พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550


พรบ.สุขภาพแห่งชาติ

ด้วยพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถือได้ว่าเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของสังคมไทย วางทิศทางระบบสุขภาพที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อลดความเจ็บป่วย โดยเน้นการสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาคราชการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น มีหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายสุขภาพฉบับแรก ที่ผ่านกระบวนการจัดทำที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนมีส่วนร่วม และ ก็ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 16 ซึ่งประกอบด้วย 6 หมวด 55 มาตรา ได้เปิดวิธีคิดใหม่ว่า "สุขภาพ" หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม อย่างสมดุล ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิต วิญญาณ สุขภาพมิได้หมายถึงเฉพาะความไม่พิการและการไม่มีโรคเท่านั้น "สุขภาพ"จึงเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นและวางกลไกการทำงานให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้การเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์จากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "คสช." ประกอบด้วย
(1)
นายกรัฐมนตรี    เป็นประธานกรรมการ
(2)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง   (ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด จำนวนสี่คน)    เป็นกรรมการ
(3)
ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ     เป็นกรรมการ
(4)
ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (ซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนสี่คน)   เป็นกรรมการ
(5)
ผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพที่มีกฎหมายรับรอง (ซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนสี่คน)    เป็นกรรมการ
(6)
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการบริหารหรือกฎหมาย ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านพัฒนาชุมชนเป้าหมายเฉพาะ  (ซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือห้าคน)             เป็นกรรมการ
(7)
ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน   (ซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือสิบสามคน)       เป็นกรรมการ
(8)
ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน     (ซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือสองคน)            เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการในช่วงเวลาสำคัญนี้ ระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคม 2550 ขอเชิญองค์กรภาคเอกชน ขึ้นทะเบียนเพื่อส่งผู้แทนและเลือกกันเองเป็น คสช.โดยขึ้นทะเบียนตามกลุ่มกิจกรรม ดังนี้ 1).กลุ่มขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิก 2). กลุ่มขององค์กรที่ดำเนินงานด้านอาสาสมัคร จิตอาสา หรือ รณรงค์เผยแพร่ 3).กลุ่มขององค์กรที่ดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4).กลุ่มขององค์กรที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ชุมชน 5).กลุ่มขององค์กรที่ดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชน สังคม นโยบายสาธารณะ พิทักษ์สิทธิมนุษยชน การศึกษา ศาสนา หรืออื่นๆ โดยขอรับเอกสารได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี หรือ สสจ.ทุกจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดาวน์โหลดที่ www.nationalhealth.or.th                ทั้งนี้สาระสำคัญในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับนี้  ได้กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นความลับส่วนบุคคล ไม่สามารถนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ส่วนข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีป้องกันให้ประชาชนทราบโดยเร็ว ด้านการจัดการ จัดให้มีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รับผิดชอบงานธุรการ และมีคณะกรรมการบริหารรายได้ ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีและรายได้อื่นตามกำหนดนอกจากนี้ กำหนดให้ คสช. มีหน้าที่จัดหรือสนับสนุนให้ประชาชนจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ หรือเฉพาะประเด็น และจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ โดยจะมีการตราธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติขึ้น  เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานสุขภาพของประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาตินี้ จะส่งผลถึงสุขภาพของประชาชนไทยได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างทั่วถึงทุกเพศ ทุกกลุ่มวัยอาชีพ                 ต่อไปนี้ประชาชนจะเป็นตัวหลักในการกำหนดนโยบายสุขภาพ บุคลากรสาธารณสุขต้องปรับมาเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้กับประชาชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับจะทำงานร่วมกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ปรับบทบาทจากผู้คิดเองทำเองฝ่ายเดียว มาเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ สนับสนุนกระบวนการทำงานต่าง ๆ และเข้าร่วมกับประชาชนในการทำสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่มีผลดีต่อสุขภาพ ผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไปสู่คณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเครือข่ายภาคประชาชน นำไปปฏิบัติในส่วนที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องให้เกิดผลสำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 118045เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท