ปลา
นางสาว สุลักขณา ปลา ด้วงโพธิ์

มุกดาหารประตูสู่อินโดจีน


เปิดสะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหาร-สหวันนะเขต
เปิด...สะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหารถึงสะหวันนะเขต

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 ได้มีพิธีลงนามในสัญญากู้เงินก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) ในวงเงิน 8,090 ล้านเยน หรือ ประมาณ 2,588 ล้านบาท โดยไทยและลาวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่ง

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทยเพื่อเชื่อมต่อไปยังแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว แล้วต่อเนื่องไปสิ้นสุดที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

*ระยะเวลาจากปี 2544 ถึง 2549 เป็นเวลา 5 ปี บัดนี้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ก่อสร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานเปิดสะพานร่วมกับบุคคลสำคัญระดับสูงทั้งฝ่ายลาว และเวียดนาม ในวันที่ 20 ธันวาคม 2549*

วันเวลาดังกล่าวไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งความมหาปีติยินดีของประชาชนชาวไทย-ลาว สองฝั่งแม่น้ำโขง ด้านจังหวัดมุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต ในลาว ซึ่งถูกกั้นด้วยสายน้ำโขง มหานทีอันยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์เท่านั้น

แต่สะพานดังกล่าวยังได้เชื่อมร้อยสัมพันธ์ไทย-ลาว เข้าด้วยกัน ทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีความผูกพันกันประดุจเครือญาติที่ใกล้ชิด และยังมีโอกาสไปมาหาสู่กันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นประตูเศรษฐกิจสู่อินโดจีนที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"บุญสม พิรินทร์ยวง" ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ในฐานะเจ้าภาพในพื้นที่เล่าถึงความสำคัญของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ที่ตั้งในจังหวัดมุกดาหาร ว่า เมื่อมีการเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการแล้ว จะเป็นเส้นทางคมนามคมที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ส่งผลให้จังหวัดมุกดาหารมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพิ่มสูงขึ้น



**โดยในด้านการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้า ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังแขวงสะหวันนะเขตและเชื่อมต่อไปประเทศเวียดนาม คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 ล้านบาท ซึ่งจากภาพรวมของมูลค่าการค้าในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท

"เมื่อมีการเปิดใช้สะพานก็จะมีการขยายเวลาในการเปิดทำการของด่านศุลกากรมุกดาหารออกไป โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึง 22.00 น. ซึ่งจะทำให้เกิดการคล่องตัวในการค้าขายชายแดนมากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่สามสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้นด้วย ถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าขายระหว่างประเทศ"

ส่วนฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว นั้น บุญสมบอกว่า ปัจจุบันแขวงสะหวันนะเขต ได้มีการจัดตั้ง *เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน* ไว้รองรับนักลงทุน โดยเชิญชวนให้นักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนชาวต่างชาติส่วนหนึ่งเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

"ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีสะพานข้ามโขงเกิดขึ้น รัฐบาลไทยได้กำหนดให้จังหวัดมุกดาหาร เป็นที่ตั้งของศูนย์การผลิตรวบรวมแปรรูปและกระกระจายสินค้า หรือที่เรียกว่า Distribution Center เวลานี้อยู่ระหว่างการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้และคัดเลือกพื้นที่ เพราะขั้นตอนการสำรวจศึกษานั้นได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ความคิดเห็นชอบ"

 
 
สำหรับความเห็นของบุญสมเองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ได้เสนอความคิดเห็นว่าน่าจะให้รัฐบาลเป็นผู้เข้ามาลงทุนดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าว ซึ่งจะประกอบด้วยศูนย์พักและกระจายสินค้า พื้นที่ตั้งโรงงาน ทั้งเป็นลักษณะของการรวบรวมสินค้าและการประกอบชิ้นส่วน ที่ไม่ใช่เป็นการผลิตที่สร้างมลพิษและมลภาวะ

เพราะคาดว่าในอนาคตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัด ที่ประกอบการขนส่งสินค้าไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงสิงคโปร์ จะหันมาใช้เส้นทางขนส่งผ่านจังหวัดมุกดาหาร ไปยังแขวงสะหวันนะเขตและต่อไปประเทศเวียดนาม ผ่านเส้นทางหมายเลข 9 ไปยังท่าเรือดานัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือดานังไปยังประเทศต่างๆ

*เนื่องจากเส้นทางนี้ใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งจากแหลมฉบังไปยังเอเชียตะวันออกซึ่งจะต้องใช้เวลามากถึง 7 วัน แต่ถ้าใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจังหวัดมุกดาหารไปทางประเทศเวียดนามจะใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น และค่าขนส่งก็ถูกลง ทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลงด้วย*

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะแค่ยังไม่เปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการ นักท่องเที่ยวก็มีมากกว่าเดิม เกือบๆ จะเดือนละหมื่นคน

"ที่ผ่านมานักเที่ยวที่นั่งเรือโดยสารข้ามแม่น้ำโขงไปยังสะหวันนะเขตและต่อไปเที่ยวในประเทศเวียดนาม ผ่านเส้นทางหมายเลข 9 เฉลี่ยแล้วประมาณ 500-600 คนต่อสัปดาห์ แต่หลังจากมีสะพานทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ จังหวัดมุกดาหาร สะหวันนะเขต และกวางตรี ซึ่งมีความสัมพันธ์ในระดับเมืองคู่แฝด ก็ได้มีข้อตกลงความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมร่วมกันสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำแผนที่ท่องเที่ยว 3 แผ่นดิน ออกแจกจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ

ด้าน *พิเชฐ แสงนิศากร* ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวถึงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของ 3 ประเทศ ว่า ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวมานั้น เป็นการเชื่อมโยงจากจังหวัดมุกดาหารไปทางด้านตะวันออก ซึ่งเส้นทางคมนาคมมีการปรับปรุงจนเกือบแล้วเสร็จตลอดสาย
 
 


ไม่ว่าจะเป็นถนนหมายเลข 9 ในลาว ถนนหมายเลข 1 และอุโมงค์ฮายวัน ไปจนถึงท่าเรือดานัง ในเวียดนาม

แต่สำหรับเส้นทางด้านตะวันตก จากมุกดาหารไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมไปยังท่าเรือมะละแม่งของพม่า ยังไม่มีความพร้อมสำหรับการคมนาคมขนส่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง หากเส้นทางตลอดทั้งสายมีการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ ก็จะสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ทางด้านมหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย

"การแข่งขันในตลาดโลก มีทิศทางการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การแสวงหาวิธีลดต้นทุนของสินค้า จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หากจะให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ รัฐบาลก็ควรสนับสนุนทุกวิถีทาง เช่น การเพิ่มขนส่งระบบรางเข้ามา เพื่อเชื่อมทางรถไฟจากจังหวัดขอนแก่นมากาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของการขนส่งลดต่ำลงมาก" นายพิเชฐกล่าว

สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงจากทางตะวันออกคือ เมืองดานัง (เวียดนาม) ข้ามแม่น้ำโขงฝั่งลาวที่แขวงสะหวันนะเขต ต่อมายังไทยที่จังหวัดมุกดาหาร และผ่านไปยังฝั่งตะวันตกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดี ก่อนจะไปสิ้นสุดที่เมืองมะละแหม่งของพม่า

สะพานแห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตลอดจนการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนไทย-ลาว และ ประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง *เป็นอีกก้าวของการพัฒนาร่วมกันระหว่างมิตรประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง*

คำสำคัญ (Tags): #kmobec
หมายเลขบันทึก: 118049เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

ยินดีรู้จักครับ ผมก็อยู่มุกฯ เหมือนกันครับ

ขอบคุณคะที่แวะเข้ามาทักทาย 

ยินดีที่ได้รู้จักคะ

สนใจไปเที่ยวมุกดาหารและข้ามไปลาวด้วย  คุณสุลักขณาช่วยแนะนำด้วย/คุณสุลักขณาจะกรุณาจะเป็นไกด์นำเที่ยวประเทศลาวด้วยยิ่งดีใหญ่  พอดีดูข่าวทางทีวีวันก่อนทางTITVแล้วสนใจอยากไปเที่ยวประเทศลาวทางมุกดาหาร..สนใจมากๆสวยดี...ช่วยแนะนำด้วยนะคุณสุลักขณา

อยู่ภาคกลางอยากไปดูงานที่ดน่นเหมือนกัน ถามหน่อยละกัน ทางสปปลาวเขาต้องการอาหารทะเลหรืเปล่าเช่น หอยแคลง ปลาหมึก และอื่นๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท