BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จิต จิตร์ จิตต์


จิต จิตร์ จิตต์

จิต เป็นคำที่นิยมใช้กันปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งอาจใช้เป็นคำประสมว่า จิตใจ .... ส่วนหนังสือโบราณ มักจะเขียนว่า จิตร์ หรือ จิตต์ ซึ่งความหมายก็คงจะไม่แตกต่างกัน...

จิตฺต เป็นคำบาลี แต่บางครั้งก็อาจแปลงเป็น จิตฺร ได้บ้าง... ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเลียนสันสกฤตที่ใช้ว่า จิตฺร เท่านั้น...

คำว่า จิต แปลว่า ใจ ... ซึ่งโดยมากเชื่อกันว่า ใจ เป็นคำไทยแท้ แต่ผู้เขียนเคยเจอบางท่านวิจารณ์ว่า ใจ น่าจะเพี้ยนมาจากสันสกฤตว่า ไจตฺย ....

จิต เป็นนามธรรม ไม่สามารถสัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย... แต่สามารถรับรู้ได้โดยใจซึ่งเป็นนามธรรมเหมือนกัน....

จิต แปลได้หลายนัย แต่ผู้เขียนชอบใจ ๓ นัย กล่าวคือ รู้ คิด และเก็บ ...

ในความหมายว่า รู้ ก็คือ รู้อารมณ์ หมายถึงว่า เราสามารถรับรู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ (สัมผัสร้อนหนาว) และธัมมารมณ์ (ความรู้สึกทางใจ) .....

ในความหมายว่า คิด นั่นคือ ธรรมชาติที่ให้สำเร็จความคิด ธรรมชาติที่เป็นตัวคิด เรียกว่า จิต ....

ในความหมายว่า เก็บ (สะสม) นั่นคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เรารับรู้ได้จากภายนอก และธรรมารมณ์ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้จากภายใน เราจะเก็บไว้ในจิตนี้เอง ดังนั้น จิต จึงแปลว่า เก็บ (สะสม)

................

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้ให้ความหมายของ จิต ไว้ ๖ นัย กล่าวคือ

  • วิจิตฺตการณา จิตฺตํ         อตฺตโน จิตฺตตาย วา
  • จิตฺตํ กมฺมกิเลเสหิ          จิตฺตํ ตายติ วา ตถา
  • จิโนติ อตฺตสนฺตานํ         วิจิตฺตานํ วิจิตฺตารมฺมณนฺติ วา

ธรรมชาติชื่อว่าจิตนั้น เพราะทำให้วิจิตร ๑ ตนเองวิจิตร ๑  อันกรรมกิเลสสะสมไว้ ๑ รักษาไว้ซึ่งวิบาก ๑ สะสมไว้ซึ่งสันดานของตน ๑ และมีอารมณ์อันวิจิตร ๑ ฯ

.....

จะขยายความหมายเหล่านี้เพิ่มอีกเล็กน้อย... 

ทำให้วิจิตร หมายความว่า ความหลากหลายในโลกนี้ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ถนน สะพานลอย กระท่อม ตึก ศูนย์การค้า อินเทอร์เน็ต พวงหรีด หีบศพ ประชาธิปไตย ทุนนิยม เศรษศาสตร์ ภาษาต่างๆ .... ซึ่งความหลากหลายบรรดามีเหล่านี้ ล้วนเกิดมาจากจิตคือความคิดของคนเป็นพื้นฐาน ดังนั้น จิตจึงมีความหมายว่า ทำให้วิจิตร

ตนเองวิจิตร หมายความว่า  ตัวจิตเองก็มีความหลากหลาย เช่น เศร้าโศก ยินดียินร้าย หุดหงิด แช่มชื่น ปลื้มปิติ วางเฉย โกรธ เซ็ง ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่น... ซึ่งความหลากหลายในตัวของมันเองทำนองนี้ ได้ชื่อว่า ตนเองวิจิตร

อันกรรมกิเลสสะสมไว้ หมายความว่า การที่คนเรานิสัยไม่เหมือนกัน เช่น บางคนชอบสิ่งที่สวยงาม บางคนชอบศึกษาหาความรู้ บางคนมักโกรธ บางคนตระหนี่ ... ที่เป็นไปอย่างนี้ก็เพราะจิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ไม่เหมือนกันเพราะสะสมกรรมกิเลสมาแตกต่างกันนั่นเอง กล่าวคือ กรรมกิเลสในอดีตที่ผ่านๆ มา ได้ประชุมรวมกันแล้วผสมผสานขึ้นเป็นจิต... ประมาณนี้ ดังนั้น จิตจึงมีความหมายว่า อันกรรมกิเลสสะสมไว้

รักษาไว้ซึ่งวิบาก... คำว่า วิบาก หมายถึง ผลแห่งกรรม แม้ว่าผลแห่งกรรมคือวิบากนั้นจะยังไม่ให้ผล แต่ก็จะยังคงอยู่ในจิต กล่าวคือ จิตยังเก็บวิบากนั่นไว้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไหร่ วิบากนั้นก็จะให้ผล ดังนั้น จิตจึงมีความหมายว่า รักษาไว้ซึ่งวิบาก

สะสมไว้ซึ่งสันดานของตน... คำว่า สันดาน แปลว่า สืบต่อ หมายความว่า คนเราจะมีอยู่เป็นอยู่สืบต่อไปได้ก็เพราะจิต จิตจะเป็นตัวสืบต่อชีวิตให้เป็นไปตราบเท่าที่ยังไม่หมดเวรหมดกรรม แม้ว่าจะตายไปแล้ว จิตก็ยังสืบต่อไป โดยการไปเกิดใหม่ตามเหตุปัจจัยที่สะสมไว้ ดังนั้น จิตจึงมีความหมายว่า สะสมไว้ซึ่งสันดานของตน

และ มีอารมณ์อันวิจิตร หมายความว่า จิตนี้บางครั้งก็ยึดถือเอาเสียงเป็นอารมณ์ บางครั้งก็ยึดถือเอารูป กลิ่น รส โผฎฐัพพะ หรือธัมมารมณ์เป็นอารมณ์ แปรเปลี่ยนไปไม่แน่นอน และสามารถปรุงแต่งอารมณ์เหล่านี้ให้ไปได้ต่างๆ นานา ดังนั้น จิตจึงมีความหมายว่า มีอารมณ์อันวิจิตร

.............

อนึ่ง จิตหรือใจ นี้ มีนัยหลากหลายยากที่จะพรรณนาและขยายความได้ดังเช่น สุนทรภู่กวีเอกได้ประพันธ์ไว้ทำนองว่า

  • แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจในมนุษย์    มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
  • ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด      ยังไม่คดหนึ่งในน้ำใจคน
  • (ไม่ได้ตรวจทาน)

............

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้ฝึกหัดจิตว่าเป็นผู้มีปัญญา ดังพระบาลีว่า 

  • ผันทะนัง จะปะลัง จิตตัง       ทุรักขัง ทุนนิวาระยัง
  • อุชุง กะโรติ เมธาวี                อุสุกาโรวะ เตชะนัง ฯ

คนมีปัญญาทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ฉะนั้น ฯ

      

หมายเลขบันทึก: 117843เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แจ่มแจ้งขอรับ...กระผม

 

เข้ามารับธรรมจากพระอาจารย์แต่เช้าแบบนี้...ช่วยขัดเกลากระผมได้มากจริง ๆ ครับ...

 

ที่ผ่านมาพยายามดัดคันศรให้ตรง...แต่นี่คือสิ่งที่ยากแค้นแสนเข็ญจริง ๆ ครับ...

P
เป็นเรื่องธรรมดาแหละ ท่านเลขาฯ
จิตใจของอาตมาเองก็ตรงบ้าง เอนเอียงบ้าง สั่นไหวบ้าง ....
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท