มนต์เสน่ห์ของบทเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 1) คารมที่บาดใจ


ทุกลงในบทเพลงพื้นบ้านจะต้องลงให้เจ็บ ลงให้ได้ความรู้ลึก

 

มนต์เสน่ห์ของบทเพลงพื้นบ้าน

(ตอนที่ 1) คารมที่บาดใจ

มาจากชาวบ้านที่ไม่รู้ผังคำกลอน   

        ผมขอนำเอาประสบการณ์ในชีวิตจริงมาเล่า ในบทความตอนนี้ เพื่อที่จะบอกกับนักเขียนหรือนักประพันธ์บทเพลงพื้นบ้านทั้งหลายว่า มนต์เสน่ห์คำร้องหรือบทร้อง หรือบางท่านอาจจะใช้คำว่าเนื้อร้องก็สุดแล้วแต่จะนำมาเรียก แต่คนรุ่นเก่า ๆ เขาพูดถึงบทร้องเพลงพื้นบ้านว่า ไม่มีบทมากางอย่างนางละคร ผมคุ้นเคยกับคำว่า บทร้อง” 

        ด้วยความที่ผมมีความคุ้นเคยอยู่กับศิลปินนักแสดงเพลงพื้นบ้านมานานเกือบเท่ากับชีวิตของผม  ผมได้อ่านลายมือครูเพลงพื้นบ้านรุ่นเก่า ๆ  ไม่ว่าจะเป็นลายมือของครูเคลิ้ม ปักษี นักเขียนบทร้องเพลงพื้นบ้านคนเดิมแห่งอำเภอดอนเจดีย์  ที่นักเพลงรุ่นครูในสุพรรณบุรีให้การยกย่อง แต่น่าเสียดายที่บุคคลสำคัญท่านนี้ถูกมองข้าม ไม่มีชื่อปรากฏในสาระบบของนักเพลง  ท่านเสียชีวิตไปประมาณปี พ.ศ. 2525 ลุงศรีนวล  จันทร์สว่าง (สามีของป้าอ้น จันทร์สว่าง) ครูเพลงของผม ท่านนี้ก็เป็นนักแต่งบทเพลงพื้นบ้านเอาไว้หลายชนิด   

        นักเพลงรุ่นเก่า ๆ ตั้งแต่ ลุงหนุน  กรุชวงษ์ แห่งบ้านทะเลบก   ลุงบท  วงษ์สุวรรณ แห่งบ้านหนองทราย มาจนถึงน้าถุง  พลายละหาร แห่งบ้านดอนยาว อำเภอดอนเจดีย์ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บทร้องเพลงอีแซวหรือเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ที่ดีนั้นจะทำให้ผู้ฟังติดใจ และติดตามไปดู ไปฟังได้นั้น จะต้องมีเสน่ห์ มีมนต์ขลังอยู่ในตัวอักษร เหมือนดังว่าเราได้ลงคาถา อาคมเอาไว้ แต่ในความเป็นจริง ครูเพลงรุ่นเก่า ๆ ท่านบอกว่า บทเพลงที่ดีนั้น จะต้อง มีคำคม คำที่ร้องแล้วทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตาม (สะเทือนใจ สนุก ฮึกเหิม เศร้า ฯลฯ) เหมือนดังว่า โดนหยิกให้ต้องเจ็บ  หมายความว่า มันสุดที่จะคุ้ม เมื่อได้ยิน ได้ฟัง    

        ในความเป็นจริงแล้ว คนรุ่นเก่า ๆ ที่เขาเป็นนักเพลง ไม่มีใครเข้าใจในบทกลอน การสัมผัสคำในวรรคหน้า วรรคหลัง สัมผัสนอก สัมผัสในกันมากนักหรืออาจจะไม่ได้เรียนเขียนผังคำกลอนเสียด้วยซ้ำ  จะรู้ก็แต่ว่า ชนิดของกลอน กลอน ลี กลอน ไล กลอน ลา วันที่ป้าอ้นเล่าถึงบทเพลงที่ลุงนวลเขียน ป้าก็ได้แต่กล่าวถึงลุงนวลว่า พอนึกอะไรได้ก็จด ๆ ๆ เอา ไว้กลัวว่าจะลืม คำดี ๆ เวลาว่างก็นั่งเขียนเป็นบทร้องยาว ๆ จนจบบทและเขียนเอาไว้หลาย ๆ บท น้าถุง เป็นนักเพลงที่เก็บบทร้องเอาไว้มาก มีหลายเล่ม ท่านเคยให้ผมเอามาศึกษา พอได้สักระยะหนึ่งผมก็นำเอาไปคืน แกจะปูผ้า แล้วเอาบทเพลงวาง แล้วก็กราบลงที่บทเพลงนั้น พูดอะไรไม่ทราบทำปากขมุบขมิบจบแล้วจึงนำเอาไปเก็บ   

        นักแต่งเพลงพื้นบ้านในสมัยก่อนเขาหวงเพลงกันมาก ไม่ค่อยที่จะให้ใครไปร้องเล่นกันง่าย ๆ น้าถุงเล่าว่า ที่บ้านลุงเคลิ้ม  มีนักเพลง (พ่อเพลงดัง ๆ ) มาขอต่อเพลงกันไม่เว้น บางท่านมาอยู่รับใช้ลุงเคลิ้มเพื่อที่ว่าจะได้เพลงไปร้อง บางคนมานอนค้าง ช่วยรดน้ำต้นไม้ ตักน้ำใส่ตุ่ม และทำงานอื่น จิปาถะ ด้วยเหตุนี้เวลาที่นักเพลงเก่ง ๆ เขาเล่นเพลงจึงมีผู้ดูผู้ชมคอยรอดูซิว่าวันนี้เพลงใครมันจะคมกว่าใครบทร้องเพลงพื้นบ้านหรือเพลงอีแซวจะมีความคมได้ทุกตัวอักษร ที่ร้องออกไปจะต้อง บาดใจผู้ฟัง สะเทือนใจให้ต้องหยุดคิดนาน ๆ แม้แต่ตัวอักษรที่จะใช้ในวรรคลงเพลงยังจะต้องเลือกใช้ให้ถูกระดับเสียง มิเช่นนั้นคำลง จะกลายเป็นคำร้องฆ่าตัวเอง (มันจะลงไม่ได้ นะซีครับ) 

บทเพลงอีแซว ออกตัวฉบับเดิม 

   สุริยนสนทยา  ท้องฟ้าระยับ     เมฆย้ายขยับ  สิ้นเยื่อหมดไย

   พระอาทิตย์ชักรถ  ลงบทจร     ตะวันลับสันดอน  จมดวงลงไป

   ลับมิดปิดบัง อยู่ในกลางพยาโยม   เขาก็เตรียมจุดโคม ไม่ว่าบ้านของใคร

   ปีเดือนล่วงลับ ไปตามกฎตามกะ   เราก็รู้ระยะ  ตามข้อบรรยาย

   แต่ชีวิตของมนุษย์ ไม่รู้จุดที่จะจับไม่รู้ว่าจะล่วงลับ  ลงไปวันใด    (เอ่อ..) 

   หากชีวิตยังไม่ดับลงไปลับเหลี่ยมโลก อันความสุขทุกข์โศกย่อมประจำนิสัย

  เกิดมาเป็นมนุษย์  เรียกว่าปุถุชน   เรากำเนิดเป็นคน  แล้วก็มีเงื่อนไข

  ความเป็นความตาย  ใครก็ไม่รู้ตัว ใครดีใครชั่ว รู้ตัวเองได้

  บ้างก็ชั่วบ้างก็ดี  บ้างก็มีบ้างก็จน   สุดแล้วแต่กุศล  ที่ทำมาเก็บไว้

  ว่าต้นไม้ยืนต้น  คนรู้สูงต่ำ          กุศลหนุนบุญนำ  ไม่แน่นอนตรงไหน

  ถ้าธาตุแตกแยกย้าย  กลับกลายเป็นผี ต้องหยุดความยินดี  อยากมีอยากได้

  ที่ตายก่อนบ้างก็เผา บ้างก็เอาไปฝัง  คนที่เหลืออยู่ข้างหลัง เฝ้าแต่ร้องอาลัย (เอ่อ..)  

       ถ้าพิจารณากันแบบตัวต่อตัวอักษร คำต่อคำของทุกตัวอักษร จะเห็นได้ว่า คนสมัยก่อนเขาเลือกคำที่นำเอามาวางไว้ในแต่ละวรรค โดยเฉพาะวรรคหลัง เป็นวรรคสำคัญที่จะนำไปสู่อารมณ์เพลง ความคิดเห็นที่คล้อยตาม  การเล่นเสียงที่พริ้วไหวได้ด้วยการกำหนดคำที่จะนำเอามาบังคับเสียง ครับ มิใช่แค่เพียงแต่งเป็นคำประพันธ์แล้วนำเอามาร้องเท่านั้น  ก็สามารถร้องได้ แล้วผู้ฟังจะได้อะไร ได้คิด ได้ติดตาม ได้ความรัก อาลัย หวงแหนหรือไม่และที่สำคัญ คนดูจำนวนไม่น้อย เขาอยากทราบว่า วันนี้ เพลงวงนี้ จะทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยบทร้องอะไร บทร้องเพลงพื้นบ้านจึงเป็นสำนวนที่จะต้องพิถีพิถันกันให้มาก ๆ ผมจึงได้กล่าวเอาไว้ในบทความตอนต้น ๆ ว่า เพลงแต่งมีการเตรียมการได้ และมีความไพเราะมากกว่าเพลงด้น แต่ทั้งนี้ก็จะต้องดูที่เนื้อหาใจความด้วย หากความต้องการเร่งด่วนและต้องการความเป็นปัจจุบัน  เพลงด้นก็สะกดผู้ฟังอยู่กับเราได้เช่นกัน  

      ขอให้นักแต่งเพลงมือใหม่ หรือผู้ที่กำลังมีภาระที่จะต้องเขียนบทเพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงฉ่อย ฯลฯ มีความตระหนักและระลึกเอาไว้ด้วยว่า ในทุกคำลง จะต้องจิกให้เข้าไปเจ็บในหัวใจผู้ฟังให้จงได้ (ทุกลงในบทเพลงพื้นบ้านจะต้องลงให้เจ็บ ลงให้ได้ความรู้สึก) ไม่ควรที่จะลงเพลงลอย ๆ แบบไม่มีความหมาย เพราะว่า ผู้ฟังจะไม่ได้อะไรเลยในการรับฟัง 

      ในตอนต่อไปผมจะแยกแยะให้เห็นว่าตัวอักษรอะไรที่ผู้ร้องสามารถเล่นคำบังคับเสียงร้องได้ไพเราะน่าฟัง

ชำเลือง มณีวงษ์ / รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2525

                         ผู้มีผลงานดีเด่น ศิลปะการแสดง รางวัลราชมงคลสรรเสริญ พุ่มพนมาลา

 

หมายเลขบันทึก: 118208เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท