จิตตปัญญาเวชศึกษา 11: หมอผู้ต่อสู้โรคภัย หมอผู้เยียวยามนุษย์


หมอผู้ต่อสู้โรคภัย หมอผู้เยียวยามนุษย์

ในปัจจุบัน เรามักจะพูดถึงการวางแผน การทำงานอย่างมีเป้าหมาย การคำนึงเรื่องความเสี่ยง และการมีแผนสำรองในกรณีที่จะเกิดอุปสรรคต่างๆนานา การมีแผน มีวัตถุประสงค์ ดูเหมือนจะทำให้เราอุ่นใจ ไม่หลงทาง เสมือนเดินทางโดยมีแผนที่ มีกากะบาท มี scale วัดว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่เราอยากจะไปสักกี่มากน้อย

นั่นเป็นระดับองค์กร

ถ้าพูดถึงปัจเจกบุคคล เราก็มักจะบีบลงมาเหลืออะไรคือเป้าหมายของชีวิต อยากจะเป้นอะไร อยากจะทำอะไร อยากจะมีความสุขแบบไหน แล้วก็กลับมาที่อุบายเดิม ก็คือ การวางแผน การวางเป้าประสงค์ การประเมินความเสี่ยง แผนสำรอง ฯลฯ

ประโยชน์ของการมีแผน มีเป้าประสงค์ และมีการประเมินสถานการณ์นั้นชัดเจน เป็นที่เข้าใจ สิ่งสำคัญมากประการหนึ่งก็คือ การทบทวนว่าเรายังอยู่ on course หรือ "บนวิถี" หรือ "บนมรรคา" สู่ธงชัยที่เราตั้งไว้รึเปล่า ปัฐหาอยู่ที่บางครั้งแผนของเรา เป้าหมายของเรา มันไม่ได้ "ชัดเจน" ขนาดที่วัดได้ ประเมินได้ สัมผัสรู้เห็นได้ ปริมาณ หรือสัดส่วนของเป้าหมายแบบนี้มักจะต้องอาศัย surrogate parameters มาช่วยบ่งชี้ มาช่วยเทียบเคียง

การใช้ surrograte หรือการวัดเปรียบเทียบเสมือน ถ่ายต่อ นั้น มีข้อจำกัด และข้อพึงคำนึงอยู่สองสามประการ ประการแรกก็คือ คนที่นำไปใช้ จะต้องมีสติว่า สิ่งที่เราวัด และใช้อยู่นี้ เป็นแค่เครื่องมือเสมือน ไมได้วัดตรงๆกับสิ่งที่เราอยากจะได้ อาทิเช่น อยากจะวัดว่าบริษัทของเราเป็นบริษัทที่คนในวงการเขาเชื่อถือ ปรึกษา หาความเห็นเวลามีปัญหารึเปล่า ทีนี้ ความน่าเชื่อถือ ความน่าศรัทธา ก็ตกอยู่ในกลุ่มที่วัดตรงๆไม่ได้ ก็ต้องหา surrogate parameter มาวัด ก้ตกลงเอา "จำนวนกรณีปรึกษาจากบริษัทในสายสาขาเดียวกัน ต่อปี" มาเป็นตัววัด

ก็ดูดี เข้าท่า

มี "แต่" ไหม?

อาจจะมี "ถ้า....."

  • เราเริ่มไปบังคับ หรือ ทำเป็น package กับบริษัทอื่นๆว่า ถ้าไม่ปรึกษาเราในปัญหาด้านนี้ๆ เราจะทำ... ฯลฯ
  • เราเริ่มวางแผน marketing และสร้าง falacy motivation เช่น ถ้าปรึกษาบริษัทเราในช่วงสองไตรมาสข้างหน้า เราจะลดราคา consultants เป็นพิเศษ 50% ที่เขามาปรึกษา ไม่ใช่เพราะเลื่อมใส ศรัทธา แต่เป็นเพราะได้ของถูก ของแถม
  • บริษัทเล็กๆเกรงใจ เพราะเราเคยเป็นคนอบรม เคยเป็นคน train เขามา พอเราบอกว่าต้องการทำยอด ก็เกรงใจส่งคนมาอบรม ส่ง case มาปรึกษา แต่มองกลับกันก็คือ ถ้าคนที่ปรึกษาเรานั้น เป้นคนที่เรา train มากับมือทั้งนั้น ยังแก้ปัญหาธรรมดาๆที่ส่งมาปรึกษาไม่ได้ จะแปลว่าเรา train ดี หรือ ไม่ดีล่ะนี่?
  • ฯลฯ

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายจึงส่งผลตามที่อาจจะคาดไม่ถึง ส่งผลตามไปยังพฤติกรรมได้อย่างไม่เคยคิดมาก่อนได้

 

ดังหัวข้อ "หมอผู้ต่อสู้โรคภัย หมอผู้เยียวยามนุษย์" ที่ตั้งขึ้นมา

ดูเผินๆ เหมือนกัน หรือ มันก้ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ไม่ถึงกับเหมือนกัน 100% และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราลองจินตนาการพฤติกรรม หรือเจตนคติ โดยใช้สองประเด้นนี้เป็นโจทย์หลัก เราอาจจะเห็น "ความต่าง" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เพราะว่าเมื่อไรก็ตาม ที่เราตั้งนิยามความสำเร็จหรือเป้าหมาย เราจะโดยไม่ตั้งใจ ได้ตั้งนิยาม หรือรูปแบบของความล้มเหลวไว้ด้วยเสมอ

ถ้าชัยชนะ คือ การต่อสู้โรคภัย ความพ่ายแพ้ก็คือเมื่อโรคภัยสามารถเอาชนะเราได้ ถ้าชัยชนะคือ ความพยายามในการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อนมนุษย์ ความพ่ายแพ้ก็คือเมื่อเราหมดความพยายามนั้น พอสมการเป็นแบบนี้ เราพอจะมองเห็นแล้วว่า อย่างไรเป็นการวางเป้าหมายที่เราควบคุมไม่ได้ หรือยากอย่างยิ่ง และแบบไหนเป็นแบบที่เรามีความสามารถในการควบคุมได้มากกว่า

การเจ็บป่วย ล้มตาย นั้น เป็น "ความจริงแห่งชีวิตที่สุดอย่างหนึ่ง" การตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาชนะความเจ็บป่วยล้มตาย นั้น เป็นการฝืนธรรมชาติ และเป็นการการันตีความล้มเหลว ไม่ช้า ก็เร็ว

แต่ ความพยายามในการเสียสละ และช่วยเหลือคนอื่น นั้น เป็น "เจตน์จำนงค์ ความมุ่งมั่นของเราเอง"

น่าสนใจถ้าแพทย์ทั้งหลาย ทั้ง GP ทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะลองตั้งคำถามตนเองว่า ที่เรามีเป้าหมายแห่งชีวิตนั้น ตกลงเราจะเป็น anti-illnesses, anti-death warriors หรือ เราจะเป็น healer pilgrim กันแน่ จากเจตนคติ จากสิ่งที่เรา จากสิ่งที่เราภาคภูมิใจ จากสิ่งที่เรายิ้ม ยินดี จากก้นบึ้งหัวใจตอนทำงาน

ว่าเรายิ้มตอนไหน ตอนเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ หรือตอนที่เราได้ช่วยเยียวยา?

บางทีคำตอบของโจทย์ข้างบน จะถืกำเนิด ปลูกเพาะพันธุ์ หรือบ่มหล่อเลี้ยง มาตอนที่นักศึกษาอยู่ในโรงเรียนแพทย์หรือไม่?

ครู อาจารย์ คณะฯ ให้รางวัล ชมเชย หรือแสดงว่านักศึกษาทำดีนั้น เป็นตอนไหน? ตอนที่เขาตอบคำถามเรื่องโรคถูกต้อง ตอนที่เขาไดไปช่วยเหลือผู้ป่วย? เราชมเชย หรือ value แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ใช้ทุนกันตอนไหน? องค์กรเราจดบันทึก ให้คุณค่าความหมายกับเรื่องใด ระหว่างการ ต่อสู่โรคภัย กับ การเยียวยาผู้คน?

สิ่งเหล่านี้ มี หรือ ไม่มี บทบาท ผลกระทบต่อการปลูกฝัง เสริมสร้างเจตนคติ เมื่อนักศึกษาเติบโต กลายเป็นแพทย์เต็มตัวในภายหลัง?

การค่อยๆสอดแทรกคุณค่าจาก generations หนึ่งไปหาอีก generations หนึ่งนั้น เป็นไปอย่างช้าๆ นุ่มนวล เนิ่นนาน แต่จะลงไปลึก ลึกมาก ระดับ personality พื้นฐานได้ เพราะเป็นการปลูกแบบเพาะบ่ม เลี้ยงกล้า ประคบประหงม โดยใช้สิ่งแวดล้อมขององค์กร ขงอโรงเรียน เป็นสวนสนับสนุนตลอดเวลา

ผมเกรงว่า การ set คุณค่าในโรงเรียนแพทย์นั้น

 

  • เราค่อนข้างจะเน้นด้าน warrior มากกว่าด้าน healer

  • เราค่อนข้างจะเน้นเทคโนโลยี การแพทย์เชิงประจักษ์ มากกว่ามานุษยธรรม การพูดคุยสนทนา

  • เราเน้นความรู้ของโรค ของความเจ็บป่วย มากกว่าด้านความทุกข์ต่อบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • เรา value สูงมากสำหรับ intelligence แต่ปานกลาง หรือน้อย สำหรับ integrity, morality, compassion

  • ทั้งในด้านการจัดหลักสูตร การจัดประสบการณ์การเรียน และการประเมิน

 

หรือไม่?

มั้ง?

แล้วทำอย่างไรดี?

 

หมายเลขบันทึก: 116708เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนแพทย์ที่ผมจบมาไม่ดีนะครับ

ตอนเรียนแพทย์ ทราบเรื่องการมองคนไข้แบบองค์รวม(กายจิตสังคม)แบบเผิน และเน้นในวิชาเวชสาสตร์ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งเวลาผมมาเรียนมีความรู้สึกว่าภาควิชานี้เหมือนลูกเมียน้อย สถานที่อยู่ด้านหลัง ต้องดึง caseจาก opd มาตรวจ(ผ่านมานานแล้วนนะครับ...ตอนนี้อาจเปลี่ยนแปลงแล้ว เป็นคนไข้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ?)  ฝึกที่ภาควิชาอื่นไม่ค่อยมีอาจารย์เน้น + เวลาขึ้นปี 6 ไปฝึกตามโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจน intern ก็ไม่ได้ปลุกฝังเรื่องมนุษย์ศาสตร์ครับ 

ช่วงแรกที่ผมมาทำงานในโรงพยาบาลชุมชน รักษาคนไข้แบบเน้นโรคเท่านั้น มาทราบเรื่ององค์รวมแบบรอบด้านมากขึ้นตอนมาทำงานคุณภาพ (กายจิตสังคม,บุคคลครอบครัวชุมชน,รักษาฟื้นฟูส่งเสริมป้องกัน)  

ผมคงมีโอกาสมากกว่าแพทย์ท่านอื่นๆที่เป็น specialist ตรงที่ผมดูกว้างๆ ไม่เจาะลึกเป็นsystem เป็น organ ครับ ทำให้มีโอกาสฝึกตนเองในการมองเรื่องการรักษาใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้แบบที่อาจารย์กล่าวอย่างเต็มที่นักครับ

บางครั้งผมยิ้มเมื่อคนไข้หายจากโรคครับ แต่บางครั้งผมก็ยิ้มเมื่อได้ช่วยเหลือคนไข้แล้ว(ถึงแม้ตอนนั้นยังไม่หายครับ)  

ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์แพทย์บางท่านสามารถเพิ่มเรื่องการมองคนไข้แบบองค์รวมได้หรือไม่เพราะจะสื่อไปให้นักเรียนแพทย์โดยไม่ต้องจัดวิชาเสริมอะไรเลยครับ เพราะถึงแม้มีวิชาเรียนจริงก้ไม่สามารถจูงใจให้ปฏิบัติตามได้ถ้าไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เห็นครับ

อาจารย์แพทย์บางท่านที่เป็นแบบอย่างเรื่องการมองคนไข้แบบมนุษย์ก็มีนะครับ แต่ผมคิดว่ามีน้อย เน้นอย่างที่อาจารย์กล่าวครับ(แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ) 

ชัดเจน ค่ะ อาจารย์

อยากให้แพทย์ ได้อ่านกันเยอะๆ ค่ะ ส่ง Email ให้ เพื่อนๆด้วย แล้ว

สวัสดีครับ คุณหมอปฏิภาคย์

การเน้นความรู้ ความสามารถในการรักษาโรค ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรหรอกนะครับ และผมไม่คิดว่าจะมีโรงเรียนแพทย์ที่ไหน "จงใจ" ไม่สอนเรื่องที่เราพูดกัน

แต่น่าจะเป็น "บริบท" และ "ระบบ" ที่อาจจะไม่เอื้อบรรยากาศที่จะทำให้คุณค่าบางมิติถูกถ่ายทอดได้อย่างเต็มที่ อาทิ จำนวนคนไข้ OPD ที่มากมายมหาศาล ระบบสุขภาพการส่งต่อที่ไม่สมดุล ที่ผป. primary care จำนวนมากก็เดินทางมายัง รพ.ศูนย์ หรือ รพ. มหาวิทยาลัย รวมทั้งความรับผิดชอบขององค์กรการศึกษาที่รู้สึกว่าตนเองต้อง catch up technology ให้ทัดเทียมสากล

ผมคิดว่าคำตอบนั้นน่าจะมีได้ ถ้าเราชะลอความเร็วในการคิด และพูดจาแลกเปลี่ยนกันเยอะๆ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้สนทนาพูดคุยกันเท่าไหร่ เรามีแต่สั่ง ถาม ตอบ อะไรๆก็เน้นประสิทธิภาพ ลด input เพิ่ม output แต่การสนทนานั้น เราไม่ได้ concern เฉพาะเนื้อหาในการสื่อ แต่ขณะสนทนาเราได้สร้างบรรยากาษ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน ตรงนี้ที่น้อยลงไป ถ้าเราพยายามเน้น "ประสิทธิภาพด้านปริมาณมากเกินไป"

แต่อย่างที่คุณหมอบอกแหละครับ เราก็ยังมีโอกาสติดตามทันได้ในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่เราคิดว่าเรื่องไหนมีความสำคัญ เราก็จะหาเวลาลงให้มันจนได้ เพียงแต่ทุกวันนี้เราอาจจะไม่ค่อยเก่งเรื่องจัดลำดับความสำคัญว่าเราอยากจะได้ อยากจะทำอะไร ให้ดีนัก ก็เป็นได้ ทำให้เรา "ไม่มีเวลา" ทำอะไรดีๆ แต่ "มีเวลา" ทำอะไรก็ไม่รู้ เยอะแยะไปหมด!!

ขอบคุณครับ พี่รวิวรรณ P

ยินดีทีชอบครับ และขอบคุณที่นำไปเผยแพร่ นี่ก็เป็นการสนทนาข้ามเครือข่ายไฟฟ้าอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

เห็นด้วยครับอาจารย์ ผมคิดว่าจะเป็นแพทย์ผู้เยียวยาได้ ต้องได้รับการซึมซับและเห็นคุณค่าของชีวิตทั้งของตนและผู้อื่น ของแบบนี้ต้องมี model ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น มีโอกาสได้ฝึกฝนและที่สำคัญได้ทำแล้วมีความสุข

สวัสดีครับโรจน์ P

ที่จริงพวกเรา "ทำอยู่แล้ว" แต่บางทีละเลย หรือ ลืม ที่จะรับรู้ หรือให้ความสำคัญ น้ำหนัก น้อยไปสักหีดนึง ซึ่งน่าเสียดายของดีๆ

ถ้าหันมาให้ความสำคัญ รับรู้เรื่องแบบนี้ จะเป้นเสมือนมี battery auto-recharger อยู่ที่ที่ทำงานของทุกคน ทันทีที่เริ่มเยียวยา เราเริ่มได้อะไรเพิ่มเติมในจิตใจ ให้พลังเราตลอดเวลา ไม่ต้องรอวันเงินเดือนออก หรือรอพิจารณาความดีความชอบ หรือรอเมื่อไหร่จะได้เป็นแพทย์ดีเด่นซะทีหนอ!!!

เห็นด้วยกับคุณหมอโดยอยากให้มีครูเป็นตัวอย่าง   ชีวิตจริงเจอน้องๆที่ไม่เหมือนที่เราอยากให้เป็น   เห็นเงินและบริษัทยาเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขทำให้เหนื่อยเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณคุณหมอที่ให้ข้อคิดดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท