ค่าย มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน (๕) : ค่ายไม่เสร็จ ! แต่ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ..


เป็นห้วงแห่งการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม

งานค่าย มมส  ร่วมใจห่วงใยชุมชน  ระหว่างวันที่  4 – 5  สิงหาคมที่ชุมชนแกดำ  อ.แกดำ  จ.มหาสารคาม  ซึ่งผมเรียกเองว่า ค่ายเฉพาะกิจ  หรือ ค่ายแดกด่วน  นั้น  ถือเป็นบทพิสูจน์อันสำคัญของคนค่ายที่มีจิตสำนึกสาธารณะที่พร้อมเสมอสำหรับการเป็น ผู้ให้ (Giving) 

นิสิตชายทุกคนนอนพักค้างคืนที่ศาลาวัด  ส่วนนิสิตหญิงอาศัยนอนค้างกับชาวบ้าน 

วันเวลา  1  คืนกับ 2  วันดูน้อยนิดเหลือเกินกับกิจกรรมที่เรียกติดปากกันว่า ค่าย   แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดก็จะพบว่า   งานที่คนค่ายได้ลงแรงกายและแรงใจไปนั้นก็ดูจะมากโขเอาการอยู่ไม่น้อย  และถึงแม้กองทัพจะเดินด้วยท้อง  แต่ทุกคนก็ไม่ถือเอาเรื่องดังกล่าวใหญ่โตไปกว่างานที่กำลังขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเร่งด่วน    

การนำพาหลาย ๆ  องค์กรมาทำงานร่วมกันดูจะเป็นเรื่องท้าทายต่อการงานในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง  หากแต่ละองค์กรไม่ปล่อยวางวัฒนธรรมตัวตนของตนเอง   ก็ดูจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอยู่มาก 

นั่นคือความท้าทายที่ผมเฝ้ามองอยู่อย่างเงียบ ๆ    

 

  

(และนี่คือ)  ความคาดหวังที่เกิดขึ้นก่อนการไปค่ายของคนค่ายในครั้งนั้น

 

1.        สร้างศาลาริมน้ำให้แล้วเสร็จ

 

2.        ฟื้นฟูแหล่งน้ำด้วยการรื้อถอนตักตบชวา

 

3.        เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในภาพของเครือข่ายองค์กรนิสิต

 

4.        เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน

 

5.        เสริมสร้างกระบวนการด้านจิตสำนึกสาธารณะของนิสิต

 

6.        ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และมีเวทีในการฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

 

7.        เสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีของมหาวิทยาลัยกับชุมชน

   

ผลการดำเนินงาน

  

1.        มุงหลังคาศาลาได้เสร็จสิ้น  คงเหลือแต่เฉพาะการเทพื้น ,  ที่นั่งในตัวศาลาศาลาและการปรับแต่งพื้นที่รอบศาลาริมน้ำ

 

2.        สามารถรื้อถอนผักตบชวาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

3.        นิสิตแต่ละองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีมเวิร์ค  โดยไม่ยึดติดวัฒนธรรมองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

 

4.        นิสิตเกิดองค์ความรู้ในภาพรวมด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตชุมชนเมือง

 

5.        นิสิตเกิดความรู้สึกรักและภาคภูมิใจต่อการได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคม

 

6.        นิสิตได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม

       7.        มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักของชุมชน   

 

  

ปัจจัยที่ทำให้งานยังไม่บรรลุเป้าหมายอันเป็นความคาดหวัง

  

1.        ระยะเวลาเพียง 1 คืนกับ 2 วันไม่เพียงพอต่อการทำงานให้แล้วเสร็จ

 

2.        ก่อนการออกค่ายมีฝนตกต่อเนื่อง  จนไม่สามารถเตรียมงานล่วงหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

3.        ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังติดภารกิจด้านการประกอบอาชีพ (ทำนา)  จึงไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่  ยังผลให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านตามที่ตั้งเป้าไว้  รวมถึงไม่สามารถสร้างเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่วางไว้

 

4.        ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงไม่แสดงจุดยืนของการเป็นส่วนร่วมกับงานค่าย

    

ปัจจัยที่ทำให้งานบรรลุเป้าหมายอันเป็นความคาดหวัง

  

1.        นิสิตแต่ละองค์กรมีจิตสำนึกสาธารณะของการทำงานอาสาสมัคร (Volunteering)  โดยไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมองค์กรของตนเองเป็นที่ตั้ง

 

2.        นิสิตมีมนุษยสัมพันธ์  หรือทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Human skill)   ในหลักแห่งการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต หรือนิสิตกับชุมชน

 

3.        นิสิตมีทักษะของการวางแผนปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ  มีการแบ่งงานออกเป็นสัดส่วน  แจกแจงงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล หรือองค์กร ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและไม่ติดขัด

 

4.        นิสิตมีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ  (Responsibility)   และมีทักษะการทำงานในระบบทีมเวิร์ค

 

5.        นิสิตมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน  มองโลกในแง่ดีจนก่อให้เกิดความสุขแห่งชีวิต  (Happiness  Life)  ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีในการช่วยให้ทำงานได้อย่างมีความสุข (Enjoy  orking)  รวมถึงการรู้สึกรักในชื่อเสียง  (Feme)  และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย  จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังแห่งการทำงาน

 

6.        นิสิตมีทักษะในการสังเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการทำงาน รวมถึงมีกระบวนการถอดบทเรียนประจำวันอย่างมีระบบ  จนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานในแต่ละวัน

 

7.        การสร้างความพร้อมหรือการปฐมนิเทศที่ชัดเจนก่อนการปฏิบัติงานแก่นิสิต  รวมถึงการ เปิดใจ  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันทั้งในฐานะนิสิตและมหาวิทยาลัย

   

 

ค่ายครั้งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ  ซึ่งหมายถึงว่า เรา  จะยังคงลงพื้นที่ ต่อยอด  กันอีกครั้งในเร็ววันนี้  และเป็นการไปต่อยอดให้งานได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์  หากแต่การไปค่ายครั้งหน้าอาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมให้เกิดความหลากหลายมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้นิสิตชาวค่ายได้ทำงานอย่างถ้วนทั่ว   

 

และผมเองก็เชื่อว่า ,  ครั้งต่อไปอาจจะมีองค์กรอื่นกระโจนมาเป็นคนค่ายร่วมกับเราเพิ่มขึ้นก็เป็นได้  เพราะเท่าที่ประเมินสถานการณ์ตอนนี้   ข่าวคราวการทำงานได้แพร่หลายไปสู่คนค่ายต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ  อย่างน่าภาคภูมิใจ     

การใช้เวลาในวันหยุดอันน้อยนิดก้าวเดินออกจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งพกพาความเป็นมหาวิทยาลัยลงสู่ชุมชนเช่นนี้  ถือได้ว่า  เป็นห้วงแห่งการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างน่ายกย่องและควรค่าต่อการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง     

 

ผมเชื่อเหลือเกินว่านิสิตอันเป็นคนค่ายของผมจะรู้สึกว่าวันเวลาในค่ายสั้น ๆ นั้น  คือ  ห้วงเวลาเวลาแห่งความสวยงาม  (Divine  Timing)  ซึ่งหมายถึง  ค่ายครั้งนี้จะเป็นความทรงจำอันงดงามของพวกเขาอย่างไม่รู้จบ ! 

 

หมายเลขบันทึก: 118927เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • ห้วงเวลาแห่งความสุขย่อมผ่านไปเร็วเสมอ
  • แต่หากมีหัวใจแห่งผู้ให้ก็จะเป็นสุขสนุกเสมอครับ
  • เสนอแนะเอาผักตบมาทำหัตถกรรมต่อครับหรือเอาไปทำปุ๋ยท่าจะดี เข้าใจว่ามีเวลาน้อยงั้นคราวหน้านะครับ

สวัสดีค่ะ..น้องชาย...แผ่นดิน

  • ขอบคุณที่น้องเขียนบันทึกนี้  ทำให้ครูอ้อยนึกถึง  เมื่อครั้งที่เป็นนักศึกษาฝึกสอน  ถึงจะเป็นคนกรุงเทพฯ  แต่ครูอ้อยก็มีส่วนได้ปลูกสร้าง...สิ่งปลูกสร้างที่ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ที่โรงเรียนที่ครูอ้อยไปฝึกสอนค่ะ
  • พอครูอ้อยโตมาจนทุกวันนี้  ได้มีโอกาสไปโรงเรียนที่ไปฝึกสอนในฐานะที่เป็นครู...มีเค้าเดิมแค่  อาคารที่ครูอ้อยไปหาครูพี่เลี้ยง  แต่อาคารชั่วคราวที่ครูอ้อยต้องตระเบ็งเสียงแข่งขันกันสอน  เพื่อคะแนน เพื่อ ตัวอักษร...ก   สนุก  สุดโหด มัน ฮา  และก็ได้  ก...จริงๆค่ะ
  • ศาลาที่ได้ช่วยกันปลูกสร้าง  ครูอ้อยซักถามภารโรงที่เป็นคนรุ่นเก่า  พบว่า..ยังอยู่แต่รื้อและปลูกเป็นอิฐค่ะ  ไม้เดิม  ผุพังไปหมดแล้วค่ะ

ภูมิใจจริงๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ...กิจกรรมนี้ดีมาก  และจำจนทุกวันนี้จริงๆค่ะ

 

 

  • สวัสดีครับ  คุณออต
    P
  • งานค่ายครั้งนี้เป็นการเดินทางไปต่อยอดจากสิ่งที่ตกค้าง (อย่างบังเอิญ)
  • เวลา คือ ข้อจำกัดที่เราต้องฝ่าฟัน ..
  • เรื่องผักตบชวานั้น  ชาวบ้านนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพที่ชัดเจนแล้ว... มีโรงปุ๋ยอยู่ใกล้หนองน้ำ
  • สิ่งที่เราพยายามคิดและหาช่องทางเปิดเวทีอยู่ตอนนี้ก็คือ  การฟื้นฟูแหล่งน้ำ,  การดูแลสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการนำผักตบไปแปรรูปอย่างที่คุณออตให้ข้อเสนอแนะ
  • แต่สำคัญคือ  ตอนนี้เรากำลังประเมินความสนใจและความมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อการเป็น "เจ้าของชุมชน"  ของตัวเอง
  • แน่นอนครับ, ค่ายยังไม่จบ
  • ผมเป็นคนชอบทำค่ายต่อเนื่องในสถานที่เดิม ๆ และนี่คือสิ่งที่กำลังขบคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง
  • ....
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แน่นอนเลยค่ะ นักศึกษาก็จะภูมิใจในผลงานของตนเอง แถมเมื่อจบไปแล้วก็อยู่ในสังคมได้
  • แต่มีเรื่องหนึ่งที่จะเล่า  เมื่อครั้งที่ป้าแดงไปออกค่ายอาสา ได้ยินชาวบ้านบ่นว่า"มาสร้างความลำบากให้อีกแล้ว ทำอะไรก็งั้นๆต้องลำบากชาวบ้านจ้างคนมาทำต่อ" หลังจากนั้น ป้าแดงเลยเลือก หมู่บ้านที่เค้าขาดจริงๆ และยินดีต้อนรับเราค่ะ

สมัยเรียนอยู่ในวัยรุ่น เคยไปออกค่ายกับเขาเหมือนกัน เป็นการปลูกสร้างศาลาเช่นกัน แต่เป็นของโรงเรียน มีความสุข และ ได้เรียนรู้ ชีวิต ที่มหาวิทยาลัย ไม่สามารถสอนได้ นับว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลย

เมื่ออยู่ร่วมกัน จะรู้สึกถึงความรัก ความห่วงใย ที่มีให้ต่อกัน ความมุ่งมั่น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สุข ทุกข์ ด้วยกัน เรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน

เพื่อนหลายคน ได้คู่เคียงก็มาจากงานออกค่ายนี้แหละ เป็นผลพลอยได้ ส่วนตนเอง อยู่ในโลกแห่งกาลเวลาอันเงียบเหงา ผู้เดียว

ขอบใจนะ ที่ทำให้นึกถึงวันเวลาเก่า ที่ล่วงผ่านมาตั้งหลายปีแล้ว อนุโมทนา ในความตั้งใจจริง ในการทำงานครั้งนี้ด้วย อย่างจริงใจ และ ให้ประสบผลสำเร็จดังที่ปรารถนา

สุข สงบ เย็น

  นอนคนเดียวเป็นยังไงบ้าง   มีคนถามถึง

  ว่าทำไมไม่มา   ก็บอกว่าไปราชการ

ลูกสนุกมาก  

สวัสดีค่ะ

บอกได้อย่างเดียวว่า ขอร่วมภูมิใจในนิสิตและอาจารย์ที่ออกไปบำเพ็ญประโยชน์ครั้งนี้

เป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่นิสิตอื่นๆ ต่อไปน่าจะมากว่า 30 คนนะคะ

สวัสดีครับ

  • ขอส่งแรงใจช่วยในครั้งต่อไปนะครับ
  • ประสบการณ์ที่ชาวค่ายได้รับมากล้นคณนา
  • และทำให้เราได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์
  • สวัสดีครับ  ครูอ้อย
    P
  • ดีใจมากครับที่บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำพาครุอ้อยคิดคำนึงถึงอดีตที่ผ่านมา
  • ทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน  ผมก็ไม่เคยลืมที่จะหันไปมองโรงเรียนที่ตนเองเรียนประจำหมู่บ้าน   หากแต่อาคารเก่า ๆ ไม่เหลือรูปรอยอันใดให้เห็นแล้ว
  • โรงเรียนที่ผมเรียนในวัยประถมตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัด  ... ซึ่งโตขึ้นมาผมก็รู้สึกว่าการที่โรงเรียนกับวัดอยู่ใกล้กันนั้นเป็นสิ่งที่ดี
  • เสียดายในอดีต  ยังไม่มีการนำพาการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับวัดอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนในสมัยนี้..

ฮ่า ฮ่า

ผมแอบเห็นว่ามีคนเป็นห่วงอาจารย์อยู่ข้างบน หวานจังเลยครับ

จำได้ว่าสมัยผมจบใหม่ๆ เป็นช่วงเปลี่ยนแนวคิดการทำงานค่ายในคณะพอดีครับ คือไม่เน้นงานสร้างแล้ว จะไปทำกิจกรรม รณรงค์อะไรต่างๆ แทน บางทีก็สี่ห้าวัน ผมจำไม่ได้ชัดเจนนัก และไม่รู้ว่ามีการประเมินผลกันอย่างไร ผมอ่านบันทึกคุณแผ่นดินแล้วชอบตรงที่มีการกลับมาทบทวนตัวเอง และคนรอบข้าง ตรงนี้สำคัญกว่าประเด็นว่าสร้างไม่สร้างที่ผมเคยอึดอัดใจ

ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าค่ายจะสร้างอะไรหรือไม่ เพราะผมเชื่อเสมอว่าเราไปแค่ไม่กี่วัน ไม่สามารถจะเปลี่ยนอะไรเขาได้ (เอ๊ะ ผมเคยบ่นเรื่องนี้ให้คุณแผ่นดินฟังยังครับเนี่ย?) เราไปเพื่อเรียนรู้ ได้เห็นความแตกต่าง โดยไม่ตัดสินว่าดีกว่าแย่กว่า รู้คุณค่าของธรรมชาติ และทำร้ายสังคมให้น้อยลง  ผมว่าถ้าน้องๆ กลับมาแล้วใช้ถุงพลาสติกน้อยลง ใช้น้ำอย่างรู้ค่า แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ

สวัสดีครับ  ป้าแดง ..

P

ดังที่ทราบคืองานค่ายครั้งนี้เป็นค่ายเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น  แต่การสานต่อของค่ายในบริบทที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นความจำเป็นอย่างมหาศาลที่ต้องจัดการกับเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ

การสำรวจค่ายเพื่อค้นหาความพร้อมและความต้องการของชุมชนถือเป็นปัจจัยอันสำคัญอย่างยิ่งในการทำค่าย  , 

ผมเองก็ให้ความสำคัญต่อการกระบวนการเช่นนี้มาก  และค่ายนี้ก็ได้สอนบทเรียนกับนิสิตอย่างดียิ่ง  เสียดายที่ผมไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าเกิดขึ้นและดำเนินไปเช่นใดบ้าง  มิเช่นนั้นปัยหาต่าง ๆ ก็คงไม่ล่วงเลยมาจนบัดนี้เป็นแน่ครับ -

แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นมาด้วยดี   คงเหลือแต่การจัดการให้แล้วเสร็จ  และหวังเพียงแต่ให้ชาวบ้านรักและหวงแหนสิ่งที่สร้างขึ้นก็ถือว่าดีใจเป็นนักหนาแล้วครับ, ป้าแดง

 

P

ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม  ผมยังเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า "ค่าย"  คือกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับนิสิตนักศึกษา

และค่ายก็เป็นเสมือนโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ซึ่งอาณาเขต ...และเป็นบ่อเกิดแห่งมิตรภาพอันงดงามของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้วงชะตากรรมเดียวกันในค่าย

....

ผมมีความสุขเสมอที่เขียนเรื่องค่ายแล้วช่วยให้หลายท่านมีความสุขกับการได้หวนคิดไปถึงความทรงจำในเรื่องค่ายของตนเอง...

ขอบพระคุณครับ -

 

สวัสดีครับ  คุณแดนไท

P

ทุก ๆ วันเป็นเช่นทุกวัน .. ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ซึ่งหมายถึง  "เหมือนเคย" ...

และชีวิตก็ยังมีการงานแห่งชีวิตอยู่อย่างไม่รู้จบ

สวัสดีครับ  พี่ศศินันท์

P
ขอบพระคุณนะครับที่ให้กำลังต่อผมและนิสิตทุกคนมาตลอดเวลา   ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้ลงมือทำไปนั้น  ไม่สูญเปล่าไปเลยแม้แต่น้อย  เพราะอย่างน้อยในโลก G2K  ก็ชื่นชมและให้กำลังใจต่อพวกเราอยู่อย่างต่อเนื่อง

สวัสดีครับ  อ.บัว

P

ผมเข้าใจและตระหนักดีว่า   การงานในแต่ละครั้งนั้นย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเป็นธรรมดา  การออกค่ายก็ยิ่งพานพบกับอุปสรรคนานาประการ  เพราะเป็นการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่นิสิตด้วยกัน  สำคัญที่ว่า  นิสิตได้เรียนรู้อะไรบ้างจาการงานดังกล่าว

บางครั้งนิสิตก็ไปเรียนรู้ในหมู่บ้านร่วมกับชาวบ้าน   บางครั้งก็ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันกับชาวบ้านเลยก็มี

...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ 

P

ช่วงนี้เป็นไงบ้างครับ.. ผมไม่ใคร่ได้มีเวลาไปทักทายใครนัก  ตอนนี้เลยทำเวลาจัดการตอบบันทึกที่ตกค้างอย่างมากมาย   เดี๋ยวคงได้ตะลอนทัวร์ไปทักทายแต่ละท่าน...

กรณีสาวเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจนั้น....  อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นรูปถ่ายปัจจุบันนะครับ   ผมเข้าใจว่าเธอถ่ายภาพนี้ไว้นาน และนานมากแล้ว....

เศร้าใจจัง ! ..... อิ อิ อิ

สวัสดีครับ  คุณแว้บ

P

จำได้ว่าหลายครั้งที่เขียนเรื่องค่ายก็มักจะมีคุณแว้บ ..แว้บเข้ามาแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม

ผมยังยืนยันว่าค่ายสร้างยังมีความจำเป็นต่อชุมชน  แต่ต้องหมายถึง "จำเป็นจริง ๆ"  ซึ่งหมายถึงชาวบ้านเดือดร้อนและไม่มีที่ทางวี่แววว่าจะได้รับการดูแลในเรื่องการสร้างฯ  แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว  กระบวนการดูแลต่อยอดคือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน  มิใช่ใช้ประโยชน์อย่างปราศจาการดูแล  หรือไม่ก็ละเลย  ราวกับเป็นความต้องการชั่ววูบเท่านั้นเอง

ในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ  ตอนนี้ผมเริ่มมีกลุ่มก้อนองค์กรนิสิตที่ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมบ้างแล้ว  คาดว่าปีนี้น่าจะรุกคืบในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

งานค่ายอาจจะต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการไปจัดกิจกรรมทีละหลาย ๆ วัน  แล้วหันมาจัดกิจกรรมในวันหยุดสั้น ๆ  ที่มุ่งไปสู่การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ  ซึ่งหมายถึงการทำค่ายกับคนให้มากขึ้น  แต่เป็นการทำเรื่องที่เขาสนใจ  หรือแม้แต่ที่เขายังไม่ตระหนักเพราะคาดไม่ถึง อันเป็นการกระตุ้นเตือน หรือสะกิดเตือนให้รับรู้และตระหนักในเรื่องเหล่านั้น ...

....

น่าสนใจมากครับ... คิดว่าจะต้องหาเวลาเปิดเวทีเสวนาค่ายผ่านบล็อกกันสักหน

หัวข้อนี้ไหวไหมครับ "ค่าย :  เราจะเดินไปในทิศทางใด"

...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท