ที่ดูจะไม่ดีเท่าที่ควร ปีหน้าจะให้พัฒนาเป็น CMU ก็เห็นเพื่อนๆเขาเป็นกันแล้ว แต่มันไม่เป็นเหมือนฝัน แค่หาแพทย์มาอยู่ก็มีปัญหาแล้ว ได้แพทย์ที่เกษียณแล้ว และไม่ใช่ที่ปรึกษาด้านชุมชน สิ่งหนึ่งที่ได้มาอย่างไม่ได้คาดหมายคือ คนไข้ล้นหลาม ฝืนวิถีชีวิต ชาวอนามัยที่สุดๆเลยค่ะ บุคลากรน้อยมากจนเริ่มท้อถ้าคุณหมอมีข้อเสนอแนะก็เชิญนะคะ                  

หมอพิเชฐ : สวัสดีครับคุณตันติราพันธ์

                     ผมขอส่งแรงใจมาช่วยให้ผ่านภาวะอึดอัดนี้ไปให้ได้ครับ ในความเห็นของผม ผมไม่เห็นด้วยกับCMUและโรงพยาบาลที่ผมเคยอยู่ก็ไม่อยากทำCMUครับ ผมไม่อยากทำอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กในตำบล เพราะคิดว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มและลดทอนศักยภาพและความถนัดอันมีค่าของสถานีอนามัยลงไปพึ่งพาศักยภาพทางการแพทย์ของแพทย์ที่อาจไม่เข้าใจชุมชนเพียงพอ จนอาจเกิดสภาพย้ายโอพีดีจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่อนามัยชั่วครู่ชั่ววันเท่านั้น              

                    ผมจำได้ สมัยเด็กๆ ที่หมู่บ้านมีหมออนามัยคอยให้การดูแลรักษาชาวบ้าน เป็นที่รักใคร่นับถือของชาวบ้านมาก สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีFamily folderในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์คอยเก็บข้อมูล แต่หมออนามัยท่านนั้นรู้จักหมดเลยว่าใครเป็นลูกใคร บ้านไหนมีคนท้อง ครอบครัวนั้นมีใครบ้าง หมู่บ้านมีอะไรกันบ้างช่วงไหนทำไร่ทำนา ช่วงไหน เก็บเกี่ยว เพราะเขามีแฟ้มครอบครัวและชุมชนอยุ่ในใจเขา ซึ่งปัจจุบันก็มากำหนดให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าที่มีโฟลเดอร์ครบนั่นนะ รู้จักชาวบ้านหมู่บ้านแค่ไหน            

                   การลงทุนในCMUต้องหาเครื่องมือเพิ่ม คนเพิ่ม นอกจากหมอก็ต้องหาเจ้าหน้าที่แล็บ เอกซ์เรย์และอื่นๆอีก ค่าใช้จ่ายตามมาอีกเพียบ นี่ยังไม่รวมการปรับตัวเข้าหากันของหมออนามัยกับหมอโรงพยาบาลที่จะลงไปทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานความคิดที่ไม่ค่อยเหมือนกันอีก

               ในใจผมอยากให้ทำให้หมออนามัยสามารถดูแลคนไข้แบบองค์รวมได้ดีเหมือนอดีต ทำให้เกิดGood Health at Low cost ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง ใชความใกล้ชิดสนิทสนมไว้วางใจซึ่งกันและกันเพื่อสรางความเข้าใจ โน้นมน้าวใจให้ชาวบ้านมีวุขภาพดี เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้น้อยลงและร่วมช่วยกันดูแลสุขภาพในชุมชนของตนเองให้เป็นลักษณะ All for Health, Health for all โดยใช้ Low Technology, High touch เพื่อทำให้เกิดLow cost, Low riskแต่High Happiness

คุณตันติราพันธ์

                     ขอบคุณกำลังใจ จากผู้ที่เข้าใจสภาวะของชาวอนามัยไดดีคนหนึ่ง ดิฉันเสียดาย วัฒนธรรม การทำงานของสถานีอนามัย มันเป็นเอกลักษณ์   เทคนิกเราอาจจะด้อยไปบ้าง ตามสภาพที่มีจริง แต่ศิลปของเราไม่เคยด้อยกว่าใครเลย เรารักชุมชน ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แค่มีแพทย์มา เดือนละ 1 ครั้ง ก็ทำให้ชีวิตคนไข้เปลียนไปมาก คุณหมอเชื่อไหม ลุงป้า สมัยนี้ ที่มารักษา กลายเป็น ยานิยมแล้ว บางคนได้ยาไปถึง 12 ชนิดต่อครั้ง ตรวจสอบยังไง เขาก็ไม่เคย บอกวิธืกินยาได้ถูกต้องสักที รู้สึกเป็นห่วง วันหนึ่งมีคนไข้อายุ 90 ปี มาบอกว่า เมื่อวานหมอ(จาก รพ.) จ่ายยาขาดไป 2 ชนิด พอนับดูยายมียาประจำ 7 ชนิดแล้ว ยาที่ไม่ได้ไป เป็นยาเฉพาะอาการ คนไข้เริ่มมีทัศนคติว่า พบหมอ ก็ต้องได้ยาไปเสียแล้ว และเป็นความผิดของดิฉันเองด้วย ที่ไม่ได้ดูแล คนไข้อย่างใกล้ชิด เหมือนแต่ก่อน เพราะวันไหนหมอออกหน่วย ข้าวเช้าก็ไม่ได้กิน แถมกว่าจะหมดคนไข้ ก็ บ่ายค่ะ แต่ตราบใดที่ระบบของเรา ยังเป็นUp-Down ก็คงมี โรงพยาบาลตำบล ที่อ่อนแอ เกิดขึ้นอีก 1 แห่ง อย่างแน่นอนในปีหน้านี้ค่ะ

หมอพิเชฐ : เรียนคุณตันติราพันธ์             

                    สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมชอบไปออกหน่วยแพทย์มาก แต่พอมาในปีหลังๆ ผมกลับมีความรู้สึกว่า เหมือนการออกไปแจกยาให้ชาวบ้าน บางคนถามไปถามมาบอกว่าที่บอกอาการป่วยของเรานั้นเป็นเมื่อ 6 เดือนก่อน แต่วันที่มารับยาไม่เป็นแล้ว ที่มาเพื่อขอยาเก็บไว้เผื่อจะเป็นอีกในวันข้างหน้า ผมก็รุ้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่พอได้คุยแลกเปลี่ยนกันหลายๆคนก็กลับได้คิดว่า นั่นเป็นบริบทของชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล เวลาเขาป่วย เราไม่อยู่ เขาไม่รุ้จะไปเอายาที่ไหน พอเรามาเขาก็มาขอเก็บไว้ก่อน ก็ทำให้ได้คิดเหมือนกัน            

                    ในบางสภาพที่ไม่ยุ่งยากในการมารักษาเพราะอยู่ใกล้อนามัยหรือใกล้โรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงเราก็เจอแบบที่คุณบอก เวลาไปออกพีซียู บางทีก็อธิบาย บางทีก็เหนื่อยจนไม่อยากอธิบาย ก็ให้ๆไป ถ้าไม่ให้ก็จะหาว่าเราหวงอีก ก็น่าเห็นใจครับ ระบบสุขภาพที่สอนให้ประชาชนต้องพึ่งแพทย์ ยาและบริการมากเกินไปนี้ น่าจะเป็นผลเสียต่อระบบสุขภาพของประชาชนในอนาคต               

                      ระบบสุขภาพที่ดี ต้องสอนให้คนพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งบริการ สอนให้คนรู้สิทธิของตนเอง ไปพร้อมกับสอนให้คนรู้หน้าที่ของตนเองเช่นกัน บ้านเรามีแต่ให้สิทธิ มีสิทธิผู้ป่วย แต่ไม่มีหน้าที่ แต่ต่างประเทศหลายแห่งเขากำหนดสิทธิไปพร้อมๆกับหน้าที่ของผู้ป่วย               

                       อย่าท้อเลยครับ ทำเท่าที่เราทำได้อย่างเต็มที่ พอมีเวลาบ้าง ก็ออกไปพักผ่อนนอกอนามัยด้วยการพูดคุยกับชาวบ้าน อย่ามุ่งหวังมากเกินไปในช่วงสั้นๆ  ให้มองภาพฝันอันสวยงามในอนาคตที่เรามุ่งหวังและมีส่วนร่วม แม้จะไกล แต่มันคือกำลังใจของคนทำงาน มีความสุขกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆที่เราทำ เช่นคำชมของผู้ป่วย สุขภาพที่ดีขึ้น(บ้าง)ของประชาชน...แล้วเราจะมีความสุขอันยิ่งใหญ่ตามมาในอนาคตได้โดยไม่รู้                

                        การทำงานก็เหมือนเราอยู่บนเส้นทางการเดินทาง ใจเรารู้ว่าจุดหมายอยู่ตรงไหน แต่ตาเราอย่าไปมัวมองเฝ้าหาอยู่แต่เป้าหมายสุดท้ายของการเดินทางเท่านั้น เราควรหยิบจับ ชื่นชมความสวยงามของทิวทัศน์ริมทาง ดอกไม้ใบหญ้าอันสวยงามพร้อมหยิบมันติดมือไปด้วย เราจะถึงปลายทางได้อย่างมีความสุขตลอดเวลา

 

หมายเลขบันทึก: 119077เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ผมเห็นใจและเข้าใจ เป็นอย่างดี เพราะก้ออยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน  ผมว่าทุกวันนี้เรามองผู้ป่วยและการรักษาผิดวิธีหรือหลงประเด็นกันมากเลย เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญการรักษาและดูแลคนที่มีปัญหาสุขภาพอย่างจริงจัง แต่มองแค่รักษาโรคไปวัน ๆ เลยทำให้คนไม่หายหรือไม่คลายจากอาการเจ็บป่วยกันเสียที  สู้ๆๆๆๆ ครับผม เราเลือดสา สุข เหมือนกันครับ

ขอขอบคุณคุณหมอพิเชษฐ์ ที่กรุณา คัดลอกบทความโต้ตอบกระทู้ระหว่างเรามาไว้ในกระทู้นี้เฉพาะ เป็นการแลกเปลี่ยเรียนรู้กันค่ะ ดิฉันไม่มีเจตนาจะตำหนิผู้ใด เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผล ในการที่ต้องทำแบบนั้นๆอยู่แล้ว web kotoknow เป็นweb ที่ดิฉันรัก เพราะเราสามารถที่จะแสดง หรือเปิดเผยความคิดต่างๆได้โดย มิต้องหวั่นกลัวอิทธิพลใดๆ เพราะคนที่นี่ส่วนมาก จะให้เกียรติและกำลังใจกันเป็นส่วนมาก หากคุณหมอให้โอกาสเช่นนี้ ดิฉันเองก็มีเรื่องราวที่จะแลกเปลี่ยนกับคุณหมออีกมากเช่นกัน อาจจะคนละมุมมอง หรืออาจจะเป็นจุดเดียวกันเลยก็ดี

  ต้องขอบคุณ ผู้คิดค้นหลักสูตรหมออนามัย ที่มีวิถีชีวิตเฉพาะในการดำเนินงานสุขภาพในชุมชน เขาสร้างให้เราเกิดความรัก และรับผิดชอบประชาชน อย่างแนบเนียน เมื่อสมัยรับราชการใหม่ๆ ดิฉันถูกส่งให้ไปอยู่ที่ค่อนข้างกันดาร มีคนมาทำคลอดมากมาย บางคืนหลายคนก็มี ในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่คนเดียว มีครั้งหนึ่งลูกยังเล็ก ประมาณตีสี่ ดิฉันทิ้งให้ลูกหลับอยู่บนบ้านคนเดียว แล้วลงมาทำคลอด รายนั้นคลอดเมื่อสว่างพอดี ในขณะปฏิบัติภาระกิจวุ่นๆ ไม่ได้ทันสังเกต ว่าหลังห้องมีใครเอาเก้าอี้มานั่งอยู่ พอทำคลอดเสร็จหันไปเห็นถึงกับตกใจ ลูกดิฉันเอง เขาเข้ามาดูดิฉันทำคลอดตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ขณะนั้นลูกอายุประมาณ 3 ขวบ เสียงลูกบอกว่ามาอยู่ที่นี่เอง แล้วก็เดินขึ้นบ้านไปนอนต่อ โดยไม่ได้งอแงเลย

ชีวิตคนอนามัยเป็นอย่างนี้เอง ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ปรับตัวได้เสมอ แม้เพื่อนหลายคน ยอมลาออกเพราะทำ comp ไม่เป็น แต่หลายคนก็อุตส่าห์ มานะเรียนรู้ เพื่อจะได้อยู่ทำงานต่อ ทำในสิ่งที่ตนรักต่อไป คุณหมอเป็นคนหนึ่ง ที่ดิฉันถือว่า มีสายตาที่กว้างไกล และละเอียดอ่อน ต่อการมองคน ใจกว้างและรับฟัง ถ้าจะเทียบไป คนอนามัยและหมอ ก็แทบจะไม่มีมุมให้เราได้ทำงานคู่กันไปอยู่แล้ว เพราะถึงจะลงอนามัย ก็ต้องให้พยาบาล เป็นคนคอยเสริ์ฟหมออยู่ดี ถึงจะคุยหรือสั่งงานกันรู้เรื่อง ที่จริงเราก็อยากเข้าไปให้หมอสอนนะคะ แต่กลัวคุณหมอจะระอาเสียก่อน เพราะความรู้มันต่างกัน คนละแนวกันเลย มีวันนี้แหละค่ะที่คุยกับหมอรู้เรื่องและถูกคอกันทีเดียว

  ยี่สิบกว่าปีก่อน เมื่อดิฉันจบมาใหม่ๆ ได้ทำงานในชนบท มีความกันดารพอสมควร เวลาออกมารับเงินเดือนก็ต้องออกแต่เช้า กลับเย็น เพราะมีรถโดยสารเที่ยวเดียว แต่ในความลำบากนั้น ก็ได้มีผู้มาสร้างความสุขใจให้ในการสอนการทำงานในชุมชน ท่านเป็นแพทย์ค่ะ เป็นแพทย์อินเทิร์น มาปฎิบัติงานที่สอ. เพียง 1 สัปดาห์ แต่ต่อจากนั้น ท่านก็มาทุกสัปดาห์ ในวันหยุด มาชวนกันออกเยี่ยมบ้าน ตรวจสุขภาพคนไข้ ไปศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน กินปลาไหลต้มเปรตกับเขา และยังสอนการตรวจดูเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนัก คุณหมอเชื่อไหม เด็กอายุ 14 วัน ตรวจพบเชื้อมาลาเรียแล้ว เรียกว่าเกิดมาก็คงโดนยุงกัดเลย หลายครั้งที่ มีผู้เสียชีวิตนอนเป็นศพรอญาติจนดึกกว่าจะซื้อโลงมาใส่ มีอีกหลายอย่างที่คุณหมอท่านนี้สอนเรา รวมถึงทุกครั้งที่ดิฉันส่งคนไข้เข้า รพ.จังหวัด คุณหมอก็จะมารอรับ ดูแลอย่างอบอุ่น จนถึงวันกลับ โดยผู้ส่ง ผู้รับ ต่างก็อบอุ่นใจ เมื่อมาร้อยเรียงในวันนี้ เหมือนเรื่องราวสนุกน่าสนใจ แต่แท้จริงระยะนั้น เราทำงานกันหนักทีเดียว แต่แม้เวลาจะผ่านมานาน ก็ไม่เคยลืมความฝังใจที่ได้รับ และสืบสานต่อมาให้รักชุมชน เสมือนญาติจนทุกวันนี้ อ้อ ! ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งคือ เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เราจะใช้ วิทยุ พอ.สว.
สวัสดีคะ  คุณหมอและคุณ"ติราพันธ์  อิ่มใจไปด้วยกับการเริ่มงานที่แสนน่าประทับใจ  การทำดีของคนบางคนแม้ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนแต่ภาพความประทับใจนั้นได้แอบปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความดีงามให้เติบโต  งอกงามอย่างต่อเนื่อง  และเมล็ดพันธ์ที่งอกงามนั้น  ก็ยังได้ขยายต่อกันไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว  ขอให้คนดีทุกคนยังมีแรงอยู่  แม้ใครจะไม่รู้ไม่เห็น  แต่เรายังมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้  คุณธรรม  จริยธรรม เมตตาธรรมที่เรายึดถือยังคงคุ้มครองเราอยู่  ขอเมตตาจิตของทั้งสองท่านเป็นพลังสร้างสรรให้โลกงดงามและน่าอยู่ตลอดไป

สวัสดีค่ะคุณนกยักษ์

  คุณนกยักษ์ได้เข้าระบบก่อนหรือเปล่า ดิฉันติดตามคุณไม่ได้ ขอบคุณค่ะ สำหรับกำลังใจ ต้องบอกว่า เป็นไปตามที่คุณพูดมาค่ะ ความภูมิใจที่หล่อเลี้ยงเรา ช่วงนี้ สโมสรโรตารี่ ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน เป็นเจ้าภาพ ผ่าตัดต้อกระจก และเปลี่ยนเข่าที่เสื่อม ดิฉันก็จะพยายามค้นหา คนไข้ ไปรับการรักษาให้มากที่สุดค่ะ ตอนนี้ ก็ได้เกิน 50 คนแล้ว พื้นที่ดิฉันชนบทค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจค่ะ

สวัสดีครับ คุณหมอ พิเชษฐ์ และคุณ ตันติราพันธ์

เห็นด้วยจริง ๆ ครับว่าเราไม่ควรสร้างโรงพยาบาลตำบลอีก และจัดบริการแค่เพียง extended opd ในชุมชน  และก็ไม่ควรหวังว่าแพทย์จะมาเป็นคนที่ นำงานในชุมชน  เพราะ งานในชุมชนเจ้าหน้าทีทุกวันนี้ มีศักยภาพ มีคุณค่า เพียงพอ แต่หลายครั้งอาจจะขาดโอกาสที่ดี ๆ    ผู้บริหารอาจมองไม่เห็นนัก สิ่งที่pcu ขาดไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นโอกาสที่จะได้ใช้ศักยภาพ   ของตัวเองมากกว่า

งาน primary care ก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง ที่หาไม่ได้ในงานบริการะดับอื่น ๆ    แพทย์ที่จะมาทำงานที่ pcu ที่เขาเรียกว่า cmu ก็ต้องเข้ามาทำงานในบริบทของ งานชุมชน งานprimary care มีจิตวิญาณ  ถ้าหวังว่าแพทย์จะมาเพิ่มศักยภาพทางชุมชน อาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก

งานที่ pcu หรือสถานีอนามัย หรือจะเรียกว่า CMU หรืออะไรก็ตามที   ก็ต้องยึดมั่นในศักยภาพ และศักศรีของงาน primary care

คุณตันติราพันธ์ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทำงานที่ pcu มีศักยภาพ และศักด์ศรี มีคุณค่าครับ เราเพียงแต่ต้องการโอกาสที่ดี  ๆ เท่านั้น 

สวัสดีค่ะ

  เข้าไปทำความรู้จักกับคุณหมอแล้ว รู้สึกดีใจ ที่มีผู้เข้าใจ วิถีชีวิตการทำงานของพวกเรา บางครั้งอาจเพราะเราอยู่จุดเล็กเกินกว่าใครจะมองเห็น และเสียงที่แสนเบา ขอบคุณคุณหมอมากที่เข้าใจ หวังว่าคงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโอกาสต่อไปค่ะ

ดีใจมากที่ได้มิตรใหม่อีกหลายคน ส่งกำลังใจกลับไปให้คุณตันติราพันธ์ด้วยครับ บ่อยครั้งที่ผมทำงานมากจนรู้สึกว่าไม่ได้พักเลย บางทีขลุกกับงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อผลลัพธ์ต่อส่วนรวมเพียงเล็กน้อย แต่พองานสำเร็จ สิ่งที่ได้คือความภูมิใจ กว่าจะได้มาเราต้องหลอมความรักของเราลงไปในงาน ใส่ความหวังความศรัทธาลงไปผสม ทำงานด้วยใจของเรา อิ่มท้องอยุ่ไม่นาน แต่อิ่มใจอยู่นานกว่ามากครับ

เสียงที่เบาของคนหลายคนก็จะดังออกมาได้ แต่ขอให้เสียงเบาๆนั้นเป็นเสียงเดียวกัน วันหนึ่งเสียงนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนสามารถทำงานชุมชนได้ เพียงแต่ขอให้มีใจรักประชาชน รักชุมชนก่อน แล้วสิ่งดีอื่นๆก็จะตามมาเอง

สวัสดีค่ะคุณหมอพิเชฐ

    ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า รู้สึกปิติใจมาก ที่มี(ขออนุญาต) เรียกว่าเพื่อนร่วมเส้นทาง แม้บทบาทหน้าที่จะต่างกัน แต่ใจของเราเป็นหนึ่งเดียว เรารักประชาชนจริงๆ เข้าใจเขาเสมือนญาติ ทำการสิ่งใด ไม่เคยคิดว่า ได้เปรียบ เสียเปรียบ กับพวกเขาเลย ด้วยนโยบายหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในกฎเกณฑ์ ที่ไม่พึงพอใจ เช่น การรายงานที่เร่งด่วน ตัวเลขที่รู้สึกผิดทุกครั้งที่ต้องกรอกด้วยความจำใจ เพื่ออะไร เพื่อใคร ก็ช่างมันเถิด ดิฉันก็แก้ผิดให้ตัวเอง โดยทำตามภายหลังให้ทัน บางครั้งก็ให้ความหมายของคำว่าวันหยุดไม่ได้ รู้แต่ว่า ออกไปทำงานในวันที่ไม่ใช่วันทำงาน กลับมีอิสระภาพ ความสุขยิ่งกว่า และเราจะได้พบวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนที่เรารักด้วย

  คุณหมอพิเชฐ คุณหมอจิ้น และหลายท่านที่เข้ามาในกระทู้นี้ ดิฉันเชื่อว่า เรามีกระแสใจตรงกัน จึงเข้าใจ แบ่งปัน ให้กำลังใจ แม้จะเป็นอักษรแค่ไม่กี่ตัว แต่ ก็ได้เพิ่มจำนวนมวลสุขให้กับตนเอง ได้หลายร้อย หลายพัน ตามจำนวนที่ได้ทบทวน อานิสงส์นี้ ขอให้ทุกท่านได้รับโดยทั่วกัน อยู่ที่ไหนก็ขอให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และจะขอนำเรื่องราวดีๆ ที่จะทำเพื่อพี่น้องชาวบ้านของเรามาบอกกล่าวเป็นระยะๆ ในกระทู้นี้ค่ะ  ขอบพระอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท