การทบทวน และช่วงความจำ ใน STM เป็นอย่างไร?


การทบทวนเป็นการทำซ้ำในจิต กับตัวเอง ใน STM ยังผลให้จำได้มากขึ้นและนานกว่าการไม่ทบทวน ทั้งยังทำให้มีความคงทนใน LTM ได้มากขึ้นด้วย

ในรูปข้างบนนี้  วงกลมใหญ่สีเขียวแทน ความจำระยะยาว (LTM) เป็นพื้นที่ๆบรรจุความรู้จากโลกภายนอกทั้งหมด  แต่ยังไม่ได้รับการกระตุ้นให้แสดงกิจกรรมตอบสนอง   วงกลมสีขาวแทนความจำระยะสั้น (STM) เป็นพื้นที่ๆแสดงกิจกรรมของสารที่เข้ามาจากภายนอกผ่านการรู้สึกสัมผัส(SM)(วงรีสีเหลือง)เข้ามารวมกับความรู้จาก LTM ที่ถูกดึง(Retrieval) หรือระลึก(Recall)ออกมาจากLTM, เป็นพื้นที่ๆเรียกว่า ความรู้สึก ที่เราทุกคนรู้สึกตัวอยู่ในขณะนี้  ลูกศรโค้ง แทนการทบทวน(Rehearsal)

การทบทวน คือการพูดซ้ำกับตัวเองในจิต(ที่บางคนเรียกว่าการพูดกับตัวเองในลำคอ)  ตราบใดที่มีการทำซ้ำ ตราบนั้นสิ่งที่ถูกทำซ้ำนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปใน STM

ช่วงความจำ(Memory Span) คือจำนวนหน่วยของสารที่สามารถคงอยู่ในSTM ในช่วงเวลาประมาณครึ่งนาที  ซึ่งมีอย่างต่ำประมาณ 5 หน่วย  อย่างสูงประมาณ 9 หน่วย  เฉลี่ยประมาณ 7 หน่วย  ทั้งนี้ โดยไม่มีการทบทวนสารดังกล่าว  คำว่า หน่วย นี้  อาจจะเป็นตัวอักษรแต่ละตัว เช่น ก,ข,ค,...; A,B,C,...; 1,2,3,...; หรือ กลุ่มตัวอักษร เช่น  กหว,ทฉฮ,รยผ,...; นก,คน,ปลา,...; นกแร้ง,คนกล้า,ป่าดงดิบ,...; ฯลฯ ก็ได้   แต่ถ้าหน่วยใหญ่ขึ้นจะจำได้น้อยลง  ช่วงความจำนี้ ถือว่าเป็นความจุของ STM (โปรดดู The Magical Number Seven,...ที่บันทึกของ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน ที่ http://gotoknow.org/cognition  )

ช่วงความจำของ STM นี้ มีความสัมพันธ์กับการทบทวน  คือถ้ามีการทบทวนเข้ามาช่วยด้วย  ก็จะทำให้จำหน่วยสารต่างๆได้นาน  และจำได้มากกว่า  7 หน่วยก็ได้

นอกจากนี้ การทบทวน ยังสัมพันธ์กับ LTM  กล่าวคือ  ถ้ายิ่งทบทวนมากครั้งจะทำให้จำคงทนใน LTM มากขึ้นด้วย

การทบทวน เป็นแบบเดียวกับการท่องจำ  แต่การท่องจำเป็นการทำด้วยพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตได้  การทำซ้ำใดๆก็เป็นการทบทวน  การอ่านซ้ำ  การทำเลขซ้ำ  การท่องสูตรคณิตศาสตร์ สูตรเคมี  สูตรฟิสิกส์ ซ้ำ  การท่องกฎของวิชาต่างๆซ้ำ ฯลฯ  การอ่านแล้วอ่านอีก  การทำเลขซ้ำๆเป็นพันเป็นหมื่นข้อก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ ก็เป็นการทบทวน  การกวดวิชาถ้าเป็นการเรียนซ้ำก็เป็นการทบทวน  พฤติกรรมที่เรียกว่าความขยัน ก็เป็นการทบทวน

การทบทวนมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย  ส่วนดีก็คือ  ทำให้สิ่งที่ทบทวนนั้นคงทนใน STM  และหรือในLTM ได้นาน  หรือทำให้ช่วงความจำใน STM กว้างมากขึ้น  ส่วนเสียก็คือ  มีแนวโน้มที่จะทำให้มีทักษะในการคิดทางเดียว(Convergent Thinking) มากกว่าคิดหลายทิศทาง(Divergent Thinking)  หรือความคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking)   นั่นก็คือ  ถ้าเน้นการฝึกฝนการทบทวนหรือการท่องจำตามแบบดังที่กล่าวมาเป็นเวลานานๆ  เช่น ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงปริญญาเอก แล้วละก้อ  ความคิดทางเดียวจะพัฒนามาก  แต่ความคิดสร้างสรรค์จะถูกขัดขวางไม่ให้พัฒนา  ยังผลให้คนเช่นนั้นคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น  เขาอาจจะเรียนตามตำรา  ตามความรู้ที่คนอื่นคิดไว้ให้แล้ว ได้ดี  แต่เขาไม่อาจจะคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ได้เลย   เขาไม่อาจจะคิดออกแบบงานวิจัยใหม่แปลกได้  ไม่อาจจะคิดสร้างสูตรใหม่ๆทางคณิตศาสตร์  ไม่อาจจะค้นพบกฎใหม่แปลกไม่เหมือนใครได้  ไม่อาจจะสร้างทฤษฎีใหม่ๆ  สร้างวรรณกรรมใหม่ๆ สร้างงานศิลปะใหม่ๆ ไม่อาจจะสร้างงานสถาปัตยกรรมใหม่แปลก  สร้างงานเทคโนโลยีใหม่แปลก ฯลฯ ไว้ให้โลกได้ชื่นชมได้เลย  การศึกษาที่เน้นการทำซ้ำ หรือการท่อง ดังตัวอย่างที่กล่าวมา  จึงเป็นการศึกษาที่ทำลายทรัพยากรมนุษย์อันล้ำค่าของโลกไปเลยทีเดียว  แต่เรายังโชคดีอยู่นะครับที่ผู้รับผิดชอบทางการศึกษาให้สัญญาณชี้ถึงความตระหนักในเรื่องนี้  เช่น ความพยายามที่จะหยุดยั้งการกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย  พยายามออก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ระบุเน้นให้สถานศึกษาเน้นการพัฒนาความคิดมากกว่าการท่องจำ เป็นต้น  จึงเป็นสิ่งที่น่าปลื้มปีติ  และยังไม่สายครับ.

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11851เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2006 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท