ข้อแนะนำจาก คุณปั้น


SME Must Read

'บัณฑูร'ชี้ทางรอด SMEs เร่งสร้างนวัตกรรม-รีเอ็นจิเนียริ่งองค์กร

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 สิงหาคม 2550 10:53 น.





"บัณฑูร ล่ำซำ"โชว์วิสัยทัศน์แนะทางรอดเอสเอ็มอีผ่านวิกฤต ระบุต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้ง"นวัตกรรม"โดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อต่อสู้คู่แข่งอยู่ตลอดเวลา และด้าน"วิศวกรรม"หรือรีเอ็นจิเนียริ่งเพื่อลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ พร้อมหาทีมบุคลากรที่แข็งแกร่งเพื่อพัฒนาองค์กรในอนาคต
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดโครงการส่งเสริมการจัดการที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการ SMEs รุ่นที่ 3 ว่า ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก เป็นหน่วยธุรกิจที่ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ๆบางแห่งอาจจะไม่มีตรงนี้
สำหรับสภาวะที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนั้น ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ในฐานะผู้นำธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กในขณะนี้ ต้องคือคิดแล้วก็ทำ เพราะสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจในการดูแลก็รับทราบ และหาทางแก้ไขอยู่ ซึ่งทำไม่ได้ง่ายๆ เนื่องจากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในตตลาดธุรกิจและตลาดเงินเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ มีตัวแปรต่างๆมากมาย และเป็นภาวะที่เป็นไปตามจังหวะเวลา หน้าที่ของผู้ประกอบก็จะต้องทำความเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างนี้ แล้วที่สำคัญคือจะจัดการอย่างไรให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้
"เศรษฐกิจที่ดีจะต้องมีอะไรที่มากกว่าบริษัทใหญ่ๆไม่กี่บริษัท เศรษฐกิจที่ดีมาจากบริษัทเล็กมากมายที่ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดพลังให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจของไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้ จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีคุณภาพ มีสุขภาพไม่แข็งแรง แต่ที่สภาวะที่เราประสบอยู่ในขณะนี้เป็นโจทย์มันยาก เพราะไม่ได้สู้กับภายในเท่านั้น ต้องกับภายนอก เพราะอยู่ในตลาดกว้าง"นายบัณฑูรกล่าว




ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงในการดำเนินธุรกิจก็คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับลูกค้าหายไป เนื่องจากลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อสินค้าได้ และจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ก็จะทำให้ส่วนต่างของต้นทุนรวมกับราคาขายแคบลงมา และหากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าได้ ลูกค้าก็จะหันไปซื้อสินค้ากับรายอื่น
ประธานเจ้าหน้าบริหาร ธนาคารกสิกรไทยกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงใน 2 เรื่องหลักๆคือ ต้นทุนจะท่วมหัวและลูกค้าจะแปรพักตร์ คือถ้าอยู่เฉยๆก็ไปสู่ความเสื่อม ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าบริการให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ลูกค้าแปรพักตร์ไปซื้อของรายอื่น และธุรกิจที่ไม่สามารถควบคุมต้นทุนของตัวได้ ก็ต้องล้มละลายอย่างแน่นอน
"ยกตัวอย่าง อย่างอุตสาหกรรมรองเท้าที่แต่ก่อนทำที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาต้นทุนสูงขึ้น ก็ย้ายข้ามประเทศมาก็หนีภาวะต้นทุนสูงหรือต้นทุนที่ควบคุมไม่ไหว ดังนั้น ธุรกิจที่ไม่สามารถจัดการกับต้นทุนได้ก็จะต้องจากไป แต่จะจากไปเลยหรือไปโผล่ที่อื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แม้ว่าหลายคนที่ยังหนีไปได้ ก็ต้องมีวิธีการจัดการดีด้วยเช่นกัน"นายบัณฑูรกล่าว
ในส่วนของลูกค้านั้น ลูกค้าก็คือตลาด ที่มีความต้องการที่เปลี่ยนไปหรือมีการเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงต้องคิดให้ทันกับความต้องการของลูกค้า โดยในส่วนนี้เรียกว่านวัตกรรม และจะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างมีระบบ ซึ่งธุรกิจจะต้องให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เนื่องจากหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวของผลิตภัณฑ์ ลูกค้าก็จะหายไป แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่จะเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่จากการแข่งขันที่สูง ก็อาจจะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อหรือใช้บริการรายอื่นๆได้ ยกตัวอย่าง ของในเรื่องด้านการเงิน ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน จากช่วง 10 ปีก่อน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะมีอยู่ไม่กี่อย่าง แค่เงินฝาก ออมทรัพย์ ประจำ แล้วก็สินเชื่อ แต่ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นร้อยผลิตภัณฑ์ แล้วที่สังเกตได้ก็คือแต่ละผลิตภัณฑ์จะอยู่ได้ในระยะสั้นๆเท่านั้น แล้วคู่แข่งก็จะมีแบบที่คล้ายคลึงกันแล้ว และยังอาจเสนอราคาหรือผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วย ทำให้ต้องมีการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ
นอกจากนี้ นวัตกรรมแล้วก็ยังต้องมีเรื่องของบุคลากรที่มีความสามารถด้วย เพื่อนำพาองค์กรให้มีการพัฒนาต่อไป แต่ทั้งองค์กรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบหรือยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้
"ผู้บริหารจะต้องคิดให้ได้ว่าตลาดของเราในอีก 1 ปีข้างหน้าลูกค้าต้องการอะไร แล้วรีบทำก่อน จากนั้นก็เป็นเรื่องของทีมงานที่จะสานต่อ เพราะผู้บริหารทำคนเดียวไม่ได้ คนในองค์กรต้องร่วมกันคิด แต่คิดในกรอบที่ผู้บริหารวางไว้ คิดให้ได้ว่าสนองความต้องการอะไรของตลาด มีผลิตภัณฑ์อะไรอยู่ จะปรับอย่างไรให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าเดิม และยังควรให้ได้ลูกค้าใหม่ด้วย ทุกธุรกิจจะต้องมียุทธศาสตร์คือจะต้องรู้ว่าอะไรคือจุดหมายหรือตลาดของเรา ต้องระดมสมอง หรือหางานวิจัยมาประกอบบ้าง สิ่งที่สำคัญคือทำให้นวัตกรรมให้เกิดขึ้น แล้วทำให้คนในองค์กรเห็นดีเห็นงามกับยุทธศาสตร์ของเรา เพราะถ้าตรงนี้ไม่ชัดเจนแล้ว บุคลากรที่เก่งก็ไม่มีใครอยากจะอยู่ในเรือที่ล่ม ต้องชัดเจนว่าองค์กรหรือธุรกิจมีความหวังที่จะไปรอด เพื่อให้มีบุคลากรที่ดีทำงานอยู่ เพื่อให้ธุรกิจโต สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ใช่แค่แย่งลูกค้ากัน ยังแย่งบุคลากรที่ทำงาน ซึ่งเป็นการต่อสู้ภายในที่คนภายนอกมองไม่เห็น เพราะคนที่ทำงานได้ และมีความสามารถที่จะทำงานมีจำนวนจำกัด นอกจากเงินเดือนที่ให้แล้ว ตัวองค์กรที่ดีก็เป็นจุดที่ให้เลือกด้วย"นายบัณฑูรกล่าว
ด้านต้นทุนนอกจากการหาวัตถุดิบที่ราคาต่ำยังไม่เพียงพอ กระบวนการผลิต กระบวนการทำงานโดยรวมของธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาหรือที่เรียกว่า รีเอ็นจิเนียริ่ง ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์รอบข้างเปลี่ยนไป วิธีที่ใช้ได้ผลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันหากทำอาจจะทำให้ต้นทุนต่อชิ้นสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ดังนั้น คำว่ารีเอ็นจิเนียริ่งคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อชิ้นสูงขึ้น เพื่อต้นทุนผลผลิตต่อชิ้นต่ำลง ซึ่งต้องมีการทบทวนตลอดว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้ถูกต้องหรือไม่




"การหาวัตถุดิบที่ราคาต่ำนั้นยังไม่พอ เพราะใครๆก็หาได้ บางครั้งผู้ประกอบการรายใหญ่กว่ายังหาได้ถูกกว่าด้วย จึงต้องมีกระบวนควบคุมต้นทุนที่เรียกว่า รีเอ็นจิเนียริ่ง ที่ไม่ใช่เกิดขึ้นหนเดียวแล้วสบายไปต้องทำอยู่ตลอด อย่างโรงงานที่ปิดไปเมื่อเร็วๆนี้ ที่สู้ไม่ไหวก็เพราะว่าราคาขายต่ำลง ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น สาเหตุก็อาจเป็นเพราะภาวะของธุรกิจนี้เองที่อยู่ไม่ได้ หรือก็เป็นได้ว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเลย ก่อนนี้ต้นทุนต่อหน่วยอยู่เท่าไหร่ ตอนนี้ก็เท่านั้น ดังนั้น เมื่อตลาดบีบลงมาถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่ไหวอยู่ไม่ได้"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยกล่าว
นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า ดังนั้น ธุรกิจที่จะอยู่ได้ก็มี 2 อย่างก็คือมีการออกสินค้าใหม่ตลอดเวลา ตรงนี้คือนวัตกรรม แล้วอีกอย่างก็มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทำงานอันนี้คือวิศวกรรมหรือรีเอ็นจิเนียริ่ง ทั้ง 2 สิ่งนี้ต้องทำอย่างนี้ทุกวัน คิดอย่างนี้ทุกวัน จึงวิ่งหนีสึนามิได้ คือตลาดธุรกิจก็เหมือนสึนามิอย่างหนึ่ง ที่พร้อมจะถาโถมเข้ามา ซึ่งคนที่อยู่กับที่ก็ต้องโดนคลื่นซัดตาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายเล็กหรือรายใหญ่ หรือแม้แต่ธนาคารกสิกรไทยเองเราก็วิ่งหนีคลื่นกันสุดชีวิตเหมือนกัน
"สิ่งที่จะเอามาสู้ในภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยก็คือความคิดสร้างสรรค์ เราต้องจับอะไรที่คนจับไม่ได้ แทนที่จะทำมานั่งว่าทำไมไม่ทำให้บาททำไมไม่อ่อน ดอกเบี้ยแพง เหมือนสิ่งไมโครซอฟเห็นในสิ่งที่ไอบีเอ็มไม่เห็น หลังจากวิกฤตผ่านไป 10 ปีเราเพิ่งจะโงหัวขึ้น แต่ตอนนี้มีโจทย์ใหม่คือมาเจอโลกที่น่ากลัวไปอีกแบบ ก็คือจะมีคนแย่งธุรกิจหรือตลาดเราได้อยู่ตลอดเวลา และประเทศไทยไม่สามารถปิดไม่ให้ใครมาแย่งได้ ไม่ใช่ความน่ากลัวในเรื่องหนี้เสียหรือลูกค้าไม่มีเงินจ่าย แต่กลัวว่าสินค้าที่เราทำนั้นลูกค้าจะไม่อยากได้ หรือพรุ่งนี้ธุรกิจนี้จะยังเป็นของเราอยู่หรือไม่ นี่เป็นความกดดันสำหรับผู้บริหารทุกคน ซึ่งอีกสิ่งที่ทุกคนต้องมีก็คืออย่าท้อแท้หรืออย่ายอมแพ้"นายบัณฑูรกล่าวปิดท้าย

จาก เว็บ ผู้จัดการ นำเสนอ โดย นาย ธารินทร์ 

คำสำคัญ (Tags): #entreprenure#sme#inovation
หมายเลขบันทึก: 118812เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท