ทักษะทางคลินิกเกิดได้...เมื่อเริ่มคิด


สัปดาห์ที่ผ่านมาผมใช้เวลาส่วนใหญ่ให้คำแนะนำเรื่อง "การให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด" แก่อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัดมหิดลรวม 6 ท่าน

ย้อนนึกถึงตนเองที่เพิ่งจบกิจกรรมบำบัดปริญญาตรีใหม่ พยายามที่จะพัฒนาตนเองในเทคนิควิธีการทางกิจกรรมบำบัดและมองภาพรวมของการรักษาที่มีประสิทธิภาพตลอดเวลาสองปีเต็ม จากนั้นพยายามหาความรู้เพิ่มเติมในสาขาอื่นๆ เช่น สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จนพบว่า "การออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อความเจ็บป่วยยังคงต้องมีมุมมองอื่นๆ ออกไปอีก" บางครั้งธรรมชาติของความเจ็บป่วยสามารถฟื้นตัวเองพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการดำเนินชีวิต

เมื่อได้ทุนรัฐบาลไปเรียนเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดทางจิตสังคม จึงมองออกว่าระบบกลไกการฟื้นฟูตนเองทางร่างกายมีส่วนเริ่มต้นมาจากพื้นฐานการพัฒนาทักษะทางจิตสังคมของแต่ละคนที่มีความเจ็บป่วย สิ่งสำคัญคือ "ระบบการคิดที่มีเหตุผล...สามารถอธิบายความเจ็บป่วยและผลกระทบต่อการกระทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต...เรียนรู้ที่จะจัดการกระทำผ่านกิจกรรมการดำรงชีวิตที่เหมาะสม" เน้นกิจกรรมที่ส่งผลให้มีสภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ชัดเจน เช่น อาการล้า อาการเจ็บปวด อาการล้าที่ก่อให้เกิดวิตกกังวล อาการเจ็บปวดที่ก่อให้เกิดความเครียด ศักยภาพทางสังคมลดลงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานและการใช้เวลาว่างมากจนเกินไป

ระบบแนวคิด "self-management on fatigue and leisure" คือสิ่งที่ผมวิจัยและพบว่า เมื่อเราคิดและบันทึกอาการเจ็บปวดที่ส่งผลต่อกิจกรรมการดำเนินชีวิตยามว่างอย่างมีระบบ...เราสามารถค่อยๆปรับเปลี่ยนการกระทำที่ทำให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้จะต้องมีชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดตลอดไป (lifestyle modification in appropriate with living with chronic conditions)

เกือบเก้าเดือนที่ผ่านมา ทีมงานอาจารย์และนักกิจกรรมบำบัดพยายามพัฒนาตนเองด้วยการใช้เหตุผลทางคลินิกมากขึ้น มีการวิเคราะห์ผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ผ่านระบบคลินิกกิจกรรมบำบัดมหิดล ที่กล่าวถึงขั้นตอนการใช้สื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัด ที่ปรับให้ผู้ป่วยและผู้บำบัดร่วมกับคิดและร่วมกันสร้างโปรแกรมการจัดการตนเองให้ดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ แนวคิดหลักคือ เน้นผู้ป่วยเข้าใจกิจกรรมที่พัฒนาทักษะการดำรงชีวิต หรือ กิจกรรมที่คงไว้ซึ่งความสามารถที่มีอยู่และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากธรรมชาติของความเจ็บป่วยเรื้อรัง

น้องๆ นักกิจกรรมบำบัดต้องใช้เวลาพูดคุยกับผมนานหลายเดือน ในแง่ของการใช้และการให้เหตุผลทางคลินิกระดับผู้เชื่ยวชาญ ผมเพิ่งเข้าใจว่าทีมงานของผมแต่ละท่านมีความรู้และประสบการณ์ทางคลินิกกิจกรรมบำบัดไม่เท่ากัน และมีแนวคิดแค่การใช้สื่อการรักษาง่ายๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหลายๆ ข้อ (บางครั้งผู้บำบัดก็หาปัญหาให้ผู้ป่วยมากเกินไป โดยไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่เป็นทักษะการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอย่างแท้จริง) ที่ผมต้องใช้เวลามาก คือ การถามและกระตุ้นให้น้องๆ คิดเชื่อมโยงปัญหาที่เค้าประเมินและสรุปเป้าหมายการรักษาว่า ปัญหาเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยคิดและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตจริงๆ ตามหลักกิจกรรมบำบัดหรือไม่ พูดง่ายๆ คือ "ถ้าผู้บำบัดหรือผู้บำบัดไม่คิดและเข้าใจความคิดของตนผ่านกิจกรรมที่ตนเองกระทำ...ในระยะต่อมาทั้งผู้บำบัดหรือผู้ป่วยก็ไม่สามารถหากิจกรรมที่มีเป้าหมายต่อพัฒนาการของทักษะการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิผลได้"

ผมตั้งใจว่า จะพยายามฝึกน้องๆ เหล่านี้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับการทดสอบวัดศักยภาพและระบบความคิดทางกิจกรรมบำบัด โดยมุ่งหวังว่า เมื่อใดพวกเค้ามีนักศึกษากิจกรรมบำบัดมาฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก ทีมงานของผมเหล่านี้คงได้ทบทวนความคิด ณ ตอนนี้ที่ผมพยายามตั้งใจสร้างกลุ่มคนที่จะเป็นนักกิจกรรมบำบัดคุณภาพเพื่อสังคมไทยต่อไป

หมายเลขบันทึก: 118831เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท