ล้างมือ เรื่องน่าเบื่อที่ต้องทำ


          มือของคนเราเป็นอวัยวะที่สำคัญทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ใช้หยิบจับตั้งแต่สิ่งสกปรกมากที่สุดถึงหยิบจับสิ่งที่ต้องสะอาดมากที่สุดเช่นกัน เช่น ใช้มือสัมผัสอุจจาระเวลาเข้าห้องส้วม แคะขี้มูก หยิบอาหารใส่ปาก ใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น ในแต่ละวันเราใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย จนอาจลืมนึกถึงว่า มือเราสะอาดแค่ไหน หากเราสามารถมองเห็นเชื้อโรคด้วยตาเปล่า เราส่องดูมือจะเห็นว่ามือที่คิดว่าสะอาดแล้ว  ยังมีสิ่งที่สกปรกมากมาย ติดอยู่ตามนิ้วมือ โดยเฉพาะบริเวณตามนิ้วมือ นิ้วโป้ง และตามซอกนิ้ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ ได้แก่ พยาธิต่าง ๆ แบคทีเรียที่สร้างสารพิษในแผล ฝี หนอง เชื้อโรคในอุจาระ เช่น เชื้ออหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ ตับอักเสบ และไวรัสร้ายแรงในน้ำมูก น้ำลาย เช่น ซาร์ส เป็นต้น

          ปัจจุบัน โรคติดต่อหลายชนิดที่เกิดขึ้นใหม่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการป้องกันโรคมากขึ้น มีการป้องกันการติดเชื้อทางด้านต่างๆทั้งทางด้านอาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมือเพื่อป้องกันโรคเช่นผ้าปิดจมูก ถุงมือ หรือความแพร่หลายของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยเช่นสบู่ฆ่าเชื้อ สเปรย์ฆ่าเชื้อแต่หากพิจารณาจากความคุ้มค่าคุ้มราคากับวิธีการป้องกันโรคติดต่อ เห็นจะไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่า "การล้างมือ

ทำไมต้องให้ความสำคัญ? ใครๆก็ล้างมือกันอยู่แล้ว

        เวลาเอาเรื่องล้างมือไปพูดที่ไหนก็ตาม มักจะมีคนบ่นว่าน่าเบื่อ ไม่รู้จะพูดทำไมซ้ำซาก แต่ลองถามเจาะลึกกันในรายละเอียด ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำ ว่าแล้วก็ทดลองทำแบบสอบถามเล่นๆดูว่าคนที่อ่านบทความนี้มีสุขอนามัยในการล้างมือดีแค่ไหน
       ถ้าอ่านโจทย์แล้ว คิดว่าคุณเองปฏิบัติตนตามที่กล่าวไว้ เกินกว่า 70% ของสถานการณ์ในแต่ละข้อ ให้คุณตอบ "1"   แต่ถ้าคิดว่าไม่ได้ทำหรือไม่รู้ หรือว่าปฏิบัติตนไม่เป็นไปตามในข้อนั้น ให้ตอบ"0"  เสร็จแล้วเอาคะแนนมาบวกกัน
     1. ทุกครั้งหลังจากที่คุณเข้าห้องน้ำ คุณล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง
     2. ทุกครั้งก่อนที่คุณจะกินข้าว (ไม่ว่าจะใช้มือหรือช้อน ไม่ว่าที่นั่นจะมีห้องน้ำหรือไม่) คุณล้างมือด้วยสบู่เสมอ
     3. ก่อนที่คุณจะไปจับหรือสัมผัสตัวคนอื่น คุณมั่นใจว่าไม่ได้ล้วงแคะแกะเกาหรือแคะขี้มูกมาก่อน (หรือถ้าแคะและล้างมือฟอกสบู่)
     4. คุณเคยรู้จัก "วิธีล้างมือ7ขั้นตอน" และปฏิบัติตามในการล้างมือ
     5. เวลาไปเข้าห้องน้ำและล้างมือ คุณไม่เคยใช้ผ้าเช็ดมือที่แขวนไว้ แต่จะใช้ผ้าแบบใช้แล้วทิ้ง
     6. เวลาใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ในเครื่องรวม คุณไม่เคยเอามือมาแคะขี้มูกหรือหยิบอาหารเข้าปาก (ถ้าเคย เขียนว่า 0 ซะดีๆ)
     7. ก่อนกัดเล็บทุกครั้ง คุณจะล้างมือก่อนเสมอ (ถ้าไม่กัดเล็บ ตอบ 1 )
     8. ก่อนขยี้ตาทุกครั้ง ล้างมือมาหมาดๆ
     9. ก่อนทำอาหารหรือปอกผลไม้ คุณล้างมือก่อน
     10. คำว่าล้างมือของคุณ คือการล้างมือด้วยสบู่ (ถ้าส่วนใหญ่ล้างมือผ่านน้ำเฉยๆ ตอบ 0 ซะ)
ถ้าว่างๆ ลองลงคำตอบไว้นะ แล้วลองมาดูกันว่าจะมีคะแนนเกินครึ่งหรือเปล่า

 
ล้างด้วยอะไรจึงจะดี?
       การล้างด้วยสบู่อย่างเดียวก็จัดว่าพอเพียงแล้วในชีวิตประจำวัน แต่หากปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยต้องหาสบู่ยาหรือสบู่ฆ่าเชื้อมาใช้ เพื่อการกำจัดเชื้อที่สะอาดหมดจด
      
    ในทางการแพทย์เอง ที่ได้รับการสั่งสอนมาเสมอ ก็มีการย้ำว่า การล้างมือถือเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่ดีและถูกที่สุด ในกรณีที่ไม่มีเวลาอาจอนุโลมให้ใช้แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาล้างมือแห้งได้ แต่ข้อจำกัดของแอลกอฮอล์เจลก็มีคือไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคทุกชนิด หากมือของเรานั้นเปื้อน   สิ่งสกปรก เลือด หรือสารคัดหลั่งอย่างชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเรื่องการล้างมือที่ชี้ให้เห็นว่า การล้างมือของคนทั่วไป มักจะล้างไม่สะอาดและไม่ทั่วถึง   (ส่วนใหญ่มักสะอาดแค่ฝ่ามือ ส่วนปลายนิ้วที่เป็นส่วนที่นำโรคได้ดีมักจะยังสกปรกอยู่) จึงมีการล้างมือที่ดีไว้7 ขั้นตอน เพื่อให้การล้างมือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (ดังรูป)
 

การล้างมือที่มีประสิทธิภาพ 7 ขั้นตอน
ทุกขั้นตอน ทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง

                     

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการล้างมือ

  • ผ้าเช็ดมือควรจะใช้สำหรับคนแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน
  • ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษที่ใช้ครั้งเดียว
  • ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดมือชนิดใช้ผืนเดียวแขวนไว้ทั้งวัน
  • ไม่ต้องใช้ฟองน้ำ หรือผ้าในการล้างมือ เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจจะมีเชื้อโรคอยู่
  • ที่วางสบู่แบบก้อน ก็ควรระบายน้ำไม่ให้ไปขังในจุดวางสบู่
  • หากใช้สบู่เหลวหรือสบู่ยาก็ต้องมีการทำความสะอาดขวดที่ใส่   

ข้อแนะนำสำหรับการล้างมือในเด็ก

  • ฝึกเด็กให้เป็นนิสัยโดยให้ล้างมือ ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากเล่น หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง หลังจากไอหรือจาม
  • ต้องสอนให้เด็กเห็นวิธีการล้างมืออย่างถูกต้อง

ข้อมูลจาก

1."มือเป็นแหล่งแพร่โรค" กองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

2. "การทำความสะอาดมือ" งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    

 


 

 

คำสำคัญ (Tags): #ล้างมือ#รพ.ตสม#ic
หมายเลขบันทึก: 118046เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
แวะมาอ่านครับ สบายดีนะครับพี่ๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท