จะเป็น " แม่ " ในดวงใจได้อย่างไร ...


การเป็น พ่อแม่ในดวงใจ ของลูกคือ เป็นพ่อแม่ ที่ลูกรับรู้ และเข้าใจได้ว่า รักและเข้าใจลูก อย่างแท้จริง และเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่จะผลักดัน ให้ลูกได้รับการพัฒนา อย่างเต็มศักยภาพ ของตน นั้น ก็เป็นเรื่อง ที่ควรพิจารณา เช่นกัน

       กิตติสุนทร กล่าวไว้ ในหนังสือ "หน้าที่ของคน " ว่าบิดามารดา แปลว่า ผู้เลี้ยงลูก ส่วนมารดา หมายถึง ผู้หญิง ที่ได้เลี้ยงลูก หน้าที่ของพ่อแม่ มี ห้าประการคือ กันลูกจากความชั่ว ปลูกฝังลูก ไว้ในทางดี ให้ลูกได้รับ การศึกษา จัดแจงให้ลูก แต่งงานกับคนดี และมอบทรัพย์มรดกให้ เมื่อถึงกาลที่ควรมอบ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคน ปรารถนาจะทำ หน้าที่ของตนเอง ให้สมบรูณ์ที่สุด เพื่อให้ลูกมีชีวิต ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์ มั่นคง และเป็นสุข

      ดังนั้นการเป็น พ่อแม่ในดวงใจ ของลูกคือ เป็นพ่อแม่ ที่ลูกรับรู้ และเข้าใจได้ว่า รักและเข้าใจลูก อย่างแท้จริง และเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่จะผลักดัน ให้ลูกได้รับการพัฒนา อย่างเต็มศักยภาพ ของตน นั้น ก็เป็นเรื่อง ที่ควรพิจารณา เช่นกัน ในโอกาส "วันแม่แห่งชาติ" ผู้เขียนจึงรวบรวม ข้อคิดหรือ ข้อควรปฏิบัติ เพื่อการเป็น " แม่" ในดวงใจ ไว้พอเป็น แนวทาง ดังนี้ค่ะ

1. มีความรู้ คู่ความรัก และความเข้าใจ เพื่อให้ความรู้นั้น นำพาความรัก และความเข้าใจ ไปสู่ลูกอย่างถูกทาง

2. ให้โอกาสลูก ได้มีส่วนร่วม ในการคิดและตัดสินใจ ในเรื่องต่างๆ ไปทีละเล็กละน้อย ตามวัยของเขาบ้าง

3. สอนลูก ด้วยการกระทำ หรือทำตัวเป็นตัวอย่าง ด้วยนอกเหนือ จากการใช้คำพูด

4. ให้โอกาสลูก ได้แสดงออก ถึงความเป็นตัวตน ของเขาบ้าง แทนการครอบงำ ตลอดเวลา

5. มีความพอดี ในการเลี้ยงดู และดูแลลูก โดยหาความพอดีให้พบ ได้จากการใกล้ชิด และทำความเข้าใจ ถึงธรรมชาติ ของลูกอย่างลึกซึ้ง โดยหลีกเลี่ยง การเอาค่านิยมส่วนตัว ไปเกี่ยวข้อง ให้มากที่สุด เพื่อจะได้รู้จัก ลูกให้มากที่สุด

6. หลีกเลี่ยงการยัดเยียด ความฝันของตน ให้กับลูก เพราะอาจจะเป็น ภาระหนักเกินกว่า ที่ลูกจะรับได้ และลูกอาจจะ รู้สึกผิด ถ้าทำตาม ที่แม่คาดหวัง ไว้ไม่ได้

7. ไม่เลี้ยงลูก เพื่อทดแทน ความผิดหวัง ของตนเอง

8. หลีกเลี่ยง การเปรียบเทียบลูก กับเด็กคนอื่นๆ เพราะแทนที่ จะเป็นแรงจูงใจ จะกลายเป็น การบั่นทอนจิตใจ ลูกเสียมากกว่า

9. หัดรับฟังลูกบ้าง อย่ายึดคติที่ว่า "อาบน้ำร้อนมาก่อนเจ้า แม่เข้าใจ ....... " และจ้องที่จะพร่ำสอน ลูกตลอดเวลา เพราะเท่ากับ เป็นการบังคับ ให้ลูกเลิกคุย กับแม่โดยปริยาย

10. เลิกการโต้แย้ง กับลูกด้วยสำนวน ที่ว่า "ที สมัยแม่ ไม่เห็นเป็น อย่างนี้เลย ....." เพราะร้อยทั้งร้อย ลูกจะค้านว่า "สมัยนี้ มันไม่เหมือน สมัยโน้นแล้วนะ แม่ ....." แล้วตามมาด้วย ความรู้สึกเบื่อหน่าย ว่าแม่เชยเหลือเกิน แต่ไม่ได้หมายความว่า แม่จะเล่าเรื่องเก่าๆ เพื่อเป็นข้อคิด แก่ลูกไม่ได้ เพียงแต่ต้อง หาจังหวะ ที่เหมาะสมเท่านั้น

11. ละเว้นการใช้คำพูด หรือแสดงท่าทาง ในด้านลบ เพื่อบอกถึงความรัก และความห่วงใย ที่มีต่อลูก เช่น หลังจากตี และดุด่าลูก อย่างรุนแรง แล้วก็บอกว่า เพราะรัก จึงตีจึงด่า ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า คงเป็นการยาก ที่ลูกจะเข้าใจได้

12. เมื่อรักก็บอกว่ารัก เมื่อห่วงใย ก็บอกว่าห่วงใย แบบตรงไปตรงมา เมื่อลูกทำผิด ก็ชี้ทางที่ถูกต้อง ด้วยคำพูด ในเชิงบวก และให้กำลังใจ น่าจะเป็นวิธี ที่สร้างสรรค์ และลูกเข้าใจ ได้ง่ายกว่า

13. จงให้ความมั่นใจ แก่ลูกว่าแม่รักลูก โดยไม่มีเงื่อนไข ใดๆ ทั้งสิ้น และเข้าใจว่าลูกๆ นั้นไม่ว่าจะอยู่ ในวัยใด ต่างก็ยังต้องการ ความรัก ความอบอุ่น จากแม่ทั้งสิ้น

14. หัดสื่อสารกับลูก ด้วยสื่อสัมผัสบ้าง เช่น การประคอง กอด หอม จับมือ ลูบศรีษะ แตะแขน ลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นต้น บางที การสัมผัส เพียงน้อย ก็ถ่ายทอด ความรู้สึก ได้อบอุ่น ลึกซึ้งดีกว่า การพูด เป็นพันคำก็ได้


       นอกจากนี้ แม่ลองสำรวจ ดูนะคะว่า ตนเองมี คุณสมบัติ ต่อไปนี้หรือไม่ เพราะจากการ พูดคุยกับบรรดาลูกๆ พบว่า เป็นคุณสมบัติ ของแม่ในดวงใจ ทั้งสิ้น เช่น ใจเย็น ไม่จู้จี้ขี้บ่น รับฟังมีเหตุผล อดทน ให้อภัย ให้เกียรติ สม่ำเสมอ ยืดหยุ่น ไม่หมั่นขุดคุ้ย เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ไม่ชวนพ่อทะเลาะ อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ที่อยากเลี้ยง รักเพื่อนของลูก เป็นที่พึ่ง ได้ทุกเรื่อง ปกป้องลูกได้ (อยากให้เข้าข้างลูก) ทันสมัย แต่งตัวดี เข้าสังคมเป็น ให้คำปรึกษา และคุยด้วย ได้ทุกเรื่อง เป็นต้น การเป็นแม่ ในดวงใจของลูก น่าจะเอื้อประโยชน์ ต่อการเลี้ยงดูลูก ให้มีคุณภาพ ได้มากกว่า คุณแม่ที่เป็น คู่กัดจริงไหมคะ (มีบางเสียง แย้งมาว่า แม่ลูกคู่กัด ที่รักกัน ก็มีถมไป อันนั้นถือว่า เป็นข้อยกเว้น ก็แล้วกันนะคะ )

        ดังนั้น หากข้อใด พอปฏิบัติได้ ก็ลองเก็บไป พิจารณาดูนะคะ แต่ถ้าจะให้ ดีที่สุด ขอแนะนำว่า หาเวลาสื่อสาร พูดคุยกับลูกของเรา นั่นแหละค่ะว่า แม่ในดวงใจ ของเขานั้น ควรจะมีคุณลักษณะ อย่างไร แลกเปลี่ยนกันไปเลย จะได้ถูกใจกัน ทั้งสองฝ่ายดีไหมคะ ทั้งนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ นะคะถ้าคุณพ่อ จะนำไปปรับใช้

สรวงธร  นาวาผล  แผยแพร่ใน   http://www.xaap.com

หมายเลขบันทึก: 118140เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

  • บันทึกนี้ ยอดเยี่ยมเลยค่ะ
  • การเลี้ยงลูก  ไม่ใช่เลี้ยงแต่ตัว  ต้องเลี้ยงที่หัวใจด้วยค่ะ
  • มีประโยชน์มากเลยค่ะ บันทึกนี้

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท