ท่าเรือที่ไม่มีเรือ


ความเรียง ต่อภาพที่เห็นจากปากน้ำปราณ ผู้คน ชีวิต และความเปลี่ยนแปลง จากสิ่งที่เห็นสู่คำถาม จากสิ่งที่ดำรงอยู่ไปสู่สิ่งที่ผ่านไป และไปสู่อนาคตซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้น

ท่าเรือที่ไม่มีเรือ     

เมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นความจริงของโลก

     

ทั้งสายน้ำสายลมต่างก็บอกสอนเราอยู่ในทุกคืนวัน ให้เข้าใจถึงหัวใจแห่งความเปลี่ยนแปลง

ไม่เพียงจะเฝ้าตอกย้ำ แต่ยังบอกในทุกลมหายใจของชีวิตเราเพื่ออธิบายให้ตระหนักอยู่เสมอ ถึงกลไกแห่งชีวิตนี้  

ความเปลี่ยนแปลงของเมืองปราณ หรือปากน้ำปราณบุรี เมืองริมทะเลไทยซึ่งเติบโตขึ้นมาในระยะกว่าทศวรรษ ผลอันแผ่กระจายความเจริญจากหัวหิน ไม่เพียงสร้างมิติใหม่ของเมืองประมงริมทะเล   

แต่ยังเป็นบททดสอบต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ ที่เราทุกคนจะได้รับรู้  

ปราณบุรี ในนามของจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งของประเทศไทย  หากพิจารณาถึงการเคลื่อนย้ายกำลังพลทางทหาร จนก่อให้เกิดค่ายธนะรัชต์ ค่ายทหารที่ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม จุดเชื่อมหากมาจากภาคใต้ก่อนเข้าสู่หัวหิน และจุดปิดกั้นสำคัญก่อนลงปักษ์ใต้ หากไปจากกรุงเทพฯ  

ความสงบเงียบของตลาดปราณบุรี เกิดขึ้นในช่วงที่ค่ายทหารคือศูนย์กลางของอำนาจ ไม่ว่าจะอธิบายต่ออำนาจในประเทศ และอำนาจเพื่อปกป้องประเทศ เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา   

เท่ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งใหญ่ เมื่อคลื่นลมพัดพา รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศรุ่นใหม่ ทยอยทะลักสู่ชายทะเลอันสงบงดงาม แทนที่เกษตรกรและชาวประมง  แม้ทรายไม่ขาวเท่ากับหัวหิน แต่ความสงบและเป็นส่วนตัวกลับโดดเด่นกว่าหัวหินหลายเท่านัก   

ดังนั้นตลาดปราณบุรีจึงต้องปรับตัวไปตามผู้คน  

จากเดิมเป็นชาวไร่ ชาวสวนมะพร้าว ชาวประมง และทหารบก มาเป็นประชากรใหม่ของเมืองปราณ ซึ่งจะแวะเวียนมาในทุกเสาร์อาทิตย์และสุดสัปดาห์ ที่กลายเป็นส่วนเพิ่มเติมของเมืองนี้ ต่อทั้งลมหายใจและเติมชีวิตของเมืองนี้   

ความเป็นจริงของเมืองประมงทั่วประเทศไทย ก็คือจุดขึ้นปลาและแพปลา ท่าเรือขึ้นปลาไม่เพียงเป็นหัวใจและชีวิตของผู้คน แต่เป็นลมหายใจสำคัญ ที่เราจะรำลึกได้ทุกครั้งว่า เราได้ก้าวย่างสู่ดงประมง ทั้งกลิ่นทั้งเสียง ทั้งตะแกงตากปลา ตะกร้ายกปลา และปลาประดามีมากมายที่วางอาบแดดสลอน เป็นชนชาติอาบแดด ก่อนทีนักท่องเที่ยวจะมาชื่นชมความงามของการอาบแดดในย่านนี้  

หัวใจแพปลา และท่าปลา มักอาศัยความสัมพันธ์กับปากน้ำอย่างแยกไม่ขาด เช่นเดียวกับปราณบุรี เมื่อปากน้ำปราณ คือจุดเชื่อมโยงแพปลา สายน้ำจืด จุดขึ้นลงปลาที่ปลอดจากคลื่นลมอันตราย หลบเรือจากลมทะเล แวะเอาของขึ้นของลงได้ พักเรือเพื่อยกซ่อมแซม และปลดปล่อยลูกเรือสู่เมือง   

เมืองที่รองรับลูกเรือแบบชาวบ้าน ก็ปรับสภาพความบันเทิงแบบชาวบ้าน ของค้าของขายแต่เดิมของปราณบุรี ก็งดงามแบบชาวบ้านทั่วไป แพปลาเล็กๆ ท่าเทียบเรือเล็กๆ และผู้คนริมน้ำกระหย่อมเดียว เพราะนอกเหนือจากนั้น ก็กระจัดกระจายตัวไปตามสวนมะพร้าว ถ้าข้ามออกถนนใหญ่ ถนนเพชรเกษม ก็ต้องเลยไปออกทางฝั่งชาวไร่ ทั้งปอ มันสำปะหลัง อ้อย และสัปปะรด โดยระยะหลังอาจมีสวนยางพาราเข้ามาเป็นส่วนประกอบใหม่ของชีวิต  

ปราณบุรี จึงกลายเป็นชุมชนแบบสงบ   

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การขึ้นเรือลงเรือเพื่อนำผลิตผลจากประมงขึ้นฝั่ง กลับกลายเปลี่ยนแปลง ท่าเทียบเรือที่เริ่มคับแคบ ความไม่สะดวกของร่องน้ำ ปากน้ำปราณเริ่มไม่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจึงเริ่มต้นการนับถอยหลัง  

ท่าเทียบเรือในปากน้ำปราณ ปรับตัวในสองสามรูปแบบ นอกเหนือจากปรับจากท่าเทียบเรือรวม ไปสู่การเข้ามาของท่าเทียบเรือเอกชน การเข้ามาของห้องเย็นก็คือการปรับเปลี่ยนสำคัญ เท่ากับคนพม่า กะเหรี่ยง มอญ และเขมร ที่เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับเมืองอันสงบ   

นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ชื่นชอบความสงบของปากน้ำปราณ และชายหาดปราณ ที่ซึ่งสถานต่างอากาศระดับโลกได้ตั้งอยู่ พี่น้องอุษาคเนย์ ก็ยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองปราณ และปากน้ำปราณ ยังไม่ต้องหมดลมหายใจ    

ไม่ใช่เพียงเพราะความจริงของชีวิต จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเท่านั้น  

ความสิ้นสุดของวันเวลา และอายุการใช้งานของทุกสิ่งรอบชีวิตเรา ยังคงตอกย้ำเราให้เห็นความจริง   เช่นปากน้ำปราณ และท่าเทียบเรือกลางของปากน้ำปราณบุรี เมื่อไม่มีเรือ ไม่มีปลาขึ้นจากเรือ ท่าเทียบเรือก็ไม่มีความจำเป็นใด ที่จะต้องมีเรือประดับไว้ เช่นวันคืนเก่าก่อน

    

ร. เรือ ที่ไม่เห็น คงไม่ได้หายไปไหน ถ้าเรายังจินตนาการ และอ่านสิ่งที่จินตนาการนั้นได้  

เพียงแต่อาจขยับร่างตัวเอง ไปอยู่ในที่ทางอันเหมาะสม และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ จะตกหล่นทางประวัติศาสตร์ หรือเลือนไหลไปกับอนาคตเช่นไรนั้น สุดแต่จะเรียนรู้ตีความ จะปรารถนาคำตอบอันแท้จริงเพียงใด ก็ต้องค้นหากันอีกต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 117129เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2007 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท