ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (16): โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนชั้นประถม


ประสบการณ์ที่เราพบที่เมือง Perth, Western Australia

ต่อเนื่องมาจากที่เล่าตอนที่แล้วของเรื่องที่เขียนลงในวารสารสายใยพยา-ธิของภาควิชาเรา คราวนี้ก็เป็นเรื่องโรงเรียนเด็กๆต่อค่ะ เรียกว่าคุณแม่ได้ PhD คุณลูกๆก็ได้ Pre - English education style ไปด้วย แต่อยากจะขอยืนยันว่า สำหรับตัวเองแล้วเชื่อว่านี่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เก่งภาษาอังกฤษเลยสำหรับเด็กๆนะคะ และไม่ได้เอาลูกไปเพราะอยากให้ได้ภาษา แต่เอาไปเพราะตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะต้องเป็นคนเลี้ยงลูกเอง และอยู่กับเขาให้มากที่สุดในช่วงที่ลูกอายุน้อยกว่า 15 ปี ถ้าให้ไปเรียนโดยไม่มีลูกก็เลือกที่จะไม่ไปค่ะ โชคดีที่ไม่ต้องเลือก และเมื่อกลับมาก็ไม่คิดจะเอาลูกเข้าโรงเรียนสองภาษาใดๆ เชื่อว่าภาษาไทยของเราสำคัญที่สุดค่ะ ถ้าเก่งภาษาไทยเสียอย่าง ภาษาอื่นๆไหนๆก็ไม่ยากเลยถ้าอยากจะเรียน และดีใจมากที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ทั้ง 3 หนุ่มเรียนภาษาไทยได้ดีมากจนได้รับคำชม และภาษาอังกฤษก็ยังคงเป็นสิ่งที่เขาอ่าน ฟังตามปกติวิสัย ไม่ได้พิเศษอะไรเลย เชื่อว่าเขารักที่จะเรียนรู้เรื่องต่างๆตามที่เขาอยากทำ สิ่งที่ถูกบังคับให้เรียนตามหลักสูตรก็จะไม่ใช่เรื่องยากอะไร


โรงเรียนอนุบาล

น้องฟุงอยู่ที่ Uni Care 3 ปี ก็ถึงเวลาเข้าสู่อนุบาล ที่เพิร์ธมีแค่ชั้นเดียวค่ะ เค้าจัดให้เป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนประถม Nedlands Primary School เรียกว่า pre-primary ชั้นนี้นักเรียนยังไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน ใส่ชุดอะไรไปโรงเรียนก็ได้ เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบโรงเรียน เด็ก Uni Care แบบฟุงสบายบรื๋อ แต่เขาทำไว้สำหรับเด็กๆที่เพิ่งเคยจากระบบบ้านเข้าสู่ระบบโรงเรียน ส่วนของ pre-primary เขาจะแยกออกไปอยู่ด้านหลังของโรงเรียน มีสนามของเด็กเล็ก เข้าออกต่างหาก เพราะเวลาไม่เหมือนพี่ประถม บางทีก็ยังมีการร้องกระจองอแงด้วย ในช่วงเดือนแรกของปีให้ไปแค่ครึ่งวันแรก ตอนช่วงหลังๆถึงจะไปเรียนทั้งวันเหมือนเด็กประถม แต่ก็ยังมีการนอนกลางวันอยู่ ชั้นนี้มีการเริ่มหัดให้เล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่ม มีการหัดจับดินสอให้ถูกวิธี เรียกว่าเตรียมการเข้าสู่ระบบการเรียนนั่นเอง เด็กๆก็ชอบค่ะ ชอบไปเจอกัน เล่นกัน มีไปทัศนะศึกษาบ้านเพื่อนๆแถวๆนั้นบ้าง ไปสวนสัตว์ เรียกว่าเป็นกิจกรรมเสียมากกว่าการเรียนในห้องเรียนค่ะ พอจบปีก็เตรียมตัวเข้าสู่ชั้นประถม Year 1 ได้อย่างสบายๆ เด็กๆก็จะตื่นเต้นที่จะได้ย้ายไปสู่ Year 1 ที่อยู่ด้านหน้ากันเสียที ได้แต่งชุดนักเรียน ที่เป็นเสื้อเชิ้ตโปโล กางเกงผ้าฝ้าย สวมใส่สบาย หน้าหนาวก็มีชุดเสื้อ jumper กับกางเกงวอร์ม รองเท้าเขาก็ไม่ได้บังคับ ใส่ผ้าใบสีอะไรก็ได้ ใส่รองเท้าแตะรัดส้นก็ได้ ตามสบาย

 

โรงเรียนชั้นประถม

โรงเรียนชั้นประถมของที่นี่จะรับเด็กเฉพาะในเขตพื้นที่ ไม่มีการรับข้ามเขต โดยดูจากที่อยู่ หลักฐานแสดงที่อยู่ที่เพิร์ธนี่ก็แปลกดีนะคะ เขาจะไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านแบบเรา ดังนั้นเขาจะให้เรานำใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊สหรือค่าโทรศัพท์ ซึ่งที่นี่เขาจะส่งมาให้ที่บ้านโดยระบุชื่อเจ้าบ้าน ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันที่อยู่กันค่ะเป็นธรรมเนียมปกติเลย สำหรับครอบครัวเราตอนไปทีแรกในฐานะนักเรียนทุน AusAID จึงถือเป็นคนของออสเตรเลียไปในตัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียน รู้สึกว่าถ้าเป็นนักเรียนที่มาด้วยทุนของรัฐบาลตัวเอง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับลูกในอัตราที่ค่อนข้างสูง อันนี้รู้จากเพื่อนต่างชาติที่ไม่ใช่นักเรียนทุน AusAID ค่ะ ก็ถือเป็นโชคดีของพวกเราไป โดยเราจะมีหนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยกับมีเอกสารยืนยันวันเดือนปีเกิดไปให้โรงเรียน เขาใช้วิธีจัดเด็กเข้าชั้นเรียนตามเกณฑ์อายุ พี่วั้นกับน้องเหน่นไปถึงตอนอายุ 9 และ 8 ปีเทียบเท่ากับ Year 3 และ Year 2 โรงเรียนที่ลูกได้เข้าเรียนชื่อ โรงเรียน Nedlands Primary School เป็นโรงเรียนของย่าน Nedlands ซึ่งเป็นย่านคนมีสตางค์ของที่นี่  ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเป็นเป็นนักธุรกิจ มีฐานะดีมากๆ มีเด็กต่างชาติค่อนข้างบ่อยเป็นพวกเดียวกับเราๆนี่แหละค่ะ เพราะโรงเรียนนี้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย UWA ดังนั้นคุณครูก็จะค่อนข้างคุ้นชินกับการมีลูกๆของนักศึกษา UWA ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่เรื่อยๆ จนมีการจัดชั่วโมงพิเศษให้เด็กกลุ่มนี้ โดยเขาจะเรียกว่า ESL นั่นคือ English as a Second Language เขาจะให้เด็กไปเรียน ESL ในชั่วโมง writing ของเพื่อนๆ ส่วนคาบเรียนอื่นๆ จะเรียนร่วมกับเพื่อนๆในห้องไปเลย แม้จะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลยก็ตาม น่าแปลกที่ทั้งพี่วั้น พี่เหน่นก็ปรับตัวได้ภายในเวลาไม่นานนัก ช่วงแรกๆลูกๆจะมาถามว่า ถ้าจะบอกครูว่าอย่างงั้น อย่างงี้พูดยังไง แต่ตอนหลังก็ไม่ถามแล้ว เขาพยายามทำความเข้าใจเอาเอง รู้สึกว่าเวลาผ่านไปประมาณเดือนกว่าๆ ก็ได้ยินลูกพูดกันเป็นภาษาอังกฤษแล้ว แม้จะเป็นคำสั้นๆไม่ใช่ประโยคยาวๆ

สำหรับ ESL ก็จะเป็นที่รวมของเด็กนานาชาติที่พูดภาษาอังกฤษยังไม่คล่อง เมื่อถึงขั้นที่สามารถเรียนได้ในชั้นเรียนปกติในชั่วโมง writing ได้ ก็จะให้เลิก โดยคุณครูจะพิจารณาจากความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษ พี่วั้นถือว่าผ่านไม่ต้องไปเรียน ESL เมื่อขึ้น Year 4 ส่วนน้องเหน่นเรียน ESL ไปด้วยถึง Year 5 เด็กบางคนต้องเรียน ESL ควบคู่กับเรียนปกติไปด้วยจนจบ Year 7 ก็มี


 

หมายเลขบันทึก: 116709เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เด็กได้เปรียบเสมอเมื่อต้องเรีอนอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะภาษาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท