บันทึกจากประกายรังสี "เลือก ก.ช. ผู้แทนของพันเจ็ดร้อยแปดสิบคน"


เจตนารมย์ของกฎหมายไม่ต้องการให้เข้ามาเป็นผู้แทนของใครหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่ให้เข้ามาเป็นผู้แทนของชาวเราทั้ง ๑,๗๘๐ คน ผมจึงขอใช้คำว่า ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป

    
     ช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชาวเรามากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนจากซีเป็นแท่ง เรื่องมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค เรื่องเลือก ก.ช. โดยเฉพาะการเลือก ก.ช. ซึ่งน่าจะเรียกว่า เป็นการเลือกตั้งทั่วไป (population vote) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาวเรา บันทึกนี้จึงอยากตั้งชื่อว่า "เลือก ก.ช. ครั้งประวัติศาสตร์ของชาว RT" แต่ก็เปลี่ยนใจใช้ชื่อว่า "เลือก ก.ช. ผู้แทนของพันเจ็ดร้อยแปดสิบคน" ผมมีเหตุผลลองติดตามอ่านดูแล้วกันครับ ก่อนอื่นมาดูกันว่า ขณะนี้มีใครบ้างที่เป็น ก.ช. โดยตำแหน่งอยู่ในตอนนี้ (โปรดดูใน RT News)

ก.ช. ประเภทวุฒิสภา

     คณะกรรมการวิชาชีพชุดนี้ มีผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะเป็นเลขานุการ หากเทียบ ก.ช.ชุดนี้กับสภาผู้แทนระดับประเทศ ก็คงเทียบได้กับวุฒิสภา เพราะที่มานั้นมาตามตำแหน่ง ๕ คน (ซึ่งควรจะเป็น ๖ คน) และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก ๓ คน (หนึ่งคนต้องตั้งจากตัวแทนสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย) ก.ช.ชุดนี้ถ้าเรียกให้ชาวเราเข้าใจง่ายขอเรียกว่า ก.ช.ประเภทวุฒิสภา ซึ่งกฎหมายไม่ได้เรียกแบบนี้นะครับ อย่าเข้าใจผิด ชื่อนี้ผมเรียกเอง ดังนั้น การทำงานของ ก.ช.ประเภทวุฒิสภา ในช่วงเวลาประมาณ ๔ ปีที่ผ่านมานับจากที่มีคณะกรรมการวิชาชีพ เป็นการทำงานที่ต้องเรียกว่าเป็นการวางรากฐานการทำงาน ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยเน้นหนักไปที่การจัดสอบใบประกอบโรคศิลปะฯ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มีผู้มีใบประกอบโรศิลปะฯจำนวนมากพอ เพื่อให้สามารถดำเนินการเลือกตั้งจากผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะฯเข้ามาเพิ่มอีก ๘ คน ให้ครบตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ซึ่งนำไปสู่การทำหน้าที่ของ ก.ช. ที่สมบูรณ์และมีความเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น มีมุมมองหลากหลายมากขึ้น

ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป


     สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่กำลังเกิดขึ้น ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของวิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้สิทธิ์ผู้มีใบประกอบโรคศิลปะฯ ๑,๗๘๐ คนในขณะนี้เลือกเข้าไปเป็น ก.ช. อีก ๘ คน (ที่มาของจำนวน ๘ คน) โดยเลือกกันเองจากผู้มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคเท่านั้น ดังนั้น ก.ช. ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีก ๘ คนนี้ จึงเปรียบเสมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เข้าใจง่ายขอเรียกว่า ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป เพราะอะไรผมจึงเรียกแบบนี้ ก็เพราะ เจตนารมย์ของกฎหมายไม่ต้องการให้เข้ามาเป็นผู้แทนของใครหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่ให้เข้ามาเป็นผู้แทนของชาวเราทั้ง ๑,๗๘๐ คน ผมจึงขอใช้คำว่า ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป และจะเป็น ก.ช.นับจากวันที่ประกาศผลการเลือกตั้งมีวาระ ๓ ปี ดังนั้นการเลือกครั้งนี้จึงเป็นการเลือก ก.ช. ที่เป็นผู้แทนพันเจ็ดร้อยแปดสิบคน

     ตามระเบียบการเลือกตั้งดังกล่าว บอกไว้ว่า ถ้าผู้สมัครรับเรื่องตั้งมีจำนวนไม่เกิน ๘ คน ให้ถือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีรายชื่ออยู่ในประกาศ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ก.ช. โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เท่าที่ดูขณะนี้มีผู้สมัครท่วมท้น เกินจำนวน ๘ คนไปเยอะแล้ว แสดงว่าชาวเราให้ความสนใจมากๆ ทำให้บรรยากาศการสมัครรับเลือกตั้งคึกคักไม่แพ้การเลือกตั้ง ส.ส. สอดคล้องกับบรรยากาศตอนนี้ที่มาประจวบเหมาะกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ด้วยและน่าจะตามมาด้วยการเลือกตั้ผู้แทนราษฎรในระดับประเทศ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด

     สำหรับการออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ดำเนินการเลือกตั้งจะส่งบัตรเลือกตั้ง ไปยังชาวเราทุกคนที่มีใบประกอบโรคศิลปะฯ พร้อมสำเนารายชื่อผู้สมัคร ผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ คือนอกจากจะมีการแนะนำตัวตามปกติแล้ว หมายความว่า ในเว๊ปของสมาคมฯและกองการประกอบฯจะได้นำรายละเอียดของผู้สมัครทุกท่านขึ้นไว้ให้สามารถดูเมื่อไรก็ได้ ผู้สมัครก็ยังสามารถดำเนินการด้วยตัวเอง โดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ชาวเราที่จะเลือกได้มองเห็นตัวตนของผู้สมัครชัดเจนขึ้น แล้วชาวเราก็ลงคะแนนเลือกผู้ที่ชาวเราต้องการได้ไม่เกิน ๘ คน โดยลงคะแนนด้วยตัวเองที่กองการประกอบโรคศิลปะหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ตั้งแต่วันที่่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ ซึ่งการนับคะแนนจะกระทำภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง หลังกำหนดเวลาการเลือกตั้งสิ้นสุดลง คือนับจากเวลา ๑๖.๓๐ น. ของวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ แล้วก็ไปรอลุ้นว่าชาวเราคนไหนจะเข้ามาเป็น ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป

     เนื่องจากจะต้องเลือก ก.ช.ประเภทผู้แทนทั่วไป อีก ๘ คน ดังนั้น ในบัตรลงคะแนนของชาวเรา ก็ควรจะใช้สิทธิ์เลือกให้ครบ ๘ คน อย่างไรก็ตาม ชาวเราสามารถเลือกไม่ครบ ๘ คนก็ได้ กติกาไม่ห้ามครับ (ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๔ (๘) ) เช่น ในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด ชาวเราชอบนาย ก. คนเดียว ก็เลือกเลือกนาย ก. คนเดียว แต่ถ้าหากชาวเราชอบหลายคนและตัดสินใจไม่ถูกว่าจะตัดใครออกดีเลยเลือกมาเกินจำนวน ๘ คน ถ้าเลือกเกิน ๘ คนจะถือเป็นบัตรเสียทันที ถ้าผลคะแนนเลือกตั้งออกมามีคะแนนเท่ากันเกิน ๘ คนจะทำอย่างไร ทางออกคือใช้วิธีจับฉลาก เฉพาะผู้ที่มีคะแนนเท่ากันให้ได้จำนวน ก.ช.เพียง ๘ คนเท่านั้น

หน้าที่ของ ก.ช


     ลองมาดูหน้าที่ ๑๒ ข้อ ของคณะกรรมการวิชาชีพตามมาตรา๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้ (โปรดดูใน RT News)

     เมื่อดูหน้าที่ของ ก.ช. แล้วจะเห็นว่า เป็นหน้าที่/อำนาจตามกฎหมาย ที่ให้คุณให้โทษแก่ชาวเราได้ เห็นได้ชัดในกรณีเพิกถอนใบอนุญาตของชาวเรา เป็นต้น ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งใน ก.ช.ประเภทวุฒิสภา ขออนุญาตแสดงความเห็นว่า ก.ช.ไม่ว่าจะมาโดยวิธีใดก็ตาม ต่างมีหน้าที่เหมือนกันหมดตามกฎหมายที่กล่าวไปแล้ว แต่ส่วนตัวผมนั้นได้เพิ่มเติมเข้าไปอีก ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ เช่น ผมจะต้องมีความแม่นยำและเที่ยงตรง คือ มีความรู้ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างดี ผมตั้งสเป็คไว้แบบนี้ทำให้ตัวเองหนักใจนะครับ เพราะไม่ได้เรียนจบมาทางกฎหมาย นั่นคือ ก่อนประชุมทุกครั้ง ต้องทำการบ้านด้วยการอ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องซ้ำๆ ไม่ใช่อ่านบ่อยๆ อ่านซ้ำหมายความว่า อ่านตรงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซ้ำๆๆๆ ซึ่งไม่เหมือนกับการอ่านบ่อยๆ การอ่านบ่อยๆ อาจจะอ่านไอ้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์และเสียเวลาอ่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่อ่านอย่างอื่นเลยนะครับ อันนี้ก็เพื่อให้พอจะเกิดความแม่นยำขึ้นบ้าง เมื่อพอจะมีความแม่นยำแล้ว จะตามด้วยความเที่ยงตรง ในความหมายของผมคือ เรื่องที่เข้ามาสู่การพิจารณาและต้องมีการหาข้อสรุปหรือตัดสินใจ หากเป็นเรื่องประเภทเดียวกันแล้ว ต้องมีข้อสรุปหรือการตัดสินใจที่ไม่แตกต่างกันในหลักการ ไม่มี double standard เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ผมจะต้องมีความเป็นธรรม ในความหมายของผมคือ ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวเราทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตามหลักความเสมอภาค โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจอันชั่วร้ายที่ชักนำให้เกิดความลำเอียง ไม่ลำเอียงไปทางตัวเอง พวกพ้องหรือคนที่เรารู้จัก รวมถึงมีความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย เช่น ผู้ป่วย ที่ได้รับความเสียหายซึ่งร้องเรียนว่าเกิดจากการกระทำของชาวเรา เป็นต้น ส่วนตัวของผมแล้วแค่สองประเด็นนี้ก็หนักเอาการครับ

มานัส มงคลสุข

จาก RT News ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๒๓ ประจำเดือน สิงหาคม ๒๕๕๐

 

คำสำคัญ (Tags): #ประกายรังสี
หมายเลขบันทึก: 118955เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.ธนพัฒน์ เคยด่า RTC ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งในจิตใจ ที่ได้เป็น แต่ก็ยินดีกับท่าน จำคำด่านั้นได้ดี

ชาวรังสีดีใจที่สุดค่ะที่มีกช.เป็นปากเป็นเสียงและเข้ามาดูแลวิชาชีพของพวกเรา แต่อยากให่ กช.เร่งทำงานหน่อยค่ะเพราะเรามาสาย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา วิชาชีพเรายังล้าหลังหลายเรื่อง แต่ก้าวหน้าเร็วกว่าวิชาชีพอื่นเรื่องเทคโนโลยี่ เหมือนตัวโต แต่หัวรีบนะ(คิดอย่างไรก็ไม่รู้) วงการแพทย์สั่นเสทือนเมื่อวิทยาการใหม่ๆทางรังสีเข้ามา  รพ.เอกชนใช้เป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ความมีศักย์ภาพด้วยเครื่องมือทางรังสี แต่เราถูกประเมินค่างานแค่ผู้กระทำให้เกิดภาพ เศราค่ะ หวังว่า กช.คงแสดงบทบาทให้หลายๆวิชาชีพและผู้ที่มีอำนาจต่างๆได้ทราบและมีการรู้จักพวกเรามากขึ้น

        กช.คงต้องวิ่งแข่กับวิชาชีพอื่นแล้วละเดินคงจะไม่ทัน พวกเราอยากช่วยและให้กำลังใจเต็มที่ค่ะ

        ขอฝากเรื่องให้กช.พิจารณา

1  RT ในปัจจุบันเป็นอัตราจ้างมีจำนวนมากในวงราชการทำอย่างไรให้กำหนดตำแหน่งเพิ่มเพื่อบรรจุเป็นราชการ

2  เงินพตส.ในอัตราจ้างไม่มีให้ทำอย่างไรให้ผู้ที่ทำงานอัตราจ้างในระบบราชการได้รับ พตส.เหมือนคนอื่น

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท