(6) ลูกศิษย์ของผมได้ลงเรือเล่นเพลง


บรรยากาศวิถีริมน้ำกับเพลงเรือ โดยหนุ่มสาวสุพรรณฯ

 

ลูกศิษย์ของผม

ได้ลงเรือร้องเพลง

หลังพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 56

บรรยากาศวิถีน้ำกับเพลงเรือสุพรรณฯ  

         ก่อนงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน 1 สัปดาห์ ผมได้รับมอบหมายจากท่านผู้อำนวยการให้เตรียมนักแสดงเพลงเรือไปร่วมในงาน เป็นการลงเรือร้องเพลงเรือ หลังจากพิธีเปิดงาน ในห้องประชุมของโรงเรียนชลกันยานุกูลเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการนำเสนอบรรยากาศวิถีน้ำ ที่จัดแสดงตลาดขายของทางเรือ และเพลงพื้นบ้านหลายชนิดบนริมฝั่ง    

        ผมจัดเตรียมผู้แสดงเอาไว้ในตอนแรก 15 คน กะว่าคงจะลงเรือไปแล้วขึ้นจากเรือเล่นเพลงที่ริมตลิ่ง แบบการเล่นเพลงเรือในสมัยก่อน ที่เขาเล่นกันบนบกด้วยนะ มิใช่เพียง แต่เล่นในเรือ แต่พอถึงวันใกล้ ๆ เข้ามาได้รับแจ้งจากอาจารย์ศจี  ผู้ประสานงาน ของชลบุรี เขต 1 ว่า จะจัดเรือมาให้ผม 1 ลำ คนลงไปนั่งได้ 5 คน ผมจัดเตรียมการวางแผนเอาไว้ว่า  5 คน เป็นคนร้อง 4 คน อีก 1 คน พายเรือ ส่วนที่เหลือให้เป็นลูกคู้ร้องรับอยู่ที่บนฝั่ง  

         ก่อนงาน 2 วัน ได้รับแจ้งว่า จะจัดเรือเอาไว้ให้ 2 ลำ นักเพลงลงไปในเรือได้ลำละ 4 คน รวม 8 คน มีทหารเป็นผู้พายเรือให้ การเตรียมวางแผนต้องปรับใหม่อีกครั้ง จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม ได้รับโทรศัพท์ จากผู้ประสานงาน ชลบุรี เขต 1 ว่า ให้ผมนำคณะนักแสดงไปทำการฝึกซ้อม ณ สถานที่แสดงจริง (แสดงจริง วันที่ 31 กรกฎาคม 2550) ผมนำคณะนักเรียนไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ ไม่มีงบประมาณรองรับค่าใช้จ่าย ในการไปดูแลนักเรียน 15 คน รวมทั้งยานพาหนะที่จะเดินทางไปชลบุรี (มิได้ว่าจ้างรถเอาไว้ล่วงหน้า)

        

         เป็นอันว่า ผมไม่ได้พาเด็ก ๆ นักแสดงไปซ้อมก่อนงาน (ความจริงผมไม่ได้หนักใจเลย) แต่เด็ก ๆ เขามีความพร้อมในการแสดงเพลงเรือ เกือบ 100 % ที่จะหนักใจก็คือ วันที่ 31 ก.ค. 50 2 ส.ค. 50 วงเพลงของผมมีงานซ้อนกันวันละ 2 ที  คือ วันที่ 31 ก.ค. 50 เล่นที่เต็นท์ 1 วง เล่นที่สระน้ำ โรงเรียนชลกันยานุกูล 1 วง วันที่ 1 ก.ค. 50  เล่นที่เต็นท์แสดงผลงาน 1 วง เล่นที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ งานประชาสัมพันธ์รับร่างรัฐธรรมนูญ 1 วง (งานนี้มีการถ่ายทอดสด ช่อง 11 และ ช่อง TRU/UBC ด้วย  ส่วนวันที่ 2 ส.ค. มีเล่นที่เดียว    

        ผมจัดเตรียมผู้แสดงเพลงเรือเอาไว้จำนวน  8 คน (ชาย 4 คน หญิง 4 คน) เขียนบทร้องเพลงเรือที่เกี่ยวข้องกับงาน เป็นการประชาสัมพันธ์งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนบอกถึงการจัดงานสถานที่สำคัญของ ลานการศึกษา  5 แห่ง และขอบคุณท่านประธานเปิดงานด้วยวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ผมนำนักเรียนเดินทางไปจากอำเภอดอนเจดีย์ ตั้งแต่เวลา 03.00 น. แล้วเด็ก ๆ เขาก็ไม่ได้นอนกันเลย คงจะตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ คณะของเราไปถึงสถานที่แสดงผลงานประมาณ 08.00 น.เศษ ผมแบ่งเด็กออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำหน้าที่อยู่ที่เต็นท์แสดงผลงานของสุพรรณบุรี เขต 2  อีกส่วนหนึ่ง 8 คน ไปซ้อมเพลงเรือ ณ โรงเรียนชลกันยานุกูล  ซึ้งก็อยู่ไม่ไกลจากที่แสดงผลงานมากนัก (พอเดินไปไหว เหนื่อยเหมือนกัน)  

        ผมต้องรอผู้ประสานงาน ชลบุรี เขต 1 จนถึง 10.00 น. จึงได้พบกัน ท่านถามผมว่า ไม่ได้มาร่วมซ้อมเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 50 หนักใจไหมสำหรับการแสดงในวันนี้ ผมตอบแทนเด็ก ๆ ไปเลยว่า ในเรื่องของการแสดงไม่มีอะไรหนักใจ เพียงแต่เด็กๆ เขาอ่อนเพลียจากการเดินทางไกล ประมาณ 200 กิโลเมตร อาจจะล้าไปบ้าง แต่ก็จะให้ทำเต็มที่  ประมาณ 12.30 น. เด็ก ๆ ของผมจึงได้ลงเรือ เริ่มทำการซ้อม ณ สถานที่จริง มีปัญหาเรื่องระบบเสียงที่จะต้องใช้ไมโครโฟนแบบไร้สาย 8 ตัว แล้วกระแสไฟฟ้าก็ตกอีก เสียงไม่ชัดเจนเลย แต่เด็ก ๆ เขาก็ทำการแสดงเพลงเรือได้อย่าประทับใจ

         ผมได้รับคำชื่นชมจาก อาจารย์ผู้ประสานงานว่า แสดงได้ดีมาก สมกับที่เป็นต้นฉบับเพลงพื้นบ้าน แต่อยากจะขอให้ตัดเนื้อร้องออกไปสักเล็กน้อย  เกรงว่าจะยาวไป (ความจริงผมเตรียมการแสดงไปใช้เวลาเพียง 10 นาที) ผมเลยตัดสินใจตัดเนื้อร้อง 2 บทท้ายซึ่งเป็นบทร้องที่ดีที่สุดออกไป ที่ผมตัดออกเพราะเป็นบทขอบคุณท่านประธานเปิดงาน และพาชมเต็นท์ สพท. สพ. เขต 2 (เสียดายมาก) ผมจะนำมาให้ท่านสมาชิกดูในท้ายบทความ ครับ    

        การแสดงจริงเริ่มเมื่อเวลา 16.00 น. หลังจากพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนบนหอประชุมเสร็จสิ้นลง ท่านประธานเปิดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน) ลงมาพร้อมกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา  เลขาธิการ สพฐ. ที่ท่าน้ำของโรงเรียนชลกันยานุกูล มีการจัดเตรียมสถานที่รอรับท่านผู้เป็นประธานอย่างเหมาะสม บริเวณรอบ ๆ สระน้ำขนาดใหญ่ มีเวทีแสดงเพลงพื้นบ้านรายรอบ และด้านหนึ่ง มีศาลาเรือนไทย ซึ่งตรงนั้นจะเป็นที่พิธีกรรุ่นเยาว์ ชาย-หญิง เป็นผู้ประกาศคิวการแสดงยืนเตรียมพร้อม รอเวลา ที่พื้นกระดานทางเดินของศาลา มีกล้องโทรทัศน์ 2 กล้อง ตั้งรอบันทึกภาพเหตุการณ์อยู่ มีผู้ชมมารอชมการแสดง เป็นจำนวนมาก นับพันคนหรืออาจมากกว่า เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.30 น.

        การแสดงเริ่มขึ้น โดยพิธีกรประกาศเชิญชมการแสดงพื้นบ้าน บรรยากาศวิถีน้ำ 

            -      กลองยาว     โรงเรียนชลราษฎรอำรุง 2  จังหวัดชลบุรี

       -      ขับเสถาเปิดคุ้งน้ำ  โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี

       -      การแสดงเพลงพวงมาลัย โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี

       -      การแสดงเพลงเรือ  โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 จังหวัดสุพรรณบุรี

        -      การแสดงเพลงอีแซว  โรงเรียนอนุบาลศรีประจันต์  จังหวัดชลบุรี 

       -      ประชันกลอนสด    โรงเรียนชลกันยานุกูล   จังหวัดชลบุรี 

             

               การแสดงชุดที่ 3 เพลงเรือ เริ่มต้นด้วยเสียงกลองยาวดังขึ้นด้วยความสนุกสนาน เรือของนักเพลงแล่นออกมาจากฝั่งอย่างช้า ๆ จนสิ้นเสียงกลองยาว เสียงเพลงเรือก็ดังขึ้น โดยพ่อเพลง 2 คนสลับกันร้อง เมื่อร้องจบในแต่ละบท ลูกคู่จะร้องรับโดยร้องซ้ำใน 2 วรรค ทั้งวรรคหน้าและหลังจนครบ  เรือแม่เพลงร้องต่อ โดยแม่เพลงคนดัง รัตนา ผัดแสน และ หทัยกาญจน์ เมืองมูล (แชมป์รายการคุณพระช่วย 2 คน) ร้องเพลงเรือ ด้วยน้ำเสียงที่สดใสดังก้องคุ้งน้ำ ร้องต่อกลอนกันไปจนจบบทที่เตรียมไว้ (เว้นเฉพาะ 2 บทสุดท้ายที่ผมตัดออก)

        

          ก่อนที่เพลงเรือจะจบนั้น นักแสดงได้รับความกรุณาจาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ และท่านเลขาธิการ สพฐ. มอบรางวัลให้นักแสดงจำนวนหนึ่ง ทั้ง 2 ท่าน เรือลอยเข้าไปเทียบท่ารับรางวัลจากท่านประธานเปิดงานและท่านเลขาฯ แล้วเบนหัวเรือเข้าฝั่งอีกด้านหนึ่ง  ถึงแม่ว่าเรือจะกลับเข้าไปเทียบท่าและนักแสดงขึ้นจากเรือไปแล้วก็ตาม แต่เสียงร้องเพลงเรือที่จัดได้ว่าถูกต้องที่สุดเท่าที่ผมได้ศึกษามากับป้าอ้น จันทร์สว่างและป้าทรัพย์ อุบล ได้มาเผยแพร่ผลงานในระดับประเทศแล้ว จากครูเพลงตัวจริงผ่านมายังผมในฐานะครูผู้สอนไปยังนักเรียน สู่ประชาชนผู้ฟังทุกท่านรอบ ๆ สระน้ำ    

         อย่างน้อย ๆ ก็คงทำให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึงศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตจริง มิใช่ทำเฉพาะกิจ เพียงแค่งานเดียวแล้วก็เลิกราไป แต่ผู้ชมได้เห็นศิลปินพื้นบ้านรุ่นเยาว์ ที่นำเสนอเพลงเรือ (แบบต้นฉบับ) และเป็นผู้แสดงที่เล่นเพลงพื้นบ้านมาอย่างถาวรเป็นเวลาต่อเนื่องกันมานานกว่า 16 ปี

         จากรุ่นต่อรุ่น คนต่อคน จนทำให้เป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป จากเวทีแสดงบนลานดินในระดับท้องถิ่นสู่เวทีการแสดงที่สวยงามในระดับสูง  อย่างมีคุณค่า 

             

 (ชาย) เฮ้...ลอยลำนาวา มาเทียบท่า  ถึงที     

         พบแม่สาว  สุพรรณบุรี (ฮ้า ไฮ้) ให้ดีใจ     

         จึงเอื้อนเอ่ย เนื้อความ แม่คนงามในลำเรือ

         วันนี้จะชวนแม่บุญเหลือ (ฮ้า ไฮ้) ไปงานใหญ่  

           ท่านรัฐมนตรีว่าการ   กระทรวงศึกษาธิการ

           และคุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา (ฮ้า ไฮ้) เปิดงานให้     

         งานศิลปหัตถกรรม    ประจำภาคกลาง 

         ภาคตะวันออกด้านข้าง  (ฮ้า ไฮ้) ทะเลไทย     

         หนุ่มสุพรรณ ขอเกี่ยวดองจากเขต 2 มาร่วมงาน

        ขอเชิญชวนแม่จอมขวัญ (ฮ้า ไฮ้) ไปเต็นท์ใหญ่  

        ไปชมการแสดง    เพลงพื้นบ้าน 

        อีแซวของเมือง สุพรรณ (ฮ้า ไฮ้) ในงานได้       

          อย่ามัวเสียเวลา ชักช้าร่ำไร  มาขึ้นบกผูกเรือ แล้วปาดเหงื่อที่ไหล 

          เดินไปชมเพลงไทยเมืองสุพรรณ (ฮ้า ไฮ้)

(หญิง)เอ้.. พอได้ฟังน้ำคำ ที่หนุ่มมาร่ำสนอง  

        มาชักชวนนวลน้อง (ฮ้า ไฮ้) ตัดสินใจ     

        ถ้าจะชวนไปชมงาน  ฉันก็ผ่านมาพอดี      

        ทั้งสามวัน  ที่ชลบุรี (ฮ้า ไฮ้)  ฉันอยู่ได้

        มาชักชวนไปเดินเล่น ไปที่เต็นท์จัดงาน 

        ที่เขต 2 ของสุพรรณ (ฮ้า ไฮ้) มีหญิงชาย 

        มีพ่อเพลง แม่เพลงคนเก่งเสียงแจ๋ว    

        สามวันนี้ มีเพลงอีแซว (ฮ้า ไฮ้) จะบอกให้ 

         ขอกราบลาท่านผู้ชม      ด้วยคารมอ่อนไหว 

         เหลืองเอ๊ยใบยอ หอมกลิ่นช่อมาลัย  ให้สุขกายสุขใจ ตลอดกาล

(ลูกคู่รับ) ให้สุขกายสุขใจ เอ๊ย ตลอดกาล  เหลืองเอ๊ยใบยอ หอมกลิ่นช่อมาลัย

         ใบยอ ใบยอ  หอมกลิ่น   ช่อมาลัย  ให้สุขกายสุขใจ ตลอดกาล 

ชำเลือง มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่น ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  รางวัลราชมงคลสรรเสริญ  2547

 

หมายเลขบันทึก: 116941เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยอดเยี่ยมครับ  ปลื้มใจแทนจริง ๆ ขอบคุณแทนคนไทยนะครับ ที่อาจารย์ช่วยอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านไว้....ชื่นชมมากครับ

  • อ่านเรื่องและเห็นถึงความตั้งใจของครู - นักเรียน ซาบซึ้งและประทับใจจริงๆค่ะ
  • ฝากชื่นชมนักเรียนทุกคนด้วยค่ะ มีท่านศน.จากชลบุรีโทร.มาชื่นชมด้วยค่ะ
  • เสียดายบทร้องที่ตัดออกไปนะคะ

ขอขอบคุณ อ.รัฐเขต เชื้อมหาวัน

  • ที่ได้ให้กำลังใจในการสืบสานเพลงพื้นบ้าน
  • เหมือนได้รับเชื้อไฟให้มีพลังขึ้นอีกเป็นกอง
  • แรงเสริมคือการเพิ่มพลัง
  • ขอบคุณในสิ่งดี ๆ ที่ท่านอาจารย์สร้างสรรค์ให้พวกเราชาว gotoknow

ขอขอบคุณ หน.ลำดวน ไกรคุนาศัย

  • ให้กำลังใจกันมาอีกแล้ว ชื่นใจครับ
  • ผมเปิดให้เด็ก ๆ เขาอ่านกันแล้ว ทุกคนมีกำลังใจที่ดี และเพิ่มมากขึ้น
  • ขอบคุณในคำชมที่มาจาก ศน.ชลบุรี เขต 1
  • ผมเดาใจผู้ที่โทรศัพท์มาบอกไม่ถูกว่า จะทำอย่างไร ในตอนที่จะต้องตัดเนื้อร้องออกไป
  • ทั้งที่เพลงเวทีอื่น ๆ ก็ร้องกันแต่คำชื่นชม
  • ผมเองก็ยังนึกเสียดายมากเช่นกัน ครับ หัวหน้า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท