ครูสุจิรา
นาง สุจิรา ครูนาฏศิลป์ ขวัญเมือง

Child Center


Child Center


Child Center
มีคำกล่าวกันว่า การปฏิรูปการศึกษาจะพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ดี มีสุข มีการออกแบบ จัดทำแนวการจัดการเรียนการสอนกันหลากหลายรูปแบบและวิธีการ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด หรือ นักเรียน/ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ภาษาอังกฤษก็ใช้กันว่า Child Center ก็มีนักเรียนจากโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งชื่อให้ใหม่ที่กินใจผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษา และนักวิชาการทั้งหลายว่า Kwai Center จนฮือฮามาพักหนึ่ง
          นั่นแสดงว่า วิธีการนี้ล้มเหลวหรือเปล่า? ถ้าไม่ ควรจะแก้ไขอย่างไร จึงจะได้
ผลตามที่คาดหวังไว้ ครูเราหลายคนก็เริ่มมึนกับทฤษฎีมากมายเหล่านี้ ความจริงก็เรื่องเดิมๆ นั่นแหละ มาพูดใหม่ไม่ให้ซ้ำรอยเก่า (กลัวเขาจะว่า เรามันนักวิชาการไม่มีกึ๋น ก็เลยบัญญัติศัพท์ใหม่ไปเรื่อยๆ คนที่มึนหนักก็คือ พวกเราครูน้อยด้อยดีกรีนี่แหละ)
            พอดีวันนี้ไปนั่งรื้อค้นจัดเอกสารในห้องทำงานใหม่ (คือผมมันพวก 6 ส. ครับ เริ่มด้วยการสะสม จนไม่มีเวลาจะสะสางครับ) ก็เลยเจอแฟ้มเอกสารแฟ้มหนึ่งด้านในของแฟ้มมีสาระความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าพอดี ก่อนจะเก็บทิ้งลงถังก็เลยขอนำมาขยายความต่อในเว็บนี้ เผื่อใครที่ยังไม่ได้อ่าน ไม่เข้าใจ จะได้นำมาคิดทบทวนอีกสักครั้ง (ต้องขอขอบคุณ ท่านผู้เป็นเจ้าของเนื้อหานี้นะครับ ผมพยายามหาแล้วไม่เจอว่าใครเขียน)
การจัดการเรียนการสอนที่ถือว่า "ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด"
            ครูเป็น ผู้ชี้ช่องทาง (guide) และเป็น ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้นักเรียนรู้จักแสวงหา ความรู้ (ความจริง หลักทฤษฎี ข้อมูลสารสนเทศ) ความสามารถ (ทักษะกระบวนการ) และ ความสำนึก (มีคุณธรรม รู้จักปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิต) ได้ด้วยตนเอง โดยยึดหลักดังนี้
1. หว่านล้อมสนับสนุนให้นักเรียนเห็นความสำคัญ หรือเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้
2. เสนอแนะกิจกรรมการศึกษาค้นคว้า/การทำงานที่สอดคล้องกับบทเรียน/หลักสูตร
3. ชี้แนะแหล่งวิทยาการ (สถานที่/วิทยากร) พร้อมทั้งแผน (กุศโลบาย/กลวิธี) ในการศึกษาค้นคว้า/การทำงานอย่างหลากหลาย ให้นักเรียนเลือก (ตามความถนัด ความสามารถ หรือศักยภาพของแต่ละบุคคล)
 ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน
            การชี้ช่องทาง หรือการอำนวยความสะดวกควรใช้วิธีต่อไปนี้ หลายๆ วิธีประกอบกันเป็นขั้นตอน เท่าที่สามารถทำได้ (ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกข้อเสมอไป) ตามความเหมาะสมของเวลาและลักษณะ/ความพร้อมของนักเรียน
1. ครูนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการกระตุ้นหรือให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงเข้ากับความรู้เดิม
2. ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดหัวข้อ/แยกแยะหัวเรื่องที่จะเรียน เช่น กำหนดว่าเรื่องใดที่ครูต้องอธิบาย (เนื่องจากเป็นเรื่องซับซ้อน ยากที่นักเรียนจะทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง หรือต้องใช้เวลานาน เช่น บทนิยาม กฎ สูตร หรือทฤษฎีต่างๆ) เรื่องใดที่นักเรียนสามารถค้นคว้าได้ด้วยตนเอง เรื่องใดเป็นการทำงานรายบุคคล เรื่องใดเป็นการทำงานกลุ่ม
3. นักเรียนจัดแบ่งงาน (ทุกคนมีงานของตนที่จะต้องทำ)
4. นักเรียนวางแผนการทำงานของตนด้วยตนเอง
5. นักเรียนตรวจสอบทบทวนความคิดของตนเอง และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
6. นักเรียนรายงานต่อเพื่อนในชั้น (เพื่อนๆ อภิปรายและประเมินผล)
7. ครูสรุปการทำงานของนักเรียน โดยอาจแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง และแสดงความชื่นชมว่านักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้มาได้ด้วยตนเอง
            หมายเหตุ ครูควรเน้นในเรื่องทักษะกระบวนการ (process skills) การร่วมมือ (cooperation) และการมีวินัย (self-discipline)
 ความรู้ที่นักเรียนได้จากการเรียนการสอน
            ความรู้ (knowledge) หมายถึง สิ่งที่สมองบันทึกไว้โดยพัฒนาจากประสบการณ์ทั้งมวลที่ได้รับ (ฟัง ดู อ่าน สัมผัส หรือรับรู้ด้วยวิธีอื่นๆ)
            เนื้อหา (content) ของความรู้ที่นักเรียนได้รับจากการเรียนการสอน มีที่มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ (1) เนื้อหาที่จัดให้ กับ (2) เนื้อหาจากการค้นคว้าด้วยตนเอง
1. เนื้อหาที่จัดให้ (supplied content) เป็นเนื้อหาเบื้องต้นที่จำเป็นต้องจัดให้เป็นพื้นฐาน เช่น การอ่านเขียน การคิดเลข จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เนื้อหาพื้นฐาน (basic content) เพื่อบอกแนวทางหรือกำหนดกรอบของแนวคิด แนววิธีศึกษา ซึ่งถ้าปราศจากเนื้อหาพื้นฐานนี้ อาจทำให้นักเรียนเคว้งคว้างไม่รู้ทิศทางว่าจะเดินไปทางไหน แม้ในที่สุดจะค้นพบได้ก็ต้องใช้เวลานาน หรืออาจไม่พบเลย เนื้อหาเช่นนี้เป็นเสมือนฐานสำหรับเหยียบยืนเพื่อที่จะสามารถค้นหารายละเอียดหรือความรู้ใหม่เพิ่มเติมเสริมต่อขึ้นไป
          เนื้อหาพื้นฐานเป็นสิ่งที่จัดเสนอไว้ในบทเรียน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เนื้อหาจากบทเรียน (lesson content)
2. เนื้อหาจากการค้นหาด้วยตนเอง (acquired content) อาจเป็นเนื้อหาซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว แต่ไม่ได้แสดงไว้ในบทเรียน หรืออาจเป็นเนื้อหาที่ยังไม่เคยปรากฏ หรือยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน
          เนื้อหาที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้แสดงไว้ในบทเรียนมักเป็นรายละเอียด เนื่องจากบางเรื่องมีรายละเอียดมาก ไม่สามารถนำมาแสดงไว้ในบทเรียนได้ทั้งหมด หรือบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องแสดงไว้เพราะผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาได้ด้วยตนเอง เช่น บทเรียนในประวัติศาสตร์ อาจกล่าวถึงวีรกรรมชาวบ้านบางระจัน โดยไม่บอกรายละเอียด แต่ผู้เรียนก็สามารถค้นหารายละเอียดได้จากห้องสมุดหรือแหล่งวิทยาการต่างๆ เพิ่มเติมได้ตามระดับที่ตนพอใจ
          เนื้อหาที่ได้มาด้วยตนเอง อาจได้จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นๆ โดยตรง (เช่น การค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับวีรกรรมชาวบ้านบางระจัน) หรืออาจได้มาโดยทางอ้อมจากการทำกิจกรรม การทำงานต่างๆ ที่เรียกว่า งานภารกิจ (performance task) ซึ่งจะช่วยสร้าง องค์ความรู้ (body of knowledge)
          การทำงานภารกิจหรือการทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง นักเรียนอาจได้รับทั้งความรู้ ความสามารถ และความสำนึกไปพร้อมๆ กัน
สื่อการเรียนการสอนตามหลักการ "ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด"
            การเรียนการสอนที่ยึดหลักผู้เรียนสำคัญที่สุด ยังคงต้องมีสื่อการศึกษาเพื่อเอื้ออำนวยแก่การศึกษา การค้นคว้าการทำงาน และการปฏิบัติตน ประกอบด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุอุปกรณ์อื่น
            สื่อที่จัดหาได้ง่ายและยังคงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งอาจแยกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ หนังสืออ้างอิง แบบเรียน และแบบฝึกหัด
            การเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จำเป็นต้องใช้สื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 แบบนี้ แบบไหนจะใช้มากใช้น้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับธรรมชาติของวิชา และวิธีจัดการเรียนการสอน
            หนังสืออ้างอิง (reference book) เช่น พจนานุกรม สารานุกรม ใช้สำหรับค้นคว้าหาความหมายของคำศัพท์ บทนิยาม และมักหมายรวมถึงตำรา (text) ในสาขาวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราฟิสิกส์ เคมี หรือตำราไวยากรณ์ เป็นต้น หนังสือประเภทนี้มีความจำเป็นแก่การเรียนการสอนในทุกระดับ
            แบบเรียน (coursebook หรือ textbook) ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนการสอน แม้จะเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง แบบเรียนไม่สามารถบรรจุความรู้ไว้ได้ทั้งหมด แต่แบบเรียนเป็นกรอบสำหรับชี้แนวทางการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งวิทยาการ หนังสืออ้างอิง หรือตำราในสาขาวิชานั้นๆ ได้ตามที่ผู้เรียนต้องการ
            แบบฝึกหัด (workbook หรือ excercise book หรือ practice book) ยังคงมีความจำเป็นในแทบทุกวิชา โดยเฉพาะกลุ่มวิชาทักษะ เช่น คณิตศาสตร์และภาษา
            แบบเรียน แบบฝึกหัดที่ใช้กับการเรียนการสอนที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด จะต้องเป็นแบบเรียนแบบฝึกหัดที่ออกแบบโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิม ผู้สอนจึงต้องเลือกด้วยความระมัดระวัง และรู้เท่าทันเหตุการณ์
            กิจกรรมเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนได้แสวงหา หรือฝึกฝน มีจุดมุ่งหมายใหญ่ๆ แยกได้เป้น 3 ข้อ ได้แก่
1. คิดเป็น ทักษะการคิด (Thinking Skills)
ฝึกทักษะการคิดเบื้องต้น และการคิดอย่างเป็นกระบวนการ อาจแยกเป็นสองส่วน ได้แก่
 การซักถาม (quiz) ฝึกให้คิดเร็ว รู้จักรื้อฟื้นความจำ และแยกแยะเป็นคำตอบ
 การอภิปราย (discussion) ฝึกให้คิดอย่างมีเหตุผล พูดอย่างมีวิจารณญาณ
2. แก้ปัญหาเป็น การแก้ปัญหา (Problem Solving)
ฝึกแก้ปัญหาตามลำดับขั้นตอน ต่อเนื่องจากการฝึกให้คิดเป็น อาจแยกเป็น 2 วิธี ได้แก่
 แก้โดยการบรรยาย (description) คือ ไม่ต้องลงมือทำจริง เพียงแต่บอกว่าจะทำอย่างไร
 แก้โดยการแสดงบทบาท (simulation/role-play) คือ ลงมือทำจริง (แต่อาจเป็นเพียงการทำท่าทาง) ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติจากประสบการณ์ (เช่น ท่าผายปอด) หรืออาจเป็นการสวมบทบาท เพื่อเรียนรู้ว่าควรจะแก้ปัญหาหรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะแก่บทบาท (เช่น สวมบทบาทพ่อแม่อบรมลูกที่วิวาทแย่งของเล่นกัน)
3. ทำเป็น การศึกษาค้นคว้าปฏิบัติจริง (Authentic Performance Tasks)
ฝึกให้รู้วิธีการแสวงหาความรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้าและทำงานด้วยตนเอง อาจแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
 รายงาน (report) ให้ศึกษาค้นคว้าแล้วเขียนรายงาน (เลือกหัวข้อที่กำหนดให้ หรือกำหนดเอง)
        ให้เผชิญสถานการณ์ แล้วเขียนรายงาน (โดยผู้สอนกำหนดกิจกรรม หรือสถานการณ์)
 ใบงาน (worksheet) ให้ทำงานที่ไม่ซับซ้อนและมีผลงานเป็นชิ้นงาน
 โครงงาน (project work) ให้ทำงานที่ซับซ้อน ต้องทำเป็นขั้นตอนอย่างมีระบบ อาจมีผลงานเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ผลงานที่เป็นรูปธรรมอาจเป็นชิ้นงานโดยตรง เช่น ผลงานของการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลงานที่เป็นนามธรรม ส่งวนใหญ่เป็นผลของงานจัดการ หรือการฝึกฝน เช่น การจัดจำหน่ายสินค้า (ซื้อมาขายไป) การจัดนิทรรศการ การเจรจา การฝึกขับร้อง ฝึกเล่นเครื่องดนตรี
            คงจะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียน เก่ง ดี มีสุข บ้างนะครับ ถ้าท่านนำไปเปรียบเทียบกับวิธีการสอนของท่านในขณะนี้ก็พอจะมองออกว่า วิธีการของท่านใครเป็นศูนย์กลาง ผู้สอน ผู้เรียน หรือควาย (เอ๊ะ มาเกี่ยวได้ไงเนี่ย!!!!)
พินิจ วิเคราะห์ ตรึกตรอง ก่อนนำไปปฏิบัติ ย่อมจะนำมาสู่ความสำเร็จได้โดยง่ายครับ

หมายเลขบันทึก: 118905เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คืออยากทราบว่ามีสถานที่ไหนที่เปิดสอนชายเซ็นเตอร์ในประเทศไทยบ้างไหมค่ะหรือว่ามีแค่ต่างประเทศค่ะถ้าใครทราบรบกวนช่วยตอบกลับหน่อยน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท