(8) วันสุดท้ายของงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน


บรรยากาศภายในเต็นท์ของ สพท. สุพรรณบุรี เขต 2

 

วันสุดท้ายของงาน

ศิลปหัตถกรรมนักเรียน

ครั้งที่ 56 ภาคกลางและภาคตะวันออก

บรรยากาศในเต็นท์แสดงผลงาน สพท.สพ.2  

       ก่อนที่งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 56 ภาคกลางและภาคตะวันออกจะปิดม่านลง ผมและเด็ก ๆ นักแสดงเพลงพื้นบ้าน มีโอกาสได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศในงานอีก 1 วัน อันเป็นวันสุดท้ายของงาน เราออกเดินทางจากโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตั้งแต่เวลา 04.15 น. เด็ก ๆ ก็หลับกันไปตลอดทาง หลายคนยังไม่เคยไปชลบุรีเลย ก็ต้องตื่นเต้น นอนไม่หลับเป็นธรรมดา แต่ก็มีบางคนได้ไปในวันก่อน ๆ มาแล้ว

       

         ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งก็มาถีงบริเวนหน้าศาลากลาง จังหวัดชลบุรี เวลาประมาณ 08.00 น. ไปถึงเต็นท์ 8X8 เมตร ของ สพท.สุพรรณบุรี เขต 2 ผมให้เด็ก ๆ เขาเตรียมอุปกรณ์ เครื่องขยายเสียง เครื่องเล็ก ความดังเพียง 15 วัตต์ (เครื่องที่ใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค.50 ทรานฟอร์เมอร์ไหม้ ใช้การไม่ได้เสียแล้ว) เป็นธรรมดา การใช้งานย่อมมีชำรุดสึกหรอ ใช้เสียดีกว่าไม่ได้นำไปใช้ เจ้าหน้าที่ของผมใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็เตรียมการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อย พวกเราก็เริ่มนำเข้าสู่บรรยากาศของ คุณธรรมนำความรู้สู่ความดี ICT สู่สากล  บนรากฐานความเป็นไทย นักแสดงรุ่นน้องออกมาพูดบรรยายก่อน และมีการร้องเพลงพื้นบ้านสลับกับการบรรยายไปตลอด ได้รับความสนใจจากผู้ที่มาชมงานมาก (ดังภาพ)

        

         ต้องยกนิ้วให้ จิระพงษ์ มามีสุข นักเรียนชั้น ม.2/3 คนเก่งของวงเพลงอีแซว และ สหรัฐ อินทร์ละม่อม ชั้น ม.2/5 พ่อเพลงรุ่นล่าสุดของผม (คนหลังนี่ วันสุดท้ายโทรศัพท์หล่นหาย น่าเสียดายมาก) เขาออกไปยืนหน้าเต็นท์แสดงผลงานด้าน บนรากฐานแห่งความเป็นไทยอธิบายเชิญชวนผู้ที่มาชมงานได้เข้ามาสัมผัสเพลงพื้นบ้านเขาพูดได้อย่างต่อเนื่องและเข้ากันดีมากทั้งสองคน เมื่อถึงเวลาร้องเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เขาก็สลับกันร้อง มีทั้งบทโต้ตอบ และบทออกตัว เรียกผู้ชมให้เข้ามายืนดูเขาได้ตลอดเวลา 

        ส่วนนักเพลงรุ่นพี่อย่าง ยุพาภรณ์ สุขเกษม และ ยุวดี มูลทองชุน นักเรียนชั้น ม.4 เหนื่อยมาตลอด 2 วัน มาถึงในวันสุดท้ายดูจะอ่อนเปลี้ยไปบ้าง แต่ทั้ง 2 ยุ เขาก็ทำหน้าที่ร้อง เล่น บรรยาย นำเอาสื่อพื้นบ้านเป็นสะพานส่งข่าวสารถึงผู้ที่เดินผ่านไป-มา ให้ต้องหยุดดูความสามารถของเขา และชมการแสดงได้เป็นระยะ ๆ ตลอดเวลาที่ 2 คนเขาทำหน้าที่  

        ธีระพงษ์ กับ ภาธินี 2 นักร้องนำของวง และสุพรรณิการ์ วันนี้เป็นคนคอยเสริมน้อง ๆ ท็อป-ธีระพงษ์ คงจะเหนื่อยมาจากงานหลายอย่างตลอด 3 วัน ต้องอยู่ที่เต็นท์แสดงผลงาน ไปเล่นเพลงเรือ ไปประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง (ได้รับรางวัลเหรียญทอง คะแนนสูงมากด้วย) ส่วนแป้ง-ภาธินี ยังจะต้องไปเล่นเพลงอีแซวที่เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 50 ด้วย น่าสงสารพวกเขา (เหนื่อยกันมามาก) แต่ว่าหน้าที่ก็ต้องเป็นหน้าที่ ในเมื่อรับปากว่า ทำได้แล้วก็ต้องทำกันเต็มที่ ครับ ไม่มีคำว่า ลาป่วยเด็ดขาด

       

        ยุ้ย-รัตนา ผัดแสน กับ อิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล 2 คนเก่งของผม ในวันสุดท้ายผ่อยไปเลยเพราะงานที่ผ่านมา เด็ก ๆ ทั้ง 2 คนรับบทหนักมาตลอด ทั้งเล่น ทั้งร้อง และต้องท่องจำเนื้อเพลง ไม่มีเวลาที่จะได้นั่งพักเลย  งานที่เต็นท์ในวันที่ 2 ส.ค. 50 ได้แต่มาช่วยเสริมน้อง ๆ เพียงช่วงเวลาเดียว แต่ก็เรียกความสนใจจากผู้ที่ผ่านไป มาได้มาก เพราะเขาเป็นแชมป์ รายการคุณพระช่วย ช่อง 9 และรางวัลชนะเลิศในรายการอื่น ๆ อีกหลายรายการ มีคุณรู้จักเขา 2 คนมากกว่าคนอื่น อิม ดูจะยังแข็งแรงอยู่ ออกมายืนประชาสัมพันธ์ที่หน้าเต็นท์กับผมได้พักใหญ่ บอกเล่าเรื่องราวของเพลงพื้นบ้านที่สืบสานอย่างถาวรได้อย่างไร

       

         ตลอดทั้ง 3 วัน เรามีท่านรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่สุพรรณบุรี เขต 2 อยู่กับพวกเราตลอดเวลาตั้งแต่เช้า จนเย็น โดยเฉพาะต้องขอขอบพระคุณท่านรองสุทิน อ่วมพรหม ที่ให้การดูแลเด็ก ๆ ของผมเป็นพิเศษ มีผลไม่รับประทานกันตลอดทั้งวัน เหนื่อย ร้อน เหงื่อไหล หิว ปวดหัว ปวดท้อง เป็นกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นปัญหา งานในเต็นท์ของ สพท.สพ.2 ทั้ง ICT ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสุดท้ายของการนำเสนอผลงาน

        เมื่อท่านผู้อำนวยการจากโรงเรียนชลกันยานุกูลนำเกียรติบัตรผู้เข้าร่วมกิจกรรมมามอบให้เต็นท์เรา  ในเวลาประมาณ 12.30 น. และหลาย ๆ เต็นท์เริ่มทยอยเก็บวัสดุ สิ่งของที่นำมาแสดงกันแล้ว ผมบอกกับเด็ก ๆ ว่า คงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่เรานำมาแสดง ได้แก่ เครื่องขยายเสียง ลำโพง ขาตั้งลำโพง สายไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า เอกสารแผ่นพับ นามบัตร แฟ้มผลงานเพลงพื้นบ้าน เครื่องให้จังหวะ ตะโพน ฉิ่งและกรับ 

       

        พวกเรา 13 คน เดินทางไปขึ้นรถที่จอดรออยู่บนถนนหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ซึ่งก็ไม่ห่างจากสถานที่แสดงผลงานเท่าไรนัก  พอจัดของขึ้นรถหมด เด็ก ๆ ขึ้นนั่งบนรถกันครบ ก็พาไปรับประทานอาหารกลางวันที่ตลาดใกล้ ๆ กับสำนักงานชลบุรี เขต 1 เด็ก ๆ หลายคนอยากจะไปดูทะเล ผมเลยขอให้รถเขาขับพาไปดู (อยู่ไม่ห่างจากที่เรารับประทานอาหารกลางวัน) ออกไปประมาณ 1- 1.5 กิโลเมตรก็ถึงริมฝั่งทะเล  ตอนที่ไปถึงเป็นเวลาบ่ายโมงเศษ (13.45 น.) น้ำทะเลกำลังลด แห้งหมด ไม่มีน้ำให้เห็นเลย เด็ก ๆ ก็ได้แต่เสียดาย แต่ว่าสายลมที่พัดเข้ามาหาฝั่ง ทำให้พวกเราได้รับกลิ่นไอของทะเล และความเย็นที่สดชื่นที่สุด ทุกคนยิ้มได้ เด็ก ๆ เขาคงคลายเหนื่อยกันไปได้บ้าง

        ประมาณ 15 นาที ที่ริมฝั่งทะเลและเกือบ 3 วัน ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนกำลังจะเป็นอดีตไปเสียแล้ว ผมบอกเด็ก ๆ ให้ขึ้นรถได้แล้ว เราจะได้ไปถึงดอนเจดีย์ก่อนค่ำ   ลาแล้วเมืองชล  ลาไปด้วยความประทับใจ 

ชำเลือง มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่น ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  รางวัลราชมงคลสรรเสริญ  2547

 

หมายเลขบันทึก: 117045เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2007 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท