จิต : การรู้สึกคล้อยตามกับวัฒนธรรม


การรู้สึกคล้อยตามเป็นเหตุการณ์ทางจิต  เป็นพฤติกรรมภายใน หรือ Covert behavior  แต่เมื่อการรู้สึกนี้แสดงออกมาเป็นการกระทำ  ก็เรียกว่า พฤติกรรมภายนอก  หรือ  Overt behavior  ถ้าเป็น Cognitive Psychology ก็ใช้ทั้งพฤติกรรมภายใน และ พฤติกรรมภายนอก  แต่ถ้าเป็น Behaviorism  ส่วนใหญ่จะใช้แต่ พฤติกรรมภายนอกอย่างเดียว

วัฒนธรรมเป็น "ข้อตกลงของกลุ่ม"  หรือ "กฎต่างๆของกลุ่ม" ที่เกิดจากการยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม  และปฏิบัติร่วมกัน  ข้อตกลงของกลุ่มนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปทัสถาน"  หรือ Norm ของกลุ่ม  เช่น  ตกลงกันว่า  "การแต่งกายของคนไทยต้องเป็นอย่างนี้"  "เมื่อพบกันก็ยกมือไหว้กันและกัน" ไม่ "เอาแก้มชนกัน"  หรือ "ไม่จับมือกัน" และทักทายกันว่า "สวัสดี" ไม่ใช่ "ฮัลโล้" พูดว่า "เห็นด้วย"  ไม่ใช่ "โอเค" หรือตกลงกันว่า "ยืนตรงเมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติเวลา ๘ นาฬิกา" ฯลฯ

ถ้าคนไทยจะเข้าโบสถ์ เห็นคนอื่นๆถอดรองเท้า "เราก็ถอดบ้าง" เรียกว่า "เราคล้อยตาม"ปทัสถานของกลุ่ม  ปทัสถานในที่นี้ก็คือ " ถอดรองเท้าก่อนเข้าโบสถ์" เป็น"ข้อตกลงของกลุ่ม"  ปทัสถานนี้เป็น "วัฒนธรรม"  การที่เรา"คล้อยตามปทัสถานอย่างนี้ ดี "  แต่ "การคล้อยตาม" การตัดผมแบบทรงของพวก "พั้ง" นั้น "ไม่ดี" ครับ  เพราะนั่นไม่ใช้ข้อตกลงของสังคมเรา  ไม่ใช่ปทัสถานของกลุ่มเรา  ไม่ใช่วัฒนธรรมของกลุ่มเรา

การคล้อยตาม "เฮโล"ไปกับวัน "วาเล็นไท" ก็ไม่ดี (สำหรับไทยพุทธ) เพราะนั่นไม่ใช่ "ข้อตกลงของกลุ่มคนไทย"ของเรา

การคล้อยตาม"ฝรั่งที่สวมเสื้อกล้ามเดินในที่สาธารณะ" โดยเราสวมตามบ้างนั้น ก็"ไม่ดี"  เพราะไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา

การ"คล้อยตาม" จึงมีทั้ง "ดี"  และ "ไม่ดี"

"การนำ" กับ "การตาม" นั้น หมายถึง "อำนาจ"  โดยที่พวกที่"ถูกเอาอย่าง"  เป็นผู้มีอำนาจเหนือ "ผู้เอาอย่าง"  พวกมีอำนาจกว่า จึงเป็น "ผู้นำ"ของพวก "ผู้เอาอย่าง" หรือ"ผู้คล้อยตาม" !!

เป็นที่น่าสังเกตว่า  "พวกที่สวมเสื้อกล้ามเดินอวดขนรักแร้" ตามที่สาธารณะ หรือ "พวกไว้ผมทรงพั้ง" นั้น "เป็นพวกฝรั่งตะวันตก"  ถ้าให้พวก "ชาวนิวกืนี" มาสวมเสื้อกล้ามเดินตามถนนอย่างนั้นบ้าง  หรือมาไว้ผมทรงพั้งบ้าง  ก็คงไม่มีคนไทย "คล้อยตาม"หรอกครับ  นั่นแสดงว่า "พวกฝรั่ง"มีอำนาจเหนือ "พวกคล้อยตาม"  ซึ่งบางทีพวกนั้นเมื่ออยู่ในประทศของพวกเขา เขาอาจจะเป็นเพียงคนรับจ้างขายน้ำมันตามปั้มก็ได้

เมื่อการคล้อยตามเกิดจาก "ผู้ไร้อำนาจ" คล้อยตาม"ผู้มีอำนาจ"  ก็ย่อมหมายความว่า  "วัฒนธรรมของผู้คล้อยตาม" นั้น "อ่อนแอ" กว่าวัฒนธรรมของ"ผู้มีอำนาจเหนือกว่า"

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ บางมุม เท่านั้น  ท่านลองสังเกตดูรอบๆตัวท่านให้ทุกวันซีครับ  และคิด  แล้วท่านจะเห็นปรากฏการณ์ทำนองนี้เต็มไปหมดครับ

ทุกปีที่ถึงวันวาเลนไท  ทั้งดารา นักร้อง นักแสดง หรือนักอื่นๆ ที่ดังๆ ก็ฮือฮากันทั่วหน้า  ทีวีก็แพร่ข่าวครึกโครม ทั่วบ้านทั่วเมือง  แม่ค้าดอกไม้ก็ดีใจ  เพราะได้เงินมาก 

การพูดก็ต้องฝรั่งคำไทยคำ  ไม่ใช่จะมีแต่บนถนนนะครับ  แม้แต่ให้ห้องประชุมบางแห่งก็เป็นอย่างนั้นครับ 

แต่พอถึงวันมาฆบูชา  วันพระ  ก็ดูเงียบเหงา  ทีวีก็ไม่ค่อยแพร่ข่าว

นั่นแหละครับเป็นสัญญาณของพฤติกรรมการคล้อยตาม ละครับ

ก็ใครเล่าครับที่เป็นพวกคล้อยตาม ?

ก็พวก ๗๕ % โดยประมาณ จากพื้นที่ภายใต้โค้งปรกติไงละครับ (กรุณาดูบล็อกก่อนหน้านี้ครับ)  คือจากการวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ พบว่า มีพวกคล้อยตามราว ๗๕ %  และพวกไม่คล้อยตามง่ายๆ หรือไม่คล้อยตามเลย  มีราว ๒๕ %

ถ้าเราเอาคนไทยราว ๖๓,๐๐๐,๐๐๐ คน  x  ๗๕ % ก็จะได้ราว ๔๗ ล้านคนครับ  นั่นคือ เป็นพวกคล้อยตามราว ๔๗ ล้านคนนะคับ มากเอาการอยู่   ส่วนที่ไม่คล้อยตามก็มีเพียงประมาณ ๖๓ ล้าน - ๔๗ ล้าน = ๑๖ ล้านคน !!

ผู้ทำลายวัฒนธรรม มากกว่า ผู้รักษาวัฒนธรรมมากมายนะครับ  อย่างนี้แล้ว "จะเอาไว้อยู่"ได้อย่างไรละครับ

มิน่าเล่าที่บางประเทศพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้าง"อำนาจ" พยายามกันแข่งขันสร้าง "อำนาจ" !!  เพราะอานิสงค์ของอำนาจมันมากมายเหลือคณานับ !!!

เพราะคนในเผ่าพันธุ์ของพวกเขา ไม่ว่าระดับใด  ก็จะมีอำนาจทำให้ "คนเผ่าพันธุ์อื่นคล้อยตาม" ได้เสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  เรายังจะรีรออะไรอยู่อีกหรือ ?

หรือว่าเราต้องการเพียงเรียกร้อง"หาลูกพี่" ก็พอใจแล้ว ???

เป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม,  กระทรวงศึกษาธิการ, เฮ้อ - ทุกกระทรวงแหละครับ ที่จะต้องเหนื่อยกันละครับ

คำสำคัญ (Tags): #conformity culture
หมายเลขบันทึก: 116633เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 ดร. ไสว เลี่ยมแก้ว  

วัฒนธรรม จัดเป็นสังขตธรรม มีความเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และล่มสลายไปเช่นเดียวกับสังขตธรรมอื่นๆ...

การคล้อยตาม จัดเป็นพฤติกรรมฝูงสัตว์ สัตว์มักทำตามๆ กันเพราะรู้สึกปลอดภัย... ส่วนตัวที่แยกฝูงออกมาก็ต้องอยู่อย่างโดดเดียว โดยมากมักจะตายไปอย่างโดดเดียว มากกว่าที่จะสร้างพลพรรคเป็นฝูงใหม่ได้...

ก็มาร่วม บ่น เล่นๆ กับอาจารย์เท่านั้น...

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

การคล้อยตามที่นักจิตวิทยาศึกษากันมากก็คือ  "การคล้อยตามคำขอร้อง, การคล้อยตามคำสั่ง, การคล้อยตามกลุ่ม"

ในวันแต่งงาน ถ้าเจ้าภาพกล่าวว่า "ขอเชิญทุกท่านโปรดยืนขึ้น และดื่มอวยพรให้คู่บ่าวสาว"  แล้วทุกคนก็ยืนขึ้น  "การยืนขึ้น" นั้นเป็นพฤติกรรม"การคล้อย"คำขอร้อง  แต่ถ้านายอำเภอออกคำสั่งด้วยวาจาแกเสมียน ว่า "เอาเอกสารนี้ไปพิมพ์ให้หน่อย ผมต้องการก่อนเที่ยง"  เสมียนนั้นพิมพ์ให้  ดังนี้เป็นการ "คล้อยคาม"คำสั่ง  และถ้าเราเห็นทุกคนถอดรองเท้าก่อนเข้าโบสถ์ เราก็ถอดบ้าง  ดังนี้เป็นการ"คล้อยคาม" กลุ่ม 

ถ้าหากว่า "ไม่มีใครคล้อยตาม" ตามตัวอย่างข้างบนนี้  สังคมก็ "ไม่เข้มแข็ง" ถูกดูดกลืนไปสิ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง วัฒนธรรมของกลุ่มนั้นๆก็จะแตกสลาย 

การคล้อยตามจึง"มีประโยชน์" ต่อสังคม ในแง่นี้แล

แต่สำหรับ "ผู้นำ" แล้ว  เขามักจะไม่คล้อยตามง่ายๆ ลองคิดดู  ถ้าผู้นำของกลุ่มเรา "คล้อยตามง่าย" แล้วอะไรจะเกิดขึ้น  ถ้า"ปปช. คล้อยตามแรงบีบเย้วๆ" ที่อยู่ข้างนอกห้องพิจารณาโน่น  แล้วอะไรจะเกิดขึ้น  พวกหัวแข็งจึงเหมาะกับ "คนที่จะมาเป็นกรรมการตัดสินต่างๆ"

"วัฒนธรรม" เราใช้กับสังคมมนุษย์ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท