ครูสุจิรา
นาง สุจิรา ครูนาฏศิลป์ ขวัญเมือง

แนวคิดเกี่ยวกับการวัดผลประเมินผล


การวัดผล

แนวคิดทั่วไปของการประเมินAssessment และ Evaluation
 
 การวัดและการประเมินผล นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งผลของการวัดและประเมินผลจะทำให้ทราบว่า ครูได้จัดกิจกรรม
การเรียนการสอนได้บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังไว้ดังกล่าวได้กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตรจากจุดหมายของหลักสูตรจะถูกแยก
ย่อยเป็นจุดประสงค์รายวิชา / กลุ่มประสบการณ์และในแต่ละรายวิชา / กลุ่มประสบการณ์ ก็จะแยกเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละเนื้อหา ซึ่งจุดหมายและ
จุดประสงค์ดังกล่าวจะถูกจำแนกเป็นกลุ่มของพฤติกรรมโดยอิงทฤษฎีต่าง ๆ จากอดีตที่ผ่านมา*การกำหนดจุดหมายและจุดประสงค์ทางการศึกษานั้นได้ จำแนก
เป็นพฤติกรรมได้ 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆตามแนวคิดของบลูม (bloom )และคณะซึ่งได้แก่ พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย ด้านทักษะพิสัย
 เครื่องมือวัดผลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักใช้แบบทดสอบแบบเลือกตอบและพฤติกรรมที่วัดก็เป็นพฤติกรรมในแบบต้น ๆ ใน ด้านพุทธิพิสัย
คือความรู้ ความจำ และความเข้าใจ ส่วนความคิดชั้นสูงซับซ้อน กระบวนการ คุณลักษณะ และทักษะการปฏิบัติมักถูกละเลยในการวัดและประเมินผล ซึ่งอาจ
เนื่องมาจากข้อจำกัดเกียวกับความสามารถในการสร้างเครื่องมือ วัดผลของการทดสอบซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คะแนนที่นักเรียนได้เพิ่มขึ้น
มานั้นเป็นผลจากการเรียนการสอนหรือไม่ คะแนนเพิ่มขึ้น การเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่ การทดสอบแบบเดิมจะแยกไปจากการเรียนการสอน เป็นการวัดความรู้แบบคงที่
(inert knowledge )ของนักเรียนวัดความจำของนักเรียนในช่วงสั้น ๆ ของนักเรียนมากกว่าจะวัดสิ่งที่มี หรือปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น การทดสอบแบบ
เลือกตอบก็ยังมีส่วนชี้นำพฤติกรรมการสอนของครูอีกด้วย กล่าวคือ การสอนมักสอนให้เด็กรู้และจำในเนื้อหาที่สอนเป็นส่วนใหญ่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ฝึก
ให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ตัดสินใจด้วยตนเอง และการทำงานร่วมกันโดยกระบวนการกลุ่ม การเชื่อมโยงเนื้อหาให้สอดคล้องกับชีวิตจริง การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
 ซึ่งถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แม้กระทั่งการประเมินที่พึงประสงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในบริบทของการเรียน
 การสอนที่มีความหมาย และมีการสะท้อนภาพที่แท้จริง (authentic assessment )จึงเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบันมากขึ้นตาลำดับ
 การประเมินตามสะภาพที่แท้จริง เป็นกระบวนการในการลงข้อสรุปว่านักเรียนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในเรื่องต่าง ๆ มากน้อยเพียงใดน่าพอใจหรือไม
่โดยใช้ เรื่องราว เหตุการณ์ สภาพชีวิตจริง ที่นักเรียนประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเร้าให้นักเรียนได้ตอบสนองโดยการแสดงออก กระทำ ปฏิบัติ และ /
 หรือผลิต มากกว่าการจำลองสถานการณ์ โดยมีความเชื่อว่า หากใช้สภาพเหตุการณ์จริงเป็นสิ่งเร้าให้นักเรียนได้ตอบสนองนักเรียนก็จะตอบสนองโดยใช้ความรู้
ความสามารถ และทักษะที่แท้จริงออกมาให้เห็น โดยการให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ปฏิบัติ หรือผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถ ทักษะ
 และเจตคติ สอดคล้องกับสภาพที่คาดหวัง ซึ่งจะดีกว่าให้นักเรียนได้เลือกคำตอบจากแบบทดสอบเลือกคำตอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมักเน้นความรู้ความจำ และสิ่งเร้าที่นำมา
ใช้สร้างข้อคำถามก็มักเป็นสถานการณ์จำลองมากกว่าที่จะเป็น
เหตุการณ์ในชีวิตจริง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า การทดสอบแบบเลือกตอบจะต้องถูกยกเลิกไปจาก
ระบบของการวัดและประเมินผล ทั้งนี้เพราะว่า การทดสอบแบบเลือกตอบ ก็ยังมีความเหมาะสมกับการวัดพฤติกรรมในระดับต้น ๆ ของด้านพุทธิพิสัยอยู่
 
วัตถุประสงค์ของการวัดและการประเมินผลการศึกษา
 
 การวัดและการประเมินผลการศึกษา หรือการเรียนการสอนนั้นต้องเกี่ยวข้องทั้งครูและนักเรียน ถ้าจะถามว่า จะวัดและประเมินผลไปทำไม คำตอบที่เป็น
ไปได้น่าจะมีอย่างน้อย 6 ประการดังนี้
   เพื่อการจัดตำแหน่ง (placement)
   เพื่อการวินิจฉัย (diagnosis)
    เพื่อการเปรียบเทียบ (assessment)
    เพื่อการพยากรณ์ (prediction)
    เพื่อเป็นผลป้อนกลับ (feedback)
   เพื่อเป็นการเรียนรู้ (learning experience)


 1.เพื่อการจัดตำแหน่ง (placement ) กล่าวคือ เมื่อจะรับนักเรียนเข้ามาเรียน นักเรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านสติปัญญา
 ความสนใจ ความถนัด รวมทั้งบุคลิกภาพด้านต่าง ๆ ต้องมีการคัดเลือกว่าจะคัดนักเรียนประเภทใดไว้ ประเภทใดไม่รับ หรือเมื่อรับเข้ามาแล้ว แต่มีจำนวนมาก
 จำเป็นต้องแบ่งเป็นห้อง ๆ ก็อาจจะสอบประเมินผลและผลการประเมินเป็นเกณฑ์ในการแยกนักเรียนเป็นห้อง ๆ ตามความสามารถ หรือความถนัด ก็ได้ การจัด
สอบและประเมินผลแบบนี้ ก็เพื่อจัดประเภท หรือจัดตำแหน่งนักเรียนนั้นเอง คือจัดเป็นประเภทที่รับไว้ กับประเภทที่ไม่รับไว้ หรือเป็นประเภทห้องเก่ง ห้องรองเก่ง
 หรืออาจจะเป็นประเภทที่สอบได้ กับสอบตกก็ได้ เป็นต้นฉะนั้น การวัดและการประเมินผลในลักษณะนี้จึงถือว่าเป็นเครื่องมือในการจัดหรือแบ่ง ประเภทผู้เรียน
แต่ละคนว่ามีความสามารถอยู่ตรงระดับไหนของกลุ่ม เป็นประเภทเก่ง ไม่เก่ง หรือ ดี เลว ปานใด (ชวาล แพรัตกุล 2518 : 24 )
  2.เพื่อการวินิจฉัย (diagnosis ) ในการตรวจคนไข้ หมอจะวินิจฉัยว่า คนไข้เป็นโรคอะไร หรือมีสาเหตุอะไรทำให้ไม่สบาย เป็นการหา
สมมุติฐานของโรค จะได้วางยาได้ถูกต้อง ในทางการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เราใช้เทคนิควิธีทางการวัดและการประเมินผลเป็นเครื่องมือในการวินิฉัยดู ว่านักเรียน
คนไหนเก่งอะไร หรือเมื่อสอนไปแล้วในแต่ละวิชามีส่วนตรงไหนบ้างที่เข้าใจชัดเจน และถูกต้องแล้ว ตรงไหนบ้างที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจยังไม่ถูกต้อง
ครูในฐานะผู้สอนจะได้สอนและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
 
3.เพื่อการเปรียบเทียบ (assessment ) เมื่อเริ่มเรียน ครูอาจจะสอบวัดความรู้ความสามารถ ของนักเรียนไว้ก่อน หลังจากเรียนไปแล้วระยะ
หนึ่ง เช่น อาจจะประมานครึ่งหนึ่ง หรือเมื่อเรียนไปจนจบแล้วก็ได้ ครูก็จะสอบวัดประและเมินผลอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อจะดูว่า นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
 นั้นคือมีความเจริญก้าวหน้า หรือพัฒนาขึ้นจากเดิมหรือไม่เพียงใด โดยเปรียบเทียบผลสอบก่อนเรียน กับที่เรียนไปแล้วการวัดและประเมินผลลักษณะนี้จึงกระทำขึ้น
เพื่อการเปรียบเทียบ ความเจริญงอกงาม หรือพัฒนาการของการเรียนรู้
  4.เพื่อการพยากรณ์ (prediction ) เนื่องจากคนเราแตกต่างกันในหลาย ๆด้านดังนั้น นักแนะแนวทางการศึกษาจึงจะต้องพยายามค้นหา ว่านักเรียน
ในความรับผิดชอบของตน แต่ละคนมีความถนัด หรือว่าสนใจอะไรเป็นพิเศษ รวมทั้งมีความสามารถที่จะเรียนรู้ ได้มากน้อยเพียงใด ทำให้นักแนะแนวนำไปใช้ในการ
แนะนำนักเรียนของตนให้เลือกเรียนตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจนั้นได้ ทั้งนี้เพราะใครก็ตามถัาทำหรือเรียนในเรื่องที่ตนถนัดหรือสนใจแล้วจะเรียนรู้
ได้เร็ว และจะประสบผลสำเร็จในการเรียนได้ การวัดและประเมินผลในลักษณะนี้ จึงจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการพยากรณ์หรือทำนายว่า นักเรียนคนนั้นควรจะเรียนอะไรจึงจะ
สำเร็จ หรือเรียนอะไรจะไปไม่รอด
  5. เพื่อเป็นผลป้อนกลับ (feedback ) เมื่อการเรียนการสอนผ่านไปแต่ละบทเรียน หรือเมื่อจบการเรียนแล้วก็ตาม ครูผู้สอน จะมีการวัดและ
ประเมินผล เพื่อจะดูว่าเทคนิควิธีการสอน อุปกรณ์การสอน และเนื้อหาหรือกิจกรรม ที่จัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ส่วนใดบ้างที่ต้อง
ปรับปรุงแก้ไข ส่วนใดบ้างที่ดีอยู่แล้วการวัดและประเมินผลในลักษณ์นี้ จึงเป็นผลย้อนกลับ คือ นำผลที่ได้ประเมินไปใช้ใน การปรับปรุงการสอน สำหรับใช้ใน
การเรียนการสอนในครั้งต่อไป ผลย้อนกลับนี้ มีใช่จะมีเฉพาะทางด้านครูผู้สอนเท่านั้น หากยังมีผลย้อนกลับสำหรับนักเรียนอีกด้วย เพราะเมื่อสอบวัดและประเมินผล
ไปแล้วนักเรียนก็จะได้รับรายงานผลของตนเอง ทำให้รู้ว่าตนเองมีความรู้ระดับไหน และเรื่องใดบ้างที่รู้แล้ว เรื่องใดบ้างที่ยังไม่รู้ จะได้ทำความเข้าใจต่อไป
  6.เพื่อเป็นการเรียนรู้ (learning experience ) การสอบวัดและประเมินผลนอกจากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการเรียน
ได้อย่างดีอีกอย่างหนึ่งด้วย กล่าวคือ ก่อนสอบวัดนักเรียนจะมีการเตรียมตัวสอบ การเตรียมตัวสอบนั้น นักเรียนจะต้องศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด
ที่เรียนมา จึงเป็นการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ส่วนการสอบ ข้อสอบที่ใช้นั้นเป็นสภาพการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนตอบ การตอบนั้นต้องใช้ความคิด คิดแก้ปัญหา คิดคำนวณ
 และหาข้อสรุปคำตอบที่ได้ การคิดเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ฉะนั้น จะไม่แปลกเลยที่ เราพบอยู่เสมอว่านักเรียนที่สอบ บ่อย ๆ หรือขยันทำแบบฝึกหัด
 นั้นจะทำคะแนนได้ดีเสมอ
 
 
ลักษณะสำคัญบางประการของการวัดและการประเมินผลการศึกษา
 การวัดและการประเมินผลการ การศึกษา มีลักษณะสำคัญที่ต่างกับการวัดทางกายภาพโดยทั่วไปอย่างน้อย 6 ประการดังนี้
    วิธีวัดและประเมินผลจะกระทำโดยทางอ้อม (indirect observation)
     การวัดและประเมินการศึกษาแต่ละครั้ง ทำได้เพียงบางส่วน (sample)
     ค่าตัวเลขที่ได้จากการวัด (measuring) มีลักษณะในเชิงเปรียบเทียบ
     การวัดและการประเมินผลการศึกษาทุกครั้งจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ
     เครื่องมือวัดทางการศึกษายังมีมาตรวัดที่ไม่ละเอียดพอ
     มาตรหรือหน่วยคะแนนที่วัดมีขนาดไม่เท่ากัน
  
1.วิธีการวัดและประเมินผลจะกระทำโดยทางอ้อม (indirect observation )สิ่งที่ต้องวัดและประเมินผลทางการศึกษาทุกลักษณะ
ไม่สามารถจะวัดโดยตรงได้ ก่อนจะวัดและประเมินผล ต้องแปลงสิ่งที่ต้องการวัดให้อยู่ในรูปของพฤติกรรมที่วัดได้เสียก่อน และใช้ตัวกระตุ่น (stimuli )
อันได้แก่ข้อสอบ และแบบทดสอบต่าง ไปกระตุ่นให้แสดงพฤติกรรมนั้นออกมา แล้วจึงวัดพฤติกรรมนั้นๆ อีกที เช่น ต้องการจะวัดว่า เด็กชายโอฬารมีความรู้
เลขคณิตหรือไม่ จะรูได้ว่าเด็กชายโอฬารมีความรู้เลขคณิตหรือไม่จะต้องแปลงความรูเลขคณิตนั้นออกเป็นรูปพฤติกรรมที่วัดได้ก่อน อาจจะแปลงเป็นว่า
 สามารถบวกเลข 2 หลักได้ จากนั้นก็เขียนข้อสอบเป็นบวกเลข 2หลัก ให้เด็กชายโอฬารทำ ถ้าเด็กชายโอฬารทำถูกก็ต้องแสดงเด็กชายโอฬารมีความรู้เลขคณิต
แล้วเป็นต้น
2.การวัดและการประเมินผลการศึกษาแต่ละครั้ง ทำได้เพียงบางส่วน (sample ) ไม่สามรถจะวัดและประเมินผลพฤติกรรมและเนื้อหา
ที่จะวัดได้ทั้งหมด เช่น เมื่อจะวัดและประเมินผลว่าเด็กชายโอฬารสามารถแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้มากน้อยเพียงใด คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เด็กชายโอฬารเรียน
 อาจจะมีทั้งหมด 80 – 90 คำ แต่ในการสอบวัดจะให้เดิกชายโอฬารแปลคำศัพท์ทั้งหมดนี้จึงเป็นไปได้ยากยิ่ง ครูจึงต้องคัดเลือกเอาคำศัพท์บางส่วนมาใช้
สอบวัด ซึ่งอาจจะเลือกเอาเฉพาะคำที่ค้อนข้างยาก หรือเลือกกระจายคำศัพท์ ไปอย่างทั่วถึงก็ได้ นั้น คือ ข้อสอบหรือเครื่องมือวัดทางการศึกษาที่ใช้แต่ละชนิด
เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่ต้องการวัด ทั้งหมด (population )เท่านั้น ถ้าข้อสอบที่ใช้นั้นเป็นตัวแทนที่ดี (representative population ) การวัดและ
ประเมินผลก็จะได้ผลที่แท้จริง
  3.ค่าตัวเลขที่ได้จากการวัด (measuring ) มีลักษณะในเชิงเปรียบเทียบ ไม่มีความหมายในตัวเอง อย่างเช่น ในการสอบครั้งที่หนึ่ง
เด็กชายสุชาติสอบได้ 20 คะแนน คำว่า 20 คะแนน นี้ไม่มีความหมายอะไรเลย จะว่าเด็กชายสุชาติเก่งหรือไม่เก่งก็ไม่รู้ จะว่าสอบได้หรือสอบตกก็ไม่รู้ทั้งสิ้น
แต่ถ้าเรารู้เพิ่มเติมวิชาที่เด็กชายสุชาติสอบนั้นมีคะแนนเต็ม 20 คะแนนคำว่า 20 คะแนน ที่เด็กชายสุชาติสอบได้จะมีความหมายขึ้น คือหมายความว่าเด็กชาย
สุชาติเก่ง สอบได้คะแนนเต็มเลย เป็นต้น
  4.การวัดและการประเมินผล การศึกษาทุกครั้งจะมีความผิดพลาด เกิดขึ้นเสมอ ถ้าเรานำผลการสอบของ เด็กชาย สุชาติ มาพิจารณาอย่าง
ถี่ถ้วน การที่เด็กชายสุชาติสอบได้ 20 คะแนนเท่ากับคะแนนเต็มนั้น หมายความว่าเด็กชายสุชาติ มีความรู้จริง 20 คะแนนใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ อาจจะเป็นไปได้
หรือเป็นไปไม่ได้ก็ได้ ที่เด็กชายสุชาติ ได้ 20 คะแนน อาจจะเดาคำตอบไป 2 ข้อ แล้วเผอิญ ถูกก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะเด็กชายสุชาติรู้คำตอบมาก่อนก็ได้ หรือเผอิญ
อ่านหนังสือตรง เก็งข้อสอบถูกก็เป็นได้ นอกจากนั้นยังมีปัญหา เกี่ยวกับตัวข้อสอบที่ใช้สอบวัดอีกว่า เป็นเครื่องมือที่ดีหรือไม่ สามารถใช้วัดความรู้ได้ให้ความเชื่อถือ
ได้เพียงใด โดยปกติที่ใช้กันทั่วไปมักจะเป็นข้อสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง ยังไม่เป็นข้อสอบมาตรฐานความผิดพลาดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงสรุปได้ ค่าตัวเลขหรือคะแนน
ที่วัดได้ แต่ละตัวนั้นจะประกอบไปด้วยคะแนนจริง (true score ) กับคะแนนผิดพลาด (error score ) ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ดังนี้


    X  =  T  ±  E
  เมื่อ  X = คะแนนที่วัดได้ (observed score )
   T = คะแนนจริง ( true score )
   E = คะแนนผิดพลาด (error score)
 
5.เครื่องมือวัดทางการศึกษายังมีมาตรวัดที่ไม่ละเอียดพอ วัดได้เพียงหยาบ ๆ เท่านั้น เพราะเครื่องมือวัดโดยทั่วไป ก็คือข้อสอบนั้น ส่วนมาก
 จะเป็นชนิดที่ครูสร้างขึ้นมาใช้เอง ขาดการปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาให้มีคุณภาพดี จึงใช้วัดได้เพียงหยาบ ๆ คือเทียบได้กับตาชั่งขนาดใช้ชั่งช้างเท่านั้น
จะเป็นชนิดชั่งทองที่มีมาตราวัดละเอียด ๆไม่ได้ อย่างเช่น ถ้าเราเอาข้อสอบชุดหนึ่งไปสอบแล้วปรากฏว่ามี 2คนได้คะแนน 60 % กับ 62 % เราจะบอกได้ไหม
ว่าคนที่ได้ 62% มีความรู้มากกว่าคนที่ได้ 60 % เราอาจจะเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่า มีความรู้มากกว่าเป็นต้น
  6.มาตรหรือหน่วยวัดคะแนนที่วัดมีขนาดไม่เท่ากัน ไม่เหมือนการชั่งน้ำหนัก 10 ถึง 12 กับน้ำหนัก 20 ถึง 22 ต่างก็มีน้ำหนักต่างกัน 2 หน่วย
 น้ำหนักเท่ากัน แต่น้ำหนักหรือขนาดของคะแนน ที่วัดได้แต่ละช่วงไม่เท่ากัน เช่นคะแนน 20 ถึง25 ต่างกัน 5 คะแนน จะไม่เท่ากับคะแนนระหว่าง 40 ถึง 45
 ซึ่งต่างกัน 5 คะแนน เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนโดยทั่วไป ถ้าข้อสอบชุดนี้มีคะแนนเต็ม 50 คะแนน การที่จะทำคะแนน 20 จากคะแนนให้เป็น 25
 คะแนน นั้นใช้ความสามารถเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย ก็พอทำได้ แต่การที่จะทำคะแนนจาก 40 คะแนนเพิ่มเป็น 45 คะแนนนั้น ต้องเพิ่มความสามารถ มากกว่าเพิ่ม 20
เป็น 25 คะแนนมากที่เป็นเช่นนี้ เพราะขนาดคะแนนแต่ละคะแนน ไม่เท่ากัน คะแนนยิ่งมากขนาดคะแนนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเหมือนการขึ้นบันได ยิ่งขึ้นสูง
ก็ต้องใช้แรงมากมากฉันใดการวัดทางการศึกษาก็ฉันนั้น
การวัดอิงกลุ่มกับการวัดอิงเกณฑ์
NORM AND CRITERION REFERENCED MEASUREMENT
 
 คำว่าการวัดอิงกลุ่ม (Norm – referenced measurement ) กับการวัดอิงเกณฑ์ (Criterion – referenced measurement) สองคำนี้ยัง
ไม่มีความหมายที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ในความหมายหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การแปลผลของค่าตัวเลข หรือคะแนนที่ได้รับจากการวัด กล่าวคือ ถ้าแปลความ
หมายของคะแนนโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่สอบด้วยกันเรียกว่า การวัดอิงกลุ่ม แต่ถ้าแปลความหมายของคะแนนโดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ ที่กำหนด
ในลักษณะที่บอกว่า นักเรียนได้เรียนรู้อะไรไปบ้างเรียกว่าการวัดอิงเกณฑ์ (brown, 1976 231 )
 ทักค์แมน (Tuckman 1975 : 13 ) ได้ให้ความหมายเชิงเปรียบเทียบว่า คำทั้งสองนี้ใช้เพื่ออธิบาย การแปลความหมายของคะแนนสองแบบสองชนิด
คือ คะแนนที่แปลความหมายในเชิงสัมพันธ์กับกลุ่มเป็นการวัดอิงกลุ่ม แต่ถ้าคะแนนที่แปลความหมายบนพื้นฐานของเกณฑ์ในลักษณะ absolute performance
อย่างเช่น นักเรียนมีความรู้นั้นหรือไม่ หรือนักเรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นการวัดอิงเกณฑ์
 เมห์เรนส์ และเลห์แมนน์ (Mehrens and Lehmann 1975 : 10 - 11 ได้ให้ความหมายไว้คล้ายคลึงกับที่กล่าวข้างต้นว่า ถ้าเราแปลความหมาย
คะแนนของนักเรียนแต่ละคนโดยเปรียบเทียบ คะแนนของเขากับคะแนนของเพื่อนเขา เป็นการวัดอิงกลุ่ม ถ้าเราแปลคะแนนความสามารถของเขาเปรียบเทียบ
กับเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการวัดอิงเกณฑ์
 กลอนลันด์ (Gronlund 1978 : 18 ) ได้ให้ความหมายพร้อมยกตัวอย่างว่า เรามีวิธีแปลผลหรือตัดสินความสามารถ (performance )ของนักเรียน
ได้สองอย่างคือ 1) ตัดสินแบบอิงเกณฑ์คือ ตัดสินว่านักเรียนแต่ละคน มีความรู้ความสามารถเท่าใด โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่นตั้งเกณฑ์ไว้ว่าจะสอบ
ผ่านได้ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60 % ของคะแนน เติมเป็นต้น กับ 2) ตัดสินแบบอิงกลุ่ม คือตัดสินว่าความรู้ความสามารถของนักเรียน แต่ละคนนั้น เมื่อ
เปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ แล้ว เขาได้ระดับใด การเปรียบเทียบกลุ่มนั้นอาจเทียบได้หลาย ๆ กลุ่มเช่นกลุ่มระดับโรงเรียนระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ เป็นต้น
เพื่อให้เห็นความแตกต่างของคำทั้งสองนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีเบล (Ebel, 1979 : 10 -13 ) เปรียบเทียบความแตกต่างไว้ ใน 4 ลักษณะ ดังนี้
    ต่างกันในเรื่องชนิดของข้อมูล (information)
    ต่างกันในการแปลความหมายข้อมูล
    ต่างกันในการกระจายเนื้อหาของเครื่องมือวัด (ข้อสอบ)
     ต่างกันที่การใช้
     สรุป
 
  1. แตกต่างกันในเรื่องชนิดของข้อมูล ( information ) การวัดอิงเกณฑ์บอกว่า นักเรียนได้รับความรู้ บรรลุตามวัตถุประสงค์อะไรบ้าง แต่การวัดอิงกลุ่ม
บอกว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์เท่าใด นั้นคือ นั้นคือการวัดอิงเกณฑ์จะดูว่า ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น นักเรียนมีความรู้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ข้อไหนบ้าง
และข้อไหนยังไม่บรรลุ แต่การวัดอิงกลุ่มจะบอกเป็นผลสัมฤทธิ์รวมว่า เขาตอบข้อสอบได้ถูกเท่าใด เมื่อเทียบกับเพื่อนของเขา
  2.ต่างกันในการแปลความหมายข้อมูล การวัดอิงเกณฑ์จะเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์หรือเกณฑ์ที่ให้ไว้ แล้วดูว่า นักเรียนมีความสามารถตามวัตถุประสงค์
อะไรไปได้บ้าง ส่วนการวัดอิงกลุ่มเป็นการแปลความหมายเปรียบเทียบ
  3.ต่างกันในการกระจายเนื้อหาและเครื่องมือวัด (ข้อสอบ ) การวัดอิงเกณฑ์ เครื่องมือวัดที่สร้างจะต้องมีวัตถุประสงค์ครบทุกข้อ เช่นสมมุติว่า
มีวัตถุประสงค์ 20ข้อ ถ้าจะสร้างข้อสอบ 100 ข้อที่วัตถุประสงค์ แต่ละข้อจะมีข้อสอบที่ใช้วัด 5 ข้อ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าวัตถุประสงค์ไหนบ้างที่นักเรียนบรรลุผล
แล้ว แต่ถ้าเป็นการวัดอิงกลุ่มจะเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ รวม ๆ และถือว่าข้อสอบทั้ง 100 ข้อที่วัดนั้นมีลักษณะของผลสัมฤทธิ์ แตกต่าง กัน
  4.ต่างกันที่การใช้ การวัดอิงกลุ่ม ต้องการชี้บอกระดับของความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ ของการเรียนรู้ แต่การวัดอิงเกณฑ์ ต้องการยืนยันว่า นักเรียนมีความ
รู้ที่เรียนไปแล้วหรือไม่ ฉะนั้น การวัดอิงเกณฑ์จึงเหมาะกับการวัดความรู้ และทักษะของพวกวิชาชีพ ต่าง ๆ เช่น แพทย์ วิศวกรรมนักบัญชี ช่างเครื่องยนต์เป็นต้น
 และการให้คะแนนก็ควรจะเป็น “ ผ่านกับไม่ผ่าน (pass and fail )” ส่วนการวัดอิงกลุ่ม เหมาะกับการวัดความรู้ เกี่ยวกับเนื้อหาทั่วไป
(general knowledge)
  สรุปแล้ว การวัดอิงกลุ่ม เป็นการวัดที่เปรียบเทียบผล หรือคะแนนภายในกลุ่ม มุ่งหาความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่วนการวัดอิงเกณฑ์
เป็นการวัดที่เปรียบเทียบผลกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยมุ่ง ที่จะประเมินว่าการเรียนมีความรูหรือไม่มีความรู้อะไรบ้าง ฉะนั้นการวัดอิงเกณฑ์
จึงเหมาะ กับการประเมินผลกว้าหน้า (formative evaluation )จึงเหมาะกับการประเมินผลเชิงวินิจฉัย (diagnostic evaluation )ส่วนการวัดอิงกลุ่ม
จึงเหมาะกับการประเมินผลรวม (summative evaluation ) และการประเมินผลเพื่อจัดตำแหน่ง (placement evaluation )นั้นจะใช้การวัดอิงกลุ่ม
หรืออิงเกณฑ์ก็ได้ทั้งสองอย่าง (Gronlund, 1978 : 19 )
 
การประเมินตามสภาพที่แท้จริง
 การประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการวัดและการประเมินผล ซึ่งเข้ามามีบทบาททดแทนในส่วนที่
ี่แบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบทดสอบเลือกตอบไม่สามารถวัดและประเมินผลได้ ลักษณะสำคัญของการประเมินตามสภาพที่แท้จริงคือ
 (Burke, focarty and Belgrad 1994 : 7)
 1.งานที่ปฏิบัติเป็นงานที่มีความหมาย (meaningful task) งานที่ให้นักเรียนปฏิบัติต้องเป็นงานที่สอดคล้องกับชีวิตจริงในชีวิตประจำวัน
เป็นเหตุการณ์จริงมากกว่ากิจกรรมที่จำลองขึ้นเพื่อใช้ในการทดสอบ
 2.เป็นการประเมินรอบด้านด้วยวิธีการที่หลากหลาย (multiple assessment ) เป็นการประเมินนักเรียนทุกด้าน ทั้งความรู้ความสามารถ ทักษะ
คุณลักษณะนิสัย โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิธีแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียน เน้นให้นักเรียนตอบสนองด้วยการแสดง
สร้างสรรค์ ผลิต หรือทำงาน ในการประเมินต้องประเมินหลาย ๆครั้งด้วยวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม เน้นการลงมือปฏิบัติ  มากกว่าการประเมิน
ความรู้
 3.ผลผลิตมีคุณภาพ (quality products ) นักเรียนจะมีการประเมินตนเองตลอดเวลา และพยายามแก้ไขจุดด้อยของตนเอง จนกระทั่งได้ผลงาน
ที่ผลิตขึ้นอย่างมีคุณภาพ นักเรียนเกิดความพึงพอใจในผลงานของตนเองมีการแสดงผลงานของนักเรียนต่อสาธารณชน เพื่อเปิดโอกาสได้เรียนรู้และชื่นชม
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนมีโอกาสเลือกปฏิบัติงานได้ตามความพึงพอใจ นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องมีมาตรฐานของงาน หรือสภาพความ
สำเร็จของงานที่เกิดจากการกำหนดร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และอาจรวมถึงผู้ปกครองด้วย มาตรฐาน หรือสภาพความสำเร็จดังกล่าว จะเป็นสิ่งช่วย
บ่งบอกว่างานของนักเรียนมีคุณภาพอยู่ระดับใด
 4.ใช้ความคิดระดับสูง (higher – order thinking ) ต้องพยายามให้นักเรียนแสดงออก หรือ ผลิตผลงานขึ้นมาซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากการ
วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินทางเลือก ลงมือทำตลอดจนการใช้ทักษะการแก้ปัญหา เมื่อพบปัญหาที่เกิดขึ้น
 5.มีปฏิสัมพันธ์ทางบวก (positive interaction ) นักเรียนต้องไม่รู้สึกเครียด หรือเบื่อหน่าย ต่อการประเมิน ครูผู้ปกครอง และนักเรียนต้อง
เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกันในการประเมิน และการใช้ ผลการประเมินมาแก้ไขปรับปรุงนักเรียน
 6.งานและมาตรฐานต้องชัดเจน (clear tasks and standard ) งานและกิจกรรมที่จะให้นักเรียนปฏิบัติต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนสอดคล้องกับ
จุดหมายหรือสภาพที่คาดหวังที่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว
 7 มีการสะท้อนตนเอง (self reflections ) ต้องมีการเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความรู้สึกความคิดเห็น หรือเหตุผลต่อการแสดงออก การกระทำ
หรือผลงานของตนเองว่า ทำไมถึงปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติ ทำไมถึงชอบ ทำไมถึงไม่ชอบ
 8.มีความสัมพันธ์กับชีวิตจริง (transfer into life ) ปัญหาที่เป็นสิ่งเร้าให้นักเรียนได้ตอบสนองต้องเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ดังนั้น ผู้ปกครองนักเรียนจึงนับว่ามีบทบาทเป้นอย่างยิ่งในการประเมินตามสภาพที่แท้จริง
 9.เป็นการประเมินอย่างต่อเนื่อง (ongoing or formative ) ต้องประเมินนักเรียนตลอดเวลาและทุกสถานที่อย่างไม่เป็นทางการซึ่งจะทำให้เห็น
พฤติกรรมที่แท้จริง เห็นพัฒนาการ ค้นพบจุดเด่นและจุดด้อยของนักเรียน
 10.เป็นการบูรณาการความรู้ (integration of knowledge ) งานที่ให้นักเรียนลงมือปฏิบัตินั้น ควรเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความรู้และทักษะ
ที่เกิดจากการเรียนรู้ในสาขาวิชาลักษณะสำคัญดังกล่าวจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการวัด และประเมินแบบเดิมที่พยายามแยกย่อย จุดประสงค์ออกเป็นส่วน ๆ
 เรียนรู้และประเมิน เป็นเรื่อง ๆดังนั้น นักเรียนจึงขาดโอกาสที่จะบูรณาการความรู้และทักษะจากวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน หรือแก้ปัญหาที่พบ
ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ที่งานแต่ละงาน หรือปัญหาแต่ละปัญหานั้นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะจากหลาย ๆ วิชา มาช่วยในการทำงาน
หรือแก้ปัญหา
 
บรรณานุกรม
http://www.tourthai.com/directory/?c=114&o=0&start=2
สาระด้านการวิจัย วัดและประเมินผลและการปฏิรูปการศึกษา (0/119) / 0
ให้ความรู้ด้านการวิจัย วัดผล ประเมินผลและการปฏิรูปการศึกษา โดยคัดสรรบทความจากวารสารวิธีวิทยาการวิจัย ของสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์ แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
http://www.geocities.com/komjan2000

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (0/124) / 0
เป็นองค์กรของรัฐทำหน้าที่จัดระบบการทดสอบ พัฒนาแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินมาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียนบริการสอบ วัดความรู้ความสามารถ พัฒนาบุคลากรด้านการวัดและประเมินผล และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและระดับนานาชาติ [แจ้งเว็บเข้าไม่ได้]
http://www.ntthailand.com

คำสำคัญ (Tags): #การวัดผล
หมายเลขบันทึก: 118904เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท