ถอดความรู้จากการทำงานช่วง Tsunami: คิดแบบทำวิจัย ในช่วงคับขัน


ยิ่งวิกฤตยิ่งต้องคงมาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้น

 โดย นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์

 

จากครั้งที่แล้วที่กล่าวถึงการกำหนดเป้าหมายและค้นหาความเสี่ยงรอบด้าน
ทำให้มองเห็นขนาดของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ว่าปัญหาไม่ใช่มีแต่คนไข้ตรงหน้า
ปัญหายังมีแอบซ่อนอยู่อีกมากมายให้รอเราแก้ไข

ดังนั้นในตอนนี้จะกล่าวถึงการปฏิบัติงานต่อไป

3. ไม่มีการทำงานฉบับย่อในภาวะการคับขัน

คำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากในตอนนั้นคือ
"ลัดขั้นตอนได้บ้างไหม"
เพราะปริมาณงานมาเหลือเกิน ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นมันสับสนวุ่นวาย
จำเป็นไหมที่ต้องทำตามขั้นตอน
ต้องบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมฯ
ต้องสั่งการรักษาผ่านระบบคอมฯ

คำตอบตอนนั้น บอกไปว่า "ต้องทำ" ทั้งนี้คิดว่า
หากไม่ใช้ระบบเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย เปลี่ยนไปหาระบบใหม่หรือระบบที่เรียกว่า
ทางลัด นี้จะทำมั่นใจได้อย่างไรว่า จะเอื้อให้สะดวกขึ้นหรือจะเอื้อให้สร้างปัญหาใหม่ จา่กการที่ "อ่อนซ้อม"
เพราะกระบวนการเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย
สร้างความมั่นใจในการประสานงานได้ดีกว่า และที่สำคัญ
ความเสี่ยงในการบริการหลายอย่างหมดไปเช่น การบ่งชี้คนไข้
การสั่งการรักษาทางอิเล็กโทรนิก
ที่ได้ประโยชน์มากกว่านั้นคือข้อมูลทางอิเล็กโทรนิก
ที่ทำให้ประมวลข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร ได้อย่างทันเวลา
และมีประสิทธิภาพ เช่น เภสัชกร
สามารถออกข้อมูลรายงานอัตราการใช้ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารน้ำ ฯลฯ
ได้วันละหลายๆครั้ง
เพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้อย่างตรงความต้องการและแม่นยำมาก

อีกด้านหนึ่งคือ การคงมาตรฐานการรักษา เพราะแพทย์ พยาบาลหลายคนทราบว่า
เราเก็บเงินไม่ได้ ก็เริ่มกังวล ไม่กล้า ที่จะสั่งตรวจเลือด สั่งเอกซเรย์
หรือ้แต่การเพาะเชื้อ แม้แต่การนัดคนไข้มาทำแผลซ้ำ ในเรื่องนี้
กลับมาเป็นประเด็นว่า ในช่วงวิกฤต
 
"เราจะลดมาตรฐานไหม"

เพราะเรามีทางเลือกที่จะให้บริการเฉพาะหน้า และ (หวังว่า)
ผู้ป่วยคงจะได้รับการบริการ ที่เหมาะสมเมื่อถูกส่งออกไป คำตอบคือ ไม่
เพราะบทเรียนที่ได้รับมา ยิ่งวิกฤตยิ่งต้องคงมาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้น
จะมีปัญหาของความ "ด้อยมาตรฐาน" ตามมาให้แก้ไขอย่างไม่จบสิ้น
การส่งตรวจต่างๆถุกกระตุ้นให้ปฏิบัติเสมือนเวลาปกติ และได้ผลที่น่าสนใจ คือ
นอกจากได้ข้อมูลจากการตรวจวิเคราะห์เพื่อรักษาคนไข้แต่ละคนแล้ว
ยังสามารถนำข้อมูลมาประมวลเชิงสถิติในเรื่องต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น
จำนวนคนไข้ที่ติดผลเพาะเชื้อพบเชื้อ และการดื้อยาของเชื้อ
ผลเกลือแร่ในเลือดว่ามีคนไข้กินน้ำทะเล แล้วทำให้เกลือในเลือกเกินหรือไม่
การติดตามผลเอกซ์เรย์ปอดอย่างต่อเนื่อง
เพื่อประเมินภาวะปอดอักเสบจากน้ำทะเลหรือจากการติดเชื้อ

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นของแถมคือ ต้องยอมรับว่าตอนนั้นไม่ค่อยเชื่อ
หรือไม่ค่อยแน่ใจกับผลเพาะเชื้อเท่าไหร่
เพราะมันขัดกับความเชื่อเดิมๆ ก็เลยถามห้องปฏิบัติการว่า
เก็บเชื้อไว้ก่อนได้ไหม ค่อยเอามาดูอีกทีตอนหลัง
หัวหน้าห้องปฏิบัติการ คุณ วราภรณ์ ก็ดีใจหาย (แม้ว่ายุ่งแทบตาย)
ก็บอกว่า "ได้คะ"
เลยทำให้เราได้ข้อมูลการติดเชื้อที่ยืนยันได้ว่าถูกต้องเพราะ
เมื่อเอามาตรวจวิเคาระห์ซ้ำ ก็ยืนยันวาได้ผลเช่นเดิม เป็นเชื้อกรัมลบ
และยังพบว่าเป็นการติดเชื้อหลายตัว (Multiple infection)
นับว่าทำให้ได้ความรู้ใหม่จากสถานการณ์ดังกล่าว

ผมคิดว่า แนวคิดแบบการทำวิจัย ใช้ได้ดีในสถานะการแบบนี้
เพราะหากเราควบคุมปัจจัยต่างๆให้ไม่มีความหลากหลาย
รวมถึงการตั้งคำถามซ้ำบนความไม่เชื่อ ทำให้ (บังเอิญ)
ได้ความรู้ใหม่ขึ้นมากอีกเรื่อง เพราะเมื่อเสร็จงาน
หมายถึง ส่งคนไข้ออกไปหมดแล้ว ได้มีโอกาสไปดูที่ชายหาด และซากหักพัง
พบว่า การปนเปื้อนเชื้อของบาดแผล ที่เราพบ
ที่รพ. ว่าเป็นเชื้อแกรมลบและติดเชื้อหลายตัวเห็นจะจริง
เพราะโรงแรมต่างๆถุกทำลาย บ่อเกรอะ หรือถังส้วม ระเบิดพังหมด
จากแรงน้ำ ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งบาดแผลพวกนี้ก็ปนเปื้อนอุจาระ
ซึ่งก็เป็นจริงตามผลเพาะเชื้อ
และได้แอบไปเอาน้ำตามชายหาดมาเพาะเชื้อดู ก็พบว่า ..............................
อยากทราบต้องถามกันหลังไมค์ครับ
หมายเลขบันทึก: 118197เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท