ชีวิตการฝึกงาน


การฝึกงาน เป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้บทใหญ่ ที่ต้องตระหนักและใส่ใจ ในการคัดกรองคุณภาพของแหล่งฝึก ให้มีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างแท้จริง

นักเรียน นิสิต นักศึกษา เคยสงสัยกันบ้างไม๊ว่า  ทำไมต้องมีวิชาฝึกงาน  อะไรกันแน่ที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้ฝึกงาน หรือ ทำตามหลักสูตร ที่ผู้รู้-ผู้ใหญ่ เค้าคิดไว้ดีแล้ว  และที่ผ่านๆมา  การฝึกงานจะเกิดขึ้นในการศึกษาอาชีวศึกษา และการศึกษาอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงสุดท้ายของการเรียน  โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ประมวลองค์ความรู้ทางวิชาการที่ได้จากชั้นเรียน  ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน

          แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการการศึกษาว่า  พรบ.การศึกษาฉบับที่ถือใช้กันอยู่ในวันนี้  กำหนดให้มีกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะต่างๆ อย่างเหมาะสมกับวัย และระดับการเรียน  เช่น  ในชั้นประถม ครูอาจสอดแทรกการปฏิบัติไว้ในวิชา สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต สำหรับการเรียนชั้นประถม เช่น  การให้นักเรียนช่วยกันเลี้ยงกบ  เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของสัตว์ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม และกลไกลที่เกิดขึ้นก่อนเป็นกบ  และ กบเหลาดินสอ กบดำกบแดง กบไสไม้  และ กบ ที่ร้อง อ๊บ อ๊บ กระโดดโหยงๆ บนใบบัว ต่างกันอย่างไร !!  ส่วนในชั้นมัธยม ก็เรียนให้รู้เพิ่มเติมไปอีกว่า กบ เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และโลกนี้อย่างไร มีกบกี่เผ่าพันธุ์ที่เรารู้จัก และแต่ละสายพันธุ์ แต่ละถิ่น (เช่น กบในกะลา กับ กบนอกกะลา)  ต่างกันอย่างไร !!   ในระดับอุดมศึกษาก็เรียนการพิสูจน์คุณสมบัติที่โดดเด่นของกบ และสารเคมีต่างๆ ในตัวกบที่จะมีประโยชน์ต่อมนุษย์  โดยอาจทดลองนำกบมาแปรรูป เป็นกระเป๋าหนังกบ กบย่าง นำเมือกบนตัวกบมาทาขานักกีฬาให้กระโดดไกล ได้หรือไม่ (ขำขำ) ฯ  เหล่านี้  ก็อยู่ในกระบวนที่เรียกว่า  การฝึกปฏิบัติ การฝึกงาน  เช่นกัน              

          วิวัฒนาการของการศึกษาไทย มีวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับการฝึกงาน ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างไร  และ พรบ.การศึกษา จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาการ และวิชาชีพ ได้ดีมาน้อยเพียงใดคงมีปัจจัยสำคัญๆ อยู่มาพอควร ที่เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาอันจะต้อง สร้างแหล่งเรียนรู้ (แหล่งฝึก) ให้นิสิตได้เกิดการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติได้อย่างแท้จริงหน่วยงาน องค์กร บริษัท ห้าง ร้าน ต่างๆ ที่นิสิตไปฝึกงาน ซึ่งขอเรียกรวมว่า  แหล่งฝึก    ซึ่ง สถาบันการศึกษาหลายแห่ง  กำหนดให้ผู้เรียน เป็นผู้แสวงหาแหล่งฝึกเอง  จัดการเรื่องการเดินทาง ที่พัก เอง  โดยสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดระยะเวลา  กิจกรรม และแบบประเมินผลการฝึกงาน   แหล่งฝึกเองก็มีหน้าที่ดูแล มอบหมายงานให้ผู้ฝึกงาน ตามรูปแบบ ลักษณะของกิจการในแหล่งฝึก  จากนั้น เมื่อฝึกงานไปได้ระยะหนึ่ง สถาบันการศึกษา ก็ส่งอาจารย์ไปนิเทศ  ติดตาม ตรวจเยี่ยม นิสิต พบปะอาจารย์แหล่งฝึก  พอกลับถึงสถาบัน ก็มีกิจกรรมนำเสนอประสบการณ์การฝึกงาน นี่เป็นกระบวนการทั่วไปในการฝึกงาน

          แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน ในสมัยเป็นผู้เรียน (สาขาการเลขานุการ) ซึ่งสถาบันมอบภาระให้ผู้เรียนหาสถานที่ฝึกงานเอง เพื่อนที่ทางบ้านประกอบกิจการเองก็กลับไปบ้านบ้าง หรือบางคนมีผู้ปกครองทำงานบริษัท หรือสถานที่ราชการ ก็แทรกเสริมเข้าไปฝึกงานได้สะดวก  แต่ผู้เขียนมีผู้ปกครองและบุคคลรอบข้างเป็นผู้หาเข้ากินค่ำ มีชีวิตอยู่ในตลาดสดเป็นส่วนใหญ่ แต่โชคยังเข้าข้างเผอิญเห็นบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่โต สะอาดสะอ้าน คิดว่าเค้าคงมีที่ว่างสำหรับเราเลยลองเดินซุ่มเสี่ยงเข้าไปสมัครเป็นนักศึกษาฝึกงาน  ซึ่งเราไม่มีคนรู้จักอยู่ในนั้นเลย แต่โชคดี ที่เค้าตกลงรับเราเป็นนักศึกษาฝึกงาน  และได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดคือ  เทคนิคการแต่งตัวให้ลูกค้าประทับใจ (เข้าใจเอาเองว่าผู้เขียนอาจเป็นนักศึกษารุ่นบุกเบิกชุดนักศึกษาแบบ..คับติ้ว.. )   การชงกาแฟ (และเป็นจุดเริ่มต้นดื่มการแฟครั้งแรกในชีวิตจนมาถึงทุกวันนี้)  และเทคนิคการจัดอาหารว่าง เทคนิคการอู้งาน (ลาตอนที่เจ้านายออกไปหาลูกค้ารายใหญ่ เพราะต้องไปนาน..)   รวมถึง  การผ่านสถานการณ์น่าหวาดเสียวที่เกือบเสียความบริสุทธิ์ทางกายให้กับเจ้านาย  ที่เคยพบหน้ากันเพียงครั้งเดียวตอนวันแรกที่มาฝึกงาน  แต่พอมาเจออีกครั้งก็โดนกระชากใจซะแล้ว (บรื๊อ!!) คิดถึงแล้วยังขนหัวลุก (โชคดีนะ ที่เป็นนักกีฬา ร่างกายแข็งแรงพอแข็งขืนไว้ได้)   หลายคนเคยประสบปัญหาแบบที่ผู้เขียนโดนมาตอนฝึกงานแต่ท้ายที่สุด ก็ไม่กล้าเล่าให้ครู อาจารย์ฟัง แม้แต่คนในครอบครัวเองก็ไม่กล้าเล่า  และที่น่าเศร้าใจมากไปกว่านั้น  คือผู้เขียนมีเพื่อนที่โชคร้ายที่หน้าตาสวยกว่าเรามาก  จึงไม่มีโอกาสรอดจากการกระทำต่อร่างกาย และจิตใจ ของผู้ที่ถูกเรียกว่าอาจารย์แหล่งฝึกและสิ่งที่ได้รับกลับมามีเพียงสิ่งเดียวคือ อักษร ” (ผ่าน)  ในวิชาฝึกงาน  ซึ่งไม่คุ้มเลย   ถ้าเพียงแค่อาจารย์ได้พิจารณา ตรวจสอบ กลั่นกรองความเหมาะสมของแหล่งฝึก และอาจารย์แหล่งฝึก ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ก่อนจะส่งตัวเราไปฝึกงาน เราคงไม่ต้องเผชิญปัญหาแบบนี้โดยลำพัง  

          กระทั่งทุกวันนี้ ผู้เขียนโชคดีมากๆ ที่ได้ทำงานในสถาบันการศึกษา และเป็นผู้ทำหน้าที่จัดกระบวนการให้นิสิต นักศึกษา ออกไปฝึกงาน   จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกงานเป็นอันมากว่า หากเรามีส่วนช่วยในการสรรหา  พิจารณา คุณสมบัติของแหล่งฝึกว่ามีความพร้อมทั้งบุคลากร ทรัพยากร และองค์ความรู้ ที่นิสิตจะเรียนรู้ได้  คือ  มีบุคลากรที่รู้ว่า  การเป็นอาจารย์แหล่งฝึกที่เหมาะสมและดีนั้น เป็นอย่างไร  มีที่ทำงานที่เหมาะสม  มีกระบวนการทำงานที่ให้ผู้ฝึกเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  ไม่ใช่มั่วกันไปวันๆ  พอเจ้านายไม่อยู่  ลูกน้องก็จับกลุ่ม กิน นินทา แต่งหน้า ไปรับแฟน รับลูก ใช้โทรศัพท์ แฟกส์(หวยใต้ดิน) กระดาษ อินเทอร์เนต ของสำนักงาน  อะไรเหล่านี้ ซึ่งเราเป็นนักศึกษาฝึกงาน  ก็คงสุดแล้วแต่วัยวุฒิที่จะมีวิจารณญาน และ ความสามารถของแต่ละบุคคลในการกลั่นกรอง หรือซึมซับ คุณสมบัติโดดเด่นเหล่านั้นไว้กับตัว หรือ ปัดไปให้ไกลตัว  ยิ่งหน่วยงานราชการเนี่ย ตัวดี  มาสาย กลับไว ไม่สบาย เวลามีน้องฝึกงานนี่ชอบมาก รับไว้เยอะเชียว เอาไว้ชงน้ำชา กาแฟ รับโทรศัพท์ ถ่ายเอกสาร  เดินส่งจดหมาย  เฝ้าสำนักงาน  อะไรเหล่านี้  แล้วผู้ฝึกงานจะได้รับความรู้ และประสบการณ์อะไรกัน อย่างไรกัน

ทุกวันนี้  ค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของประชากรไทย เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน มากโข  แต่เคยสังเกตกันดูบ้างไม๊ว่า  บัณฑิตที่จบใหม่ๆ ทำไมทำงานไม่เป็น  ไม่เหมือนคนสมัยก่อน  จบแค่ ปกศ.สูง หรือจบแค่ มศ.ปลาย ก็ทำงานกันได้ อดทน และขยัน  ไม่เกี่ยงเงินเดือน  แต่บัณฑิตใหม่สมัยนี้  จะดูก่อนว่าบริษัทให้ค่าจ้างเท่าไหร่ ตั้งอยู่ย่านไหน เดินทางใกล้ ไกล มีแหล่งอาหารหรือไม่ ทำนองนี้   แตลืมดูศักยภาพตัวเอง  บางคนคิดว่าตัวเองเรียนเก่ง แล้วจะเรียกค่าตอบแทนสูงๆ  ไม่จำเป็นต้องอดทนต่อความกดดันต่างๆ ถ้าไม่พอใจก็ไปหาที่ใหม่ เพราะฉันเก่ง  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีครอบครัวเศรษฐฐานะดี ยิ่งแล้วใหญ่ คือชีวิตฉัน พ่อ แม่เลี้ยงได้ ไม่ทำงานก็ไม่เดือดร้อน อยู่ได้ ไม่ง้อ ไม่สน ฉัน คือ ฉัน ใครจะทำไม ประมาณเนี๊ย

การฝึกงาน  เป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้บทใหญ่ ที่สถาบันการศึกษาต้องหันมาตระหนักและใส่ใจ ในการคัดกรองคุณภาพของแหล่งฝึก ให้มีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างแท้จริง ผู้เรียนจะได้ซึมซับ ลักจำ ในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อตนเอง และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเมื่อจบการศึกษาเป็นเครื่องการันตี ระบบการศึกษาที่ดี มีความครอบคลุม แต่รัดกุม เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้  และการฝึกงานจะกลายเป็นเป็นบทเรียนที่น่าจดจำ และนำไปต่อยอด ต่อชีวิต ของตนเอง ในอนาคต .

คำสำคัญ (Tags): #การฝึกงาน
หมายเลขบันทึก: 118407เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท