ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ๗ เดือนกับงานจัดการความรู้


เดือนนี้มีก้าวใหม่ของงานจัดการความรู้เกิดขึ้นกับกลุ่มครู คือการไปคว้าความรู้ เรื่องProject Approach ที่ทางคณะครู และวิชาการช่วงชั้นไปรับอบรมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญ คือ Dr.Sylvia  C. Chard มาปรับใช้กับภายใน

  

เกิดเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ครู ด้วยการให้ครูที่ไปอบรมได้มาถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในหลักการ และคอยให้คำปรึกษาในขั้นการทดลองทำโครงงาน ทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับครูด้วยการลงมือปฏิบัติ และด้วยการให้ครูไปทำกับห้องเรียนของตน เป็นการนำความรู้จากภายนอก เข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการจัดการเรียนการสอน ในช่วงของการทำโครงงาน ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ เมื่อสิ้นภาคเรียนที่มีอยู่แต่เดิม

  

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ บุคลากรของโรงเรียนมีความเข้าใจในเรื่อง project approach  วิชาการช่วงชั้นได้ชุดความรู้  เด็กนักเรียนได้สนุกกับงานการประมวลความรู้ของตนมากขึ้น มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ในช่วงชั้นมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มครู และนักเรียน ที่ก่อให้เกิดความงอกงามของวัฒนธรรมการจัดการความรู้ขึ้นในโรงเรียน

  

งานที่สำคัญในส่วนของผู้ปกครอง คือการจัดงาน สานสายใย...ด้วยใจเดียวกันเพื่อให้ผู้ปกครองที่เป็นตัวแทนห้องเรียนได้มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ดังที่ได้เสนอรายละเอียดไปแล้วในบันทึกก่อนหน้านี้ ทั้ง ๕ ตอน

  

ในส่วนของการสานเครือข่าย เมื่อวันที่ ๒๕ ก.ค.๕๐ ทางโรงเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์ในกลุ่มเครือข่ายของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ในประเด็น เครือข่ายครอบครัวและสังคมปลอดภัยในโรงเรียน

  

อีก ๒ วันถัดมา บริษัทปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด ได้นำเครือข่ายโรงเรียนอาชีวะจาก จ.สระบุรี มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสร้างความรู้เอง  ซึ่งทางบริษัทปูนซีเมนต์ไทยก็ได้เอื้อเฟื้อให้คณะครูจากเพลินพัฒนาเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของ competency และ change management ในโอกาสต่อไปด้วย

  

โอกาสดีๆที่ได้รับอีกครั้งหนึ่งก็คือ ท่านอาจารย์หม่อม ดุษฎี  บริพัตร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาของโรงเรียน ซึ่งสนใจการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง (ESL-English as a Second Language) ได้ไปสาธิตการสอนตามแนวทางของท่าน ที่โรงเรียนปลูกปัญญา จ.นครราชสีมา เป็นเวลา ๒ เดือน และท่านได้อนุญาตให้คณะครูจากโรงเรียนเพลินพัฒนาไปเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ รวมถึงได้อนุญาตให้มีการบันทึกความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อการนำแนวทางที่ได้รับกลับมาใช้ในชั้นเรียนต่อไปด้วย

  

บุคลากรที่ส่งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเก็บประเด็นความรู้ในครั้งนี้ มีเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการวางแผนการบันทึกความรู้  การนำเครื่องมือเข้ามาช่วยบันทึกความรู้ ทั้งการใช้กล้องบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบันทึก ซึ่งทำให้สะดวกในการส่งบันทึกผ่านมาทางอีเมลให้ดิฉันช่วยอ่าน และให้คำแนะนำกลับไปได้ทุกวัน

  ปัจจัยของความสำเร็จของทุกกรณีที่เกิดขึ้นในเดือนนี้เกิดจากการที่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน ประกอบกับมีหัวหน้าช่วงชั้นและเจ้าหน้าที่จัดการความรู้ในช่วงชั้นที่เห็นความสำคัญ และคอยจัดโอกาสให้ครูได้ครูมีใช้ทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรที่มีใจใฝ่รู้ และเห็นประโยชน์ เห็นความสุขจากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นั่นเอง           
หมายเลขบันทึก: 117945เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท