ปีใหม่ ให้อะไรกับสุขภาพ


...มีผู้เขียนคนเดียวที่เครื่องรายงานผลว่า ออกกำลังน้อยไป ความจริงผู้เขียนเดินออกกำลีงกายวันละประมาณ 1/2 - 1 ชั่วโมงชึ้นไป ทำให้คิดว่า เครื่องน่าจะผิดพลาด เข้าทำนองรำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง...
เดือนธันวาคมผู้เขียนเพิ่งซื้อเครื่องชั่งน้ำหนัก (Tanita) ชนิดที่วัดปริมาณไขมัน กล้ามเนื้อ และน้ำในร่างกายไปเครื่องหนึ่ง ก่อนวัดต้องลงข้อมูลเพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก

เวลาวัดให้ยืนตัวตรง แขนและมือห้อยลงตามสบาย เท้าเปล่า เครื่องชั่งจะปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนผ่านขา และลำตัว คำนวณออกมาเป็นปริมาณไขมัน กล้ามเนื้อ และน้ำ พร้อมทั้งบอกว่า เรามีสุขภาพทางกายโดยรวมเป็นอย่างไร

 

วิธีการวัดแบบนี้ (Bio-electrical impedance / BEI) มีหลักการคือ ไขมันมีแรงต้านทานกระแสไฟฟ้าสูงกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อ ฯลฯ ถ้ามีไขมันมากจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้น้อย ถ้ามีไขมันน้อยจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้มาก

ผู้เขียนเคยวัดด้วยเครื่องมือแบบนี้หลายชนิด หลายครั้งในรอบ 3 ปีทั้งที่คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร และเซ็นทรัลชิดลมหลายครั้ง(ขอขอบคุณที่ให้ลองได้ฟรี) ผลปรากฏว่า ไขมันมีน้อย รูปร่างเล็ก โครงสร้างกระดูกเล็ก กล่าวโดยรวมนับว่า สุขภาพอยู่ในระดับใช้ได้

 

ผู้เขียนมีโอกาสไปอบรมวิชาการกรุงเทพฯ และซื้อเครื่องชั่งนี้ไปใช้เองเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548 สัปดาห์ต่อมานำไปวัดคุณแม่(อายุ 82 ปี) น้องสาว และหลานสาว ปรากฏว่า ทุกท่านมีร่างกายได้มาตรฐาน สัดส่วนไขมันต่อกล้ามเนื้อดีปานกลาง มีผู้เขียนคนเดียวที่เครื่องรายงานผลว่า ออกกำลังน้อยไป

ความจริงผู้เขียนเดินออกกำลังกายวันละประมาณ ½ - 1 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้คิดว่า เครื่องน่าจะผิดพลาด เข้าทำนองรำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง แต่เมื่อมาพิจารณาหลักการออกกำลังกายพบว่า เครื่องน่าจะถูก ผู้เขียนน่าจะผิด

  

ผู้เขียนวิ่งเป็นประจำมานาน แต่เปลี่ยนเป็นเดินเร็วในหน้าฝนที่ผ่านมา เหลือวิ่งจริงๆ เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หน้าฝนปี 2548 มีฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้ผู้เขียนไม่ได้ยกน้ำหนัก วิธียกน้ำหนักของผู้เขียนคือ นำน้ำใส่ถังฝักบัวพลาสติก 2 ถัง และเดินไปรดต้นไม้ทีละต้นๆ

คนที่โครงสร้างร่างกายเล็กจะมีสัดส่วนกล้ามเนื้อต่อน้ำหนักค่อนข้างน้อย เมื่อเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดิน และหยุดยกน้ำหนัก(หิ้วถังน้ำรดน้ำต้นไม้)มีส่วนทำให้มวลกล้ามเนื้อ(ที่น้อยอยู่แล้ว)น้อยลงไปอีก

 

คนที่กินเก่งอย่างผู้เขียนไปประชุมทีไรมักจะ “ได้น้ำได้เนื้อ” กลับมาทุกครั้ง ส่วนที่ได้วิชาการนั้นคงจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่ “ได้น้ำได้เนื้อ” มากคงจะเป็นไขมันมากกว่า การประชุมวิชาการต้นเดือนธันวาคมนี่ศูนย์ถันยรักษ์เจ้าภาพเลี้ยงดี ได้น้ำได้เนื้อกลับมามากทีเดียว

เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้วก็ลดปริมาณอาหารไขมันลง วิ่งออกกำลังมากขึ้น รดน้ำต้นไม้มากขึ้น(นำน้ำใส่ถังไปรด เพื่อยกน้ำหนัก) ยกน้ำหนัก และกายบริหารหลายๆ ท่า ครบ 1 เดือนลองไปวัดใหม่ เครื่องชั่งรายงานว่า สุขภาพดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีมวลกล้ามเนื้อน้อย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่มีสุขภาพแบบขึ้นๆ ลงๆ

 

ผู้เขียนเองได้ข้อคิดไว้สอนตัวเองว่า การเดินนี้ดีแน่ ทว่า...อาจจะใช้พลังงานน้อยไปหน่อย และรักษามวลกล้ามเนื้อได้น้อยกว่าการออกกำลังกายหลายอย่างผสมผสานกัน

ปีใหม่นี้ (2549) ท่านผู้อ่านให้ของขวัญอะไรกับสุขภาพหรือยังครับ เว็บไซต์อินเทลลิเฮลธ์ (www.intellihealth.com) สำรวจความคิดเห็นของขวัญเพื่อสุขภาพปีใหม่ทางอินเทอร์เน็ต

 

ผู้เขียนร่วมลงคะแนนเสียงไปด้วย 1 เสียง โดยเลือกข้อออกกำลังกายมากขึ้น เพราะเห็นคุณค่าของเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ผลปรากฏออกมาดังนี้

  • ออกกำลังกายมากขึ้น 24 %
  • ลดน้ำหนัก 41 %
  • บริหารจัดการความเครียด เช่น ฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ ฝึกหัดเกร็งและคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน ฯลฯ 7 %
  • กินอาหารที่ดีกับสุขภาพเพิ่มขึ้น(เปลี่ยนชนิดของอาหาร ไม่ใช่กินมากขึ้น) 15 %
  • นอนมากขึ้น 6 %
  • อื่นๆ 6 %

 

ท่านผู้อ่านให้ของขวัญปีใหม่กับสุขภาพแล้วยังครับ ถ้าให้แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย ถ้ายังไม่ได้ให้... ลองพิจารณาปรับเปลี่ยนอาหาร หรือออกกำลังกายดูก็น่าจะดี สุขภาพจะได้ดี ไม่ขึ้นๆ ลงๆ แบบสุขภาพผู้เขียน...

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > Poll results: What is your No.1 health-related New Year’s resolution? > http://www.intelihealth.com/cgi-bin/makelog.pl?pqsname=NewPoll010506&mode=R > January 11, 2006.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙. สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙.
หมายเลขบันทึก: 11893เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นี่ถ้าสุขภาพของอาจารย์  เครื่องวัดอันชาญฉลาดยังบอกว่าไม่ได้มาตรฐาน แล้วของดิฉันเอง จะเป็นอย่างไรหนอ?  ไม่อยากนึกเลย  ต้องให้ของขวัญปีใหม่กับตัวเองแบบหนักๆ ซักที ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่เตือน

พออายุมากขึ้น แม้จะรับประทานน้อยลง แต่น้ำหนักก็ไม่ยอมลดง่ายๆ  เป็นเพราะอะไรค่ะ  แล้วการออกกำลังกายจะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ไหมค่ะ  

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

(1). เมื่ออายุมากขึ้น... การใช้แรงในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มจะลดลง การออกกำลังกายมีแนวโน้มจะลดลง และผลจากอายะจะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง มวลไขมันเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่มีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าไขมันมาก มวลกล้ามเนื้อที่ลดลงมีส่วนทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลง ผลรวมทั้งหมดทำให้น้ำหนักตัวมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น วิธีที่จะควบคุมน้ำหนักจึงควรควบคุมอาหาร และออกกำลังกายควบคู่กันไป การคุมอาหารอย่างเดียวมีแนวโน้มจะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานลดลง และเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักเพิ่มในระยะยาว (2). เครื่องวัดอาจจะใช้เกณฑ์ที่สูงเกินไป ทำให้เราดูแย่ไปก็ได้ เช่น ใช้มาตรฐานของนักกีฬา ฯลฯ คนสุขภาพดีหลายคนมีมวลกล้ามเนื้อไม่มาก เช่น นักวิ่งทางไกล ฯลฯ พวกนี้มักจะผอม มีเนื้อน้อย แต่มีสมรรถนะสูง ผมเคยปลอบใจตัวเองที่มีเนื้อน้อยว่า เราเป็นคน...ไม่ใช่โค(พันธุ์เนื้อ) ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อมากก็ได้... เราออกกำลังเพื่อรักษาสุขภาพ เท่านี้ก็น่าจะดีพอแล้ว // ขอขอบคุณครับ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

ขอแก้คำผิดครับ... ข้อ (1). ...ผลจากอายุ(ไม่ใช่ "อายะ")จะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท