เรื่องดีวันละเรื่อง : (47) ก้าวกระโดดใหญ่ของการเห็นคุณค่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสังคมไทย


         ก้าวกระโดดนี้ สะท้อนภาพจากงานแถลงข่าว ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่  ที่โรงแรม สยาม ซิตี     เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 50     ซึ่งจะได้นำมาลงในบันทึก คนดีวันละคน ต่อไป

         บันทึกนี้ เป็นการบอกข่าวดีของประเทศ ให้ได้ชื่นใจทั่วกัน    ว่าดูจากมาตรฐานของผลงานของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 6 คน ของปี 2550      เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว     ต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้เลย    

         รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล ผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ต้น ในปี 2525    มีหน้าตาแช่มชื่นมากหลังพิธีประกาศตัวดังกล่าว     และบอกผมว่า “ปีนี้เป็นปีที่มี quantum leap”

         เกณฑ์ขั้นต่ำ ของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คือมีผลงานวิจัยที่ทำในประเทศไทย  ไม่ใช่ผลงานจากวิทยานิพนธ์ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ อย่างน้อย 3 เรื่อง      และเป็นคนดี มีจริยธรรมสูง  และอายุไม่เกิน 35 ปี     เกณฑ์บทความวิจัยนานาชาติ 3 เรื่อง เมื่อ 10 ปีก่อน เป็นเกณฑ์ที่ถือว่า “หิน” มาก    

         แต่บัดนี้ พบว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของปี 2550 นี้     มีผลงานตีพิมพ์คนละเกิน 10 เรื่องทั้งสิ้น และบางคนเกือบ 30 เรื่อง     และบางคนอายุเพียง 29 ปี     คำกล่าวแนะนำนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ผมเป็นผู้อ่าน อ่านได้ที่นี่ (click)

         ฟังจากคำบอกเล่าของผู้ได้รับรางวัล     ทั้งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่     เราจะเห็นว่า ท่านเหล่านี้ทำวิจัยในหัวข้อ หรือประเด็น ที่มีประโยชน์โดยตรงต่อการประยุกต์ใช้เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย อย่างชัดเจน    

         ก้าวกระโดดอีกอย่างหนึ่งคือบรรยากาศของงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่      ที่คึกคักมาก     ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาก     และผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ให้ความสำคัญมาก     อธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่มีผู้ได้รับรางวัล มาร่วมเอง 4 มหาวิทยาลัย     และส่งรองอธิการบดีมาร่วม 2 มหาวิทยาลัย     หลังการแถลงข่าว นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือก โดนนักข่าวสัมภาษณ์ อีกเป็นเวลาคนละกว่า 1 ชม.

          พวกเรา ที่ไปทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ในการเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์    และทำงานด้านการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เลย     ยกเว้นความสุขที่ได้รับจากการได้รับรู้และเรียนรู้จากคนเก่งคนดีมีผลงานยอดเยี่ยม) ครั้งนี้    จึงมีความชื่นใจยิ่ง ที่ได้เห็นความก้าวหน้าระดับก้าวกระโดด ของวงการวิจัย ว&ท ไทย

         และนำมาบันทึกไว้ให้คนไทยได้รับรู้และชื่นใจกันถ้วนหน้า     

                 

               รูปหมู่กรรมการ นักวิทย์ดีเด่น และรุ่นใหม่  

วิจารณ์ พานิช
2 ส.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 116499เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เห็นข่าวนี้แล้วรู้สึกยินดีครับอาจารย์  
ทำให้พออุ่นใจได้บ้างว่าถึงแม้ปีนี้จตุคาม และความ"ศักดิ์สิทธิ" จะมาแรง 
แต่หลายๆอย่างก็ยังมีแนวโน้มที่คนที่เชื่อในเรื่องเหตุและผลยังจะมีความหวังกันได้อยู่บ้าง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท