"อัมมาร" ชี้ทางรอดวางยุทธศาสตร์บาท


"อัมมาร" ชี้ทางรอดวางยุทธศาสตร์บาท
"อัมมาร" แนะรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยน กำหนดเป้าหมาย "บาท" และไม่ควรให้  ธปท.ดำเนินการโดยอิสระ ทั้งนี้ ค่าเงินที่เหมาะสมอิงดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากสุดไม่เกิน 2% ของจีดีพี  ด้าน "ชฎา"เสนอใช้มาตรการภาษีเก็บเงินทุนระยะสั้น ที่เข้ามาเก็งกำไร "ฉลองภพ" นัดแบงก์ชาติ หารือ 20 ส.ค.วางแผนดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินไปในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรี ในกรณีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินบาท และนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะของประเทศชาติโดยรวม ซึ่งนายประพันธ์ คูณมี กับคณะเป็นผู้เสนอ   ทั้งนี้ ในส่วนนายประพันธ์ อภิปรายว่าปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินบาทเป็นปัญหาที่ไม่ปกติไม่เป็นไปตามกลไก มีปัญหามาจากการเก็งกำไรค่าเงินจนเกิดความผันผวน   ขณะเดียวกัน ในภาวะที่สองตลาด ออนชอร์และออฟชอร์ ห่างกันถึง 4 บาท หรือ 11-12% ทำให้ มีการเก็งกำไรมากขึ้น เพราะขนเงินไปกลับ หรือใช้วิธีโพยก๊วน เท่ากับว่าทำกำไร 24%   โดยความเคลื่อนไหว
ค่าเงินบาทวานนี้ ตลาดในประเทศ (ออนชอร์) อยู่ที่
33.97-34.02 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ตลาดเงินบาทต่างประเทศ (ออฟชอร์) อยู่ที่ 30.80-30.89 บาทต่อดอลลาร์ ดร.อัมมาร สยามวาลา อภิปรายว่าปัญหาค่าเงินบาทกลายเป็นปัญหารุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก ธปท.ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวอย่างเสรีมากเกินไป และลอยตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เมื่อมี เงินทุนไหลเข้าในประเทศจำนวนมากค่าเงินบาท จึงแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และกลายเป็นปัญหาต่อภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม   ขณะเดียวกัน ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของ ธปท.นั้น แม้ว่าการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องที่ดีแต่การที่ ธปท.ยึดติดกับเป้าหมายการดูแลเงินเฟ้อมากจนเกินไป   จนเกือบจะเป็นเป้าหมายเดียวที่ ธปท. มีอยู่จนกลายเป็นปัญหา เห็นได้จากในช่วงเดือน ธ.ค. ปีก่อน ที่ ธปท. ออกมาตรการกันสำรอง 30% นั้น  ก็ด้วยเหตุผลที่ ธปท. ไม่กล้าปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะกลัวจะทำให้        อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากการยึดติดกับเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างเดียวของ ธปท.ทำให้ธปท.ควรมีเป้าหมายในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่หันกลับมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ "คงที่" เช่นอดีต แต่อาจจะเป็นการกำหนดเป้าหมายในลักษณะที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุล หรือเกินดุลไม่เกิน 2% ของจีดีพี โดยการกำหนดเป้าหมายด้านอัตราแลกเปลี่ยนนี้ รัฐบาลควรจะมียุทธศาสตร์ในการกำหนดกรอบนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ดำเนินไปรายวัน อีกทั้งการกำหนดกรอบก็ไม่ควรให้ ธปท.ดำเนินการโดยอิสระ เพราะ ธปท.ควรจะเป็นคนใช้ยุทธวิธีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเท่านั้น สำหรับเครื่องมือที่ภาครัฐจะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทนั้นก็ควรมีหลายอย่าง โดยเครื่องมือหลักของ ธปท. คืออัตราดอกเบี้ยซึ่งจริง ๆ แล้ว ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยแทบจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะในทางที่ดีหรือเสีย เพราะสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่จำนวนมาก และเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นเครื่องมือแรก ๆ  ที่ ธปท. ควรนำมาใช้ในช่วงที่เงินทุนไหลเข้าประเทศมีจำนวนมากในช่วงเดือนธ.ค. ปี 2549  แต่ ธปท. กลับไม่ใช้ดอกเบี้ยและเลือกที่จะออกมาตรการกันสำรอง 30% แทนเครื่องมือ เครื่องมือที่สองที่สามารถใช้ในการดูแลค่าเงิน ก็คือการแทรกแซงค่าเงินโดยเอาเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะอาจจะทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อตามมาได้ ทำให้ ธปท. ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับและมีภาระดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีนี้ หาก ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย ก็จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของ ธปท. ลดน้อยลง ซึ่งในหลายประเทศก็ใช้การดูแลค่าเงินด้วยวิธีนี้ทั้งจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น เครื่องมืออย่างที่สาม ที่ ธปท. สามารถนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาท คือการมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจริง ๆ แล้ว การใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้านั้น สามารถใช้ได้ในระดับหนึ่งแต่ต้องค่อย ๆ ทำอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ ไม่ให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนในตลาดแตกตื่น แต่กลายเป็นว่า ธปท. กลับออกมาตรการออกมาอย่างเฉียบพลัน นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ คาดไม่ถึงจนเกิดความปั่นป่วนขึ้น ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้นปกติเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่ากรอบของความพอดี เพราะค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนและแข็งค่ากว่าประเทศอื่น ทำให้กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของไทย จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการปกป้องผลกระทบจากเงินบาท โดยเครื่องมือที่จะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพนั้น นอกจากการใช้เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ยรวมถึงมาตรการที่ ธปท.ได้ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว  รัฐบาลควรจะเตรียมมาตรการเก็บภาษีขาออก (Exit Tax) ของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ซึ่งอาจจะยังไม่นำออกมาใช้ แต่ควรจะมีทางเลือกให้คนทั่วไปรู้ว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ในเวลาที่นำออกมาใช้ จะได้ไม่เกิดเป็นความตกใจ รวมถึงจะได้ทำบริหารความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าด้วย คุณหญิงชฎา กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะออกมาตรการใดออกมานั้น ควรจะมีการหารือของบุคคลในวงการต่าง ๆ ว่าจะมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างไรได้บ้าง เพื่อศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของ    แต่ละมาตรการ นอกจากนี้ เพื่อรองรับกับการที่ไทยยังคงมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและยังไม่มีการลงทุนที่มีขนาดใหญ่พอที่จะดูดสภาพคล่องของเงินทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล ภาครัฐจึงต้องมีนโยบายในการบริหารภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ด้วย   ทั้งนี้ สาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาทนั้น คุณหญิงชฎา กล่าวว่า มาจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด ทำให้เงินต่างประเทศเข้ามาในไทยจำนวนมาก ซึ่งการจัดการกับปัญหานี้จะต้องส่งเสริมการนำเข้าสินค้าของทั้งภาครัฐและเอกชน สาเหตุที่สองคือการที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาเฉลี่ยประมาณ 5,000-8,000 ล้านดอลลาร์ ในแต่ละปีซึ่งก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ และสาเหตุจากการลงทุนในตลาดทุนทั้งตราสารหุ้นและตราสารหนี้ เนื่องจากไทยเปิดเสรีทำให้มีสภาพคล่องเงินทุนไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในประเทศ ซึ่งทางการก็ควรมีกลยุทธ์ในการดูแลให้เงินทุนที่ไหลเข้ามา ไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเกินไป หรือมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลเข้าและออก ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันภาคส่งออกนำรายได้มาสู่ประเทศถึง 65% ของจีดีพี และโดยเฉพาะในปัจจุบันที่การลงทุนและการค้าในประเทศ ไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ทำให้การส่งออกเป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันนั้นถ้าค่าเงินบาทไม่ผันผวน ผู้ส่งออกจะสามารถปรับตัวและคาดการณ์ต้นทุนได้ แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงมีความผันผวนมาก จะยากต่อผู้ประกอบการ  โดยการจัดการค่าเงินบาทมีหลายอย่างต้องพิจารณา อย่างแรกคือถ้าการเปลี่ยนแปลงค่าเงินมีความผันผวนมาก จะต้องมีการจัดการโดยไม่ใช้วิธีธรรมดา เช่น ในกรณีที่จำเป็นต้องแทรกแซงก็ต้องแทรกแซงแต่ก็ไม่ควรใช้ตลอดไป เพราะไม่ใช่มาตรการที่ถาวร  นอกจากนี้ ทางการควรมีการปรึกษาหารือกันถึงแนวทางเลือกในการดูแลค่าเงินบาท โดย ธปท. ควรมีที่ปรึกษาทั้งจากสายตลาดทุน ตลาดเงิน กระทรวงคลัง และผู้นำองค์กรเศรษฐกิจเพื่อให้มีมาตรการต่าง ๆ ไว้รองรับในการดูแลค่าเงินบาท  นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องพิจารณามาตรการปานกลาง โดยการพิจารณาตั้งกองทุนเพื่อการจัดการกับเงินในระยะสั้น ซึ่งไม่ใช่กองทุนที่ตั้งโดย ธปท. เพราะ ธปท. มีข้อกำหนดไม่สามารถทำได้ โดยกองทุนนี้เวลาที่เงินบาทแข็งก็ควรเอาเงินที่ไหลเข้ามามากออกไปหาผลประโยชน์ในต่างประเทศในระยะสั้น แต่ถ้าบาทอ่อนก็เอาเงินกองทุนที่ไปลงทุนไว้กลับมาซื้อเงินบาทในประเทศ ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกับ สนช. เกี่ยวกับปัญหาค่าเงินบาท ว่า เรื่องค่าเงินถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะปัจจุบันความผันผวนทางการเงินมีมากขึ้น ซึ่งทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบไปหมด โดยความผันผวนเหล่านี้ทำให้การบริหารจัดการค่าเงินมีปัญหา เกิดความไม่สมดุล มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะเกิดจากการขาดดุลของสหรัฐ ทำให้มีเงินลงทุนไหลเข้ามาในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น   ทั้งนี้  เมื่อเกิดความผันผวนทางด้านการเงิน แต่ไม่มีกลไกอัตโนมัติขึ้นมาดูแล ก็ทำให้เชื่อว่าจะเกิดความผันผวนแบบนี้ต่อไปอีกหลายปี  "ปกติธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีอิสระในเชิงปฏิบัติ แต่ไม่ได้มีอิสระในการเลือกเป้าหมายนโยบาย ซึ่งในกรณีฉุกเฉินจำเป็นกระทรวงการคลังสามารถเข้าไปช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนนโยบายได้ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนแล้วรัฐจะหารือกับ ธปท.เพื่อปรับปรุง ซึ่งกรอบความคิดอัตราแลกเปลี่ยน อย่าเปลี่ยนแปลงให้หวือหวาไม่ขึ้น ไม่ลง มีกรอบเป้าหมายสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งเราต้องชูเป้าหมายบริหารอัตราแลกเปลี่ยน โดยปรับสภาพแวดล้อมให้คนถือดอลลาร์ได้   และที่สำคัญ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีค่าเงิน         ที่แข็งค่ากว่าไทย เขาไม่พึ่งพาอย่างใดอย่างหนึ่ง ของไทยพึ่งพาภาคส่งออกเพียงอย่างเดียว  เพราะฉะนั้น เวลาเทียบก็ต้องให้เทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน" ดร.ฉลองภพ กล่าวว่า ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิ หารือแนวทางดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าขณะนี้ เงินบาทจะเริ่มมีเสถียรภาพ แต่ต้องมีมาตรการที่ต้องดูแลให้เสถียรภาพต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป   ส่วนกรณีที่เงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ดร.ฉลองภพ ชี้แจงต่อข้อซักถามของ สนช. ว่า ในส่วนของเรื่องการเก็งกำไรส่วนต่างสองตลาด คือ ตลาดออฟชอร์และตลาดออนชอร์นั้น ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงเพราะในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้กระทำได้ง่าย เพราะเวลาในการกระทำจริง ๆ ต้องเสียส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ใช่ว่าจะนำเงินออกไปแลกแล้วจะได้ในอัตราที่ประกาศเอาไว้ในแต่ละตลาดนั้น ๆ เช่น การนำเงินออกไป 50,000 บาทต่อคนไปสิงคโปร์ก็ต้องนำเงินบาทไปแลกดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมและเสียส่วนต่างด้วยและหากนำดอลลาร์สิงคโปร์ไปแลกดอลลาร์  ก็ต้องเสียส่วนต่างด้วย จึงถือว่าไม่คุ้ม  สิ่งที่ต้องจับตามองดูอีกทีคือการติดตามดูเรื่องการนำบัตรเครดิตไปใช้       ในต่างประเทศ เพื่อทำการซื้อสินค้า โดยหวังจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ว่าจุดนี้จะเป็นอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบการซื้อของผ่านบัตรเครดิต เวลาเรียกชำระเงินค่าบัตร ส่วนใหญ่คิดอัตราแลกเปลี่ยนออนชอร์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็คาดว่าการเก็งกำไรในลักษณะนี้ด้วยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีไม่มากต้องเข้าไปติดตามดูว่าการนำบัตรเครดิตไปเก็งกำไรเขาทำกันอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบมีบางเคาน์เตอร์รับรูดบัตรเครดิตด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับ ซึ่งวิธีนี้  ก็คงมีไม่เยอะดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทว่า จนถึงสิ้นปีนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นอีก เพราะคาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งคาดว่าน่าจะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอีกไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ดังนั้น มาตรการของ ธปท. ที่ออกมา 6 มาตรการ เชื่อว่าจะไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้  "ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น อาจเห็นระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปีนี้ และขยับขึ้นถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในต้นปีหน้า รัฐบาลจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม รวมถึงอาจตั้งกองทุนอิสระขึ้นมา วงเงินเริ่มต้นประมาณ 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงในการจัดการ  หากไม่เชี่ยวชาญพอ" ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ  10  ส.ค.  50

คำสำคัญ (Tags): #ค่าเงินบาท
หมายเลขบันทึก: 118561เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท