เขียนถึงคุณสุนิสา...และ...ท่านผู้นำ


หนังสือ "ทักษิณ Where are you?" ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที จึงเกิดศึกระหว่างข้าราชการทหารตัวเล็กๆ กับบิ๊กๆ ในกองทัพ แต่สิ่งที่เราควรจะทำต่อจากนี้ ควรจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณสุนิสาเอง, กองทัพหรือประเทศชาติ โดยไม่ต้องให้เจ้าพ่อสื่อที่ไหนใช้(พวก)เราเป็นเครื่องเล่นของเขาได้อีก

แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่เมื่อหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูดเมื่อไร เป็นต้องได้วิวาทะกับคนอิ่นไปเสียแทบทุกครั้ง

กรณีของคุณสุนิสา จากการพูดคุยกับคนทำงานด้านพัฒนาหลายท่าน ได้ให้ความเห็นที่แตกต่างกันไปมากมาย บ้างก็ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล บ้างก็ว่าเป็นเรื่องปกติของคนเขียนข่าว บ้างก็ว่าเป็นเรื่องที่ทำเพราะอยากดัง ฯลฯ แต่มีบางท่านได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า การจะกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม ควรจะคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลต่อตนเอง คนรอบข้าง หน่วยงาน ชุมชน หรือสังคม

คงต้องตีความว่าคนสุนิสามีสถานภาพในขณะที่กำลังสัมภาษณ์(คุณทักษิณ)นั้นเป็นแบบใด เป็นคนทั่วไป เป็นสื่อมวลชน หรือเป็นข้าราชการในกองทัพ ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นอื่น แต่จะขอกล่าวในส่วนของกองทัพ

การเป็นคนในกองทัพ จะต้องสำนึกเสมอว่า ต้องอยู่ภายในกฎเกณฑ์ ระเบียบกองทัพ คำสั่งของผู้บังคับบัญชา จะทำอะไรต้องคำนึงเสมอว่า "เราเป็นคนของกองทัพ กองทัพเป็นของชาติและประชาชน" เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้ทุกท่านทราบใช่ไหมว่า การกระทำของคุณสุนิสาเป็นการสมควรหรือไม่ อย่างไร

ถูกผิดก็ควรว่าไปตามเรื่อง แต่สิ่งที่สังคมควรจะได้ติดตาม กำกับ ตรวจสอบ ก็คือ การที่ข้าราชการระดับสูง(ไม่เฉพาะกองทัพ)จำนวนมาก ต่างมีเวลาว่างมากมาย บางครั้งก็ลางานไปเที่ยวต่างประเทศเกินจำนวนวันที่ขอไว้ บางครั้งก็ทำงานไม่เต็มเวลา เช่น เอาเวลาบางส่วนไปเล่นกอล์ฟ หรือเอาเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ เหล่านี้จะพออนุมานได้ไหมว่า ทำไมระบบราชการไทยถึงลงโทษหรือเอาผิดได้เฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย แล้วระดับสูงๆ ขึ้นไปล่ะ? มีใครเคยโดนลงโทษหรือเปล่า? มีใครเคยโดนภาคทัณฑ์ โดนลดขั้นเงินเดือนบ้าง?

สังคมไทยต้องใช้เวลานี้ในการแปรวิกฤตเป็นโอกาส เราต้องทวงถามความชอบธรรมของระบบราชการ ที่สักแต่ให้ผู้น้อยทำงานหนัก ทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าทำชั่ว(แม้เพียงเล็กน้อย)ก็บรรลัย ทำไมรัฐบาลไม่เคยที่จะเอาผิดนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงได้เลย ทำไมต้องเป็นเฉพาะผู้น้อยเท่านั้นที่ได้รับกรรม ทำไม?

สื่อเองควรจะมีบทบาทเข้ามาช่วยสร้างกระแสนี้ กระแสในความรับผิดชอบต่อสังคมของข้าราชการ สื่อต้องนำเสนอแนวทางการสร้างความยุติธรรมให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน

หากขาดพวกเขาเหล่านี้ไป การบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นอย่างไร?

สำหรับประเด็นการโต้ตอบของคุณสนธิ(ลิ้มทองกุล) นั้น ผมมองว่าเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเขาประกาศตัวแล้วว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามอดีตนายกฯ แต่การกระทำของเขาเองบ่งชี้ว่าเขาป็นคนเช่นไร เรื่องนี้คงต้องไปอ่านบทความของ อ.สมเกียรติ(อ่อนวิมล)ครับว่า จรรยาบรรณสื่อที่ดีควรเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่ทุกคนมองข้ามก็คือ ควรระวังการปลุกระดมจากหลายภาคส่วน เราต้องมีวิจารณญาณ ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ต้องคิดให้มาก คิดให้นาน อย่าให้ใครมาโน้มน้าวจิตใจของเราให้ไขว้เขว เราเท่านั้นที่ควบคุมตนเองได้

สำหรับกรณีอดีตนายกฯ ผมมองว่า ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้เล่นตามเกมของเขา ไม่ว่าจะเป็น คมช., คุณสุนิสา, สื่อ หรือแม้กระทั่งคุณสนธิ(ลิ้มทองกุล) ก็ตาม ล้วนเป็นไปตามเกมการเมืองที่เจ้าพ่อสื่อวางไว้แทบทั้งสิ้น วิธีการที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของเขาก็ง่ายนิดเดียวครับ...ไม่ต้องไปสนใจเขาก็เท่านั้น...จบ 

ฝากข้อคิดถึงท่านผู้นำ อดีตผู้นำ และผู้ที่คิดจะเป็นผู้นำทุกท่าน กรุณาอย่าใช้วิธีโน้มน้าวให้ประชาชนหลงเชื่อในวาทกรรมของท่าน กรุณาอย่าแยกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับท่านเป็นศัตรูของท่าน กรุณาอย่าสร้างกระแสให้ประชาชนคล้อยตาม

กรุณาอย่าคิดว่าเมื่อกระแสสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าท่านทำแล้วดี ทำแล้วถูกต้อง แล้วจะเป็นความชอบชอบธรรมที่ท่านคิดว่าจะทำอะไรๆ ก็ได้ บทเรียนจากกรณีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพจะตามหลอกหลอนท่าน

เป็นคติให้ท่านที่คิดจะเป็นผู้นำว่า หากกระทำการใดๆ โดยปราศจากความชอบธรรม (ทั้งในแง่ศีลธรรมและกฎหมาย) แม้นว่าจะมีเสียงสนับสนุนเป็นร้อยล้านเสียงก็ตาม แต่ในไม่ช้า การกระทำของท่านจะต้องถูกพิพากษา ทั้งจากประชาชน สังคม  ประเทศชาติ และท่านย่อมได้รับได้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 118982เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท