เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (3)


foresight ต่างจากการสร้างวิสัยทัศน์ ตรงที่ว่า ไม่ได้พูดถึงอนาคตที่คาดหวังจะให้เป็นเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงอนาคตที่เป็นไปได้ (แม้จะไม่อยากได้)

ฟ้าครับ

เราลองมองออกไปข้างนอกบ้านเมืองเราบ้างนะครับ ว่ากันว่าปี 2551 นี้ จะเป็นปีสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรก ที่ตัวเลขประชากรของโลก ที่อาศัยอยู่ในเมือง (ราว 3 พัน 2 ร้อยล้านคน) จะมีสัดส่วน เกินกึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด

เมืองมหานครส่วนใหญ่ ในจำนวน 20 แห่งทั่วโลก อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้มีประชากรราว 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในสลัม และคาดว่าตัวเลขนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี ค.ศ. 2030   การจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อม อากาศ น้ำ ปัญหาความเสี่ยง ภัยพิบัติ และความยากจนในเมือง จึงเป็นประเด็นร่วมที่สำคัญ

City foresight จึงกำลังเป็นหัวข้อยอดนิยมทั่วโลก ในอดีต APEC Center for Technology Foresight เคยเป็นผู้ริเริ่ม ทำโครงการมองอนาคตเมืองมหานคร ในเขตความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2542-2543  ครั้งนั้นได้ฉายภาพอนาคตของเมืองใหญ่ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้เข้าใจบริบท ของเทคโนโลยีในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การจัดสรรน้ำ การคมนาคม การศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ

ต่อมาได้มีการทำ City foresight ในบริบทของประเทศไทย ได้แก่ งานของ รศ. ดร. สมชาย ดุรงค์เดช และคณะ ในช่วงปี พ.ศ. 2544  มีการจัดทำภาพอนาคต ดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ ฯลฯ หนึ่งในบทเรียนที่ได้คือ “...การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ในแต่ละพื้นที่ จะไม่ใช่เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยจะมีแนวทางเหมาะสมสอดคล้อง กับศักยภาพและความต้องการ ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่บทบาทที่สูงขึ้น ของท้องถิ่น ในการกำหนดเป้าหมาย และรูปแบบการพัฒนาเมือง และชุมชนที่น่าอยู่ ที่สะท้อนความต้องการ ของตนเอง”

กรณีโครงการเมืองลำพูนครั้งนี้ เลือกที่จะให้ความสนใจกับ อนาคตเมืองท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่มักจะถูกมองข้าม เพราะถูกบดบังด้วยความสนใจ ที่โดยมากมักมุ่งเป้าไปที่เมืองหลวง หรือเมืองมหานครอื่น ๆ

หลักการของ foresight ก็ไม่ต่างจากการพาตัวเองขึ้นไปอยู่บนหอคอยที่สูงมาก ๆ ใช้กล้องส่องทางไกลกวาดสายตามองออกไป เพื่อตรวจจับหาว่าข้าศึกกำลังเดินทัพเข้ามาหาหรือไม่ แล้วคะเนว่าอีกนานเท่าไหร่จะมาถึงในระยะประชิดเมือง หรืออาจกวาดตามองหาแหล่งน้ำใหม่ ๆ หรือไม่ก็มองหาพายุที่กำลังก่อเค้า และมีโอกาสที่จะเคลื่อนตัวมาทางนี้ เพื่อเตรียมตัวหาทางป้องกัน หรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์
ผมควรต้องชี้แจงด้วยว่า foresight ต่างจากการสร้างวิสัยทัศน์ ตรงที่ว่า ไม่ได้พูดถึงอนาคตที่คาดหวังจะให้เป็นเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงอนาคตที่เป็นไปได้ (แม้จะไม่อยากได้) อันอาจเกิดขี้นได้จากความผันผวน หรือความไม่แน่นอน (uncertainties) ด้วย

พูดง่าย ๆ foresight คือการสังเกต วิเคราะห์สถานการณ์ แล้วตั้งคำถามว่า “What if…?”

ถ้าสามารถ “สร้างนิสัย” ให้มองอนาคตได้ ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเดิม ที่ชุลมุนอยู่กับการวิ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (และมักจะมีเรื่องติดขัดทำให้ปัญหานั้น ๆ แก้ไม่ได้โดยทันที) ไปเป็นการมองไปข้างหน้าถึงหลุมพราง ที่ดักรออยู่แต่ยังมองเห็นไม่ชัด หรือมองโอกาสที่รออยู่ แล้วเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างตั้งแต่วันนี้ เพื่อใช้โอกาสนั้น

คงจะเห็นนะครับว่า วิธีคิดทั้งสองอย่างนี้เริ่มโดยการมองจากคนละมุม ทำให้คิดคนละแบบ อยู่ที่คนมองจะเลือกมองที่ “ปัญหาปัจจุบัน” หรือ “หนทางในวันข้างหน้า”

บางครั้งปัญหาที่หนักหนาสาหัสในวันนี้ อาจคลี่คลายได้ ด้วยความเข้าใจจากการสังเกตวิเคราะห์ และการคิดเชิงกลยุทธ์ที่แหลมคม เช่น วิธีแก้ปัญหาศัตรูพืชด้วยชีวินทรีย์ (ใช้ศัตรูตามธรรมชาติของศัตรูพืชนั้นมากำจัด ทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง) หรือกรณีการจับมือระหว่างสองฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน เพื่อรับมือกับศัตรูที่ใหญ่กว่า ว่ากันว่า ครั้งหนึ่งสไปเดอร์แมน ยังต้องร่วมมือกับ “วีนอม” ศัตรูตัวฉกาจ เพื่อสู้กับศัตรูที่สามที่น่ากลัวกว่า

บางปัญหา อาจถูกปัญหาใหญ่ที่ใหญ่กว่า กลบจนกลายเป็นปัญหาเล็ก ๆ หรือหมดปัญหาไปเลย และอาจเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน ยกตัวอย่างที่อาจจะสุดโต่งหน่อยก็เช่น ปัญหาเรื่องการชุมนุมประท้วงในเมืองหลวงจะหมดไป ทันทีที่เกิดมหาอุทกภัยจากภาวะโลกร้อน ทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องจมอยู่ใต้น้ำทะเล  บางปัญหาทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบและแก้ไขหรือป้องกันตัวเองไว้ตั้งแต่วันนี้ เข้าทำนองว่าอย่ามัวแต่ห่วงคลื่นลูกเล็ก เพราะมีคลื่นยักษ์ตามมาอยู่ข้างหลังอีกที อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือเปล่าเท่านั้น

ปัญหาใหญ่ที่สุดของคนแต่ละคน คือความตาย ฟังดูเหมือนประชดครับ แต่เมื่อรู้ว่าความตายรออยู่ข้างหน้า คนเราก็มักจะต้องเตรียมให้พร้อม สำหรับตัวเอง และผู้เป็นที่รักที่อยู่ข้างหลัง

การจัดลำดับความสำคัญในชีวิตและพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไป

“มรณานุสติ” จึงเป็นสุดยอดของ foresight ระดับปัจเจกบุคคล

หมายเลขบันทึก: 116733เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท