ผู้ใหญ่ กับ ผู้น้อย


ขอให้ทุกคนได้ตระหนักให้ดีตลอดเวลาว่า เราเป็นใคร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะบางขณะเราต้องเป็นทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยในเวลาเดียวกัน

        เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2548 ถึง 2 มกราคม พ.ศ.2549 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบวชชีพราหมณ์ ถือศิลกินเจ ณ วัดกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการบวชชีพราหมณ์เป็นการถือศีล 8 ข้อ (ในชีวิตประจำวันของคนที่นับถือศาสนาพุทธจะถือศีล 5 ข้อ) และการไปบวชครั้งนี้ ก็เหมือนกับทุกครั้งที่ไปบวช ที่ต้องนุ่งขาวห่มขาว งดอาหารเย็น งดเครื่องปรุงแต่งที่มีกลิ่นหอม(แป้ง ครีม เครื่องประดับ ฯลฯ) และทำจิตใจให้สงบ ให้ว่าง และสร้างความเข็มแข็งให้กับจิตใจ เพื่อเตรียมพร้อมกับทุกย่างก้าวในปี 2549 อย่างมีสติ

        และในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 เวลา 19.30 น. ได้มีโอกาสฟังการเทศน์จากเจ้าคณะภาค ในเรื่อง "ผู้ใหญ่กับผู้น้อย" ท่านถามว่า "ทุกคนที่มาบวชในที่นี้เป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย และจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็น ผู้ใหญ่ ใครเป็น ผู้น้อย และเขาวัดกันด้วยอะไร" และท่านได้ชี้แจงว่า "ผู้ใหญ่ กับ ผู้น้อย เขาวัดกันที่ (1)วัยวุฒิ ก็คือ วัดกันที่อายุที่มากน้อยกว่ากัน (2)คุณวุฒิ ก็คือวัดกันที่การศึกษา (3)ชาติวุฒิ ก็คือวัดกันที่การเกิด เกิดในชาติ ในตระกูลที่สูงส่ง"

        แล้วท่านก็ถามต่อว่า "อย่างนั้นแล้ว ถ้าเราเป็นผู้น้อย เราต้องการอะไรจากผู้ใหญ่... เราต้องการความรัก ความเมตตาจากผู้ใหญ่ แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราต้องการอะไรจากผู้น้อย... เราต้องการให้ผู้น้อยเคารพนับถือเรา อ่อนน้อมถ่อมตนกับเรา" เจ้าคณะภาคได้กล่าวต่อว่า "เมื่อทุกท่านทราบแล้วว่าใครต้องการสิ่งใด ก็มาดูในชีวิตของเราว่า ตอนนั้นเราเป็นอะไร เป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้น้อย

        ถ้าตอนนั้น ในช่วงนั้น เวลานั้น เราเป็นผู้ใหญ่ เราต้องให้ความรักกับผู้น้อย ให้ค้วยความจริงใจ และต้องมีความเมตตา กรุณา ยินดี และยุติธรรมต่อผู้น้อยทุกคน เราถึงจะทำหน้าที่ "ผู้ใหญ่" ของเราได้เต็มที่และสมบูรณ์ และที่ขาดเสียมิได้ เราต้องทำตัวให้เป็นที่น่าเคารพ น่ายกย่องอีกด้วย

        แต่ถ้าตอนนั้น ในช่วงนั้น เวลานั้น เราเป็นผู้น้อย เราก็ต้องเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่

        เจ้าคณะภาคยังกล่าวต่อว่า "เมื่อทุกคนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ ขอให้ทุกคนได้ตระหนักให้ดีตลอดเวลาว่า เราเป็นใคร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะบางขณะเราต้องเป็นทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยในเวลาเดียวกัน และขอให้ทุกคนได้ตระหนักถึง 3 อ.คือ
        อ.1          อ่อนน้อย        ที่กาย
        อ.2          อ่อนหวาน       ที่วาจา
        อ.3          อ่อนโยน         ที่ใจ

        เมื่อจบการเทศน์ในหัวข้อนี้ ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิด และตระหนักอะไรบางอย่างมากยิ่งขึ้น และดีใจที่มีโอกาสได้รับฟังการเทศน์ในครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งดูเหมือนไม่ยากนัก ถ้าเราจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้น้อย แต่ถ้าเราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และเป็นผู้น้อยที่ดีต่างหากที่ยากกว่า ยากตรงที่การกระทำของเรา ซึ่งบางครั้งเราละเลยและมองข้ามจุดเล็กจุดน้อยไป และจุดเล็กจุดน้อยเหล่านั้นอาจไปกระทบกับคนรอบข้างเรา และจุดเล็กจุดน้อยเหล่านั้น อาจเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงให้กับคนรอบข้างเหล่านั้นได้ ฉะนั้นผู้เขียนได้ขอน้อมนำคำสอนดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างระมัดระวังในทุกย่างก้าวของชีวิตต่อไป และผู้เขียนจะยินดีมากถ้าท่านใดที่ได้อ่าน แล้วเกิดข้อคิดในใจแล้วน้อมนำคำสอนดังกล่าวไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตร่วมกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11889เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท