ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (9)


ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (9)

ข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2549 - 2551

         ยุทธศาสตร์นี้นำเสนอโดย สคบศ.   โดยมีเอกสารประกอบเป็นอย่างดี   โดย ดร. สนธิรัตน์  รอง ผอ. สคบศ. เป็นผู้นำเสนอ   ผมจะไม่ถอดเทปแล้วนะครับ   จะใช้วิธีสรุปประเด็นมาเล่า

       - สคบศ. ได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว
       - เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ   ได้ประชุมกัน 3 ครั้ง
       - การดำเนินการจะครอบคลุมครูนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและครอบคลุมมหาวิทยาลัยด้วย
       - เน้นพัฒนาสมรรถนะ (competency) ของครู
       - มี 6 ยุทธศาสตร์  ได้แก่
  (1) การสร้างภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง 
  (2) การพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนการสอน
  (3) การสร้างแนวร่วมและเครือข่ายการพัฒนา
  (4) การตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการพัฒนาคุณวุฒิและวิชาชีพครู
  (5) การสร้างเอกภาพการบริหารจัดการ
  (6) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
     ใน 6 ยุทธศาสตร์นี้มี 8 มาตรการ  รวม 30 กิจกรรม
          - ได้มีการย้ำกันในที่ประชุมว่าอย่าเน้นอยู่แค่ว่าจะทำอะไร (what) แต่ให้เน้นว่าจะทำอย่างไร (how)
          - ผู้นำเสนอได้ระบุว่าแผนยุทธศาสตร์นี้เน้น work - based ตรงตามที่พูดกันในที่ประชุม
          - ผมกลับมาอ่านเอกสารประกอบการประชุมแล้ว   มีความเห็นว่าจุดสำคัญอยู่ที่จะดำเนิน 30 กิจกรรมนี้อย่างไร   ที่เรียกว่าเป็นการดำเนินการแบบ work - based   ตัวอย่างกิจกรรมในยุทธศาสตร์ที่ 4 มาตรการที่ 6   การเสริมสร้างวุฒิการศึกษา   จะดำเนินการให้มีลักษณะ work - based อย่างไร   สคบศ. น่าจะนำมาเสนอในที่ประชุมคราวหน้า
           นอกจากนั้น  ในมาตรการที่ 7   การสร้างเอกภาพการบริหารจัดการการพัฒนาครู   กิจกรรมที่ 1  การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาครูด้วยระบบ GIS   คำถามคือทำอย่างไร   จะมีลักษณะเป็นการพัฒนาแบบ work - based หรือไม่   ผมขอเสนอให้ สคบศ. ศึกษาระบบ PlanetMatter ที่เสนอโดย ดร. จันทวรรณ น้อยวัน  ในhttp://gotoknow.org/archive/2006/01/03/20/05/48/e11242   ซึ่งจะเป็นระบบที่ครูแต่ละคนเขียนบันทึกการทำงานและผลงานของตนขึ้นบล็อกให้โลกรับรู้   และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางในสังคมครู  โดยที่ สคบศ. จะต้องพัฒนาสมรรถนะใหม่   คือคอยเข้าไป "จับภาพ" กิจกรรมการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการศึกษา   ซึ่งจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้   นำ "ความดี" เหล่านั้นมาตีแผ่  ชื่นชม  เชื่อมโยง  ขยายผล  สร้าง "เครือข่ายความดี" ในวงการศึกษา
        - ท่านรัฐมนตรี  ประธานการประชุมต้องการให้มีข้อสรุปเป็นรูปธรรม   เพื่อนำไปสู่ action
        - ในช่วงท้ายท่านรัฐมนตรีต้องไปพบนายกรัฐมนตรี   จึงมอบให้ ศ. สุมน  อมรวิวัฒน์ เป็นประธานแทน   ผมได้เสนอความเห็นดังนี้ "ผมยังรู้สึก (ซึ่งอาจจะผิด) ว่าที่นำเสนอมานี้  ยังมี "กลิ่น" ของ "training - based" มากกว่า "work - based"   การจะดูอย่างเป็นรูปธรรมว่ากิจกรรมที่เสนอเป็น training - based และ work - based มากน้อยแค่ไหน   อาจดูได้ที่งบประมาณที่ใช้ดำเนินการ   ว่าเงินนั้นลงไปตรงไหน   ถ้าเงินกว่าเครึ่งลงไปสนับสนุนกิจกรรมในโรงเรียน   ไปหนุนการค้นหาครูที่ทำดี   ครูที่เอาใจใส่ลูกศิษย์  ไปเชื่อมโยงให้ครูเหล่านี้ ลปรร. กัน  เอาเงินไปสนับสนุนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เอาทฤษฎีไปให้แก่กลุ่มที่ ลปรร. กันได้ผลดี   ก็จะบอกได้ว่ากิจกรรมนี้เป็น work - based,  school - based    แต่ถ้าหากเงินไปที่ มรภ. (สมมติ) เพื่อจัดหลักสูตร ป.โท, ป.เอก   เป็นค่าคูปองเพื่อเรียนต่อเป็นส่วนใหญ่   ก็บอกได้ว่าเป็น  training - based เหมือนเดิม   ขอเสนอให้ทำรูปธรรมมาให้คณะกรรมการดู   เพื่อให้เห็นชัดว่าเป็น work - based จริง ๆ
 สมมติว่าแผนงานเป็น work - based ก็จะเกิดคำถามต่อว่า   การที่จะทำให้การพัฒนาครูมีลักษณะเป็น work - based นั้น   หน่วยงานกลางมีทักษะที่จะทำหน้าที่นั้นหรือไม่   ได้แก่ทักษะด้าน empowerment,  ทักษะในการไปค้นหาผลงานเด่นและเข้าไปเชื่อมโยง networking ความดี   มีทักษะเหล่านี้หรือไม่   ถ้ามีแต่ทักษะเดิมที่เข้าไปค้นหาปัญหาหรือจุดอ่อน   แล้วจัดสอนวิธีแก้ไขปัญหาก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในเชิงปฏิบัติ
 ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังพูดกันนี้   เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก   จึงต้องการเวลา   และไม่ควรเล็งผลเลิศในทางปฏิบัติว่าจะได้ผลเร็ว   แต่จะต้องเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังเปลี่ยนวัฒนธรรม   และให้ชัดว่าวิธีการแบบไหนเป็นวิธีการตามแนวใหม่   วิธีการแบบไหนเป็นการทำแบบเดิม ๆ"
          - เลขาธิการสภาการศึกษา  ดร. อำรุง  จันทวานิช  ได้เสนอแนวทางผสานหรือบูรณาการการพัฒนาหลักสูตรกับการพัฒนาครูเข้าด้วยกัน   โดยเคยมีรายงานการดำเนินการของสหรัฐอเมริกาของแนวทางนี้   ก็จะได้วิธีการพัฒนาครูแบบ school - based และในขณะเดียวกันครูก็ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรด้วยตนเอง   และครูเองก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย   หลักฐานจากสหรัฐอเมริกาบอกว่าวิธีการนี้ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น
           ผมสนับสนุนแนวคิดนี้เต็มที่เลยครับ   โดยเติม KM ลงไปในกระบวนการด้วย   คือให้ครูที่ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเขียนเล่าความเชื่อ  ความคิด  การปฏิบัติ  และผลการปฏิบัติลงบล็อก   เรื่องดี ๆ จะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเชิดชูชื่นชม   และส่งเสริม  ต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ   ผลงานที่มี impact สูงจะได้มี reward หลากหลายแบบ
         - ผู้แทนอาชีวศึกษาชี้ให้เห็นว่าทางอาชีวศึกษาเน้นการการพัฒนาครูอาจารย์และหลักสูตรไม่ใช่แค่ school - based  แต่เน้นการออกไปทำงานร่วมกับสถานประกอบการและชุมชน   ดังนั้นการดำเนินการนี้น่าจะมีส่วนที่ยืดหยุ่นตามลักษณะของสถานศึกษาด้วย
         - ผมได้กล่าวสนับสนุน ดร. อำรุง  จันทวานิช  เลขาธิการสภาการศึกษาเรื่องการบูรณาการพัฒนาหลักสูตรกับการพัฒนาครูเข้าด้วยกัน  ดำเนินการ ณ จุดที่ตั้งหรือที่โรงเรียน   และเสนอแนวคิดหลักอีกอย่างหนึ่งคือ  การดำเนินการเป็นกลุ่มหรือทีม   ไม่ใช่ดำเนินการโดยครูแยกเป็นคน ๆ   มีการทำงานเป็นกลุ่ม   มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม   และโยงออกไปเป็นเครือข่าย   เพื่อให้เกิดการกระตุ้นซึ่งกันและกัน   เกิด synergy ทำให้การเรียนรู้เกิดง่าย   การจัดการที่ส่วนกลางควรยึดหลักนี้ด้วย
          - ผมได้เสนอว่าแทนที่จะเน้นที่ตัวหลักสูตร   น่าจะหันไปเน้นที่ output/outcome ที่ตัวผู้เรียน   ทีมงานของ สพฐ. กำหนด key indicators ว่าจะไปหาความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรได้อย่างไร   แล้วเจ้าหน้าที่ สพฐ. ไปเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติ   ว่าที่ผู้ปฏิบัติทำงานได้ผลดีนั้นเกิดจากความเชื่อ  ความรู้  และทักษะอย่างไร   ทำอย่างไรนำมา ลปรร. กันให้กว้างขวาง   ที่นำมาเสนอตอนต้นยังค่อนข้างเน้นที่ส่วนกลางมากไป
          ศ. สุมนได้ชี้ให้เห็นว่า   การพัฒนาคู่มือเป็นการพัฒนากระดาษ   นำไปสื่อสารระหว่างกระดาษกับคน   คนต้องอ่านกระดาษ   ตอนอบรมก็เป็นการสื่อสารระหว่างคนรู้กับคนไม่รู้   ครูเป็นผู้ไม่รู้   ผู้ไปอบรมเป็นผู้รู้   แต่จริง ๆ แล้วหลาย ๆ ครั้งผู้ไปอบรมก็ไม่รู้


สรุป
         ศ. สุมน  อมรวิวัฒน์  ประธานในที่ประชุมได้สรุปดังนี้   "แผนพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน   กับแผนพัฒนาครูได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ แล้ว   ได้รับข้อคิดเห็นให้กำหนดยุทธศาสตร์โดยลำดับความสำคัญ   เลือกดำเนินการตามความเร่งด่วนและตามความสำคัญนำไปปฏิบัติ   โดยพยายามให้เกิดผลที่คุณค่าของสถานศึกษา,  ของผู้บริหาร,  ของครูและอาจารย์   ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางต่าง ๆ รวมทั้งการที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษามีความรวดเร็วและเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น   ประเด็นที่คิดว่าต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือ  กำหนด KPI ให้ชัดในการพัฒนาทั้ง 2 เรื่องนี้   ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเรื่องเดียวกัน   ดังที่เลขาธิการสภาการศึกษาเสนอ   หรือดำเนินการคู่ขนานอย่างประสานมือกันก็ได้   การเปลี่ยนวิธีคิด  กระบวนทัศน์   ต้องนำไปหาทางทำให้เกิดผลเชิงปฏิบัติต่อไป"

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (1)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (2)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (3)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (4)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (5)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (7)

        ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (8)

 

วิจารณ์  พานิช
 4 ม.ค.49


 

หมายเลขบันทึก: 11693เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2006 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท