เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (5)


ตอนที่ระดมความคิดเมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2550 เราดีใจ ที่เห็นชาวเมืองลำพูนจากหลากหลายกลุ่ม และอาชีพ มาร่วมมากมาย โดยเฉพาะในวันที่ 9 นั้น ถึงกับต้องแบ่งออก เป็นกลุ่มย่อยเล็ก ๆ นั่งคุยกันใต้ต้นไม้

ในแต่ละกลุ่มย่อย เรานำเสนอข้อมูล ที่ได้มีการศึกษาไว้ล่วงหน้าก่อน แล้วให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนแสดงความเห็น โดยใช้ปากกาเขียนใส่กระดาษชิ้นเล็ก ๆ ของตัวเอง แล้วนำมาปะติดปะต่อรวมกัน บนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ ตามโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ถัดจากนั้น จึงเปิดให้อภิปรายได้โดยเสรี วิธีนี้ช่วยให้ทุกคน ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ทั่วถึงเท่า ๆ กันได้มากที่สุด ยากที่คนใดคนหนึ่ง จะผูกขาดการพูดแสดงความคิดเห็น

การระดมความเห็นแบบนี้จะสำเร็จได้ ต้องมี “คุณอำนวย (facilitator)” ที่มีความสามารถ คอยทำหน้าที่ตั้งคำถามผู้เข้าร่วมในกลุ่ม ชักชวนให้เสนอความคิดของแต่ละคน ก่อนที่จะให้ลุกขึ้นพูดกระทบความคิดกันเป็นกลุ่ม คุณอำนวยจะต้องผูกความคิดเห็น ของผู้เข้าร่วมทั้งหมดเข้าเป็นเรื่องราวอีกด้วย เจ้าหน้าที่หนุ่มสาวในท้องถิ่นลำพูนหลายคน ได้เข้าร่วมเป็น “คุณอำนวย” ในกลุ่มย่อย หลังจากได้มีการซักซ้อม ตระเตรียมวิธีการกันล่วงหน้าก่อนถึงวันจริง กระบวนการวันนั้นจึงเดินไปได้โดยราบรื่นเกินคาด

วันนั้นเราจับสัญญาณได้มากมายครับ ทั้งปัญหาปัจจุบัน แนวโน้ม และข้อกังวลของชาวเมือง ที่มีต่ออนาคตของพวกเขาในยี่สิบปีข้างหน้า เช่น ลำไยจะอยู่คู่ลำพูนไปตลอดจริงหรือ? มหาวิทยาลัยลำพูนควรจะเกิดขึ้นหรือไม่? ประวัติศาสตร์โบราณ กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร? วิถีของวัยรุ่นและการเล่นเกมส์ จะนำไปสู่สังคมแบบไหน?

ข้อมูลที่ได้จากชาวเมือง ถูกนำกลับมาแยกแยะวิเคราะห์ เพื่อค้นหาแนวโน้มอนาคต จากนั้น เรากลับไปที่ลำพูนอีกครั้งในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2550 คราวนี้ เราพกผลที่ได้จากขั้นตอนแรกไปนำเสนอด้วย เพื่อดำเนินกระบวนการขั้นตอนที่ 2 ต่อ นั่นก็คือ การจัดทำภาพอนาคต (Scenario Building) เมืองลำพูนในปี 2570

ผมอาจเปรียบการจัดทำภาพอนาคตได้ว่า เหมือนกับใช้กล้องส่องทางไกล มองออกไปในอนาคตครับ ผู้เข้าร่วมกระบวนการ จะต้องช่วยกันใช้จินตนาการ เพิ่มเติมจากข้อมูลแนวโน้ม และความผันผวนที่ทำเอาไว้แล้ว บรรยายสิ่งที่เห็นจากกล้องส่องทางไกล ออกมาเป็นหลาย ๆ เรื่องที่มีรายละเอียดชัดเจน โดยต้องมีทั้งเรื่องที่น่าจะเป็น เรื่องที่อยากให้เป็น รวมทั้งที่ไม่อยากให้เป็น แต่อาจเป็นได้หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ หรือมีเหตุการณ์ผันผวนเกิดขึ้น และพลิกอนาคตไปอีกทางหนึ่ง

วิธีการที่เราใช้ในรอบนี้เป็นแบบเรียบง่าย คือให้ผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่มย่อย ดูข้อมูลที่วิเคราะห์จากครั้งที่แล้ว จากนั้นให้ช่วยกันเขียนข่าว ในหน้าหนังสือพิมพ์สมมติของอนาคต 20 ปีข้างหน้า ทั้งข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ในเนื้อข่าวให้เล่าถึง ที่มาของแต่ละเรื่องที่เป็นข่าวนั้นด้วย บางเรื่องมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกสนาน เสร็จแล้ว ให้แต่ละกลุ่มผลัดกัน ขึ้นมาเล่าให้กลุ่มอื่นฟัง ผลัดกันวิพากษ์ ท้ายที่สุด ก็มีการสรุปข่าวทั้งหมดของแต่ละกลุ่ม เรียบเรียงออกมา เป็นภาพของเหตุการณ์ในยี่สิบปีข้างหน้า ในลักษณะของเรื่องเล่า รวม 4 ภาพ

เรื่องเล่าทั้งหมดนี้ ถูกนำมาวิเคราะห์วิพากษ์ ในเวทีชาวเมืองวงกว้างอีกครั้งในวันต่อมา

หมายเลขบันทึก: 118025เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท