คนสนใจงานหัตถกรรมและการพัฒนาหัตถกรรมเชิญทางนี้


ได้มีการประกาศการก่อตั้ง CraftsNet Network อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อการประชุมครั้งนี้ที่กรุงเทพนี่เอง
  

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายหัตถกรรมที่เรียกว่า CraftsNet Network ซึ่งก่อตั้งขึ้นสืบเนื่องมาจากโครงการ CraftsNet Project ที่ทาง European Commission (EC) ได้ให้งบประมาณทำมาระยะเวลาหนึ่งในอันที่จะร่วมพัฒนาหัตถกรรมให้สร้างรายได้เพื่อช่วยเหลือประชากรในประเทศกำลังพัฒนา เริ่มที่ทางละตินอเมริกา และ แอฟริกา

 

เมื่อต้นปีทีแล้ว (๒๐๐๖) มีการประชุมสมาพันธ์หัตถกรรมโลก (World Craft Council – WCC International) ซึ่งทาง สมาคมส่งเสริมหัตถกรรมอาเซียน (ASEAN Handicraft Promotion And Development Association – AHPADA ออกเสียงว่า อาพาด้า ซึ่งเคยเล่าแล้วว่ามีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย และคนไทยเป็นผู้ก่อตั้ง) ได้ไปร่วมประชุมด้วย และในงานได้ทราบว่า CraftsNet  มีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือมาทางเอเชีย โดยมีงบประมาณการดำเนินโครงการความร่วมมือมาจาก EC ภายใต้โครงการใหญ่คือ Asia Invest อาพาด้าจึงรับเป็นหัวหอก

น่าสนใจที่ทราบว่า CraftsNet Project นั้นมี มูลนิธิด้านหัตถกรรมในประเทศกรีซ คือ Egnatia Epirus Foundation – EEF  เป็นองค์กรประสานงาน เพราะประธานมูลนิธิเธอเคยเป็น ประธานของ WCC International มาก่อน และ EEF ก็เคยเป็น International Secretariat of WCC International ความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันหลายชั้น และมีที่มา ที่ไป

การที่ CraftsNet Project ขยายการดำเนินการมายังเอเชีย ทำให้เกิดโครงการสร้างความสามารถ(Capacity Building) ของเครือข่ายองค์กรที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยง(intermediary)การพัฒนาภาคหัตถกรรม ในยุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกันที่ แผนงาน EuropeAid จ่าย 75% และที่เหลือ 25% ผู้เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือต้องช่วยกันจ่าย

อาพาด้า(มีสมาชิก ๑๐ ประเทศ) ร่วมกับองค์กรอีก ๔ องค์กร ช่วยกันทำกิจกรรมที่จะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน มีทั้งการทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสำรวจความต้องการ การทำคู่มือการสร้างความสามารถ และที่ถือเป็นส่วนสำคัญมากคือการทำการเชื่อมโยงเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ต มีPortal หรือ IT Platform ของ CraftsNet Network เอง โดยทาง EEF เป็นผู้สร้าง แล้วให้สมาชิกช่วยกันออกความเห็น ปรับปรุงก่อนเปิดใช้จริง (www.craftsnet.org)

หุ้นส่วนการทำโครงการ CraftsNet Network มี ๕ องค์กรที่ทำโครงการร่วมกัน รวมกับอีก ๒ องค์กร ที่มาร่วมสนับสนุน

·       AHPADA (ในนามของประเทศสมาชิกทั้ง ๑๐ ในชาติ ASEAN)

·       องค์กรด้านการออกแบบหัตถกรรมของเยอรมันชื่อ Beratungsstelle fur Formgebung BF  ซึ่งผู้อำนวยการขององค์กรนี้ก็เกิดเป็น ประธานของWCC Europe อีกด้วย

·       EEF กรีซ

·       National Crafts Council of Bangladesh ซึ่งประธานของ NCCB นี้ก็ยังดำรงตำแหน่งรองประธานของ WCC Asia-Pacific Region, South Asia ด้วย

·       National Chamber of Handicrafts of Sri Lanka – NCHSL

องค์กรที่มาร่วมสนับสนุน คือ

·       ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ของประเทศไทย SUPPORT Art and Crafts International Center of Thailand – SACICT ออกเสียงเหมือนคำว่า ศักด์สิทธิ์  ซึ่งจะช่วยดูแลและบริหารเว็บไซท์ของ CraftsNet Network ที่จัดทำขึ้น ในช่วงระยะสองปีนี้

·       World Craft Council – Europe

 CraftsNet Project  ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอาพาด้าเป็นหัวหอกนี้ มีระยะเวลาแค่ ๑๘ เดือน เริ่มเมื่อ ๑ มีนาคม ๒๐๐๖ ดังนั้น นี่ก็มาถึงช่วงสุดท้ายของโครงการแล้ว และได้มีการประกาศการก่อตั้ง CraftsNet Network อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อการประชุมครั้งนี้ที่กรุงเทพนี่เอง เพื่อให้มีการขยายสมาชิกและความร่วมมือกันต่อไปแม้โครงการสิ้นสุดลง

เขาได้สรุปผลการทำWorkshop สามครั้งใน ศรีลังกา เยอรมัน และบังคลาเทศ น่าสนใจและเป็นประโยชน์ที่จะนำมาพิจารณาต่อ นอกจากนั้นในการประชุมที่กรุงเทพ ผู้เขียนยังได้ฟังศิลปินด้านเซรามิคจากเยอรมัน มาพูดเรื่องการตลาด ที่ไม่ใช่เพื่อตั้งหน้าตั้งตาให้ผลิตมากๆ ขายมากๆ อย่างที่ชอบคิดกันในแนวโอทอป ทั้งยังมีการอภิปรายจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้รู้ว่าคนยุโรปเขามองหัตถกรรมเอเชียอย่างไร และคนเอเชียจากหลายประเทศคิดอย่างไร

คงต้องมาเล่าตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 117322เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

น่าสนใจคะ

โอทอปเอเซีย โดยเฉพาะไทย ทำเอาจำนวนมากเข้าไว้ และขายราคาถูก

แล้วประสิทธภาพไม่ดีพอ

สวัสดีค่ะพี่นุช

เบิร์ดมากราบขอบพระคุณพี่นุชค่ะ เบิร์ดเพิ่งได้รับหนังสือมหัศจรรย์ KM เบาหวาน พร้อมลายเซ็นต์ที่อบอุุุ่่นของผู้เขียน ทำให้เบิร์ดยิ้มกว้างทั้งวันเลยล่ะค่ะ

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าและมีประโยชน์สำหรับเบิร์ดมากค่ะ เพราะเบิร์ดกำลังตันว่า จะต่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนอย่างไรดี  จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือชี้ทางสว่างโดยแท้เลยค่ะพี่นุช 

Crafts Net Network เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆเลยค่ะ  เหมือนฝันที่เป็นจริง ^ ^

และ " คนยุโรปเขามองหัตถกรรมเอเชียอย่างไร และคนเอเชียจากหลายประเทศคิดอย่างไร "

เป็นสิ่งที่เบิร์ดจะตั้งหน้าตั้งตารออ่านเลยล่ะค่ะ

กราบขอบพระคุณในความกรุณาและบันทึกดีๆของพี่นุชนะคะ...ขอบพระคุณมากๆค่ะ 

ตามเจ้าเบิร์ดมาครับ

ไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ก็ศึกษาไปก่อนแล้วกันนะ

สวัสดีค่ะคุณอุบลP 

ฟังคนอื่นสะท้อนให้เห็นตัวเองได้ดีทางหนึ่ง แล้วต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เวลาฟัง หรือเห็นโครงการจากความริเริ่มของฝรั่ง ต้องฟังอย่างระมัดระวัง แล้วมาเทียบเคียงกับบริบทของเรา

หัตถกรรมทางเอเซียที่ทำแบบโอทอปน่าสงสารจริงๆค่ะ สงสารชาวบ้านที่เชื่อคนข้างนอก และหลงในวัตถุนิยม ทำหัตถกรรมเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว

สวัสดีค่ะคุณเบิร์ด P ดีใจจังที่หนังสือถึงมือ ให้คนขับรถไปส่งอีเอ็มเอสตั้งหลายวัน กำลังว่าจะถามเขาแล้วเชียวว่าส่งแบบไหน และดีใจยิ่งขึ้นที่ทราบว่าหนังสือจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของน้อง

CraftsNet Network มีหลักการดีค่ะ สำคัญว่าสมาชิกจะเอาจริงในการขับเคลื่อนหัตถกรรมในประเทศของตน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้จริงเพียงใด

ตกลงค่ะจะรีบเขียนให้อ่าน

สวัสดีค่ะพี่บางทรายP แค่แวะมาเยี่ยมก็ดีใจแล้ว บันทึกตอนนี้คงไม่ได้อะไรหรอกค่ะนอกจากให้ข้อมูลที่มาที่ไป สาระในตอนต่อไปอาจเป็นประโยชน์ ในการกำหนดทิศทางในการที่เราจะพัฒนาหัตถกรรมของไทย

ที่จริงก็รู้อยู่แล้วว่าพัฒนาหัตถกรรมแบบโอทอปคือการฆ่าตัวตาย ปราชญ์ในบ้านเราหลายคนก็เคยพูด แต่คนที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยฟัง หรือทำเป็นว่าฟัง แต่งานก็ออกมาอย่างเดิม ฝรั่ง(World Craft Council Europe) พูดว่าเขาคิดอย่างไร อาจพอฟังกันบ้าง บ้านเราไม่ค่อยเชื่อคนไทยด้วยกัน ค่อนข้างบ้าฝรั่ง เจอฝรั่งดีๆที่เข้าใจบริบทประเทศไทยก็ดีไป ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งที่ประสบความสำเร็จในประเทศเขา แล้วนึกว่าเขาเก่งไปแนะนำคนอื่นได้ทั่วโลก

  • สวัสดีค่ะ  คุณคุณนายฯ ..

อยากให้งานหัตถกรรมไทย  ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านอันมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  สู่สายตาต่างชาติอย่างสง่าและภาคภูมิ นะคะ..

 

สวัสดีค่ะคุณต้อมP ใช่ค่ะ เราจะสง่างาม ภาคภูมิได้ ต่อเมื่อเรารู้ค่าของตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ทุกวันนี้มีหัตถกรรมไทยไม่กี่รายที่ไปรอดบนเวทีโลก ส่วนใหญ่หัตถกรรมจากชาวบ้านดูน่าสงสารชาวบ้านที่มาขายในเมือง อย่างในงานโอทอป ผ้าไหมทอมาอย่างงามวิจิตร มากันไม่รู้กี่เจ้าๆ แค่แขวนผ้าโชว์ในบูธสี่เหลี่ยม ต้องเรียกเชื้อเชิญคนให้เข้าไปชม ไปซื้อ

(ขออนุญาตเรียกตัวเองว่าพี่นุช นะคะ)

พี่คิดว่าการส่งเสริมหัตถกรรมชาวบ้านให้สง่างามต้องไม่ทำให้เฝือ ให้เขาทำอย่างมีความสุขในถิ่น ใช้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้คนไปเยี่ยม ไปชม ไปซื้อถึงถิ่น จะเกิดเศรษฐกิจในชุมชนอย่างอื่นๆตามมาด้วย

เพิ่งนำเรื่องใหม่ขึ้นบล็อก ยังเล่าไม่ถึงหัตถกรรมเอเชียในสายตาคนยุโรปเลย ต้องอีกตอนหนึ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท