เพชรแท้แห่งไม้เรียง (ประยงค์ รณรงค์) ตอนที่ 3


ลุงยงค์กับการทำงานเพื่อส่วนรวมและชุมชน
.........เรียนรู้เรื่องสวนยาง......
"...ผมเป็นชาวสวนยาง ผมเห็นชาวสวนยางแย่ลง จึงเอามาเป็นข้อคิดพูดกับชาวบ้านตลอด ตั้งแต่ปี 2518 ผมอายุ 38 ปี พวกเรายังใช้วัฒนธรรมการทำงาน "ลงซอ" คือการลงแขก เวลาไปทำงานร่วมกันก็คุยกันเรื่องนี้ว่า เราเป็นเจ้าของสวนยางกลับแย่ลง พ่อค้ามันรวยขึ้น เรามาคิดกันต่อได้ไหม เป็นผู้ผลิตด้วย คนกลางด้วย สามารถเอากำไรมาชดเชยช่วงการผลิต จึงทดลองร่วมกันทำ ทำคุณภาพผลผลิตให้ตรงความต้องการ เป็นเป้าหมายร่วมกัน โดยมีกระบวนการชักชวนคนมาร่วมมือกัน...."
"...ลงซอ นั้นมีเกือบทุกวัน มีการถกเถียงกันนาน เรียนรู้เหตุผลร่วมกัน พ่อค้ามีทุน มีมันสมอง ทำมานาน เราเกษตรกรก็ทำมานานเหมือนกัน แต่ถ้าเขาเก่งกว่าเรา  ประเด็นที่โต้แย้งกันคือ เกษตรกรไม่มีความรู้ ความชำนาญ ไม่มีทุน ไม่มีตลาด ไม่มีพวก ผมบอกเป็นจุดอ่อนหมดเลย แต่เรามีจุดแข็งคือมีสวน มีผลผลิต มีทรัพยากร แต่ขาดความรู้ในการจัดการการตลาด การแปรรูป ผมเลยศึกษาดู จนในที่สุดก็พบกับญาติพี่น้องที่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน ใกล้ชิดกับนายทุน บางคนทำงานในโรงยาง ผมก็ไปเอาความรู้จากเขา..."
ในช่วงแรกลุงยงค์ไปศึกษาเรียนรู้คนเดียว ไม่มีพวกพ้อง เพราะทั้งหมดบอกทำไม่ได้ และก็นึกว่าตัวเองยังไม่มีคำตอบหรือทางออกให้เค้า เค้าก็ไม่ทำ จึงต้องหาคำตอบให้ได้ จากเพื่อน ญาติ ไปหารายละเอียดในองค์การสวนยางของรัฐวิสาหกิจ โครงการสวนยาง 140,000 ไร่ มีโรงงานด้วย ครบวงจร ได้ข้อมูลมาก็มาคุยกันเป็นปี ปรึกษาราชการเกษตรตำบล ก็ว่าไม่น่าจะไปไกลขนาดนั้น ชาวบ้านยังไม่น่าทำขนาดนั้น มีแค่รวมกลุ่มผลิตยางชั้นดี ให้พ่อค้ามาประมูล แรกๆ ลุงยงค์ก็เชื่อ พอทำแล้วก็มีพ่อค้ามาทุก 15 วัน มันก็แย่ลงๆ เพราะพ่อค้าเค้าฮั้วกันได้ แต่พวกเราต้องคัดเกรด รักษา กรีด ทุกอย่าง โดยอำนวยความสะดวกให้พ่อค้าเท่านั้น หนักเข้าเค้าก็ฝากซองกันมา ไม่มาหลายคนแล้ว ก็เห็นว่าไม่ใช่ทางสำเร็จ ไม่ได้อำนวยประโยชน์อะไรให้เกษตรกรเลย ลุงยงค์ก็ไม่เอา สมาชิกก็เลิกหมด!!!! 
แกนนำ 12 คน ก็มาศึกษากันต่อ วิเคราะห์แล้วมีปัญหา 3 เรื่องคือ คุณภาพ น้ำหนัก พ่อค้าต้องชั่งใหม่ทุกครั้ง ชั่งไม่เคยได้เท่าหรือมากกว่าที่ชั่งมา และเรื่องราคา แม้จะรู้เรื่องราคา เวลาเค้าประมูลก็ได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ก็จำเป็นต้องขาย ขาดทุนกันมาตลอด มีดีบ้างก็ 10 - 20 สตางค์
ต่อมาแกนนำ 12 คนไปหาคำตอบร่วมกัน ถ้าหาได้ ก็จะได้คน 50 คนนั้นกลับมา แกนนำยังมีกำลังใจดีอยู่ เพราะคุ้นเคยกับความล้มเหลวอยู่เสมอ ช่วงนั้นอายุ 45 เป็นผู้นำชัดเจน(ออกหน้าออกตา) ลูก 5 คน กำลังเรียนหนังสือ ยางขาดทุนแต่ยางมาก  มีที่ 42 ไร่  มีนา 4 ไร่ ไว้กินเอง ไม้ผล 4 ไร่ มีหนี้สินมาตั้งแต่ปี 2515 ที่ ธกส.ให้กู้  ที่จำเป็นต้องทำก็เพราะยางเป็นอาชีพหลัก สู้เพื่อตัวเราเอง  ลุงยงค์เล่าว่า "...เป็นผู้นำไม่ต้องใช้เวลาเยอะ ทำเป็นครั้งคราวก็พอ..."
"....ตอนนัดกับพวกแกนนำ 12 คน ไปให้ทางเกษตร ทำหนังสือแจ้งบริษัทว่าเราจะขอไปศึกษาดูงาน เค้าก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่บริษัทก็จะไม่ให้ดูทุกส่วน บ่ายเบี่ยง กลัวรู้ความลับ ผมให้ทุกคนจดบันทึกรายละเอียด ทุกอย่าง การผลิต การวัดความกว้างยาว..."
"....จากนั้นได้ไปดูองค์การสวนยาง เราไปขอข้อมูล มันเอาเป็นตัวอย่างไม่ได้เลย เพราะใหญ่โตมโหฬาร รู้ว่าการทำแผ่นยางชั้นดีต้องทำอย่างไรบ้าง รายละเอียดยิบเลย ทุกคนนั่งเงียบ ท้อแท้ บอกว่าเค้าลงทุน สิบล้านนะ  กลับมานั่งล้อมวงคุยกันว่าใครได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง ผมบอกว่าถึงเค้าจะลงทุน 10 ล้าน พวกเรามียางรวมกันเท่าไร ไม่เกิน 500 กก.ต่อวัน ทำไมเราต้องลงทุนเหมือนเค้าด้วย ไปย่อสัดส่วนลงมา ให้ได้กำลังการผลิตให้ได้วันละ 500 กก. ปี 2526 ลงทุน 500,000 บาท..."
ลุงยงค์ได้ติดต่อการตลาด กะว่าจะฝากขายกับองค์การสวนยางนาบอน พอไปพูดคุย ผลปรากฏว่า ไม่ได้ ทั้งที่ยางที่ผลิตออกมาคุณภาพสูงกว่ายางรมควันชั้นหนึ่ง เหมาะที่จะส่งออก ถ้าส่งยางประกวด คนอื่นหยุดหมด จากนั้นลุงยงค์ก็ติดต่อญาติๆ ช่วยหาผู้ส่งออกว่าบริษัทส่งออกมีที่ไหนบ้าง โดยเอายางของผู้นำมาทดลองผลิต ได้ตัวอย่างออกมา เอาตัวอย่างไปหาตลาด ได้คำตอบว่าขายได้แน่ ได้ราคาถึง 21 บาท 6 บริษัทตอบกลับมาว่าพร้อมที่จะซื้อ ถ้าทำคุณภาพนี้ออกมา ราคาขั้นต่ำคือ ราคายางรมควันชั้นหนึ่ง +2.40 บาท ตอนนั้นมั่นใจ แต่ก็มีปัญหาอีก เราต้องส่งไปที่คลองเตย แล้วจะหารถที่ไหน ยังหาคำตอบไม่ได้ วันละ 500 กก. ไม่พอขาย ต้อง 20 ตันจึงจะได้หนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ เราต้องใช้เวลา 15 วัน 1 เดือน จึงจะขายได้ ชาวบ้านจะรอไม่ไหว ต้องหาเงินกันไม่น้อยกว่า 1 ล้าน เป็นอย่างต่ำ 12 คน ลองไปขยายผลดู ใครมีญาติก็ลองดู ปรากฎว่าได้มาอีก 31 คน
"...มีคำถามเกิดขึ้นอีกมากมายเหลือเกิน บางคำตอบผมก็ให้คำตอบไม่ได้ เรื่องสุดท้ายว่าพ่อค้าตราหน้าไว้ว่าชาวบ้านโกงกันเอง ผมตอบว่า เราลงทุนกัน สร้างโรงงานถาวร จะประกันภ้ยไว้ 1.5 ล้าน ถ้าเราทำอะไรกันไม่ได้ ก็เผาเอาเงินประกัน หรือไม่ก็พ่อค้าพร้อมมาซื้อกิจการเรา แล้วเราเป็นลูกจ้างเขา แต่ในใจผมคิดว่าไม่ล้มแน่ แต่ตอบเพื่อให้ทุกคนเห็นช่องทางว่ามันเป็นจริงได้ พรรคพวกทุกคนตกลง แล้วนั่งล้อมวงกันจะหาเงินอย่างไร เราจะต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมาย หลายคนบอกว่าอยากเป็นเกษตรกร ไม่อยากเป็นบริษัท ไม่อยากให้ใครมารู้จักเราในรูปแบบนายทุน ผมเอาระเบียบข้อบังคับเป็นกลุ่มเกษตรกร ลงหุ้นกันหุ้นละ 50 บาท ตั้งขึ้นประมาณ 2 หมื่นหุ้น จอง 2 ครั้งก็ยังไม่ครบ ไม่ลงเงิน จองแต่ตัวเลข 3 รอบถึงครบ 2 หมื่นหุ้น..."
"...ผมเขียนแปลนเองอย่างที่เราไปวิเคราะห์ของพ่อค้าย่อส่วนลงมา ค่าก่อสร้าง 2.5 แสน ไปจดทะเบียนก่อน หน่วยงานที่รับจดบอกว่าไม่ให้จดทะเบียนเพราะที่จดกัน 126 กลุ่มล้มหมดแล้ว ถ้าจดอีกก็จะเพิ่มสถิติการล้มอีก เจ็บใจที่เค้าตราหน้า ที่เค้าล้มกันเพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกู้เงิน แต่ของเราคิดจะเริ่มต้นด้วยพวกเราเอง แต่ต้องจด โชคดีขณะนั้นมีจังหวัดเคลื่อนที่มาที่ไม้เรียง ผู้ว่าราชการจังหวัดมา ผมก็เรียบๆ เคียงๆ ผมจำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นเกษตรกร สาเหตุล้มก็รู้ ยืนยันว่าต้องการที่จะทำแปรรูปยาง พวกเรายืนยันว่าไม่เอากลุ่มไปกู้เงินธกส. ผู้ว่าฯก็เรียกเกษตรจังหวัดให้ไปดู ว่าตั้งใจก็ให้จดทะเบียน เค้าก็ให้ผมนัดประชุมสมาชิก หลังจากนั้น 37 คนก็มาประชุมกัน เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดมาอธิบาย ให้ความรู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนแล้วก็ถามว่าจะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร พวกเราก็ขอเป็นกลุ่มเกษตรกร..."
ลุงยงค์เปิดบัญชีธนาคาร เรียกค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นก่อน เป็นเงิน 2.5 แสนบาท พอเริ่มมั่นใจมากขึ้น จึงเริ่มทำโรงงานทันที สามเดือนได้โรงงาน แล้วเรียกอีก 25 เปอร์เซ็น ได้นำมาซื้ออุปกรณ์ แล้วจะเรียกครั้งที่สามทุกคนบอกว่าหมดเนื้อหมดตัวแล้ว และเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา เปิดทดลอง ไม่มีใครกล้าเอายางมา ลุงยงค์ ก็ให้คณะกรรมการที่จดทะเบียนนั่นแหละ มาช่วยกันทำด้วย ออกมาแล้วนำไปแขวนโชว์ สวยงามมาก สมาชิกก็มาลงหุ้นกลับมาอีก 15 เปอร์เซ็น เอามาสร้างอุปกรณ์ภายในให้ครบ บางคนไม่มีเงิน ก็เอาน้ำยางมาส่งแล้วหักเป็นเงินหุ้น ปรากฎว่าได้สูงกว่าราคายางรมควันถึง 4 บาท พวกคณะกรรมการหน้าบานมาก (ช่วงนี้มีผู้สะท้อนว่าลุงยงค์เป็นผู้ต่อสู้ที่แท้จริง สมกับที่ได้รางวัล)
ลุงยงค์ทำเพื่อตัวเองครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนหนึ่งลุงยงค์เองเป็นเจ้าของสวนยางด้วย ซึ่งได้ผลประโยชน์พร้อมๆ กัน "....ถ้ามีผลประโยชน์ทั้งชาวบ้าน และของเรา เกิดปัญหา เป็นข้อดีของผมมีปัญหาแล้วยิ่งเข็ญขึ้น ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้หมดเลย ทางแรกไม่สำเร็จเราอาจจะหาทางที่สองสาม หาจนเจอ ทำโรงยางเป็นแนวทางที่สาม ไม่ใช่แนวทางที่หนึ่ง เค้าให้รวมกลุ่มผลิต เห็นมามาก ร่วมกันคิดได้ แต่เวลาทำมักจะมีปัญหา คนมารวมกันมีคนขี้เกียจอยู่ด้วย คนขยันก็ไม่โง่ที่จะไม่รู้ว่าโดนคนขี้เกียจเอาเปรียบ เลยลดความขยันลงให้เท่าคนโง่ ทุกอย่างก็พัง...."
จะเห็นได้ว่าการร่วมกันคิดแล้วร่วมกันเรียนรู้ ปฎิบัติ อย่างเข้มข้น แยกกันทำ สามารถพัฒนาความสามารถของคน แล้วค่อยเอามารวมกันขาย 
ปี 2527 โครงสร้างเริ่มมั่นคง มีเงินทุน การตลาดก็เริ่มดี ติดต่อบริษัทเอง ดูว่าบริษัทไหนให้ราคาสูงก็ขายคนนั้น โดยไม่ได้บอกว่าเป็นการประมูล และไม่บอกว่าบริษัทไหนจะซื้อบ้าง หลังๆ มาเค้าก็พยายามตั้งราคาสูงสุดไว้เลย เค้าฮั้วกันไม่ได้ ราคามาตรฐานของเราคือ ราคายางรมควันชั้นหนึ่ง + 2.40 บาท ต่ำกว่านี้ไม่ได้
ลุงยงค์แนะนำว่าต้องศึกษาให้ละเอียด ไม่ใช่ทำเพื่อความต้องการของโรงงาน แล้วโรงงานจะรวย ลองทำเล็กๆ ก่อน ดูต้นทุนการผลิต ดินดีไหม ถ้าขายแล้วจะขาดทุน หรือกำไรเท่าไร อย่ารีบตัดสินใจถ้าเรายังไม่มีข้อมูลชัดเจน เราเริ่มต้นจากของน้อยก่อน ไม่ใช่เรายอมไปหาเขาตั้งแต่เริ่มต้น เซ็นสัญญากับเขา มันไม่ถูก ตอบคำถามจนชัด ค่อยตัดสินใจ
โดยทั่วไปเมื่อล้มเหลวเราจะเลิก แล้วท้อไปเลย เราต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเกิดจากอะไร ถ้ารวมกันทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องรวม แยกกันทำแล้วเอาผลผลิตมารวมกัน ปัญหาใหม่คือแยกกันทำแล้วก็แยกกันขายเลย เราก็เอาคนที่รวมกันได้ก่อน เค้าจะขายเองด้วยก็ไม่ว่ากัน
"...ส่วนใหญ่คนจะเอาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น จะรอดูว่าได้ผลไหม ถ้าได้ผลเอาด้วย พวกนี้เราต้องมีเงื่อนไขกับเค้า ตัวอย่าง มังคุดขายไม่ออก เกรดหนึ่งกิโลกรัมละ 5 บ. ชาวบ้านก็หมักทำปุ๋ย ผมเสียดาย ก็บอกว่าเราจะจัดมหกรรมมังคุด เอามังคุดผู้นำ มาเทกองกัน จ้างเด็กมากินมังคุด มีเงื่อนไข แยกเม็ด แยกเปลือก ห้ามกลืนเม็ด จะตรวจด้วย ถ้าสมดุลกันจะให้ 10 บ. เมล็ดมังคุดขายได้ กิโลกรัม 1,000 บาท เปลือกอบแห้งขายได้กิโลกรัม 15 บาท ส่งโรงพยาบาลอภัยภูเบศ บางทีเราไม่ต้องแก้ปัญหาตรง ๆ ต้องมีการพัฒนาวิธีการ สวนใหญ่ ๆ เค้าเอาตัวรอดได้ แต่คนที่ไม่รอดเราก็ชวนเค้ามา ถ้าเรารอให้คนส่วนใหญ่มาเห็นด้วยก็ไม่มีวันได้ทำ เรานำมาทำเป็นหลักสูตรพัฒนามังคุดเพื่อการส่งออก 100 ชม. ไม่ต่ำกว่า 1 ปี การดูแลต้นมังคุด ผลมังคุดที่มีคุณภาพ เอามาคัดเกรดขาย ปีนั้นขายได้เกรด 1 กิโลกรัมละ 60 บาท เกรด 2 ได้ 40 -50 ในขณะที่ตลาดขาย 15 บาท กลุ่มสวนใหญ่ก็แห่มาจะขายด้วย เราบอกว่าต้องมีใบรับรองจากกศน.ที่เป็นหลักสูตรของเราด้วย พวกนี้ก็มาเรียน (เป็นการบังคับให้มาเรียนรู้โดยการเข้ากลุ่ม) มีเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เขามาทำลาย ถ้ารับมาหมด มังคุดไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ได้คุณภาพก็พัง..."
ผู้นำ 10 คน ทุ่มเทหนักกว่าเพื่อน ช่วยยกร่างหลักสูตร ทุกกลุ่มมีแกนนำที่มีความสามารถในการประสาน ถ่ายทอด และเป็นตัวอย่างได้ คนที่มานอกจากสิบคนนี้ บางคนยังไม่มั่นใจ แต่เชื่อใจ บางคนที่เข้ามาก่อนก็เข้าตามกันมา เอาราชการมาร่วมด้วย กศน. ต้องช่วยหาวิทยากรด้วย จ่ายค่าวิทยากรให้ด้วย เป็นผู้ร่วม ตามที่ชาวบ้านต้องการ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ใช้ หมอดินก็ใช้ เครื่องมือการตัดแต่งกิ่ง เครื่องตรวจสภาพดิน ลุงยงค์ยืนดูอย่างเดียว จริงๆ ค่าขนส่งมันก็เกือบไม่เหลือ แต่มันก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 
"...ในส่วนของชาวนาก็ต้องทำตัวอย่างการจัดการทรัพยากร ทำตัวให้หลุดจากการครอบงำของนักวิชาการ/ราชการ ผมชอบไปยุคนหลายๆ กลุ่มให้ทำ อย่างแม่โจ้ ทำประชาพิจารณ์แผนลำใย คนมาร่วม 8 จังหวัด ชาวบ้านเค้าก็เอาจริง ทำสัตยาบรรณ ไม่รอพึ่งใคร พึ่งตัวเอง พึ่งเครือข่าย ผมตั้งใจ แต่ไม่ได้เคร่งเครียดกับเป้าหมาย ข้อหามากมายเจอมาแล้ว หัวหน้าคอมมิวนิสต์ ชุมชนไม้เรียงไม่ใช่เข้มแข็ง แต่เป็นชุมชนหัวแข็ง อย่างที่บอกไป..."
เมื่อลุงยงค์เริ่มตั้งโรงงานยาง พอเป็นเถ้าแก่ ตอนนั้นคิดวางแผนแก้ป้ญหา ด้วยความรู้สึกที่ค่อนข้างเครียด เป็นห่วงเพราะไม่เคยทำ ต้องรับผิดชอบเงินชาวบ้าน เงินทุนหมุนเวียนก็ไม่อยากลง หมดตัว ลุงยงค์บริจาคที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงาน 2 ไร่ ติดขัดไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ก็มาวางแผนกันไม่ให้ต้องใช้เงินหมุนเวียนเยอะ 3 - 4 วัน ค่อยจ่ายเงินที่ ก็เอาเงินชาวบ้านมาจ่ายให้ชาวบ้าน ไม่พอก็เอาที่ดินกับโรงงาน ไปจำนองกับธนาคาร 1 ล้าน เพื่อเอาเงินมาหมุนเวียน ใช้เมื่อราวจำเป็น เป็นเงิน OD ต้องวางแผนรัดกุมไม่ให้ดอกเบี้ยกินซ้ำเดี๋ยวจะแย่ กลุ่มได้รับมอบหมายอำนาจจากกรรมการ ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการขายยาง ไม่ต้องประชุมคณะกรรมการ ลุงยงค์ต้องรับผิดชอบเอง เพราะบางครั้งต้องขายล่วงหน้าเมื่อราคายางสูง ในรายงานการประชุมขออำนาจตัดสินใจไว้ ทุกคนที่อนุญาตก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับลุงยงค์ด้วย การป้องกันก็บอกกับพ่อค้าว่าเป็นราคาหน้าโรงงาน เงินต้องโอนมาเข้าบัญชี ก่อนไม่ต่ำกว่า 2 วัน ต้องส่งรถมารับ กลุ่มขนให้ แล้วจากนั้นพ่อค้าต้องรับผิดชอบเอง ถ้ายางเกิดสูญหาย ทางกลุ่มรับผิดชอบแค่ยกขนขึ้นรถให้ พ่อค้าบอกว่าคล่องตัว เขาลำบาก เขาจะบวกค่าขนส่งให้ไปถึงคลองเตย ก็ช่วยผ่อนทางกลุ่มได้
"....บางทีราคายางสูง เราตัดสินใจขาย แต่หากมีปัญหาส่งมอบไม่ทันเราจะถูกปรับเยอะ เช่น ฝนตก ยางไม่พอ บางครั้งก็ใช้เครือข่าย ทำให้หมุนเวียนผลผลิตช่วยเหลือกันได้ ไม่ขยายของตัวเอง ใครๆ ก็ส่งเสริมให้ขยาย แต่เราไม่ทำ เพราะต้องเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการ และต้องหายางให้ได้มากขึ้น ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ง่าย...."
"....เราร่วมรับผิดชอบกันเป็นเครือข่ายได้ไหม เราไปช่วยดำเนินการให้ได้ เวลามีปัญหาจะได้พึ่งพาอาศัยกันได้ ทำให้มีโรงงานเพื่อนๆ อีก 6 โรงงาน พอเราทำโครงการร่วมกัน ของบประมาณได้ทีเดียว 27 ล้าน เอาเงินที่มีกำไรก็ไปซื้อที่อีก 7 ไร่ ได้งบมาขยายโรงงานเป็น 5 ตัน รับสมาชิกเพิ่ม คำนวณแล้ว ต้องรับผิดชอบพื้นที่ สมาชิกเพิ่มอีก 3,600 ไร่ ถ้ามากกว่านี้ยางจะล้น โรงงานรับไม่ไหว พ่อค้าก็มาเร่งๆ จะซื้อ ตอนนั้นตัดสินใจขายล่วงหน้า 100 ตัน กก.ละ 38 บาท อีก 2 วัน เหลือ 27 บาท เกือบถูกยิง พ่อค้าหาว่าแกล้งเขา เพราะคนไปขายยางกับเค้าต่อว่า ซื้อตั้ง 35 โรงงานทั่วไปซื้อ 27 บาท ...."
ลุงยงค์เป็นผู้จัดการจนถึง ปี พ.ศ. 2534 ได้รับการคัดเลือกไปดูงานที่ยุโรป มอบหมายให้เด็กปวส. จบพาณิชย์ เป็นลูกหลานสมาชิก ไว้ใจได้ ทำต่อ พอกลับมาดูทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีบกพร่อง แล้วลุงยงค์ก็ลาออก ให้เค้าทำหน้าที่ผู้จัดการแทน
"....ผมต้องการสร้างคน ไม่ใช่รั้งตำแหน่งไว้ แต่ชาวบ้านก็ยังให้ผมเป็น ประธานใหญ่ ถ้าเราจะไปรั้งตำแหน่งก็ไม่สามารถมีใครทำแทนได้..."
6 โรงงานก็ดีบ้าง กระท่อนกระแท่นบ้าง ลุงยงค์เพิ่มความรู้ พัฒนาตนเอง เข้าไปสัมพันธ์กับพ่อค้าต่างๆ เค้าก็นึกว่าลุงยงค์เป็นพ่อค้า รักษาความสัมพันธ์ ศึกษาระบบการจัดการไปด้วย ทำให้รู้ว่า ธุรกิจมันโหดนะ ถ้าใครสามารถทำให้คู่แข่งมันล้มหายตายจากได้ นั่นคือสุดยอด ภาพรวมเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคน คนดีๆ ก็มีอย่างคุณณรงค์ โชควัฒนา
เป้าหมายโรงงานทำในระบบสหกรณ์ ช่วยกันพัฒนาระบบอาชีพ ทำให้เกิดการจัดการผลผลิต ปัญหาผลผลิต ปัญหาสมาชิก ไม่ต้องรวย แต่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องรอปันผลกำไรสิ้นปีเท่านั้น ต้องเน้นให้สมาชิกขายผลผลิตได้ในราคาสูงสุด กำไรโรงงานพอเลี้ยงตัวได้ ถ้าสหกรณ์รวย แล้วสมาชิกแย่ก็ไม่ใช่ มันควรช่วยสมาชิกไปด้วย ลุงยงค์ไปดูงานที่สหกรณ์ ประเทศเยอรมนี ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 1 เดือน ก็หลักการเดียวกัน นายไรท์ ไวเซ้นต์ ต้องการช่วยเหลือสมาชิก
 "...ปัจจุบันสมาชิก 176 ครอบครัว ดูแลได้ทั่วถึง มีเครือข่ายหนุนช่วยกัน กระจายออกไป 7 โรงงาน กระจายการจัดการ นี่คือแนวคิดที่ไม่ทำให้สหกรณ์ โต ตอนนั้นเรากลัวมากกว่าว่ามันโตแล้วจะจัดการอย่างไร วิเคราะห์แล้ว ว่าค่าใช้จ่ายมากขึ้นหาวัตถุดิบไกลขึ้น การบริหารจัดการไม่มั่นใจว่าเกษตรกรจะจัดการได้ไหม..."
"....มันอยู่ที่ความไม่เสี่ยงก็พอ ไม่ใช่เราทำอะไรที่เกินตัว เราคิดว่าเรามีความสามารถแค่นี้ แต่ก็เสี่ยงไปกอบโกย ตรงนั้นไม่พอเพียงแล้ว พอเพียง คือ พอเพียงสำหรับความสามารถของตัวเอง ผมร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด  ผมขอแทรกกระบวนการไป ผู้ว่าฯ ตกลง เพราะมีงบอยู่ ผมจะลงไปทำข้อมูลด้วย ผมมีทีมงานพร้อม แปลงแผนแม่บทไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน มีกี่ครอบครัวที่เดือดร้อน ไม่พออยู่พอกิน มีเท่าไรที่พออยู่พอกินแล้ว เอาตัวจริงออกมา ดูว่าใครอยู่ในกลุ่มใด...."
ที่มา : ต้นฉบับหนังสือเพชรแท้แห่งไม้เรียง จัดทำโดยมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จากกิจกรรมอบรมผู้นำ ณ สำนักพุทธัมผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2549
อ้อม สคส.
หมายเลขบันทึก: 117864เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากการทำงานเรื่องยางของลุงประยงค์ ทำให้เกิดต้นแบบในการทำโรงงานยางรมควัน

ซึ่งรัฐบาลสมัยนายกชวนได้เข้ามาสนับสนุน นโยบายร่วมกันนำนำยางมาผลิตเป็นยางรมควันคุณภาพดี แต่ระบบการรวมตัวกันก็ล้มลุกคุกคลานมาตลอด เพราะผลิตแล้วไม่รู้จะเอาไปขายที่ใหน ขายตลาดกลางก็มีการฮั่วประมูลกัน ร่วมกันรวมกันขายราคาก็ยังคงอยู่ภายใต้การกำหนดของพ่อค้าส่งออก

สมัยนายกทักษินก็คิดทำยางอัดก้อน เอายางรมควันมาอัดก้อนแล้วจะคิดประมูขายทางอินเตอร์เนต คิดดีแต่มีการโกงกินระหว่างทางโรงอัดก้อนแต่ละโรงออกมาเหมือนโรงเลี้ยงวัว อุปกรณ์ที่ให้มาก็ใช้งานไม่ได้

เฮ้อ...เวรกรรมประเทศไทย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ให้เงินกู้ใช้ในการหมุนเวียนทำกิจการก็ไม่ศึกษาความเป็นจริงกู้เงินมาเอามาทำไม่พอ งานก็ไม่เกิด หมุนไม่ทันเวลาจ่ายให้สมาชิกเงินไม่พอก็ต้องกัดฟันขายให้พ่อค้าในราคาที่เขาอยากจะให้

คนที่เขาอดทนอาสาเข้ามาทำงานให้สหกรณ์ก็เริ่มเบื่อหน่าย และท้อหันไปทำมาหากินเพื่อส่วนตนกันหมด แล้วสังคมจะหาคนที่อดทนอย่างอ.ประยงค์ได้อีกหรือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท