เพลงสอนหลักภาษาไทย..ยังไม่หมด


 

เพลงสอนหลักภาษาไทย..ยังไม่หมด

 ๑๖. เพลงการผันอักษรควบ

คำร้อง พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล                                                ทำนอง  แหล่

                   อักษรควบนั้น                       การผันง่ายแน่

                   ควบแท้ไม่แท้                        เขามีหลักการ

                   ผันตามตัวหน้า                      ตำราไขขาน

                   เรื่องเขียนเรื่องอ่าน                 จึงไม่ยากเย็น

                   สูงกลางต่ำนั้น                       เคยผันอย่างไร

                   เมื่อควบกับใคร                      เราต้องมองเห็น

                   อักษรทั้งหลาย                       คำตายคำเป็น

                   คงไม่ลำเค็ญ                         ผันอย่างที่เคย

                   สร้างแสร้งไซร้ไทร                 ใกล้ไกลกลับกลาย

                   ขวานขลาดคลับคล้าย               ผันได้เปิดเผย

                   ตัวหน้าเสียงใด                      ผันไปได้เลย

                   ผันอย่างอ้างเอ่ย                     ควบกล้ำจำกัน

๑๗. เพลงการผันอักษรนำ

คำร้อง พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล                                     ทำนอง แหล่

อักษรนำผันอย่างไรให้ถูกหลัก                        ต้องรู้จักวิธีที่ศึกษา

อักษรนำหนึ่งพยางค์อ้างตำรา                         ผันตามเสียงตัวหน้าอย่ารอรี

พวก ห นำต่ำเดี่ยวหลักเดียวหนอ                      ผันตามเสียงตัว ห ได้เต็มที่

ทั้งคำเป็นคำตายได้โดยดี                               ตามวิธีอักษรสูงไม่ยุ่งเลย

พวก อ นำ ย ยักษ์หลักไม่ยาก                           คืออย่า อยู่ อย่าง อยาก สี่คำเอ่ย

ผันแบบอักษรกลาง อ อย่างเคย                        ขอเปิดเผยเคล็ดลับกับนักเรียน

อักษรนำสองพยางค์ผันอย่างนี้                        ตัวหน้ามีเสียง อะ แน่ไม่แปรเปลี่ยน

พยางค์หน้ากึ่งมาตราอย่าวิงเวียน                      จงพากเพียรศึกษาค้นคว้าไป

พยางค์หลังระวังดูตัวหน้า                                    อักษรใดนำมาวินิจฉัย

อักษรสูงอักษรกลางผันอย่างไร                        ก็ผันให้เป็นเสียงสำเนียงนั้น

เช่นขนม อ่านนะว่าขะ-หนม                          เพราะ ข นำ คำนมจึงแปรผัน

ออกเสียงสูงเท่า ข ตามต่อพลัน                        จำให้มั่นหลักนี้เขามีมา

อีกตลาดอ่านละว่า ตะ-หลาด                          ไม่ออกเสียง ตะ-ลาดดังที่ว่า

เพราะออกเสียงเท่า ต ตาด หลาดตามมา               นี่แหละหนาหลักแน่นอนอักษรนำ

 ๑๘ เพลงการผันคำที่มีลักษณะพิเศษและคำแผลง

คำร้อง พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล                                     ทำนอง ลำตัด

( สร้อย ) เรียนวรรณยุกต์ ผันให้สนุก กำหนดจดจำ คำพิเศษ อีกทั้งคำแผลง ฉันขอแสดง ชี้แจง แนะนำ

คำพิเศษพวกแรก ฑ หัวแตกเขียนโชว์ ที่เราเรียก ฑ มณโฑ งามโขคมขำ

แต่ครั้นพอออกเสียง ตามสำเนียงใหญ่เล็ก กลับออกเสียง ด เด็ก ต้องคอยเช็คถ้อยคำ

เช่น บัณเฑาะว์ บัณฑิต ล้วนน่าคิดทวนทบ ยังอีกทั้งมณฑป ที่เคยพบประจำ

อ่านอย่างไรก็ผัน ไปตามนั้นที่อ่าน นี่แหละคือหลักการ ขอสื่อสารเน้นย้ำ

อีกคำแผลงต่างต่าง มีรูปร่างอย่างไร เราไม่ต้องหนักใจ หากฝักใฝ่เรียนร่ำ

ถ้าอ่านถูกหลักเกณฑ์ ก็ชัดเจนได้การ แล้วผันตามเสียงอ่าน ให้เชี่ยวชาญชองช่ำ

คำพิเศษคำแผลง.. คงแจ่มแจ้งประจักษ์ ถ้ารู้เรียนรู้หลัก หมดอุปสรรคผันคำ (สร้อย)

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักภาษา
หมายเลขบันทึก: 118220เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
อยากฟังเสียงร้องด้วยจังเลยครับ :-).
  • ขอบคุณ น้องวีร์
  • ผมยังไม่ค่อยเก่งเทคโนโลยี ขอศึกษาก่อน
  • เคยอัดแต่ เพาเวอร์พอยต์
  • ถ้ายังไงช่วยแนะนำด้วยนะ
ผมใช้กล้องดิจิทอลอัดภาพและเสียงเอาหนะครับ (เพราะว่าง่ายดีครับ). แล้วนำไฟล์ที่ได้มาไปโพสไว้ที่ google video หรือว่า multiply ครับ. 
  • ดิฉันว่าเด็กที่ได้เรียนภาษาไทยผ่านการร้องเพลงเช่นนี้ จะทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ และเกิดความรู้ได้จากในเนื้อเพลง
  • ยอดเยี่ยมค่ะ  ดิฉันได้ความรู้จากเนื้อเพลงนี้ด้วยขอบคุณมากค่ะ
  • ขอบคุณ น้องวีร์ ที่แนะนำ ผมจะลองไปศึกษาดู
  • นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผมมาก
  • คนที่เก่งเทคโนโลยี ก็จะดูเป็นเรื่องธรรมดา ง่ายๆ
  • แต่คนที่งุ่มง่ามอย่างผมถือเป็นความรู้ที่มีค่ามากครับ
  • แง่คิดและกำลังใจ ที่หัวหน้าลำดวน ให้พวกเรา
  • เป็นยาวิเศษที่ช่วย ชูกำลังให้ครูเรามีพลังในการพัฒนาวิชาชีพและลูกศิษย์ของเราต่อไปครับ

ผมอยากจะนำไปเผยแพร่ (ใช้ในการจัดการเรียนการสอน) ไม่ทราบจะได้หรือไม่ครับ และผมต้องเขียนลงในแผนการสอนด้วย หากได้กรุณา ตอบให้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูง

ณภัทร

      ผมขอชื่นชมอาจารย์พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล ที่ได้บันทึกเล่าเกล็ดความรู้ต่าง ๆ ในเรื่อง"เพลงสอนหลักภาษาไทย..ยังไม่หมด" อ่านแล้วจินตนาการเห็นภาพตามหลักภาษาไทยที่ใช้กันมาทั้งในอดีต-จนถึงปัจจุบัน ได้รับความรู้อย่างมากมาย

                                                   "ลุงนิตย์"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท