เพชรแท้แห่งไม้เรียง (ประยงค์ รณรงค์) ตอนที่ 2


หนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอ ภาวะผู้นำใน 4 ระดับ คือ ระดับตนเอง ครอบครัว จังหวัดและระดับชาติ
..........จากเด็กยากไร้ สู่ การเป็นเถ้าแก่.........
ประยงค์ รณรงค์ หรือที่บรรดาชาวบ้านเรียกกันด้วยความคุ้นเคยว่า "ลุงยงค์" เป็นชาวบ้านธรรมดา อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชาวสวนยางมาตั้งแต่กำเนิด เติบใหญ่มาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นช่วงที่ลุงยงค์เข้าโรงเรียนพอดี สภาพชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงหลังสงครามเป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง ทุกคนต้องวุ่นวายกับการช่วยตนเองให้มีกินมีใช้ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีใครคิดถึงความร่ำรวย ลุงยงค์เองก็ไม่สนใจที่จะเล่าเรียน แต่ถูกผู้ปกครองบังคับให้เรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อเรียนจบแล้วจะเรียนต่อต้องเดินเท้าไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 7 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าอย่างเดียว
เมื่อขึ้นเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 มีเพื่อนเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนด้วยกัน 2 คน เป็นเพื่อนต่างรุ่น ที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หกโมงเช้าต้องออกจากบ้าน ห่อข้าวไปกิน กลับถึงบ้านก็ค่ำพอดี เดินเรียนอยู่ได้ 3 เดือน พ่อเห็นว่าลำบากจึงเอาไปฝากไว้กับป้าที่ตัวอำเภอ ด้วยความที่เป็นคนบ้านนอกไม่คุ้นเคยกับชีวิตคนเมือง อยู่ลำบาก เมื่ออยู่มาระยะหนึ่งอายุประมาณ 11 ปี เกิดป่วยเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรัง รักษาไม่หาย กินยาควินินจนตัวเหลือง ช่วงสอบก็ไม่ได้สอบ ทำให้เรียนไม่จบ กลับมาบ้านรักษาจนหายก็ไม่อยากกลับไปเรียนซ้ำชั้นอีก จึงได้ตัดสินใจเลิกเรียน แล้วกลับมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน พ่อทำสวนยาง ยางที่ปลูกเป็นยางใหม่ที่เพิ่งลงปลูกยังกรีดไม่ได้ พ่อจึงไปรับจ้างกรีดยางในสวนของคนอื่น ลุงยงค์เองก็ไปช่วยเก็บน้ำยาง นอกจากนี้ยังทำนาปลูกข้าวไร่ ไว้กิน โดยไปถางที่ 2-3 ไร่ ซึ่งในสมัยนั้นที่มีเยอะ แต่ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ต้องใช้แรงงานคนในการถางที่
คุณพ่อของลุงยงค์มีความสามารถเป็นช่างพิมพ์กระเบื้อง ก็ไปรับจ้างเถ้าแก่หารายได้เสริม ลุงยงค์เองก็ไปช่วยพ่อทำจนสามารถพัฒนาฝีมือการทำกระเบื้องได้ไม่แตกต่างจากพ่อ แล้วก็บอกพ่อว่า ...ทำได้แล้วนะ พ่อไม่ต้องทำ.... ทำกระเบื้องมาได้ระยะหนึ่ง พ่อถามว่า ...ถ้าชอบเอาไหมจะซื้อเครื่องให้... ลุงยงค์ตกปากรับคำ นับจากนั้นจึงเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงงานกระเบื้องตั้งแต่อายุ 17 ปี ที่ตั้งของโรงงานอยู่ติดกับแม่น้ำตาปี ทำให้สามารถที่จะเอาทรายในแม่น้ำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำกระเบื้องได้ และใช้เรือถ่อไปตามแม่น้ำตาปีเพื่อไปเอาปูนซีเมนต์มาทำกระเบื้อง ทำมาสักระยะก็สังเกตเห็นปัญหาว่า เวลาที่ลูกค้ามาซื้อไม่มีรถมาบรรทุก หรือถ้าลำเลียงลงเรือแล้วก็ต้องใช้ช้างมาลาก ทำให้กระเบื้องแตกเสียหาย
"...เวลาเขาลากไป บางทีแตกไปครึ่งหนึ่งเขาก็หาว่ากระเบื้องของเราไม่ดี..."
ลุงยงค์ก็เลยคิดกับน้องว่าต่อไปนี้ถ้าใครจะมาซื้อกระเบื้องที่บ้านอยู่ห่างไกล หรือไม่สามารถขนส่งทางเรือได้ ไม่ต้องมาซื้อที่โรงงาน ให้เอาช้างมาลากเครื่องไปแทน ลุงยงค์จะไปพิมพ์ให้ถึงบ้าน เพราะถ้าลากกระเบื้องไปก็อาจจะแตกเสียหาย พอไปทำให้ถึงบ้านปรากฏว่าไม่มีปัญหาอะไร จึงนับได้ว่าเป็นโรงงานแรกที่ให้บริการถึงบ้าน
ทำมาได้ระยะหนึ่ง มีโรงงานทำกระเบื้องแบบพิมพ์รุ่นใหม่ เป็นกระเบื้องรอนออกมา ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ เลยปรับปรุงซื้อเครื่องใหม่ แต่ต่อมาเกิดปัญหาอีก มีกระเบื้องรอนคู่ออกมา คนนิยม แต่โรงงานทำไม่ได้ ต้องใช้เครื่องจักรและโรงงานขนาดใหญ่ในการผลิต ซึ่งผลิตครั้งละมากๆ ทำให้ราคาถูกกว่า จึงตัดสินใจทิ้งกิจการโรงงานทำกระเบื้อง
หลังตัดสินใจหันหลังให้กับโรงงานกระเบื้อง จึงคิดปรึกษากับน้องชายว่าจะทำอะไรต่อดี เห็นข้าวในยุ้งข้าวเหลือมากเกือบ 5 เกวียน กินก็ไม่ไหว ขายก็ยาก เลยคุยกับแม่ เราตุนข้าวไว้เยอะมากและนานเกินไป บริเวณบ้านมีที่อยู่หนึ่งแปลง มีร่มไม้นิดหน่อย ก็ไปหาไม้ไผ่มาล้อมรอบ 3 ไร่ หาไก่พันธุ์พื้นบ้านมาเลี้ยงเกือบพันตัว ไก่ตัวผู้เอามาตอนเลี้ยง ไก่ตัวเมียก็เลี้ยงดูอย่างดี รับจ้างกรีดยางด้วย ทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงตรุษจีนขายไก่ได้ดีมาก รวมทั้งคุณภาพของไก่ยังดีกว่าเจ้าอื่น พยายามสู้ให้ได้ทุกเรื่อง
เมื่อชีวิตดีขึ้น น้องๆ ก็เรียนจบกันแล้วบ้าง ลุงยงค์มีน้องทั้งหมด 5 คน จะคอยหาเงินส่งน้องเรียน เรียนอยู่ 3 คน ได้ทำงานราชการทั้ง 3 คน เป็นครู คนหนึ่ง จบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 คน อีกคนจบสงขลานครินทร์ ไปเรียนต่ออินเดีย สอบเข้ากรมผังเมือง ช่วงนั้นยางที่ปลูกไว้ก็เริ่มกรีดได้บ้าง แต่ถึงแม้เห็นว่าเลี้ยงไก่ได้ดี แต่ถ้าไม่มีอาหารแล้วข้าวเปลือกที่เลี้ยงไก่หมด ถ้าไปซื้อก็หายาก ส่วนใหญ่จะเก็บไว้กินกัน ราคาก็แพง จึงเลิกเลี้ยงไก่อีก ก็ทำเรื่องกรีดยางต่อที่สวนตนเอง น้อง ๆ ก็เริ่มเข้ามาช่วย
ชีวิตลำบาก แต่ก็ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้ เพราะไม่มีใครให้กู้ พอหลังจากนั้นก็ได้ทดลองงานอีกงานคือญาติของพ่อเป็นเถ้าแก่ไปรับช่วงสำประทานป่าไม้ ชวนไปล่องแก่ง ลุงยงค์เห็นโอกาสที่จะได้ทดลองทำงานเป็นทีม และใช้ความสามารถสูง เห็นเค้าล่องแพมันสนุก ขอไปด้วย เป็นลูกน้อง เวลาล่องน้ำเชี่ยวต้องไปเป็นทีมอย่างน้อย 10 แพ ตอนแรกลงแพกลางๆ หัวหน้าใช้ให้หาผัก หาปลา ผ่าฟืน แต่พอหลายเที่ยวเข้าเริ่มมีความชำนาญ หัวหน้าก็ให้เป็นลูกน้องแพหน้า ต้องรับผิดชอบแพอื่นๆ ได้ ตัดสินใจได้ว่าจะพักตรงไหน หาอาหารได้ไหม ผูกแพ แพอื่นๆ จะผูกตามต่อ ลุงยงค์เป็นคนที่มีความสามารถและใช้ง่าย ใช้อะไรแล้วทำได้ เสี่ยงพอสมควร เวลาจะผูกแพต้องว่ายน้ำเอาเชือกไปผูกกับต้นไม้ ถ้ามัดไม่ทันก็ต้องโดดกลับมาว่ายน้ำขึ้นแพให้ทัน แล้วค่อยหาที่ผูกใหม่ ได้ประสบการณ์ 2 ปีในการรับผิดชอบงาน
..........บวชเรียน ชีวิตครอบครัว.................
หลังจากปี พ.ศ.2500 คุณตาของลุงยงค์ได้บอกว่าเป็นช่วงของกึ่งกลางพุทธศาสนา ใครได้บวชจะได้อานิสงค์แรง ช่วงนั้นอายุ 20 ปีพอดี ลุงยงค์เลยตัดสินใจบวช ซึ่งก่อนที่จะบวชได้ต้องไปอยู่วัดท่องนวโกวาทให้ได้เสียก่อน จึงจะได้บวชเรียน คุยกับคนอื่นๆ ที่มาบวชด้วยกัน ว่าจะบวชไม่เกินสามพรรษา ตั้งใจเรียนเต็มที่ หลังจากสึกจะแต่งงานไม่เกิน 25 ปี เพราะคนสมัยนั้นบอกว่าช้าไปมีลูกไม่ทันใช้ บวชได้ 2 ปี เพื่อนสึกหมด ว้าเหว่ เลยสึกด้วย ก่อนลาสิกขาบทสอบได้ชั้นนักธรรมโท
"...คิดว่าการบวชเรียนมีส่วนสำคัญ แต่จะบวชหรือไม่บวชไม่เป็นไร แต่ต้องศึกษาหัวใจของหลักศาสนา ผมศรัทธาเชื่อมั่นความจริง มีเหตุมีผล อธิบายได้ หลักศาสนาพุทธเป็นหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ล้าสมัย…" ลุงยงค์พูดถึงสาระสำคัญที่ตัดสินใจบวชเรียน
เมื่อลาสิกขาบทแล้ว ลุงยงค์ได้วางแผนการก่อร่างสร้างตัว โดยได้แต่งงานเมื่อปี 2504 เป็นปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมพอดี การแต่งงานในสมัยนั้นอาจจะแปลกสำหรับสมัยนี้
"...การแต่งงานไม่ใช่กับคนรัก แต่แต่งงานกับคู่ครอง..." ลุงยงค์นิยามคำว่าแต่งงาน
ซึ่งพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเห็นดีด้วย ภรรยาก็เชื่อพ่อแม่ พอแต่งงานแล้วก็บอกกับภรรยาว่าจะทำงานอย่างนัก 30 ปี เพื่อปลดเกษียนการทำงานของตัวเองอายุไม่เกิน 55 ปี เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันส่วนมากก็จะรับราชการ รู้สึกอิจฉาเพื่อนๆอยู่เหมือนกัน เพราะข้าราชการจะมีบำนาญกิน เลยตั้งใจว่าเกษตรกรอย่างเราทำงานหนักอายุ 55 ปี ก็ควรจะพักได้แล้ว เตรียมบำนาญไว้ให้ตัวเอง จึงตัดสินใจทำเรื่องการทำสวน จากประสบการณ์ที่เคยเห็นคนแก่ทำงานหนักรู้สึกว่าเป็นการประจานลูกๆ ว่าไม่ดูแลพ่อแม่ นึกว่าถ้าตนเองแก่ สิ่งที่เราไม่ชอบตอนเด็กๆ ก็ไม่ควรทำ ก็ถามลูกๆ เหมือนกันว่าสิ่งที่เราทำเป็นอย่างไรบ้าง ในส่วนที่ได้วางแผนตนเองมา จนทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนได้
"...มีคติอยู่ว่าตั้งใจทำอะไรแล้ว จะต้องทำให้สำเร็จ ถึงแม้จะต้องเสียสละอะไร ก็จะไม่ละเลย ถ้าเราไม่ท้อแท้ และไม่กำหนดว่าจะต้องเสร็จเมื่อไรอย่างไร ก็ทำให้สำเร็จได้ ในเรื่องที่ทำก็เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องทำให้ตนเองแก้ปัญหาตัวเองได้ ทำให้ครอบครัวมีความสุขสงบ ลูกเมียไม่เดือดร้อน..."
"...ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาไปบอกคนอื่น ให้ข้อคิดได้ ผมจะใช้เวลาทีเหลืออยู่ช่วยสังคม ถ้าเราจัดการตัวเองไม่ได้ ก็ไม่สามารถไปบอกคนอื่นได้ ระยะหลังสร้างคนรุ่นใหม่ก็เตือนว่าต้องแก้ปัญหาตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ควรทุ่มเทเพื่อคนอื่นทั้งหมด ถ้าตัวเองเดือดร้อน แล้วเอางานเพื่อสังคมมาเป็นอาชีพ อันตรายมาก เริ่มทีละน้อย ใช้เวลาสร้างตัวอย่างขึ้นมาให้ได้ แล้วค่อยเอาไปบอกคนอื่น..."
ในสมัยก่อนขาดความรู้ในการอยู่รอดเยอะ สังเกตจากที่ประสบอุทกภัยตะลุมพุก ลุงยงค์ทำกระท่อมอยู่ ฝนตก 4-5 วัน ส่งผลให้ทำนบหัก น้ำท่วมพัดกระท่อมล้มพลิกตะแคง ลุงยงค์ได้แต่ยืนถือร่มกอดลูกอยู่จนสว่าง ข้าวไร่ที่ปลูกไว้กำลังออกรวงเรียบราบกับดินหมดเลย มะเขือถอนรากถอนโคนไปพร้อมกับน้ำป่า พอเช้าก็นึกถึงบ้านเดิมซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก 7 กิโลเมตร กลัวว่าต้นทุเรียนที่ปลูกไว้จะล้มเพราะถูกน้ำพัด จึงพาลูกเมียไปบ้านพ่อตา แล้วไปดูพ่อ ระหว่างทางไม่เคยเดินบนดินเลย มีแต่ต้นไม้ล้มอยู่
"...ในบางช่วงต้องว่ายน้ำข้ามด้วย เห็นบ้านปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่หักทับพ่อแม่น้องอยู่ใต้ถุนบ้าน พวกเราต้องช่วยตัวเอง สิ้นเนื้อประดาตัว เป็นอย่างนี้ทั้งจังหวัด ไม่มีใครช่วยใครได้..."
"....ผมไม่คิดว่าแม่บ้านเป็นช้างเท้าหลัง แต่ต้องไปด้วยกันเลย ต้องรู้พร้อมๆ กัน และมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ผมถึงทำได้ มีอะไรก็เล่าให้เค้าฟัง ตั้งใจว่าผมต้องอยู่ในกฎในเกณฑ์ เค้าก็ต้องเป็นแม่บ้านที่ดี ทำเป็นตัวอย่างของลูก ลูกผมเป็นอย่างที่ต้องการได้จริงๆ ไม่เคยทะเลาะกันให้ลูกเห็นเลย ทำอะไรก็ปรึกษาหารือกันตลอด...."
..........ผู้นำ กับ การต่อสู้และเรียนรู้ชีวิต..........
ในสมัยก่อนการดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นสิ่งที่ลำบากมาก อุปสรรคปัญหาเยอะ ต้องทำเองทุกอย่าง แม้แต่ข้าวปลาอาหารการกิน น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกล ถนนหนทางไม่เคยมี ลุงยงค์ได้ศึกษาและเรียนรู้การดำรงชีวิตจากคุณพ่อ พ่อเดินขึ้นเขาลุงยงค์ก็เดินขึ้นเขาพร้อมพ่อ ไปเผายาง เอาน้ำมันไปทำยาเรือ เมื่อเข้าใจชีวิต และเรียนรู้การดำรงชิวิตอยู่บนความยากลำบากได้ ปัญหาทุกอย่างเลยธรรมดา
ลุงยงค์มองปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่เราทำในสิ่งที่เราไม่รู้ เห็นพ่อแม่ทำมาบางทีไม่มีการพัฒนาเลย เกษตรกรไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลย เกษตรกรไม่ว่าจะทำอะไร ซึ่งคำนวณแล้วจะมีกำไรแค่ 3 ปี อีก 7 ปี ขาดทุน เพราะเกษตรกรไม่คิดค่าแรงตัวเอง ถึงพอทำได้อยู่ แต่ตอนนี้บางทีกินทุนตัวเอง เพราะกู้หนี้เอามาหมุน ขั้นตอนที่มีกำไรคือขั้นตอนการค้าขาย และขั้นตอนการแปรรูป ซึ่งเกษตรกรเอาไปให้พ่อค้า นักลงทุนทำ เกษตรกรไปทำช่วงที่ขาดทุนคือขั้นตอนการผลิต ดังนั้นเกษตรกรต้องทำทุกช่วง ทุกขั้นตอน และทำคนเดียวไม่ได้ แต่ถ้ามารวมกันก็สามารถทำได้ ลุงยงค์เองตั้งใจว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนาตนเองได้ ซึ่งทดลองแล้วว่าทำได้ แต่ต้องเรียนรู้หน่อย ถ้าไม่เรียนรู้จะไม่คุ้นเคย ไม่ชำนาญ
"…วิธีการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง สนใจอะไรก็ไปปรึกษาหารือผู้รู้ เอามาทดลองทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากเราปฏิบัติจริง เราไม่ต้องเชื่อทั้งหมด เราทำซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นคือความรู้ใหม่ของเรา..."
ก่อนที่จะเป็นผู้นำให้กับคนอื่น ลุงยงค์ได้ให้มุมมองและแง่คิดไว้ว่า
"…ต้องดูแลตนเองก่อน อย่าให้ตัวเองเดือดร้อนเด็ดขาด และที่น่ากลัวคือไปเบียดบังงานพัฒนามาเป็นอาชีพของตนเอง เช่นผมถือเงินพัฒนามา แล้วเบียดเอาไปใช้เรื่องครอบครัว ไม่ได้เด็ดขาด ผู้นำต้องถือห้ามปฏิบัติ 2 เรื่อง คือเรื่องผู้หญิง และเรื่องเงิน...."
เมื่อจะเป็นผู้นำด้านการผลิต ต้องรู้ ต้องศึกษาการแปรรูป ลุงยงค์จึงชอบที่จะเข้าร้านหนังสือ หาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ เวลาเอามาทำก็ไม่อิงตามนั้น บางทีไม่สอดคล้อง ก็เบี่ยงๆ อิงบ้าง ไปคุยกับนักธุรกิจเพื่อขอรับคำปรึกษาบ้าง อย่างเช่นคุณณรงค์ โชควัฒนา ที่คบกันมานาน เพื่อขอคำแนะนำในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้หรือเกิดข้อสงสัย
ลุงยงค์ยังให้ข้อคิดอีกว่า เราต้องทำในสิ่งที่รู้จริง ถ้าไม่รู้ก็ไม่ควรทำ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนรู้จักตัวเอง ลุงยงค์เป็นคนพื้นถิ่นรู้จักคนเยอะ ลุงยงค์จะใช้วิธีการในการค้นหาแกนนำในหมู่บ้าน โดยการเข้าไปถามหาคนที่มีบารมีในหมู่บ้าน ใช้วิธีการถามชาวบ้านว่าคนที่นี่ถ้ามีปัญหาจะไปปรึกษาหารือกับใคร ถ้ารู้แล้วลุงยงค์ก็จะไปชวนบุคคลเหล่านั้นมาร่วมพูดคุยกับกลุ่ม ซึ่งลุงยงค์มีความเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่ทำข้อมูลที่เป็นจริงได้ เช่น ว่าใครมีปัญหาอะไร ใครยากจนบ้าง
ในปี พ.ศ. 2538 2539 ลุงยงค์และชาวชุมชนไม้เรียงได้ร่วมกันออกแบบสอบถามข้อมูลของหมู่บ้าน โดยมี ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นที่ปรึกษา แล้วนำแบบสอบถามนั้นไปเก็บข้อมูลในชุมชน ซึ่งมีครูที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ช่วยในการเก็บข้อมูล แต่ก็พบกับอุปสรรคในการเก็บข้อมูล คือทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอบต. ไม่เข้าใจว่าลุงยงค์และแกนนำกำลังทำอะไรกันอยู่ ดูเหมือนกับว่าจะไปแย่งงานของเขาทำ แต่จริงๆแล้วทางลุงยงค์และแกนนำหมู่บ้าน ได้ช่วยกันเก็บข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ เหล่านั้นได้นำไปใช้ต่อ
"…เราจะช่วยเขา เราไม่มีทุน ทำกันด้วยใจ ตอนนั้นมีปัญหาเมาเหล้า เมายา กันเต็มไปหมด ผมคิดว่าจะลงทุนเองตั้งวงมานั่งกินกาแฟกัน กินกันไปคุยกันไปได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นสภากาแฟ..."
ต่อมามีนักวิชาการจากหน่วยงานราชการเข้ามาช่วย ดูข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลให้ แล้วนำเอาข้อมูลที่ได้ไปบอกกับชาวบ้านในชุมชนไม้เรียง ว่าที่ไปขอข้อมูลมาพอวิเคราะห์แล้วพบว่า ปัญหาหลักของชุมชน คือหนี้สินถึง 8 หมู่บ้าน 1,500 ครอบครัว ซึ่งเป็นหนี้รวมกันทั้งชุมชนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท อาชีพที่ทำอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว มีปัญหาเกี่ยวกับราคาต่ำ เงินไม่พอใช้ ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ต้องกู้หนี้มาชำระหนี้ คนก็ไม่บอกตัวเลขจริงที่เป็นหนื้ คนยากจนอายที่เป็นหนี้ คนรวยก็อวดหนี้ ลุงยงค์และกลุ่มแกนนำจึงคิดวิธีที่จะทำให้ได้ข้อมูลตัวเลขจริงๆ ว่าชาวบ้านไม้เรียงเป็นหนี้อยู่เท่าไร จึงได้ทำหนังสือขอตัวเลขหนี้รวมทั้งตำบลกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธกส.) ซึ่งในตอนแรกทาง ธกส. ไม่ให้ข้อมูล เนื่องจากว่าเป็นข้อมูลลับของทางเกษตรกร แต่เมื่อทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของ ธกส. แล้ว ทำให้ได้ข้อมูลตัวเลขที่เกษตรกรเป็นหนี้กับ ธกส. ซึ่งเป็นข้อมูลน่าตกใจมากสำหรับลุงยงค์และชาวตำบลไม้เรียง
เกษตรกรในชุมชนไม้เรียงเป็นหนี้โดยการกู้เงินจาก ธกส. เป็นเงินถึง 74 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับหนี้นอกระบบที่มีเป็นจำนวนอีกมาก เพื่อให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ทางลุงยงค์จึงได้ขอดูข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี ปรากฎว่าเกษตรกรมีหนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 15 -17 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่พันยอดทบขึ้นไปทุกปี เกษตรกรต้องกู้หนี้เพื่อไปชำระหนี้ ทุกคนหาทางออกไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด ปัญหาเรื่องหนี้สินของชาวชุมชนไม้เรียงกลายเป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ต้องแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ก่อนที่จะไปคิดเรื่องอื่น ขั้นตอนแรกเป็นหนี้ไม่เป็นไร แต่อย่าให้มันเพิ่มแบบนี้ ชาวชุมชนไม้เรียงก็คิดกันมากมายว่าจะทำอย่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งลุงยงค์ ไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไร เพราะเมื่อต้องการรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพเสื่อมโทรม และสิ่งแวดล้อมเสียหายเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดที่ประชุมลงมติเห็นว่าการลดรายจ่ายเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็มีปัญหาตรงที่ว่าแล้วรายจ่ายอะไรที่สามารถลดได้ เพราะชาวบ้านใช้จ่ายเงินทุกวันและไม่รู้ว่าใช้จ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง ก็เลยให้ทุกคนบันทึกรายจ่ายของตัวเอง ให้ทุกครัวเรือนบันทึกรายจ่ายของตนเองเป็นเวลา 1 เดือน และประสานโรงเรียนให้นักเรียนช่วยจัดทำบันทึกในครอบครัวให้ระเอียดมาส่งครู แล้วครูจะให้คะแนนเพิ่ม มีผู้ปกครองบางคนมาบอกกับลุงยงค์ว่า คุณครูสอนลูกให้บังคับพ่อแม่ ซื้อเหล้าเท่าไรก็ต้องบอกลูก ไม่บอกลูกก็ร้องไห้ แม่ซื้อหวยเท่าไรก็ต้องบอก ถ้าไม่บอกคุณครูจะไม่ให้คะแนน เมื่อครบกำหนดและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดูพบว่า บางครอบครัว ใช้จ่ายเงินในการซื้อ หวย และ เหล้า มากกว่าซื้อข้าว กับข้าว เสียอีก ข้อมูลที่ได้จึงกลายเป็นแผนแม่บทของชุมชน และนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2540 ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนไม้เรียงมากนัก เพราะชาวชุมชนไม้เรียงได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลมาก่อนแล้วนั่นเอง
จากนั้นก็มีคนไปดูงานเรื่องกระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนเยอะมาก มี UNDP ไปดูด้วย
"...ผมบอกว่าต้องใช้เวลาให้สั้น ให้เค้ามีเวลาทำมาหากิน มีการออกแบบสอบถาม มีการทดลองใช้ ผลประเมิน UNDP บอกว่าเป็นการเตรียมคนในการเริ่มต้นการพัฒนาและความพร้อม..."
"...กองทุนเพื่อชุมชน (SIF) ให้กระทรวงการคลังกู้มา 120 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง มีส่วนต่างเกิดขึ้น ผมขอไปทำแผนแม่บทชุมชน 4,500 ล้านบาท..."
"....เราสรุปบทเรียนพบว่าปัญหามันสัมพันธ์กัน โดยชวนพัฒนาชุมชน เกษตร กศน. สาธารณสุข และNGO ดร.เสรี พงศ์พิศ แกนนำทุกหมู่บ้าน อีกอย่างเราขาดความรู้ เราอยากทำหลายเรื่องแต่ไม่มีความรู้ เช่นการแปรรูป แชมพู น้ำยาล้างจาน บ้านผมไม่เคยซื้อใช้ บางคนชอบซื้อ แต่ถ้าซื้อภายในชุมชนเงินก็อยู่ในชุมชน ฝึกกลุ่มแม่บ้านมากลุ่มหนึ่ง ให้เค้าเป็นวิทยากรไปฝึกทุกหมู่บ้าน..."
".... ในเดือนต่อมาผู้สูงอายุต่อว่าเค้าขายของไม่ได้ หาว่าแกล้ง ผมว่าไม่ได้แกล้ง ถ้าฝึกให้เค้าใช้เป็น คนขี้เกียจมีมากกว่าคนขยัน เมื่อทำไปสักพัก มีเงินซื้อก็จะซื้อคนที่ทำ เป็นการทำการตลาดมากกว่า และถ้าใครมากล่าวหาว่าปลอม คนใช้นั่นแหละจะเถียงแทนได้เลย เพราะเคยทำ เคยใช้มาแล้ว ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนหมุนเวียนได้มากขึ้น...."
"....ผมตั้งใจ แต่ไม่ได้เคร่งเครียดกับเป้าหมาย ข้อหามากมายเจอมาแล้ว หัวหน้าคอมมิวนิสต์ ชุมชนไม้เรียงไม่ใช่เข้มแข็ง แต่เป็นชุมชนหัวแข็ง..."
ที่มา : ต้นฉบับหนังสือเพชรแท้แห่งไม้เรียง จัดทำโดยมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จากกิจกรรมอบรมผู้นำ ณ สำนักพุทธัมผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2549)
ตอนที่ 1
อ้อม สคส.
หมายเลขบันทึก: 117212เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาซึมซับจิต วิญญาณอันแกร่งกล้าของลุงยงค์ ครับ

ขอบคุณครับ

คนเราจะดีหรือชั่ว ไม่ใช่อยู่ที่ชาติและวงศ์ตระกูล แต่คนจะดีหรือชั่ว อยู่ที่การกระทำ

ขอแสดงความนับถือ ลุงยงค์ แห่งบ้านไม้เรียง ขอให้คุณลุงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายและใจนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท